Home » Toyota Hilux Revo   อาจคว่ำถ้าหักหลบแรง จริงหรือไม่
moosttest-4
Bust topic เคล็ดลับเรื่องรถ

Toyota Hilux Revo   อาจคว่ำถ้าหักหลบแรง จริงหรือไม่

เรื่องโดย กู…ต้นกล้า
ไม่ทราบง่ากลายเป็นวัฒนธรรมสื่อมวลชนไทยหรือเปล่าที่ออกมาแก้เกมกันใหญ่ หลังจากบรรดาสื่อใหม่ๆ บางสื่อยอมเดินตามอุดมการณ์คนสื่อ ออกมาตีแผ่เรื่องราวของเจ้ารถยนต์กระบะขายดี   Toyota Hilux Revo   ว่ามันอาจจะพลิกคว่ำได้หากหักหลบแรงๆ จากการทดสอบของสื่อนิตยสารฉบับหนึ่งในประเทศสวีเดน จนกลายเป็นดราม่าที่ทำเอาโตโยต้าออกดิ้นให้ลบข่าวดังกล่าวออกจากบางสื่อ ส่วนบางสื่อที่ไม่ได้เป็นสปอนเซอร์ ก็โดนสาดโคลนว่า เป็นสื่อมวลชนที่ไร้จรรณายาบรรณ โดยยืมมือจากสื่อมวลชนรุ่นใหญ่

สำหรับผม ในฐานะที่อยู่แวดวงเดียวกัน ต้องบอกว่าเป็นเรื่องน่าอับอายอย่างยิ่งและไร้สำนึกของความเป็นสื่อมวลชนที่หวังพึ่งพิงแต่โฆษณา โดยลืมคำนึกถึงหลักความเป็นจริงต่อผู้อ่าน ตลอดจนบริษัทชั้นนำระดับโลกรายนี้เหมือนกำลังจงใจจะหมกเม็ดสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งที่ควรจะตรวจสอบแบบที่บริษัทในสวีเดนได้ตอบโต้กับผู้ทดสอบจากนิตยสาร ซึ่งพบอาการดังกล่าวว่า “ทางบริษัทจะขอนำค่าการทดสอบที่คุณทำ ไปลองทดสอบภายใน” … แค่นี้ก็เห็นแล้วว่าวิธีการจัดการแตกต่างกันแล้ว!!

เอาล่ะ วันนี้ที่เขียนบทความนี่ไม่ได้จะมาเทศเรื่องการที่สื่อถูกครอบงำแต่ย่างใด แต่ผม อยากมาตีแผ่ว่า สรุปคลิปที่คุณเห็นนั้น เป็นไปได้จริงหรือไม่ หรือแค่น่าจะเป็นในการทดสอบรถยนต์ที่ทารุณโหดร้ายจัดหนักกับรถยนต์ที่พวกเขาคิดว่ามันน่าจะเกิดขึ้นเท่านั้น

ก่อนอื่นผมว่า คุณต้องเข้าใจก่อนว่า   Moose Test   ที่พูดถึงนี้คืออะไร

Moose Test   เป็นการทดสอบการหักหลบต่อเนื่องของรถยนต์ โดยการทดสอบนี้มีรายงานมาตั้งแต่ปี   1970   ซึ่งเดิมทีมีบริษัทรถยนต์บางรายใช้ในการทดสอบภายในรั้วบริษัท อย่าง   SAAB  และ   Volvo   แต่ไม่รู้ว่าปัจจุบันยังใช้หรือไม่

แนวทางการทดสอบดังกล่าวเกิดจากการเล็งเห็นถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ โดยเป็นการจำลองสถานการณ์  ถนนสองเลนสวนว่า จู่ๆ มีกวางป่า ทะเล่อวิ่งตัดหน้ารถ และผู้ขับขี่หักหลบอย่างรวดเร็ว คุณรอดจากกวางและช่วยชีวิตเพื่อนร่วมโลก แต่ท้ายที่สุดแล้ว ชีวิตคุณกำลังจะหาไม่ เมื่อรถยนต์สวนมาด้วยความเร็ว   120  ก.ม./ช.ม.  คุณกำลังตาโตว่ารถกำลังจะประสานงานทันใดคุณหักหลบเพิ่มทันทีหลังจากหักหลบกวาง …. ถามว่าเรื่องนี้เป็นไปได้ในแถบแสกนดิเนแวีย แต่สำหรับบ้านเราอาจจะไม่มีกวาง แต่หมา วัว ม้า หรือ ช้าง ที่เราเห็นเป็นสัตว์ชอบข้ามถนนประจำ ก็อาจจะทำให้ คุณอยุ่ในสถานการณ์แบบนี้ก็เป็นไปได้จริงไหม ???

การทดสอบที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือ ยิ่งกว่ามาตรฐาน ….

ตั้งแต่มีดราม่า ผมติดตามข้อมูลเพื่อมากลั่นกรองความแตกต่าง ตามข้อโต้แย้งของ   Toyota   ที่ออกมาบอกว่า พวกเขาทดสอบตามการทดสอบมาตรฐานสากล   ISO 3888   ในการหักหลบอย่างต่อเนื่อง และกล่าวอ้างโดยทีมวิศวกรไทยที่โทรสายตรงถึงบางสื่อว่า การทดสอบ Moose Test   ที่นำเสนอนั้นไม่มีความน่าเชื่อถือแต่อย่างใด

อาจจะจริงที่   Moose Test   ไม่ใช่การทดสอบที่เป็นมาตรฐานแบบ   ISO 3888  แต่ก็ต้องยอมรับว่า  อะไรที่เหนือมาตรฐานย่อมสร้างความมั่นใจมากกว่า …จริงหรือไม่

โชคดีที่สื่อบางรายหลังจากโตโยต้าจวกให้เอาลงพวกเขาก็พยายามสร้างความน่าเชื่อถือในการนำเสนอข้อมูลด้วย การนำเสนอความแตกต่างระหว่างการทดสอบที่   Toyota  กล่าวอ้างกับ   Moose Test  

สื่อรายนั้นคือเว็บไซต์   Autodeft   (ผมล่ะยอมใจ…น้องคนหนึ่งที่กล้าจะไฝ้วกับยักษ์แม้รู้ว่าอาจจะไม่สามารถทำอะไรได้) เขาพยายามชี้ให้เห็นจุดต่างของการทดสอบรถยนต์ทั้งสองแบบที่มีความคล้ายคลึงกัน แต่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ตามการทดสอบ ISO 3888 จากข้อมูลในการทดสอบดังกล่าวระบุว่า  การทดสอบหักหลบต่อเนื่องตามมาตรฐานการทดสอบดังกล่าวจะใช้ ความเร็ว   80   ก.ม/ช.ม. อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าได้ไม่เกิน  3  ก.ม./ช.ม. โดยเริ่มออกตัวตั้งแต่จุดหยุดนิ่ง   15  เมตร และ เมื่อเข้าสู่สถานี จะมีระยะทางอีก   30   เมตร ก่อนถึงจุดหักหลบ  ซึ่งจะมีการตั้งกรวยเพื่อให้หักหลบ เพิ่มอีก  3.5   เมตร บวกกับ ช่องทางเดินรถเดิม ซึ่งจะมีการวัดขนาดตัวรถแล้วตั้งตามขนาด บวกระยะเพิ่มความกว้าง   0.25   เมตร   ซึ่งจะมีความช่องทางประมาณโดยเฉลี่ยที่  2.5   เมตร เมื่อบวกกับ การตั้งเยื้องเพิ่มเพื่อให้หักหลบ   2.5+3.5  เมตร จะเท่ากับ   6   เมตร ที่ต้องหักหลบ โดยเมื่อหักหลบไปแล้ว มีระยะทางอีก   25   เมตร  ก่อนจะต้องหักหลบกลับมาในช่องทางเดิม … ในระยะทางที่เท่ากัน

moosttest-6

ทีนี้ลองมาดูทาง   Moose Test   บ้าง ทาง  Teknikens Värld  นิตยสารรถยนต์เจ้าปัญหา  ได้เปิดเผยข้อมูล  การตั้งรูปแบบสนามทดสอบของพวกเขาเอาไว้ว่า  ช่องทางก่อนเริ่มสถานีมีระยะทาง   6   เมตร  แต่พวกเขาจะขับออกจากจุดเริ่มต้นเพื่อให้ความเร็วคงที่ 60   ก.ม./ช.ม.   บวกลบไม่เกิน   3  ก.ม./ช.ม.   ในระยะไกลกว่านั้น เมื่อมาถึงช่องทดสอบ ตัวนำเข้าสถานี  มีความยาว  6   เมตร  และมีระยะทางก่อนถึงตัวจุดหักหลบเพียง   13.5   เมตร ถ้ารวมกับระยะเข้าสถานี  6  เมตร   ก็ต้องยอมรับว่า สั้นกว่า  ISO ครึ่งหนึ่ง (   ISO  ระยะทางรวม   45   เมตร Moose Test  19.5  เมตร  )  เท่านั้นไม่พอ เรื่องการเยื้องเพื่อหักหลบ   3.5 เมตรของ   ISO และรวมเป็น  6  เมตร   เมื่อรวมช่องทางเดินรถ แต่ใน   Moose Test   ระยะเยื้องดังกล่าวเพิ่มเป็น   7   เมตร โดยรวมเอาช่องทางเดินรถ 3  เมตร  บวกกับช่องแบ่งเลน   1  เมตร  และเลนฝั่งตรงข้ามอีก   3   เมตร   ว่าง่ายๆ เยื้องมากกว่า

ตลอดจน เมื่อหักหลบไปแล้ว ต้องหักหลับกลับในระยะช่องทางตรงข้ามเพียง 11 เมตร  น้อยกว่า   ISO  3888 กว่า   14   เมตร  …..  แต่อย่างที่เราบอกพวกเขาใช้ความเร็วน้อยกว่า ในการทดสอบ และมีการยืนยันว่ามีการเพิ่มความเร็วเรื่อยๆ จนถึงระดับเดียวกับ  ISO   หรือจนกว่ารถจะกินกรวยจึงจบการทดสอบ

ถ้าถามผม  Moose Test   ดูค่อนข้างสมจริงกว่า แม้จะไม่ได้เป็นมาตรฐานสากล แต่การทดสอบดังกล่าวดูเหมือนจะเหนือกว่ามาตรฐานที่ถูกนำมากล่าวอ้างสียอีก  ด้วยการหักหลบนั้นจะทำในชีวิตจริงของคนทั่วไปที่ไม่ใช่นักทดสอบรถยนต์มากประสบการณ์อย่างตัวผมนั้น คนจะหักหลบแบบตกใจ!!! อย่างรวดเร็ว และเมื่อเจอรถสวน ก็จะเร่งหักหลบกลับอย่างรวดเร็วเช่นกัน

หรือคุณว่าไม่จริง!!!!

ทีนี้เกิดอะไรขึ้นกับ Hilux Revo   เจ้าหนึบของคนไทย ตามคำโฆษณาของโตโยต้า …. แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดนะ ผมไม่ได้บอกว่า โตโยต้าโกหก !! พวกคุณ

ก่อนอื่น คุณต้องเข้าใจว่าการขับรถยนต์ เมื่อหักหลบจะเกิดอะไรบ้าง … มันมีเงื่อนไขหลายอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น โดยผมขอแบ่งเป็น  2  ตัวแปรหลักๆ เพื่อจะให้เข้าใจง่ายๆ

ตัวแปรเกี่ยวกับตัวรถ

มิติตัวรถ

มิติตัวรถหมายถึงขนาดในด้านต่างๆ ที่ถูกวิศวกรรมขึ้นมา ซึ่งมีส่วนสำคัญในแง่หนึ่งต่อการควบคุม ขนาดรถที่ใหญ่กว่า ยาวกว่า และสูงกว่า เป็นอุปสรรคในการควบคุมอย่างไม่ต้องสงสัย มันย่อมควบคุมยากกว่า ตลอดจนในเรื่องนี้ยังรวมไปถึงฐานล้อ และความกว้างระหว่างล้อหรือ   Track   ที่มีผลต่อการยึดเกาะถนนอย่างชัดเจน และขาดไม่ได้คือน้ำหนักของตัวรถที่จะถูกถ่ายเทไปในระหว่างการเปลี่ยนช่องทาง ยิ่งมากตัวรถก็ยิ่งมีอาการเหวี่ยงเยอะกว่า

สำหรับ   Toyota Hilux Revo   ผมขออ้างอิงจากไทย เพราะบ้านเราเป็นฐานการผลิตส่งออกด้วย  เจ้านี่มีความยาว-กว้าง-สูง  5,330 x 1,855 x 1,815 มม. มีฐานล้อยาว   3,085 มม. และระยะต่ำสุดจากพื้น 217  มม.  ส่วนระยะห่างล้อซ้ายขวา ทางด้านหน้า และด้านหลัง มีค่า  1,535 x 1,550 มม.

ถ้าคุณคิดว่าเจ้านี่ใหญ่สุดแล้ว ก็คงต้องตอบว่า ไม่ฐใช่ เพราะใหญ่สุดตอนนี้คือพี่ฟอร์ดเรนเจอร์ มาพร้อมความยาว  5,362 มม. กว้าง   1,860   มม. และ สูง 1,815   มม  มีระยะฐานล้อ   3,220  มม.  ระยะต่ำสุดจากพื้น  320   มม. ส่วนระยะห่างระหว่างล้อซ้ายขวา ให้เท่ากัน  ที่   1,560  มม. (แต่ไมมีอาการจะพลิก แปลกป่ะล่ะ)

ช่วงล่างและความแข็งแรงของตัวถัง

ระบบช่วงล่างอาจจะเป็นที่นึกถึงหลายคนทันทีเมื่อ ถามว่ารถหนึบหรือไม่ โอเค!!! คุณรู้จัก โช๊คอัพและสปริงอยู่แล้ว แต่มันยังมีอย่างอื่นอีก เช่น เหล็กกันโคลง ยิ่งขนาดใหญ่ก็ยิ่งลดอาการเหวี่ยงตัวควบคุมการทำงานของช่วงล่างเป็นต้น สมัยนี้มีมาให้เกือบหมดแล้ว และนอกจากนี้เจ้าช่วงล่าทั้งหลายจะทำงานได้ดีหรือไม่ดีนั้น ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของตัวถังด้วย ยิ่งตัวถังมีความแข้งแรงมาก ช่วงล่างจะยิ่งทำงานดี ..เข้าใจตรงกันนะ

ล้อและยาง

ล้อและยางคือสิ่งเดียวที่รถเกาะถนน ในบ้านเรา   Toyota Hilux  มาพร้อมยาง AT – All Terrain  แต่ไม่ใช่ที่สวีเดน แต่ก็ไม่รู้ใช้ยางอะไรนะ ดูแล้วเป็นยาง   HT  ธรรมดา  นี่แหละ ซึ่งพูดถึงล้อและยาง เมื่อล้อใหญ่ขึ้น ยางก็จะกว้างมากขึ้น ยิ่งยางกว้างมากขึ้น รถก็เภาะถนนขึ้น และมีแรงยึดเกาะมากกว่าจากหน้าสัมผัสที่มากกว่า  

ระบบพวงมาลัย ….

ระบบพวงมาลัย คือระบบที่ทำหน้าที่บังคับทิศทาง ใน   Toyota   ยังใช้ระบบพวงมาลัยแบบ   Rack   and Pinion  อยู่เลย ซึ่งการตอบสนองพวงมาลัย มีผลโดยตรงต่อการควบคุมรถในการหักหลบในสภาวะต่างๆ หากพวงมาลัยมีการตอบสนองไม่ดี ก็ทำให้คุมรถยาก

ระบบช่วยเหลือในการขับขี่

ปัจจุบันระบบช่วงเหลือในการขับขี่ล้วนมีความหมายทั้งสิ้น ใน   Toyota Hilux Revo   ปัจจุบัน มีระบบควบคุมการทรงตัว หรือ  Vehicle  Stability Control  นอกจากนี้ยังมีระบบต่างๆป้องกันการลื่นไถลที่ซ่อนอยู่ข้างใน   TRC   มีระบบควบคุมพ่วงท้าย   Trailer Sway Control   ช่วยในการขับขี่อยู่แล้ว

 

เอาล่ะจบทางด้านตัวรถ มาดูปัจจัยทางด้าน อื่น ต่อ

 

ปัจจัยทางด้านสภาวะการทดสอบ

ปัจจัยทางด้านสภาวะการทดสอบ มีมากมาย ตั้งแต่อากาศ อุณหภูมิผิวถนนที่ใช้ทดสอบ เช่นทดสอบ   ISO  3888   ในไทย ผ่าน เนื่องจากอากาศร้อนแบบว่าตับจะแตก แต่ในสวีเดนไม่ใช่แบบนั้น อุณภูมิความร้อนของยางไม่เท่ากัน อาจจะทำให้ประสิทธิภาพการเกาะถนนลดลงได้

ตลอดจน สภาพของรถทดสอบเอง ก็อาจจะไม่มีความพร้อม หรือเปล่า  ก็เป็นไปได้ เพราะครั้งหนึ่งเมื่อปี  1997   เจ้านิตยสารรายนี้ก็ทำ   Mercedes Benz A Class   รุ่นก่อนปัจจุบัน อีโฉมที่คล้ายๆ Jazz   คว่ำไปแล้วหนหนึ่ง สุดท้ายสรุปได้ว่า สภาพรถไม่พร้อม เป็นอันจบข่าวไป 

เรื่องสภาพรถไม่พร้อมนั้นไม่ต้องพูดอะไรมากหรอก ในไทยนี่ก็เป็น อย่างผมขับรถทดสอบมาเยอะ บางคันนี่สภาพแบบว่าผ่านการลงประชาฑัณฑ์มาแล้ว บางครั้งบริษัทไม่ได้ตรวจสอบเช็คสภาพล้อและยาง หรือเครื่องยนต์ เลยด้วยซ้ำไป ถามว่าผู้ทดสอบเขาจะทราบไหมว่า   รถสภาพดีไม่ดี เขาทราบแหละ และในสายอาชีพผมบอกเลยว่าก็ต้องมีการตรวจสอบซ้ำอีกรอบ เช่น พวงมาลัยเอียงไหม รถลมยางอ่านไหม ขับแล้วมีเสียงแปลกๆไหม ถ้าไม่ดีจริง เราก็จะกริ้งบอกบริษัทรถยนต์ว่าเฮ้ เพื่อรถท่านสภาพไม่ไหวแล้ว ถ้าแย่มากจริงๆ ก็วนกลับไปคืนนั่นแหละ … จบไม่ทดสอบ ผมก็เคยทำมาแล้ว ….เช่นกัน ไม่อยากเอาชีวิตไปเสี่ยงหรอก

 

ปัจจัยระหว่างการขับขี่ทดสอบ

ตรงนี้ผมว่าหลายคนกังขา ขนาดบางสื่อที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องออกมาเปิดโปงเลยว่า การทดสอบนี้ดูเหมือนจะจัดหนักกับ   Toyota  และตั้งใจให้ออกอาการ … ถามผม นั่นดูจะลำเอียงเชลียค่ายรถไปหน่อยไหม ??? แถมเป็นสื่อใหญ่ด้วย ควรตั้งคำถามตัวเองในการทำงานสายอาชีพได้แล้ว!!!  

เอาล่ะเรื่องปัจจัยในระหว่างการทดสอบนั้นผมพุ่งเป้าไปที่ผู้ทดสอบเป็นหลัก มี  3  ปัจจัยสำคัญ ที่น่าสนใจ

1.สภาพร่างกายและจิตใจ

เอาที่สภาพร่างกายก่อน คือความพร้อม …ของร่างกายนั้นแหละ คร่าวๆ ก็กินอิ่มนอนหลับ ไม่ป่วยไม่ไข้ อะไรแบบนั้น ถามว่าเกี่ยวกับการทดสอบอย่างไร เกี่ยวแน่กับการตอบสนองในการทดสอบ อย่างใน  Moose Test  นี่ก็จังหวะหักพวงมาลัย จังหวะเดินคันเร่งของรถ ร่างกายสำคัญมากครับต่อการเป็นนักทดสอบ

แล้วจิตใจล่ะ!! อ้างก็แหงดิ ถ้าจิตใจไม่ดี ไม่ว่าจะจิตหงุดเงียว หรือทะเลาะกับเมียมาหมาดๆ แบบนี้ไม่ดีต่อการทดสอบแน่ !! เพราะอาจจะเอาอารมณ์ไปใส่กับสิ่งที่ทำ อย่างผมก็เคยเจอสถานการณ์แบบนี้ผมไม่ทดสอบเลยนะ ถือว่าเราไม่พร้อม… เราไม่อยากให้ผลการทดสอบออกมาไม่ดี … หรือมีปัญหาจากตัวเรา … ซึ่งถ้าอีตาคนทดสอบทะเลาะกับเมียมา ก็เป็นไปได้ที่จะจัดหนักกับรถ … แต่ผมไม่ได้บอกว่าเขาเป็นแบบนั้นนะเดี๋ยวเข้าใจผิด

2.ประสบการณ์

ทุกวันนี้มีคนจำนวนมากอยากเป็นนักทดสอบรถยนต์ เห็นโก้เก๋ขับรถใหม่ๆตลอด พี่บอกเลยนะว่างานโคตรหนัก และที่สำคัญไม่แพ้กันคือต้องมีประสบการณ์ในการขับรถมาสูงมากๆ สูงชนิดที่ว่า  !!! ระดับขั้นเทพ และยังต้องผ่านการฝึกทักษะอีกหลายอย่าง จนกว่าจะมั่นใจทดสอบ

เรื่องประสบการณ์ขับขี่ไม่สามารถบอกใครได้เป็นสิ่งที่ไม่มีทางลัดต้องผ่านด้วยตัวเอง นักทดสอบแทบทุกคนเคยผ่านเรื่องการเกิดอุบัติเหตุมาแล้วทั้งนั้น แค่จะมากจะน้อยว่ากันไป ..แต่ก็มีอีพวกนักทดสอบไร้ฝีมือปากมากชอบเอาเรื่องเสียๆมาโพทนา อย่างกับมันเป็นเทพพระเจ้า ทั้งที่ขับรถอย่างกับแมวย่อง ดีแต่ปากฝีมือละอ่อน แบบนี้ก็ไม่ใช่นะ ..ไม่ถูกต้อง
เอา นอกเรื่องมานาน เรื่องประสบการณ์ที่บอกนั้น คือประสบการณืในการขับขี่ทดสอบ แบบนี้ ถ้ามีประสบการณ์น้อย ก็ยิ่งกลัวในการทดสอบอาจจะทำให้ผลทดสอบออกมาดี หรือมีประสบการณ์มาก ก็พร้อมจะวัดใจกับการทดสอบ อาจจะใช้ความเร็วมากกว่า จัดหนักกว่า แบบที่โตโยต้าหวั่นใจ แต่อย่าลืมจะจัดหนักอย่างไร ก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขการทดสอบที่วางแผนเอาไว้ ..จริงไหม

 

แล้วยังไง ทดสอบ   Moose Test  กับ   REvo   

อ่านมานาน คงเริ่มเบื่อ ตกลงยังไง .. จากองค์ประกอบที่กระผมบอกในการทดสอบ   Moose Test   นั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า   Moose Test   ทดสอบ ด้วยคนสองคน และน้ำหนักอีก   100   กิโลกรัม เพื่อเป็นสัมภาระของผู้โดยสาร โดยจะวางไว้ในรถ  แต่เนื่องจากในการทดสอบครั้งนี้พวกเขาแทนด้วย ผู้โดยสารอีก  2 คน จึงเป็นผู้โยสาร   4   คน ทางนิตยสารสรุปน้ำหนักที่   830   กิโลกรัม อาจจะต่ำกว่าการทดสอบครั้งอื่นๆ แต่พวกเขาทดสอบแบบนี้ในรถกระบะทุกคันที่เราได้ดูวีดีโอ

หากคุณมีโอกาสย้อนดูวีดีโอหลายครั้ง ทางผู้ทดสอบจะชี้ให้เห็นข้อหนึ่งว่า พวกเขาใช้ความเร็วมากกว่า   Toyota Hilux REVO  ในรถยนต์รุ่นอื่นๆ  ที่มาทำการทดสอบ

โดยรถรุ่นอื่นใช้ความเร็ว   42   ไมล์ ต่อชั่วโมง หรือเทียบเท่า  67   กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วน  REVO  เกิดอาการตามที่เห็นเพียงแค่ความเร็วที่  37   ไมล์ ต่อชั่วโมงหรือ  59   ก.ม./ช.ม.

ทีนี้คำถามแรกที่ สื่อไทยสายเชลีย นำมาใช้ออดอ้อนโตโยต้า คือ โตโยต้าโดนจัดหนักกว่า …
เรื่องนี้ผมว่าไม่น่าใช่ เพราะการทดสอบนี้ทำเป็นมาตรฐานมีการกำหนดอย่างถูกต้องคล้ายคลึง   ISO  แต่เข้มข้นกว่า และทำมาตลอดหลายปี รวมถึงเรโว่เอง ยังใช้ความเร็วต่ำกว่า เนื่องจากเป็นการทดสอบครั้งแรกตามที่เขาเล่า  ในบทความ ดังนั้น 

รวมถึงผมดูวีดีโอหลายครั้งหลายรอบ ทุกรอบ จะดูมือพวงมาลัย ก็พบว่าใช้ในจังหวะเท่ากัน แน่นอนในการทดสอบดังกล่าวต้องมีการกระชากพวงมาลัยบ้าง ตามวิธีการทดสอบรถยนต์หักหลบ ไปถามนักทดสอบคนอื่นดิ ทดสอบเปลี่ยนเลน มีใครบ้างไม่กระชากพวงมาลัย … ผมกล้าพูดเลยว่าก็กระชากพวกมาลัยกันทั้งนั้นแหละ …ดั้งนั้นเรื่องนี้ ผมจึงปิดประเด็นเรื่อง การจัดหนักกับ   Revo   

toyota-hilux-front-south-africa

ต่อมาการทดสอบไม่ได้มาตรฐานหรือเปล่า

 แน่นอน เรื่องนี้เถียงไม่ขึ้น เพราะนี่เป็นการทดสอบของนิตยสารของเขาเอง ไม่ใช่   ISO 3888   ที่ทางโตโยต้ามากล่าวอ้าง แต่ถ้าคุณดูให้ดี จะเห็นว่า   Moose Test   นั้น ยิ่งกว่า   ISO 3888   ดังนั้นถือว่าเป็นการทดสอบที่เหนือมาตรฐานสากล ถ้าถามผมว่ามาเถียงเรื่องไม่มาตรฐานก็อาจจะใช้ แต่นี่มันมากกว่ามาตรฐานไม่ใช่หรือ เพราะความเร็วต่ำกว่า แต่ระยะทางหักสั้นกว่า  … ในการทดสอบ รวมถึงมีการกำหนดรูปแบบการทดสอบที่ชัดเจนในการขับขี่ รวมถึงความเร็วที่ใช้ขั้นต่ำ ซึ่งอาจจะแตกต่างจากที่   ISO   ใช้ทดสอบบ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่าเหี้ยมกว่า

ไม่ได้เกี่ยวข้องกับไทย

อันนี้ถูก เพราะว่า เป็นการทดสอบในสวีเดน แต่เนื่องจากมีความเป็นไปด้ที่คุณจะเจอสถานการณ์ดังกล่าวถึงในการขับขี่จริง เช่น หมาตัดหน้า และคุณไม่อยากเสียค่ากันชนใหม่ ทำร้านสัตว์ คุณก็อาจหักหลบ มีบ่อยไป ตรงนี้ไม่ต้องจำลองจากกวางหรอกครับ หมานี่แหละตัวดีเลย เรื่องแบบนี้เป็นไปได้ครับ และในบางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย และ สวีเดน ก็ยังมีการทดสอบลักษณะนี้อยู่ แต่เป็นในลักษณะที่เหมือนจริงมากขึ้น โดยใช้ดัมมี่ สัตว์นั้นๆ เช่น จิงโจ้ หรือ กวางมูล ที่อาจจะสร้างความเสียหายให้รถได้

รถ Toyota Revo สมรรถนะไม่ดี หรือเปล่า

เห็นแบบนี้หลายคนอาจจะหวั่นใจสมรรถนะในการขับขี่ของ รีโว่ ผมบอกเลยว่าอย่าหวั่นใจ แต่โตโยต้าก็ต้องยอมรับว่า มีอะไรผิดพลาดแน่!! ข้างในต้องไปหากันดู

ถ้าคุณสงสัยช่วงล่าง ผมกล้าพูดว่าไม่ใช่ จากประสบการณ์ขับ   Toyota Revo   จนอิ่มมาแล้วไม่รู้กี่รอบ จัดหนักมาหมด ทั้งทางฝุ่น ทางปกติ ยอมรับว่า   REvo  มีช่วงล่างที่สมน้ำสมเนื้อ มันอาจจะนุ่มกว่าบ้างเทียบกับรุ่นเดิม และดูไม่น่าไว้วางใจ แต่ผมขับหลายรอบเข้าโค้งแรงก็ไร้ปัญหา (ในรุ่นแบบเดียวกับที่ใช้ทดสอบ) แต่ถ้าจะหักหลบแรงๆ นี่ต้องระหวัง เพราะรถมีความสูงพอสมควร ทำให้อาจจะเกิดอาการพลิกคว่ำได้ง่ายกว่า เป็นปกติวิสัยของรถกระบะ และหรือรถอะไรก็ตามที่มีความสูงมากๆ เนื่องจากจุดศูนย์ถ่วงรถอยู่สูงกว่า

ส่วนเรื่องล้อและยางขนาดใหญ่ของมันก็ให้มาอย่างเต็มคราบเกาะถนนดี บ้านเราอาจจะไม่เหมือนสวีเดน ตรงที่เป็นยางกระเทย   AT  แต่เรื่องนี้ถ้าช่วงล่างไม่ดี ผมกล้าพูดว่านนี้คว่ำโชว์ไปแล้วครับในคลิปอ่ะ

ผมถอดคำพูดของ อีตาคนขับทดสอบ ที่โชว์ สองล้อให้เราดูว่า เขาบอกว่า ตอนเลี้ยวเข้าครั้งแรกปกติไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่พอหักเลี้ยวอีกครั้ง รู้สึกยางด้านนอกมีแรงเกาะมากผิดปกติ  รถก็เริ่มพลิก ผมเลยตัดสินใจแก้พวงมาลัยไปทิศทางตรงกันข้ามทันที เพื่อป้องกันการพลิกคว่ำ

งานนี้ผมเลยมั่นใจว่าไม่ใช่เรื่องช่วงล่างแน่นอนเช่นกัน  …เนื่องจากช่วงล่างที่ไม่ดี ไม่ว่าโช๊คหรือสปริงจะไม่สามารถทำให้รถตะแคงข้างได้ อย่างแน่นอน และ ตะแคงนานด้วย …  ถ้าคุณดูหลายครั้ง รวมถึงในรุ่น  ล้อ  17   อาจจะเกิดอาการน้อยกว่า แต่ก็ยังเป็น ดังนั้นไม่น่าใช่ช่วงล่าง สรุป ช่วงล่างหนึบจริง ผมฟันธง …

ทีนี้ผมบอกไปแล้วใช่ไหมว่า …  ช่วงล่างต้องพึ่งแชสซี หรือเฟรมตัวรถ ข่าวร้ายคือ   Toyota Revo   อาจจะใช้โครงเฟรมและครอสเมมเบอร์หลายจุดใหม่ แต่ผมจำและได้ยินกับหูตอนเปิดบ้านที่  TMAP   ว่า ทางวิศวกรญี่ปุ่นบอกว่า  Toyota Revo   เป็นการ   Big Revise   จนอีกตาจิมมี่ยิ้มปริหลังจากถกเถียงเรื่องตัวรถมายาวนานว่า รถคันนี้ปรับขนาดใหม่ก็จริงแต่ยังมีลักษณะเฟรมเดิม อยู่บางส่วนจาก   Vigo จบข้อคำถามว่า เป็น   Big Revised  !!!

เป็นไปได้ไหมที่เฟรมจะเป็นปัญหา คำตอบคือ เป็นไปได้ เพราะ ช่วงล่างต้องอาศัยการทำงานจากความแข็งของเฟรมด้วย แต่ที่ผมเจอคือ ช่วงล่างทางด้านหลังของ  Revo   ออกอาการนิ่มแปลก มันดูขับสบายจริง แต่ยังมีเหมือนอาการดิ้นทางท้ายรถที่ไม่สามารถบอกได้ ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุที่สำคัญ ในครั้งนี้

นอกจากนี้ สิ่งที่ชัดเจนที่สุดของการทดสอบ   Moose Test   ครั้งนี้และผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง คือการผิดพลาดของระบบช่วยควบคุมการทรงตัวรถ ที่น่าจะเข้ามาทำหน้าที หรือถ้ามันทำหน้าที่แล้ว อาจจะมีความบกพร้องในการอ่านค่า รวมถึงคาดว่าน่าจะไม่มีระบบป้องกันการพลิกคว่ำนอกจากนี้ การเกาะถนนของยางก็มีผลสำคัญ เห็นได้จากความแตกต่างของอากรรถล้อขอบ  17   และ   18   นิ้ว  ที่อาจจะเป็นปัจจัยของการชูสองล้อเกือบค่ำที่เราเห็น  

 

สาเหตุที่แท้จริงเราคงจะไม่มีโอกาสได้ทราบ เนื่องจากต่อไปนี้ ทางโตโยต้า น่าจะแอบปรับปรุงรถพวกเขาเองเงียบๆ โดยที่เราไม่รู้เรื่อง แบบที่ทำมาเสมอมา

ผมเองในฐานะสื่อมวลชนคนหนึ่งก็ได้แต่หวังว่า โตโยต้าจะกล้ายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เลิกใช้อำนาจบาตรใหญ่ในการไล่กวาดคนที่ลงข่าว แล้วดูสิว่าเกิดอะไรขึ้นกับสินค้าตัวเอง  เพื่อสร้างความปลอดภัยในการขับขี่มากขึ้น

ส่วนสื่อเองหลายคนเองก็ทำโตโยต้าเสียนิสัย มีอะไรก็เชลียมันเข้าไปสิ คนซื้อโฆษณา ไม่เคยกล้าพูดอย่างอื่นเลย อย่างนี้ ถามหน่อยว่า จะเป็นตัวแทนของประชาชนได้อย่างไรกัน แล้วต่อไปใครจะเชื่อถือ เมื่อคนที่ได้ชื่อว่าสื่อกลับไม่กล้าพูดความจริง … ว่ารถของค่ายผู้สนับสนุนก็มีข้อบกพร่องที่เป็นอันตราย และคุณมีหน้าที่จะต้องตรวจสอบเป็นหูเป็นตาแทนประชาชน ว่าเฮ้ยยังไง ช่วยตรวจสอบด้วยก็จะดี

 

ท้ายสุดนี้ ผมไม่รู้ว่า โตโยต้าจะทำอะไรต่อไป แต่จากสิ่งที่เกิดขึ้น ก็หวังว่าโตโยต้าจะยอมรับมัน และเดินก้าวไปข้างหน้า ด้วยการปรับปรุงรถให้มันดีขึ้น ดีกว่ามานั่งไล่ต้อน ปลุกระดมคนสื่อประโคมข่าว เพื่อปิดประเด็นที่เกิดขึ้นดังกล่าว

 

กู…..ต้นกล้า

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*