ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้ง BYD Dolphin และ Honda City ที่ถูกเปิดราคาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ต่างก็ได้รับความสนใจจากชาวไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนรุ่นใหม่ ที่อยากได้รถยนต์คันแรกให้ตนเองไว้ใช้งานสักคัน

ว่าแต่คันไหนล่ะ ที่เหมาะกับคุณมากกว่ากัน ?

โดยสาเหตุที่เรามองว่า BYD Dolphin และ Honda City ต่างเป็นรถยนต์ที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่ เพราะส่วนหนึ่ง คนรุ่นใหม่บางกลุ่ม ที่ทำงานมาสักพัก จนเริ่มมีเงินมากพอ อาจมองว่ารถยนต์อีโคคาร์บางคันนั้นเล็กเกินไป และในขณะเดียวกันก็อาจยังไม่จำเป็นต้องมองรถยนต์ในกลุ่มคอมแพ็ค เพราะใหญ่เกินไป

นอกจากนี้ ตัวรถทั้งสองคันที่เกริ่นมา ก็คือรถขนาดซับ-คอมแพ็ค ที่พึ่งเปิดตัวใหม่ล่าสุด จึงทำให้พวกมันต่างก็น่าจับตามองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับช่วงราคาที่คนรุ่นใหม่ยังสามารถเอื้อมถึงได้ง่าย ไม่แรงจนเกินไปด้วยเรทราคาไม่เกิน 7 แสน บาท …

ซึ่งใช่ครับ ตัวรถรุ่นที่เรา จะนำมาเปรียบเทียบกัน ก็คือตัวรถ BYD Dolphin รุ่น Standard Range และ Honda City รุ่น SV ที่ต่างก็ให้ออพชันเพียงพอ และคุ้มค่าสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันแล้ว แต่มันจะมีอะไรบ้างนั้น เราลองมาดูกันเลยดีกว่า

มิติตัวรถ

Honda City SVBYD Dolphin Standard Range
ความยาว4,580 มิลลิเมตร4,150 มิลลิเมตร
ความกว้าง1,748 มิลลิเมตร1,770 มิลลิเมตร
ความสูง1,467 มิลลิเมตร1,570 มิลลิเมตร
ความสูงใต้ท้องรถ134 มิลลิเมตร130 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ2,589 มิลลิเมตร2,700 มิลลิเมตร
ความห่วงล้อคู่หน้า/คู่หลัง1,497 / 1,483 มิลลิเมตร1,530/1,530 มิลลิเมตร
น้ำหนักตัวรถ1,156 กิโลกรัม1,506 กิโลกรัม
ภาพประกอบคือ Honda City e:HEV SV ซึ่งมีหน้าตาคล้ายกับบ Honda City SV ต่างกันเพียงเรื่องของชุดล้อ และรายละเอียดบางจุด กับขุมกำลัง

ขุมกำลัง ระบบขับเคลื่อน

Honda City SVBYD Dolphin Standard Range
รูปแบบขุมกำลังเครื่องยนต์เบนซิน 3 สูบเรียง ดับเบิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ (DOHC) 3 สูบ 12 วาล์ว VTEC TURBOมอเตอร์ไฟฟ้าเดี่ยว
ระบบขับเคลื่อนชุดเกียร์ CVT + ระบบขับเคลื่อนชุดล้อคู่หน้าขับเคลื่อนล้อคู่หน้า
แรงม้าสูงสุด122 PS ที่ 5,500 รอบ/นาที94 PS
แรงบิดสูงสุด173 นิวตันเมตร ที่ 2,000 – 4,500 รอบ/นาที180 นิวตันเมตร
แหล่งพลังงานถังน้ำมันเชื้อเพลิง ความจุ 40 ลิตรBlade Battery
ขนาด 44.9 kWh
ค่าใช้จ่ายโดยคร่าวๆ หากต้องเติมน้ำมันเต็มถัง หรือชาร์จไฟเต็มแบตฯไม่เกิน 1,442 บาท (ค่าน้ำมัน 36.05 บาท/ลิตร ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2566)ไม่เกิน 337 บาท (ค่าไฟ 7.5 บาท/หน่วย แบบ On Peak ตู้ PTT EV ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2566*)
อัตราสิ้นเปลืองพลังงาน23.8 กิโลเมตร/ลิตร**ไม่ระบุ
ระยะทางในการวิ่งสูงสุดไม่เกิน ~950 กิโลเมตร/ถัง410 กิโลเมตร/ชาร์จ (NEDC)**
ค่าใช้จ่ายต่อกิโลฯราวๆ 1.50 บาท/กิโลเมตร***ราวๆ 1.21 บาท/กิโลเมตร*** (กรณีชาร์จไฟกับตู่ PTT EV ช่วง On Peak เท่านั้น)

*สาเหตุที่ต้องอ้างอิงค่าใช้จ่ายด้วยอัตราค่าไฟของ PTT EV ช่วง On Peak เนื่องจากโจทย์ของผู้ที่สนใจในตัวรถ BYD Dolphin Standard Range ครั้งนี้ คือผู้ใช้รุ่นใหม่ ที่อาจจะพักอาศัยในคอนโด ซึ่งไม่มีตู้ชาร์จในที่จอดรถ ทำให้ต้องชาร์จไฟจากตู้ PTT EV

ส่วนที่ว่าทำไมถึงต้องเลือกค่าใช้จ่ายในจังหวะ On Peak ? ก็เนื่องจากช่วงเวลาที่คนกลุ่มนี้สะดวกไปชาร์จ อาจเป็นช่วงก่อน 22.00 น. ก่อนเข้าที่พัก เพื่อพักผ่อนนั่นเอง

**อิงตามข้อมูลในโบรชัวร์

***เป็นค่าประมาณการโดยอิงจากการคำนวนตัวเลขในโบรชัวร์เท่านั้น ในการใช้งานจริงยังมีอีกหลายหลายตัวแปรที่ทำให้เกิดการคาดเคลื่อนได้ ทั้งอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงที่สามารถเพี้ยนตามการใช้งานของบุคคลนั้นๆ เช่นเดียวกันกับระยะทางในการวิ่งของแบตเตอรี่ ที่สามารถเพี้ยนตามสภาพการใช้งานของแต่ละบุคคลเช่นกัน

ระบบกันช่วงล่าง และระบบบังคับเลี้ยว

Honda City SVBYD Dolphin Standard Range
ระบบพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าไฟฟ้า
ระบบบกันสะเทือนด้านหน้าอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัทอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัท
ระบบกันสะเทือนด้านหลังทอร์ชันบีมทอร์ชันบีม
ระบบเบรกด้านหน้าดิสก์เบรกแบบมีครีบระบายความร้อนดิสก์เบรกแบบมีครีบระบายความร้อน
ระบบเบรกด้านหลังดรัมเบรกดิสก์เบรก
ขนาดวงล้อ15 นิ้ว16 นิ้ว
ขนาดยาง185/60 R15195/60 R16
ภาพประกอบคือ Honda City e:HEV SV ซึ่งมีหน้าตาคล้ายกับบ Honda City SV ต่างกันเพียงเรื่องของชุดล้อ และรายละเอียดบางจุด กับขุมกำลัง

ออพชันและลูกเล่นที่น่าสนใจ

Honda City SVBYD Dolphin Standard Range
เบาะนั่งภายในห้องโดยสารหนังแท้และหนังสังเคราะห์สีดำหนังสังเคราะห์ล้วน
งานตกแต่งชิ้นส่วนภายในห้องโดยสารสีดำ / สีแดงเข้มทูโทน มีให้เลือกหลายคู่สีแล้วแต่สีภายนอก
พวงมาลัยมัลติฟังก์ชัน หุ้มหนัง 3 ก้าน ปรับได้ 4 ทิศทางมัลติฟังก์ชัน หุ้มหนัง 3 ก้าน D-Chape ปรับได้ 4 ทิศทาง
มาตรวัดTFT 4.2 นิ้ว พร้อมไฟแสดงผลการขับขี่แบบประหยัดน้ำมัน ทำงานร่วมมาตรวัดเข็มกวาดหน้าจอ Full-Digital TFT ขนาด 4 นิ้ว ติดตั้งบนคอพวงมาลัย
ระบบปลดล็อค และสตาร์ทเครื่องยนต์กุญแจ Keyless + พร้อมปุ่ม Push Startกุญแจ Keyless + พร้อมปุ่ม Push Start
หน้าจออินโฟเทนเมนท์ขนาด 8 นิ้ว แบบ Advanced Touch รองรับ Apple CarPlay และ Android Auto แบบไร้สายหน้าจอสีระบบสัมผัสขนาด 12.3 นิ้ว พร้อมรองรับระบบ Apple CarPlay + Android Auto
ลำโพง4 จุด6 จุด
ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ เฉพาะตอนหน้า ยังไม่มีช่องแอร์หลังดิจิตอล ไม่มีระบบอัตโนมัติ เฉพาะตอนหน้า พร้อมระบบกรอง PM 2.5 ยังไม่มีช่องแอร์หลัง
เบรกมือคันชักไฟฟ้า พร้อมระบบ Auto Hold

ระบบความปลอดภัย

Honda City SVBYD Dolphin Standard Range
กล้องมองรอบคันไม่มี (แต่มี LaneWatch)มี
ระบบป้องกันล้อล็อคมีมี
ระบบกระจายแรงเบรกมีมี
ระบบควบคุมการทรงตัวมีมี
ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีไม่มีมี
ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชันมีไม่มี
ระบบช่วยเตือนมุมอับสายตาไม่มีมี
ระบบช่วยเตือนขณะถอยรถไม่มีไม่มี
ระบบช่วยช่วยเบรกขณะถอยรถไม่มีไม่มี
ระบบเตือนก่อนการชน พร้อมระบบช่วยเบรกก่อนการชนด้านหน้ามีมี
ระบบตรวจจับแรงดันลมยางไม่มีมี
ระบบปรับไฟสูง-ต่ำอัตโนมัติมีไม่มี
ระบบเตือนเมื่อออกนอกเลนมีมี
ระบบควบคุมให้อยู่ในเลนมีมี
ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติมีมี
ถุงลมนิรภัย2 จุด6 จุด

รุ่นย่อยและราคาวางจำหน่าย

Honda City SVBYD Dolphin Standard Range
679,000 บาท699,999 บาท

สรุปความเหมาะสมใครเหมาะกว่ากัน ?

หากมองจากออพชันเพียงอย่างเดียว ปฏิเสธไม่ได้จริงๆว่า แม้ BYD Dolphin Standard Range จะมีราคาที่แพงกว่า Honda City SV อยู่ราวๆ 20,000 กว่าบาท แต่ออพชันต่างๆที่ให้มาก็ถือว่ามีความจัดเต็มกว่ามาก ไม่ว่าจะเป็นในส่วนระบบ ADAS ที่ครบครันกว่า และลูกเล่นภายในห้องโดยสารที่น่าสนใจกว่า (แต่ก็ยังตายน้ำตื้นในบางจุด เช่นระบบไฟหน้าสูง-ต่ำอัตโนมัติ ที่ดันไม่มีมาให้เสียอย่างนั้น)

นอกจากนี้ ด้วยความเป็นรถยนต์ไฟฟ้า แม้แรงม้าของมันจะดูน้อยกว่ากันพอสมควร และแรงบิดก็สูงกว่า City SV เพียงไม่มาก แต่จากการที่ผู้เขียนได้เคยมีโอกาสสัมผัสตัวรถทั้งสองรุ่นมาแล้ว ก็พบว่าอัตราการตอบสนองต่อคันเร่งของ Dolphin ตัวล่างคันนี้ มีความติดเท้าและต่อเนื่องในช่วงความเร็วต่ำๆ-ปานกลางที่ดีกว่า ซึ่งนั่นจึงทำให้มันมีความคล่องแคล่วในการใช้งานในเมือง เช่นการชิงจังหวะออกตัว หรือการเร่งออกจากไฟแดงมากกว่า

ไม่เพียงเท่านั้นหากลองสังเกตกันให้ดี ก็จะพบว่าตัว Dolphin มาพร้อมกับขนาดตัวถังที่แอบกว้างกว่าเล็กน้อย รวมถึงระยะฐานล้อเองก็ยาวกว่าอย่างเห็นได้ชัด (แม้ตัวถังจะสั้นกว่า เพราะเป็นรถท้ายตัด หรือ Hachback ก็ตาม)

จึงทำให้การนั่งภายในห้องโดยสารของ Dolphin นั้น แอบรู้สึกได้ถึงความกว้าง และความโปร่งที่มากกว่า City อยู่พอประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้โดยสารตอนหลัง แถมตัวรถยังมีช่วงล่างที่เน้นความนุ่มนวล ทำให้การซับแรงจากฝาท่อ ทางรถไฟ หลุมบ่อต่างๆ สามารถทำได้ค่อนข้างเนียนกว่าคู่แข่ง

ภาพประกอบคือ Honda City e:HEV SV ซึ่งมีหน้าตาคล้ายกับบ Honda City SV ต่างกันเพียงเรื่องของชุดล้อ และรายละเอียดบางจุด กับขุมกำลัง

แล้ว City ไม่มีอะไรที่ดีกว่าบ้างเหรอ ? คำตอบก็คือ จริงๆก็มี มีเยอะด้วย

เพราะแม้ Honda City จะไม่ได้มาพร้อมขุมกำลังมอเตอร์ไฟฟ้า ที่นอกจากจะไม่สามารถทำอัตราเร่งในตีนต้นได้ติดเท้า แต่ด้วยความเป็นเครื่องยนต์ 1 ลิตร ที่เสริมกำลังด้วย เทอร์โบชาร์จ จึงทำให้หากจะขับจริงๆจังๆ มันก็ไม่ได้มีอัตราเร่งที่ขี้ริ้วขี้เหร่สักเท่าไหร่นัก สำหรับการใช้งานในเมือง จริงๆคือถึงขั้นกำลังดีแล้วด้วยซ้ำ แค่ไม่มากเท่ารถยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้ ด้วยขนาดตัวรถที่ค่อนข้างเล็ก และเบากว่า บวกกับการเซ็ทอัพช่วงล่างที่มีความกระฉับกระเฉงกว่า จึงทำให้การต้องควบคุมรถไปตามช่องจราจรต่างๆ การเข้าออกซอกซอยต่างๆ มีความคล่องตัวกว่า Dolphin อย่างมีนัยยะสำคัญ

ส่วนความประหยัดค่าพลังงานเอง ก็ต้องยอมรับว่ายังไงก็ไม่มีทางสู้กับรถยนต์ไฟฟ้าได้ เพราะค่าพลังงานต่อหน่วยนั้นต่างกันหลายเท่า จนเมื่อคิดถึงตรงนี้ หลายคนอาจอยากจะเบือนหน้าหนีจากการใช้รถยนต์น้ำมันไปเลยดีกว่า เพราะแบกค่าน้ำมันต่อเดือนไม่ไหว

แต่หากมองในมุมของผู้ใช้รถยนต์มือใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ อาจไม่ได้อยู่บ้านของตนเอง แต่อยู่หอพัก หรือคอนโด การใช้รถน้ำมัน ที่สามารถขับไปเติมที่ไหนก็ได้ และไม่เสียเวลาในการนอน เพราะต้องรอชาร์จรถก่อนกลับเข้าที่พัก อาจเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์กับรูปแบบ และประหยัดเวลาสำหรับการใช้ชีวิตพักผ่อนของคุณมากกว่า

ด้านความสะดวกสบายภายในห้องโดยสาร แม้ตัวรถจะมีขนาดเล็กกว่าในด้านกว้าง แต่พอนั่งจริงๆ มันก็ไม่ได้ถึงกับบอึดอัดกว่ามากนัก ที่น่าสนใจคือ เบาะนั่งของ City ดันแอบให้ความรู้สึกที่โอ่อ่ามากกว่า Dolphin อยู่นิดหน่อยซะงั้น (แต่ย้ำว่าเฉพาะตัวเบาะนั่ง)

และแม้ลูกเล่นต่างๆจะให้มาน้อยกว่า แต่ทุกอย่างที่มีก็ถือว่าเพียงพอแล้ว สำหรับการใช้งานเท่าที่จำเป็น หรือเกินกว่านั้นนิดหน่อย ยกตัวอย่างเช่นระบบ ADAS ที่แม้ฟังชันก์จะน้อยกว่า แต่ก็หมายความว่าผู้ใช้ไม่ต้องปวดหัวกับค่าบำรุงรักษาในระยะยาว ซึ่งคนทำงานรุ่นใหม่อย่างเราๆที่ยังมีเงินเดือนไม่สูงมากนัก ควรระวังเรื่องนี้ไว้ก่อน จะดีกว่า

ภาพประกอบคือ Honda City e:HEV SV ซึ่งมีหน้าตาคล้ายกับบ Honda City SV ต่างกันเพียงเรื่องของชุดล้อ และรายละเอียดบางจุด กับขุมกำลัง

ดังนั้น ถ้าตัดเรื่อง หน้าตา, ความคล่องตัว, พื้นที่ภายในห้องโดยสาร, และสมรรถนะของตัวรถ ที่ดีด้อยไปคนละแบบ

หากคุณเป็นคนรุ่นใหม่ที่ค่อนข้างให้ความสำคัญในเรื่องลูกเล่นล้ำๆ ตามฉบับรถยนต์ไฟฟ้า และไม่ได้ติดขัดเรื่องการชาร์จไฟ (อาจจะมีบ้านเป็นของตนเอง ซึ่งสามารถติดตั้งตู้ชาร์จที่บ้าน แล้วใช้ได้เลย ไม่ต้องแย่งใคร) การเลือก BYD Dolphin Standard Range อาจเป็นตัวเลือกที่ใช่สำหรับคุณ

แต่หากคุณคือคนที่ต้องพักอาศัยในหอพัก หรือคอนโด การใช้รถยนต์ไฟฟ้า แทบจะกลายเป็นหนังคนละม้วนกับกลุ่มก่อนหน้า เพราะคุณต้องคำนวนระยะทางให้ดี และกว่าจะได้ชาร์จรถแต่ละที ก็อาจจะต้องไปตบตีแย่งชิงที่ชาร์จกับชาวบ้าน ให้เสียเวลาพักผ่อนก่อนเข้านอนอีก

การเลือก Honda City จึงน่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะกับคุณมากกว่า ไม่ใช่แค่ด้วยเหตุผลในข้างต้น แต่ยังรวมถึงค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินกับรถขึ้นมา

และในกรณีที่คุณมีรถยนต์เพียงคันนี้เพียงคันเดียว ที่ไม่ใช่แค่ต้องใช้ในเมืองเท่านั้น แต่ยังต้องเผื่อว่าสักวันจะใช้มันเดินทางไปต่างจังหวัดไกลๆด้วย การเลือกรถที่สามารถเข้าศูนย์บริการซึ่งมีที่ตั้งครอบคลุม หรือไม่เช่นนั้น จะเข้าอู่นอกที่ส่วนใหญ่ ยังไงก็สามารถเช็คและแก้ไขอาการเบื้องต้นของรถคุณได้ เจ้า City ก็ยิ่งตอบโจทย์คุณขึ้นไปอีก

สุดท้ายนี้ ก็ลองช่างใจกันดูครับ ว่าลึกๆแล้ว คุณคือมนุษย์วัยทำงานรุ่นใหม่ ที่มีโจทย์การใช้ชีวิตแบบไหน เหมาะกับรถคันใดมากกว่ากัน ?

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่