ขณะที่กำหนดการเปิดราคายังต้องรอกันอีกกว่าสัปดาห์ แต่ล่าสุด Rever Automotive ได้มีการจัดทริปทดสอบ BYD Dolphin ให้สื่อฯมวลชนได้ทำการ รีวิว ขึ้น แถมที่น่าสนใจคือยังเป็นการทดสอบตัวรถทั้งสองรุ่นย่อย นั่นคือ รุ่น Standard Range และ รุ่น Extended Range ซึ่งเป็นพระเอกของเราในครั้งนี้อีกด้วย

ก่อนจะไป รีวิว สำหรับทริปการทดสอบในครั้งนี้ ถือเป็นทริปแรก ที่ทาง Rever Automitive ได้จัดให้เหล่าสื่อฯได้สัมผัส BYD Dolphin ร่างเตรียมขายจริงอย่างเป็นทางการ ก่อนเปิดราคาในวันที่ 6 กรกฏาคม ที่จะถึงนี้ หลังจากที่เมื่อต้นปี ราวๆช่วงเดือนมีนาคม ทางผู้บริหารได้เคยให้สื่อฯชิมลางกับเจ้าซิตี้คาร์รุ่นนี้กันไปแล้ว

แต่ตอนนั้นตัวรถยังคงเป็นร่างที่มาพร้อมกับพวงมาลัยซ้าย และมาพร้อมกับสเป็ค มอเตอร์ไฟฟ้าลูกเดียว ให้กำลังสูงสุด 177 แรงม้า กับ แรงบิดสูงสุด 290 นิวตัน-เมตร สำหรับขับเคลื่อนชุดล้อคู่หน้า พร้อมเคลมการทำอัตราเร่งจาก 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายใน 7.9 วินาที ความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ส่วนแบตเตอรีที่ให้มาก็มีขนาด 44.9 kWh ซึ่งรองรับระยะทางในการใช้งานสูงสุด 405 กิโลเมตร/ชาร์จ ตามมาตรฐาน NEDC

ซึ่งในการทดสอบครั้งนั้น ส่วนตัวผู้ทดสอบซึ่งคือแอดมินจอห์น Ridebuster ก็ค่อนข้างประทับใจในสมรรถนะของตัวรถ ที่ให้ทั้งความสนุกสนาน ในการเรียกอัตราเร่ง และความนุ่มนวลของช่วงล่าง ที่ยังคงทำได้ดีคล้ายกับ Atto 3 แต่มีความคล่องตัวกว่าเพราะตัวรถเล็กกว่า เบากว่า

อย่างไรก็ดี สำหรับตัวรถที่จะขายในบ้านเราในเร็วๆนี้ จะเป็นตัวรถที่มีสเป็ค หรือรายละเอียดเรื่องขุมกำลัง แบตเตอรี่ และออพชันปลีกย่อยบางอย่าง ที่แตกต่างจากตัวรถที่เราได้ทดสอบกันไปก่อนหน้านี้พอสมควร ซึ่งจะเป็นอย่างไร เราก็มาว่ากันเลย

BYD Dolphin มาพร้อมกับคอนเซปท์ในการออกแบบ “สุนทรียศาสตร์แห่งมหาสมุทร”

ซึ่งบ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่ามันคือรถยนต์ในตระกูล “ท้องทะเล” ของทางค่าย ดังนั้น มันจึงมาพร้อมกับเส้นสายรอบคัน ที่เล่นผสมผสานกันระหว่างความโค้งมน คล้ายกับเส้นคลื่น และเสริมความดุดันด้วยความสปอร์ตอีกเล็กน้อย ตามแนวกันชนหน้า และกันชนท้าย

ส่วนระบบไฟส่องสว่างทางด้านหน้า ก็จะเป็นโคมไฟ LED ขนาดกำลังดี ตีกรอบเป็นเส้นเดียวกันกับแถบไฟใต้แนวกระจังหน้าแบบปิดทึบ ที่โดดเด่นยิ่งกว่าคือเส้นตัวถังบริเวณบานประตู ที่ดูพร้อมพุ่งทะยานไปด้านหน้า (ตามคำนิยามของ BYD) และการออกแบบเสา C ที่มาพร้อมกับลายกราฟฟิก และไฟท้ายแบบ Cross Tail Light พร้อมเส้นแถบ LED แบบเกลียวคลื่น คล้ายกับการว่ายฉวัดเฉวียนไปมาของเหล่าโลมา

งานตกแต่งภายใน

ก็ยังคงดูแปลกตากว่ารถยนต์หลายๆคันที่ชาวไทยรู้จัก ตามฉบับของ BYD ด้วยแผงคอนโซลที่ใช้เส้นสายแบบมัดกล้ามเกือบจะคล้ายกับ Atto 3 แต่ใช้ช่องแอร์แบบกรอบกลมที่ตัวช่องลมจะมีก้านบิดสำหรับคุมทิศทางและปรับความแรงลมที่จะผ่านช่องออกมา

และที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ มือจับเปิดประตูภายในห้องโดยสาร ที่ถูกออกแบบมาให้มีกลิ่นอาย คล้ายกับครีบของปลาโลมา ตามชื่อรุ่น

นอกจากนี้ ทาง BYD ใส่ชุดหน้าจอแสดงผลข้อมูลตัวรถแบบลอยตัวอยู่บนคอพวงมาลัย คล้ายกับ Atto 3 ซึ่งส่วนตัวผู้ทดสอบมองว่าแม้มันจะสวย แต่ก็เล็กไปนิด จนบางครั้งก็ต้องเพ่งว่าตอนนี้ระบบช่วยเหลือต่างๆของรถ มีส่วนใดที่ทำงาน หรือไม่ทำงานบ้าง (แต่เรื่องของการอ่านค่าความเร็ว ระยะทาง เปอร์เซ็นต์แบตเตอรี่ ยังมองได้ง่ายอยู่)

ส่วนชุดหน้าจอระบบอินโฟเทนเมนท์ตรงกลาง ก็ยังคงให้ขนาด 12.8 นิ้ว เท่ากับ Atto 3 เช่นกัน และมันก็ยังคงมีความสามารถที่จะปรับแนวการแสดงผลได้ ว่าจะให้อยู่ในแนวตั้งหรือแนวนอน

ซึ่งน่าสนใจตรงที่ จากก่อนหน้านี้ใน Atto 3 หากเราใช้การแสดงผลในโหมด Apple CarPlay เมื่อปรับจอแนวตั้ง ระบบจะยังคงแสดงผลในโหมดดังกล่าว แม้ว่าอินเตอร์เฟซจะยังคงถูกล็อคให้อยู่ในระแนบแนวนอนของจอ (คือไม่ปรับมาแสดงผลในแบบจอตั้ง แม้จอจะตั้งแล้ว)

แต่สำหรับ Dolphin คันที่เราได้ทดสอบ จะได้รับการอัพเดทซอฟท์แวร์แล้ว ซึ่งไม่ได้หมายความว่า มันจะทำให้ระบบ Apple CarPlay สามารถแสดงผลในแนวตั้งได้ แต่หมายถึงการปิดค่าเอาไว้ ไม่ให้ผู้ใช้สามารถใช้งานระบบนี้ได้ เมื่อจออยู่ในแนวตั้ง และในขณะเดียวกัน หากผู้ใช้เปิดระบบดังกล่าว เมื่อจออยู่ในแนวนอน เราก็จะไม่สามารถปรับให้จอหมุนมาอยู่ในแนวตั้งได้เลยเช่นกัน จนกว่าจะออกจากการแสดงผลในระบบดังกล่าว

การโดยสาร

แน่นอนในส่วนชุดเบาะคู่หน้า ก็ยังคงเป็นเบาะทรง Gaming Seat ที่โอบกระชับผู้โดยสารเป็นอย่างดี ซึ่งจากที่ได้ลองขับมาแล้วหลายครั้ง ทั้งระยะใกล้ และระยะไกล ตัวเบาะก็ถือว่ามีความหนานุ่มพอสมควร และสามารถนั่งขับไกลๆได้สบาย โดยไม่รู้สึกร้อน หรืออบอ้าวที่แผ่นหลังเลยสักนิด

ติดก็ตรงที่ไม่สามารถปรับความสูง-ต่ำ ของหัวหมอนได้ ทำมันอาจจะรับกับสรีระของผู้ใช้ได้ไม่ครอบคลุมขนาดนั้น แต่จากการใช้งาน ส่วนตัวผู้ทดสอบไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหาใหญ่เท่าไหร่นัก เพราะหัวหมอนค่อนข้างใหญ่ และมีความดันหัวนิดๆกำลังดีแล้ว

ส่วนเบาะผู้โดยสารตอนหลัง ก็อยู่ในระดับที่สามารถนั่งได้สบาย ไม่อึดอัด แม้รถจะตัวเล็ก ทั้งจากตัวเบาะที่มีความเป็นหลุมเล็กๆ แต่ไม่ลึก และค่อนข้างกว้าง แถมยังมีการเอนหลังกำลังดี ในระดับที่ผู้โดยสารสามารถงานหลังหลับได้ง่าย

ไม่เพียงเท่านั้น ตัวกระจกต่างๆรอบคัน ยังมีขนาดใหญ่กำลังดี ทำให้มุมมองภายในรถดูโปร่งใช้ได้ แถมที่เสา A คู่หน้า ยังมีกระจกหูช้างให้ด้วย เพื่อลดมุมอับ เพิ่มทัศนวิศสัยของผู้ขับ ให้สามารถมองสิ่งต่างๆรอบข้างได้กว้างขึ้น

และนั่นคือเกือบทั้งหมด ที่เราสามารถสัมผัสได้ในฝั่งห้องโดยสารของเจ้า Dolphin จากทริประยะทางราวๆ 300 กว่ากิโลเมตร ในครั้งนี้…

ในส่วนรายละเอียดมิติตัวรถ BYD Dolphin ก็จะมีข้อมูลดังนี้

  • ด้านยาว x ด้าวกว้าง x ด้านสูง : 4,290 x 1,770 x 1,570 มิลลิเมตร
  • ระยะฐานล้อ : 2,700 มิลลิเมตร

*ขนาดตัวพอๆกับ Toyota Yaris Hatchback แต่ใหญ่กว่าเล็กน้อย หรือหากเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าด้วยกัน ก็จะอยู่กึ่งกลางระหว่าง Neta V และ MG 4 พอดิบพอดี

ซึ่งค่าในเบื้องต้น จะเหมือนกันทั้งรุ่น Standard Range และ Extended Range ยกเว้นรายละเอียดต่อจากนี้ นั่นคือ ขุมกำลัง, แบตเตอรี่, ช่วงล่าง, และออพชันบางส่วน

Standard RangeExtended Range
โครงสร้างพื้นฐานBYD e platform 3.0BYD e platform 3.0
รูปแบบการขับเคลื่อนมอเตอร์เดี่ยว ขับหน้ามอเตอร์เดี่ยว ขับหน้า
กำลังขับสูงสุด70 kW (95 PS)150 kW (204 PS)
แรงบิดสูงสุด180 Nm310 Nm
อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. (ตามเคลม)12.3 วินาที7.1 วินาที
ความเร็วสูงสุด (ตามเคลม)150 กม./ชม.160 กม./ชม.
ขนาดแบตเตอรี่44.9 kWh60.48 kWh
ระยะทางการวิ่งสูงสุด/ชาร์จ (NEDC)410 กม.490 กม.
ระบบกันสะเทือนด้านหน้าอิสระ แม็คเฟอร์สัน สตรัทอิสระ แม็คเฟอร์สัน สตรัท
ระบบกันสะเทือนด้านหลังกึ่งอิสระ ทอร์ชันบีมอิสระ มัลติลิงค์
ระบบเบรกดิสก์เบรก หน้า/หลังดิสก์เบรก หน้า/หลัง
ชุดล้อ16 นิ้ว17 นิ้ว (มี 2 ลายตามเฉดสีตัวถัง)
ขนาดยาง195/60 R16205/50 R17
ออพชันที่เพิ่มเติมขึ้นมาสีตัวถังแบบ ทูโทน
หลังคาพาโนรามิคซันรูฟ
แท่นชาร์จโทรศัพท์ไร้สาย
เบาะนั่งคู่หน้าปรับไฟฟ้า
– 6 ทิศทาง ฝั่งผู้ขับ
– 4 ทิศทาง ฝั่งผู้โดยสาร

จากตารางในขั้นต้น จะเห็นได้ว่าตัวรถ BYD Dolphin ที่วางขายในไทย จะมีความแตกต่างจากตัวรถที่ทาง Rever Automotive นำมาให้สื่อฯทดสอบช่วงต้นปี อยู่พอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับตัวมอเตอร์ และ แบตเตอรี่

ด้านความสามารถในเรื่องอัตราการตอบสนองต่อคันเร่ง อัตราเร่ง และความเร็ว รวมถึงความสิ้นเปลืองพลังงานโดยคร่าวๆ

โดยหากเจาะไปที่ตัวรถรุ่น Extended Range ถ้าคุณยังจำกันได้ ตัวเลขมอเตอร์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ของมัน คือเลขเดียวกันกับ BYD Atto 3 : Extended Range เป๊ะๆ

ดังนั้น ด้วยกำลังที่เท่าเดิม แต่มาอยู่ในตัวรถที่มีขนาดเล็กลง จึงทำให้ในการขย้ำคันเร่งเต็มที่แต่ละครั้ง ตัวรถจะมารถเรียกอัตราเร่งได้ดี ชนิดที่หลังติดเบาะได้ง่ายๆอยู่เสมอๆ คล้ายๆกับรถเครื่องยนต์สันดาป 1.5 ลิตร เทอร์โบ ที่มีแรงบิดดีๆ พร้อมอัตราทดเกียร์ชิดๆสักคัน หรือถ้าคุณไปเหยียบคันเร่งตอนผู้โดยสารเผลอๆ พวกเขาก็อาจจะตกใจได้ง่ายๆ

หรือในบางครั้ง หากเป็นจังหวะเร่งแซง ส่วนตัวผู้ทดสอบมองว่า ถ้าวิ่งด้วยความเร็วราวๆ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้วอยากจะเร่งขึ้นเป็นสัก 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เราสามารถใช้คันเร่งเติมจากเดิมอีกราวๆ 20-30% แค่นั้น มันก็สามารถเรียกความเร็วเพิ่มได้เร็วพอที่จะแซงรถยนต์อเนกประสงค์ขนาดใหญ่สักคันแล้ว

จุดที่น่าสังเกตก็คือ ด้วยแรงบิด 310 นิวตันเมตร ที่อาจจะไม่ได้เยอะ กับการเซ็ทคันเร่งของ BYD ที่พยายามจะหน่วงอัตราเร่งไว้ในจังหวะ 1-2 วินาทีแรก เพื่อป้องกันการตกใจของผู้ใช้ และให้อารมณ์เหมือนๆกับรถเครื่อยนต์สันดาปภายใน (จะได้ไม่เหวอตอนมาขับรถคันนี้ใหม่ๆ)

แต่ด้วยความเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีขนาดไม่ใหญ่โตมากนัก จึงทำให้ผู้ทดสอบพบว่าล้อหน้าพยายามจะฟรีทิ้งอยู่เสมอ แถมยังเป็นการฟรีทิ้งที่ลากยาวพอสมควร แม้จะเป็นการขับด้วยโหมด Normal ก็ตาม จนเริ่มเอะใจแล้วว่า มันอาจจะไม่เหมาะกับนักขับรถหน้าใหม่ หรือใครก็ตามที่อาจไม่ใช่สายซิ่งมาก่อน เพราะพวกเขาเหล่านั้นอาจจะเหวอกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น อาการล้อฟรีทิ้งที่ว่า ส่วนตัวสำหรับผู้ทดสอบที่เป็นสายซิ่งอยู่แล้ว มองว่าระบบ Traction Control ของมันยังคอยควบคุมไม่ให้มันส่งผลอันตรายมากไปอยู่ เพราะมันยังอยู่ในขั้นที่เราสามารถควบคุม หรือหักเลี้ยวรถไปในทิศทางที่ต้องการได้อยู่

แค่ย้ำอีกครั้งว่า ผู้ขับมือใหม่อาจต้องทำความคุ้นชินกับอาการตรงนี้ให้ดี ก่อนที่จะตะบี้ตะบันคันเร่งลงไปก็เท่านั้น ถ้าไม่เช่นนั้น ก็ไปขับด้วยโหมด Eco ก่อนในช่วงแรกๆ เพื่อความง่ายในการปรับตัว อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

หรือถ้ายังไม่ไว้ใจจริงๆ จะไปลองขับตัว Standard Range ก็ได้ เพราะตัวรถรุ่นนี้ เอาจริงๆก็มีอัตราเร่งที่เพียงพอสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันแล้ว และให้อารมณ์คล้ายๆกับการใช้รถยนต์ Eco Car เครื่อง 1.2-1.3 ลิตร แค่แรงบิดเรียกได้ไวกว่านิดหน่อยตามฉบับรถไฟฟ้านั่นเอง

ด้านการทำความเร็วสูงสุด แม้ในกระดาษข้อมูล ทาง BYD จะระบุว่า ตัวรถ Extended Range สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่จากการขับจริง ปรากฏว่ามันดันสามารถไหลความเร็วขึ้นไปถึงหลัก 170+ กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ด้วยความไวแบบไม่ต้องเค้นมากนัก

เช่นเดียวกับตัวรถรุ่น Standard Range ที่ระบุว่าสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่พอขับจริง กลับไหลไปได้ถึง 160+ กิโลเมตร/ชั่วโมง

ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ แต่มันอาจเป็นแค่ค่าจากหน้าจอเท่านั้นก็ได้ เราจึงต้องของไว้มาลองวัด หรือจับกับเครื่องมือ GPS กันอีกที เมื่อมีโอกาสในภายภาคหน้า

ส่วนอีกเรื่องที่ต้องค้างกันไว้ก่อน ก็คือเรื่องของอัตราสิ้นเปลือง และระยะทางในการวิ่ง เพราะการทดสอบในครั้งนี้ เราต้องเรียนตามตรงว่าส่วนใหญ่แล้ว จะเน้นการรีดเค้นสมรรถนะของตัวรถ กว่าการใช้งานทั่วไปพอประมาณ ค่าระยะทางในการวิ่งที่ได้ จึงค่อนข้างต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

แต่อย่างน้อยก็พอบอกได้ว่า หากคุณเป็นคนขยันขยี้คันเร่ง มันก็ยังคงสามารถพาคุณไปได้ไกล ไม่น้อยกว่า 250 กิโลเมตร/ชาร์จอยู่ดี (ย้ำว่านี่คือ ระยะทางที่ได้จากการขับแบบขยี้คันเร่ง ไม่ใช่การขับแบบใช้งานทั่วๆไป ที่ต้องขอเอาไว้เก็บค่ากันอีกทีตอนเรามีโอกาสนำรถไปทดสอบแยกในภายหลัง)

ด้านการควบคุม และการซับแรงของระบบกันสะเทือน

เนื่องจากตัวรถ Dolphin ถูกสร้างขึ้นบนแพลตฟอร์มล่าสุดของแบรนด์ คือ BYD e platform 3.0 ทำให้ตัวรถนั้นโดดเด่นในเรื่องศูนย์ถ่วงที่ค่อนข้างต่ำ

เมื่อประกอบกับความเป็นรถยนต์แฮชแบ็คท์ ที่ขนาดไม่เล็ก แต่ก็ไม่ใหญ่ ไม่ยาว ไม่กว้าง จนเกินไป จึงทำให้การลัดเลาะไปตามทาง หรือช่องแคบๆต่างๆเป็นไปได้อย่างคล่องตัว และมีความกระฉับกระเฉงดีเลยทีเดียว

ทั้งนี้ สำหรับน้ำหนักพวงมาลัยในโหมดสบาย (Comfort) หลายคนก็อาจรู้สึกเบาไปนิดเวลาที่ต้องหักเลี้ยว ในตอนขับรถช่วงแรกๆ แต่เราก็สามารถปรับไปใช้พวงมาลัยในโหมดกีฬา (Sport) ได้ถ้าอยากให้มันมีความหนักและหนืดมากขึ้นในภายหลังได้

แต่ในส่วนของการเซ็ทอัพช่วงล่าง ด้วยความเป็นรถยนต์จาก BYD จึงทำให้เจ้า Dolphin ยังคงมีช่วงล่างที่ติดนุ่ม และช่วงยุบเยอะ ไม่ต่างจาก Atto 3

ซึ่งข้อดีแรกสุดก็แน่นอนว่า สำหรับการขับรถแบบการใช้งานทั่วๆไป ด้วยการเซ็ทอัพช่วงล่างในลักษณะนี้ จึงทำให้ตัวรถสามารถเก็บแรงสั่นสะเทือนต่างๆจากผิวถนนได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผิวถนนที่มีความเป็นลอนคลื่นเล็กๆ เราจะยิ่งไม่รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนเลย แต่จะสัมผัสแรงเหวี่ยงขึ้นลง เพราะช่วงล่างกำลังยุบตัวมากกว่า

หรือต่อให้มันจะมีแรงสั่นสะเทือนขึ้นมาบ้าง แต่ก็แค่พอให้เรารู้สึกว่าตอนนี้เรากำลังเจอคลื่นหลุม หรือผิวถนนที่ไม่สมประกอบจริงๆเท่านั้น โดยแทบจะไม่มีเลยสักครั้งที่เราเจออาการโช้กยัน แม้บางครั้งจะลองเดินคันเร่งขึ้นโดดจากคอสะพานบ้างแล้วก็ตาม

ที่สำคัญคือความรู้สึกนี้ เป็นความรู้สึกที่คล้ายๆกัน ทั้งในรุ่น Standard Range และ Extended Range อาจจะแตกต่างกันเล็กน้อยก็ตรงที่

หากเป็นการซับแรงทางด้านหลัง ตัว Standard Range อาจมีการส่งแรงสะเทือนจากผิวถนนขึ้นมาถึงตัวรถที่เป็นลูกๆถี่ๆชัดเจนกว่าเนื่องด้วยกลไกของระบบกันสะเทือนหลังที่ยังคงเป็นแบบ Torsion Beam ที่แม้ล้อฝั่งใดฝั่งหนึ่งจะวิ่งอยู่บนผิวถนนเรียบๆ แต่ถ้าอีกฝั่งกำลังวิ่งอยู่บนถนนขรุขระ แรงสันสะเทือนตรงนั้นก็จะส่งข้ามมาถึงอีกฝั่งอยู่ดี

ส่วนตัวรถรุ่น Extended Range ด้วยความเป็นรถช่วงล่างหลังแบบ Multi link (กับน้ำหนักตัวที่มากกว่าเล็กน้อย) จึงทำให้การเก็บอาการจากแรงสั่นสะเทือนต่างๆของผิวถนน สามารถทำได้เนียนกว่า เป็นแรงสั่นสะเทือนที่มีความเป็นลูกๆนวลๆเนียนๆมากกว่า แม้ว่าล้อของมันจะใหญ่กว่าก็ตามที

แต่ใดๆก็คือ ด้วยความนุ่มนวลของระบบกันสะเทือน กับช่วงยุบที่เยอะพอสมควร จึงทำให้เมื่อถึงเวลาที่ผู้ขับอยากจะบู๊ หรืออยากจะเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงก็ตาม เรากลับพบว่า

ถึงยางที่ให้มาจะค่อนข้างเกาะ แต่เมื่อหักเลี้ยวพวงมาลัยตอนที่รถกำลังวิ่งอยู่ด้วยความเร็วสูง ตัวถังรถกลับมีอาการเอี้ยวตัว ให้ตัว หรือโคลงตัว ค่อนข้างมาก จนหลายคนอาจจะเหวอกันได้ง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากต้องซอกแซกรถไปมา เข้าโค้งเอสสลับไลน์ไปมา อาการนี้ก็ยิ่งชัดขึ้นเรื่อยๆ ตามความไวในการหักพวงมาลัย

ทั้งนี้ อาการโคลงตัวที่ว่า กลับไม่ได้หมายความว่า หน้ารถจะบาน หรือท้ายรถจะกวาดแต่อย่างใด เพราะถึงรถจะเอียงตัวค่อนข้างเยอะ แต่มันก็ยังสามารถเข้าโค้งได้ทั้งลำอย่างนั้น ขอเพียงแค่คุณเสริมเทคนิคเข้าไปอีกข้อหนึ่ง นั่นคือ การวางไลน์ที่อยากจะเข้าไปให้ดี แล้วใช้พวงมาลัยให้นุ่มนวล และเป็นจังหวะเดียว เพียงเท่านี้ คุณก็สามารถขับเจ้า Dolphin เข้าโค้งไปได้ชิลๆอย่างมั่นใจแล้ว

แต่ใช่ครับ ด้วยโครงสร้างช่วงล่างที่ต่างกัน จึงทำให้เราพบความแตกต่างอีกว่า…

เมื่อถึงเวลาที่ต้องเข้าโค้งเร็วๆขึ้นมาตัวรถรุ่น Standard Range กลับมีความมั่นคงของท้ายรถ ที่ดีกว่าตัวรถรุ่น Extended Range พอสมควรเลยทีเดียว

และนี่ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าตงิดใจมากๆ เพราะตัว Extended Range นั้นให้ความสนุกสนานในเรื่องของการเรียกอัตราเร่งเป็นอย่างมาก ต่างๆจาก Standard Range ที่อัตราเร่งมาแบบชิลๆ แต่ดันให้ความรู้สึกช่วงล่างด้านหลังที่ย้วยกว่ารุ่นเล็กเสียอย่างนั้น

ซึ่งก็ต้องยอมรับสภาพกันไป เพราะมันคือข้อดีข้อด้อยของรูปแบบระบบกันสะเทือนที่ต่างกันนั่นเอง

สรุป BYD Dolphin คือรถยนต์ไฟฟ้าที่น่าจับตามอง น่าใช้ น่าโดน มากแค่ไหน ?

ในมุมของแอดมินจอห์น Ridebuster บอกเลย ว่าน่าจับตามอง น่าจับจอง น่าซื้อเป็นอย่างมาก !!

เพราะแม้ในตอนนี้ วันที่เราได้ทดสอบ และได้เขียนรีวิวนี้ ให้ทุกท่านได้อ่านกัน เราจะยังไม่รู้ราคาวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการของเจ้า Dolphin เลยแม้แต่รุ่นเดียว

แต่เราก็ยังสามารถคาดการณ์และวิเคราะห์ได้ว่า มันจะต้องถูกตั้งราคาให้อยู่ในช่วงกึ่งกลางระหว่างสองรถยนต์แฮชท์แบ็คไฟฟ้าราคาไม่เกินล้านยอดนิยม อย่าง Neta V และ MG4 พอดิบพอดีแน่นอน

เมื่อบวกกับสมรรถนะของตัวรถ ที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่กำลังมองหารถยนต์ไฟฟ้าไว้ใช้งานในชีวิตประจำวัน โดยรถคันนั้นจะต้องไว้ใจได้ในเรื่องระยะทาง สามารถใช้งานได้ง่าย ไม่ต้องปรับตัวเข้าหาเยอะ เมื่อกระโดดมาจากรถเครื่องยนต์สันดาป และมีขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ จนเกินไป

เจ้า Dolphin ถือว่าเป็นโจทย์ที่เหมาะกับคุณมากที่สุดในเรื่องนี้ ….

สิ่งที่คุณจะต้องช่างใจให้ดี ก็มีเพียงแค่ว่า ในตัวรถทั้งสองรุ่น ระหว่าง Extended Range และ Standard Range ไม่ได้มีความแตกต่างกันแค่เรื่องของกำลังขับ และระยะทางการใช้งานสูงสุดต่อชาร์จ

แต่ยังมีเรื่องของบุคลิกการขับขี่ตัวรถที่แอบซ้อนไว้ ให้คุณต้องลองสัมผัสกันอีก ว่าแบบไหน คือสิ่งที่ใช่กับทักษะ ความต้องการของตัวคุณเอง หรือแม้กระทั่งความต้องการของคนในครอบครัวคุณอีก

สุดท้ายนี้เราคงต้องบอกว่า หากคุณรีบ และยังสงสัยในบางจุดที่เราไล่เรียงไปในการรีวิว

เราขอแนะนำให้คุณลองไปทดสอบตัวรถยังศูนย์บริการ และตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ BYD ที่มีรถให้ทดสอบดูอีกสักครั้งจะดีกว่า เพื่อที่คุณจะได้สามารถตัดสินใจได้ว่า ควรจะจองรุ่นไหนดี ระหว่าง Extended Range หรือ Standard Range

แต่หากคุณไม่รีบร้อนอะไร ก็โปรดรอการทดสอบรีวิวเจ้า BYD Dolphin ในครั้งต่อไป ที่เราจะนำมันมาเก็บรายละเอียดอื่นๆเพิ่มเติมอีกแน่นอนในส่วนที่ค้างคา ทั้ง ระบบความปลอดภัย และอัตราสิ้นเปลืองพลังงานที่แท้จริงของมัน

แล้วพบกัน..

ขอขอบคุณ บริษัท เรเว่ ออโตโมทิฟ จำกัด ที่ได้ให้เกียรติทีมงาน Ridebuster ให้เป็นส่วนหนึ่งในการเข้าร่วมทดสอบตัวรถ BYD Dolphin ในครั้งนี้

ทดสอบ/เรียบเรียง : รณกฤต ลิมปิชาติ

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่