ถ้ากล่าวถึง รถยนต์ไฟฟ้า ที่ขายดีในรอบปีทีผ่านมา ก็ต้องยอมรับว่า การมาของ BYD Atto 3 ได้รับความสนใจอย่างมาก ทั้งด้วยการเป็นน้องใหม่ในตลาด และการที่ยังไม่มีใครใช้รถในระยะทางมากๆ ทำให้ผู้จัดจำหน่าย ตัดสินใจว่า จะทำการทดลองด้วยการ ขับรถให้มีระยะทางเยอะที่สุด เทียบเท่ากับที่รับประกันคุณภาพแบตเตอรี่ เพื่อดูความทนทานของผลิตภัณฑ์

BYD Atto3 Dura Ability test

เรื่องนี้ ต้องยอมรับว่ายังไม่มีใครเคยทำมาก่อน กับการทดสอบและทดลองดูความทนทาน ของรถยนต์ไฟฟ้าตามที่มีการอวดอ้างสรรพคุณ จากทางผู้ผลิต ซึ่งหากเอาตามการใช้งานของคนปกติทั่วไป จากข้อมูลในงานวิจัย เปิดเผยว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั่วๆไปจะขับรถยนต์ราวๆ 20,000 ก.ม. ต่อปี​

ดังนั้นการวิ่งในระยะทาง 160,000 ก.ม. ​ก็จะใช้ เวลานานถึง 8 ปี เลยทีเดียว

และด้วยการเป็นแบรนด์ รถยนต์ใหม่ เรเวอร์ ออโตโมทีฟ ผู้จัดจำหน่ายแบรนด์ BYD จึงท้าทาย ด้วยการส่งรถยนต์ BYD Atto 3 ของตนเอง ไปขับทดสอบ บนทุกเส้นทางในไทย มาตั้งแต่ก่อนเปิดตัววางจำหน่าย โดยมีเป้าหมายสำคัญ ในการพิชิตระยะทาง 160,000 ก.ม. ที่แต่เดิมต้องใช้เวลาการวิ่งกว่า 8 ปี ตามงานวิจัย ให้เหลือภายในเวลา 6 เดือนเท่านั้น นับเป็นโจทย์ที่ยากไม่น้อย

ก่อนจะถึงบทส่งท้าย ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ เราเอง ก็มีโอกาสได้มาสัมผัสกับเจ้ารถทดสอบคันที่ว่า โดยเป็นการขับในช่วงสุดท้าย ก่อนที่รถจะถูกนำกลับเข้ามาวิ่งในกรุงเทพฯ เพื่อจบและสรุปผลการทดสอบที่กินระยะเวลาต่อเนื่องยาวนานกว่า 6 เดือน

รถ BYD Atto 3 คันนี้ แม้ว่าสภาพภายนอก จะใหม่กริ๊ป ไม่ต่างจากรถที่ลูกค้าเพิ่งออกจากโชว์รูม แต่ใต้เรือนร่างนั้น รถคันนี้กลับถูกนักทดสอบอิสระของทาง เรเวอร์ ขับใช้งานไปแล้วกว่า 135,849 ก.ม ในวันที่เรามีโอกาสไปสัมผัส นับเป็นระยะทางที่ค่อนข้างมาก สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ที่ถือเป็นของใหม่วันนี้

ด้วยความที่รถคันนี้ขับไปเยอะมาก จึงมีการดูแลสภาพ ตัวรถบางประการ เพื่อให้พร้อมใช้งานดังนี้

  • เปลี่ยนถ่ายน้ำหล่อเย็น ทั้งของมอเตอร์ และแบตเตอร์รี่ ตามระยะที่กำหนดในคู่มือ
  • เปลี่ยนน้ำมันเบรกตามระยะที่กำหนด (40,000 ก.ม.)
  • เปลี่ยนยางที่ใช้งาน จากเดิม Atlas Batman เมื่อตอนรถวิ่งไปแล้วเป็นระยะทาง 70,000 ก.ม. มาเป็น Bridgestone Alenza ขนาดยางเท่าเดิม นั่นจึงหมายความว่า ในวันที่เราได้เข้าร่วมการทดสอบ ยางชุดที่สอง ก็ได้ถูกใช้งานมาแล้ว ราวๆ 60,000 ก.ม.

ในส่วนอื่นๆนั้น ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น ผ้าเบรก, จานเบรก, แบตเตอรี่ 12 โวลต์, โช้กอัพ ก็ยังคงเป็นของเดิมทีมากับรถ หลายคนอาจจะแย้งหรือไต่ถามว่า ทำไม อุปกรณ์ สิ้นเปลืองอื่นๆ ไม่มีการเปลี่ยน นั่นเพราะ ทางบริษัท ก็ต้องการดูเช่นกันว่า อุปกรณ์สิ้นเปลืองเหล่านี้จะทนทานสักเท่าไรในการใช้งาน

ส่วนใครที่รอข้อมูล เรื่องแบตเตอร์รี่ว่ายังมีประสิทธิภาพดีเหมือนเดิมหรือไม่ ? จากการใช้เครื่องมือของทาง BYD ตรวจสอบ ประสิทธิภาพประจุแบตเตอร์รี่ หรือ SOH พบว่ามันมีประสิทธิภาพลดลงเพียง 4% เท่านั้น

โดยการวิ่งทดสอบทั้งหมด ใช้กระบวนการชาร์จแบบ DC ชาร์จเท่านั้น ตามที่ผู้ทดสอบกล่าวกับเรา และ ลองชาร์จกับตู้ชาร์จ ของทุกแบรนด์ชั้นนำ ไม่ว่าจะ PEA Volta, Elexa, หรือ PTT EV Station Pluz

BYD Atto3 Dura Ability test
ด้วยความบังเอิญ​เรามาเจอ รถยนต์ไฟฟ้าของคนในพื้นที่เช่นกัน

ตามที่เราสอบถาม กับทางผู้ทดสอบตัวหลักโดยทางเรเว่ฯ รถคันนี้ได้ถูกนำไปวิ่งมาแล้วหลายถนนเท่าที่ทุกท่านจะนึกออกเป็นอันดับแรกๆในทุกภาคของประเทศไทย ทั้งทิศเหนือ, ทิศใต้, ทิศตะวันออก, และทิศ​ตะวันออกเฉียงเหนือ

และในวันนี้ ก็จะเป็นช่วงการทดสอบในภาคอีสาน ซึ่งจะว่าไป ก็เหมือนเรามาช่วยพวกพี่ๆเขาทำงาน โดยเป้าหมายในการขับวันนี้ คือการขับจาก อุดรธานี ม้วนลงมาทางขอนแก่น, ร้อยเอ็ด, สุรินทร์ แล้วจึงวกขึ้นไปทาง อุบลราชธานี อีกครั้ง

ซึ่งระยะทาง ที่เราขับในเส้นทางที่ไล่เรียงไป ก็จะมีตัวเลขทั้งสิ้น 557 ก.ม. โดยเรามาพร้อมกับผู้โดยสารทั้งหมด 4 คน พร้อมสัมภาระส่วนตัวครบทุกคน ซึ่งหมายความว่าเราใช้ประสิทธิภาพรถอย่างเต็มที่ตลอดทริปการเดินทาง

เส้นทางช่วงแรก เป็นถนน 4 เลน ทางผู้ขับขี่ท่านแรก ขับใช้ความเร็วพอประมาณตามที่สมควร ผมที่นั่งอยู่ด้านหลัง และเพิ่งจะขับทดสอบ BYD Atto 3 ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ ค้นพบว่า ช่วงล่างมีอาการค่อนข้างนิ่ม กว่าปกติ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก สำหรับรถที่ผ่านการใช้งานมานาน

ผู้ขับขี่ท่านแรก เผยว่า รถเริ่มมีอาการเบรกสั่น หมายถึงเบรกเริ่มใกล้จะหมด สำหรับใครที่สงสัยว่า ทำไม เบรกยังไม่หมด ทั้งที่ขับมากว่า 130,000 ก.ม. ​ก็เนื่องจาก การทำงานของรถยนต์ไฟฟ้า จะมีแรงหน่วงจากมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อน ช่วยในการชะลอดความเร็ว ทำให้ผู้ขับขี่ไม่จำเป็นต้องใช้เบรกเยอะ แม้แต่ในการลงทางลาดชันก็ดี ทำให้ผ้าเบรกของรถยนต์ไฟฟ้ามักมีอัตราการเสื่อมสภาพที่ช้ากว่ารถเครื่องยนต์สันดาปภายใน

ทดลองขับ !!

หลังจากตะลุยมาทั้งวัน ในที่สุดก็มาถึงคิวผมลองขับ เจ้ารถทดสอบที่วิ่งเยอะที่สุดคันนี้ ก่อนขึ้นขับ เราเติมไฟ 95% ที่ PTT แกใหญ่ จังหวัดสุรินทร์ โดยผมเป็นไม้สุดท้าย เพื่อเดินทางสู่ปลายทางจังหวัด อุบลราชธานี

เส้นทางของเราไม่ได้ใช้ เส้นทางปกติสาย 24 แต่ใช้เส้นข้างใน สาย 226 แล้ว มาต่อ สาย 294 ฟังดู ก็ไม่มีปัญหา อะไร นอกจากทางที่มืดมิด แต่เมื่อขับมาสักพัก ปรากฏว่า มีการทำถนน อยู่ต่อเนื่องเป็นระยะ รถมีการสะเทือนอยู่ตลอดเวลา

ถึงกระนั้น ด้วยความนิ่มของช่วงล่าง คุณสามารถรูดผ่านทางไปได้ อย่างสบาย ไม่พบอาการโช๊คยัน จนรถตกกระแทกอย่างแรง อันเป็นอาการบ่งถึง ว่าโช๊คนั้น เริ่มจะเสื่อมประสิทธิภาพและไม่เหมาะต่อการใช้งาน

BYD Atto3 Dura Ability test
ผู้ร่วมชะตาของเราในทริปนี้ กับการลองขับ รถที่ผ่านการใช้งานหนักสุดโหด

ตลอดทางที่ขับๆ เบรกๆ ถ้าคุยเรื่องประสิทธิภาพการทำงานของมอเตอร์ ในความรู้สึก ส่วนตัวนั้นยังแทบไม่ต่างจากเดิม ที่เคยผ่านมา ไม่ว่าการตอบสนอง ทั้งการเร่ง หรือ การเบรก เพื่อรีเจนฯไฟ หน่วงช่วยชะลอความเร็ว ยังดูปกติดี ไม่มีอาการเฉื่อยชา ถ้าเทียบกับ การใช้งานเครื่องยนต์สันดาป การสึกหรอของเครื่องยนต์ในระยะเดียวกัน อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำไป

การขับๆ เบรก ทำให้สัมผัสได้ถึง อาการเบรกที่เริ่มออกอาการ ผ้าเบรกจะหมดอยู่บ้าง ในหลายจังหวะ แต่ยังไม่มีอาการถึงขนาดเวลาเบรกแล้วเสียงดัง จนน่ารำคาญใจ

เราต้องบอกก่อนว่า รถคันนี้โดยส่วนใหญ่เป็นการขับในพื้นที่ต่างจังหวัดเน้นทำระยะทางยาวๆ ทำให้การใช้เบรกเพื่อชะลอความเร็ว อาจจะน้อยกว่า การใช้งานทั่วไป ที่อาจจะเป็นรูปแบบการใช้งานในเมือง จึงทำให้เบรกชุดแรก อยู่รอดปลอดภัยมานาน เมื่อบวกกับความจริงว่า เราสามารถใช้มอเตอร์ไฟฟ้าช่วยในการชะลอความเร็ว โดยไม่ต้องเหยียบลดความเร็ว ตั้งแต่แรก ช่วยทำให้ผ้าเบรกใช้งานน้อยลงตามไปด้วย

แต่เรื่องความสึกหรอ ของรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้มานาน คงหนีไม่พ้นในแบตเตอรี่ ซึ่งเราได้ขับออกจากจุดชาร์จที่สุรินทร์ ด้วยปริมาณไฟฟ้า 93 % มีระยะเดินทางตามคำนวนให้วิ่งได้บนหน้าจอ 451 ก.ม.​ ซึ่งดูแล้ว ก็ไม่ใช่ระยะที่เพี้ยนจากเดิมเท่าไหร่นัก

การขับขี่ ใช้ความเร็วปกติทั่วไป 90-120 แต่จะใช้ความเร็วกลางๆไม่มาก เนื่องจาก เป็นถนนเลนสวนที่กำลังมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง

นี่คือระยะทาง ที่เราได้เริ่มการทดสอบ ในทริปนี้ ของ BYD Atto 3

จนกระทั่ง มาในช่วงหลัง ของการเดินทาง เส้นทางโล่งให้เราเหยียบยาวๆ จึงได้ใช้ความเร็วเดินทางผมเริ่มพบว่า เมื่อระดับแบตเตอร์รี่ ต่ำกว่า 60% จะเริ่มมีการลดลงอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง ระยะทาง 174 ก.ม.​ จากจุดชาร์จ มาจนถึงปลายทางของเราที่อุบลราชธานี ผลปรากฏว่า แบตเตอร์รี่ลดลงเหลือเพียง 39%

นั่นเท่ากับว่า แบตเตอร์รี่หายไปถึง 54% ในระยะทาง 174 ก.ม. ถ้าเทียบกับที่ผมเคยขับรถที่ยังมีสภาพแบตเตอร์รี่ดีกว่านี้ มีระยะการเดินทางคงเหลือแบตเตอร์รี่จาก 100% เหลือ 5% จะสามารถเดินทางได้ 360 ก.ม. จึงถือว่ามันไม่ได้ต่างกันมากนัก

ส่วนเดียวที่เห็น คือระยะทางลดลงเร็วกว่าปกติ ในช่วงครึ่งหลังที่แบตเตอร์รี่เริ่มอยู่ในระดับต่ำ

อย่างไรก็ดี ,ส่วนที่เรายังไม่สามารถให้ข้อมูลได้ หลังลองขับรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้มานาน คือ การเสื่อมสภาพตามกาลเวลา ซึ่งอาจจะมีปัจจัย ที่ส่งผลต่อการใช้งาน เช่นการผ่าน ความชื้นหลายปีของแบตเตอร์รี่, ​การเสื่อมสภาพ ของลูกยางต่างๆของระบบกันสะเทือนและอื่นๆ สภาพการจราจรแบบคนเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งหลายคน ให้ความสนใจในการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

การทดสอบในวันนี้ เป็นเพียง การยืนยันว่าในระยะทาง ตามที่มีการรับประกัน แบตเตอร์รี่ ยังคงดีอยู่ ไม่มีปัญหา จนถึงระดับที่น่าเป็นห่วง ในการใช้งานของเราๆ

โดยในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ จะเป็นวันสุดท้าย ของการวิ่งทดสอบดังกล่าว ที่จะชี้ว่าสมรรถนะรถคันนี้ เมื่อผ่านระยะทาง ตามที่เคลม 160,000 ก.ม. ​แล้ว มันจะเป็นอย่างไร นับเป็นความท้าทายที่น่าสนใจ อย่างมากของแบรนด์น้องใหม่ รายนี้

เรื่องและขับทดสอบ โดย ณัฐพิพัฒน์ วรโชติโกศล

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่