ผ่านไปเพียงไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น หลังการเปิดตัวโฉมปรับใหม่ของ BMW S1000RR 2023 ไปเมื่อปลายเดือนก่อน ล่าสุด BMW M1000RR 2023 ซึ่งเป็น “ร่างทอง” ของซุปเปอร์ไบค์รุ่นใหญ่สุดจากทางค่าย ก็ได้เวลาถูกเผยโฉมออกมาบ้างแล้วเช่นกัน

คล้ายกันกับร่างต้น BMW M1000RR 2023 หลักๆแล้ว ก็จะได้รับการปรับปรุงในส่วนของชุดแฟริ่งเปลือกนอกที่ทำขึ้นจากงานคาร์บอนทั้งหมดเป็นหลัก แถมที่สำคัญ ยังเป็นการปรับใหม่ ที่ทำให้ตัวรถดูใหญ่โตขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นชุดวินชิลด์หน้าที่สูงใหญ่และกว้างขึ้น ชุดแฟริ่งหน้าเองก็ยังดู “บวมเป่ง” กว่าเดิม เพราะในคราวนี้ มันได้ถูกออกแบบส่วนบนใหม่ ให้แพนออกจากแนวตัวรถมากขึ้น เพื่อหวังผลในเรื่องของการแหวกลมออกจากตัวผู้ขี่

เช่นเดียวกับชุดแฟริ่งทางด้านข้างที่จะแพนออกกินพื้นที่ด้านข้างตัวรถมากกว่าเดิม แถมยังคลุมไปถึงแครงก์เครื่องยนต์ราวกับเป็นตัวแข่ง MotoGP อีก

แถมถ้าวกกลับมามองที่ด้านหน้าตัวรถ ก็จะพบว่ารูปทรงปากท่อแรมแอร์ของมันก็เปลี่ยนไปในทิศทางที่ใหญ่ขึ้นด้วย ซึ่งนั่นก็เพื่อการรับอากาศเข้าสู่หม้อกรองที่ดีกว่าเดิม เช่นเดียวกับชุดแฟริ่งท้ายที่ถูกปรับรูปทรงใหม่ เพื่อการไล่เรียงอากาศออกจากท้ายลดที่ไหลลื่นยิ่งขึ้น

การใส่ใจในเรื่องหลักอากาศพลศาสตร์ยังไม่หมดแค่นั้น เพราะ M1000RR รุ่นใหม่ ยังคงได้รับการติดตั้งชุดบังโคลนหน้าใหม่ ที่จะปิดบังแนวล้อไว้อย่างครอบคลุมมากกว่าเดิม แล้วยังปิดไปถึงแนวแกนโชค แถมยังมีการเปิดช่องรีดลมสำหรับดักไปเป่าคาลิปเปอร์เบรกในเวลาเดียวกันอีก ซึ่งทางค่ายระบุว่ามันจะช่วยลดอุณหภูมิได้มากสุดถึง 10 องศา

และหากคุณลองสังเกตกันให้ดี ก็จะพบว่าในคราวนี้ มันมีแผ่นปิดลมวนเข้าสู่แนวล้อทางด้านล่าง เพื่อลดการต้านอากาศ ซึ่งแต่เดิมเป็นชิ้นส่วนเทคโนโลยีจากตัวแข่ง MotoGP ที่ทาง BMW ไม่ได้ส่งตัวแข่งไปเข้าร่วมอีกด้วย (แต่มันไม่ใช่อุปกรณ์ติดรถแต่อย่างใด และเป็นอุปกรณ์เฉพาะรุ่น M1000RR Competition เท่านั้น)

มากกว่านั้น ในส่วนของชุดวิงเล็ททางด้านข้างเอง ก็ถูกออกแบบใหม่ ให้ใหญ่โต และอ้อมออกมาจากแนวรถมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งมันจะสามารถสร้างแรงกดได้ทั้งบนทางโค้ง ทางตรง และหากเทียบกับชุดวิงเล็ทบน M1000RR รุ่นก่อนหน้า มันก็จะสามารถสร้างแรงกดที่ความเร็ว 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้มากขึ้นถึง 6.3 กิโลกรัม นั่นก็คือเพิ่มขึ้นจาก 16.3 กิโลกรัม เป็น 22.6 กิโลกรัม

และถึงกระนั้น แทนที่มันจะส่งผลให้ตัวรถวิ่งช้าลงในช่วงความเร็วสูงๆ ปรากฏว่าด้วยการออกแบบชุดแฟริ่งในส่วนอื่นๆที่ไล่เรียงมา ทำให้แม้อัตราเร่งของตัวรถจะยังคงเท่าเดิมคือ 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 3.1 วินาที แต่มันกลับสามารถทำความเร็วสูงสุดได้มากขึ้นแทน จาก 306 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็น 314 กิโลเมตร/ชั่วโมง แม้ว่าวิงเล็ทจะทำแรงกด(ที่มักมาพร้อมกับแรงต้าน)ได้มากขึ้น โดยที่เครื่องยนต์ก็ยังคงมีแรงม้าเท่าเดิมก็ตาม

ใช่ครับ แม้ความเร็วสูงสุดของมันจะมากขึ้น แต่ปัจจัยหลักที่ทำให้มันเป็นแบบนั้น กลับดูเหมือนว่าจะมีแค่เพียงเรื่องของการปรับปรุงชุดบอดี้พาร์ทเปลือกนอกของมัน ให้ถูกต้องตามหลักอากาศพลศาสตร์มากขึ้นเพียงอย่างเดียว ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของเครื่องยนต์แต่อย่างใด

โดยหากให้เราอธิบายรายละเอียดเครื่องยนต์โดยคร่าวๆ มันก็ยังคงเป็นบล็อค 4 สูบเรียง ความจุ 999cc DOHC 4 วาล์วต่อสูบ พร้อมระบบวาล์วแปรผัน BMW ShiftCam ระบายความร้อนด้วยน้ำ ที่ต่อยอดมาจาก BMW S1000RR แล้วปรับแต่งให้เหมาะสำหรับการใช้งานในสนามแข่งเป็นหลัก เช่นเคย ด้วยตัวเลขแรงม้าสูงสุด 212 PS ที่ 14,500 รอบ/นาที กับแรงบิดสูงสุด 113 นิวตันเมตร ที่ 11,000 รอบ/นาที

ระบบส่งกำลังก็ยังคงเป็นแบบชุดเกียร์ 6 สปีด พร้อมกดไกลสลิปเปอร์คลัทช์ และทำงานร่วมกับระบบควิกชิฟท์เตอร์แบบ 2 ทางขึ้น/ลง Shift Assistant Pro ที่ถูกปรับปรุงการทำงานใหม่ ให้รองรับการใช้งานในสนามมากขึ้นอีกเล็กน้อยก็เท่านั้น

ในด้านชิ้นส่วนโครงสร้างหลักอื่นๆ ก็ยังคงเดิม ไม่ได้มีการปรับปรุงใดๆ เพราะอย่างที่เราได้ระบุไปว่าในคราวนี้ มันถูกปรับปรุงโดยเน้นเรื่องของชุดแฟริ่งเปลือกนอกเป็นหลัก เพราะฉะนั้น มันจึงยังคงใช้ ชุดเฟรมอลูมิเนียมหล่อขึ้นรูปแบบ Aluminium Composite Bridge Frame ที่ถูกออกแบบให้มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ และน้ำหนักเบา เพราะใช้เครื่องยนต์มาเป็นส่วนหนึ่งในการรับแรง ขณะที่ซังเฟรม เป็นท่ออลูมิเนียมน้ำหนักเบา แบบแยกส่วนจากเมนเฟรมได้

ระบบกันสะเทือน ก็ยังคงเป็นแบบโช้กตะเกียบคู่หัวกลับ ขนาดแกน 45 มิลลิเมตร ปรับเซ็ทได้ทุกค่าด้วยมือ ทางด้านหน้า ส่วนทางด้านหลัง ก็จะเป็นชุดโช้กแก๊สต้นเดี่ยว พร้อมกระปุกซับแทงค์แยก ปรับเซ็ทได้ทุกค่าด้วยมือเช่นกัน ทำงานร่วมกับกระเดื่องทดแรง และ สวิงอาร์มอลูมิเนียมแขนคู่แบบมีดามล่างตามฉบับตัวแข่ง WSBK ซึ่งสามารถปรับความสูง-ต่ำได้ จากตัวปรับตำแหน่งแกนสวิงอาร์มที่ชุดเมนเฟรม และยังเบากว่าของ S1000RR อยู่ราวๆ 220 กรัม

ระบบเบรกทางด้านหน้า ก็เป็นแบบดิสก์คู่ขนาด 320 มิลลิเมตร ทำงานร่วมกับคาลิปเปอร์เบรก “M” แบบเรเดียลเมาท์ 4 พอท โดยระบบเบรกทางด้านหลัง จะใช้จานเบรกเดียวขนาด 220 มิลลิเมตร ทำงานร่วมกับปั๊ม 2 พอท

ชุดล้อที่ให้มาก็ยังคงให้ล้อคาร์บอน เป็นของติดรถ แต่เพื่อความสบายใจของลูกค้า ทาง BMW ได้มีการเพิ่มความหนาของชั้นแล็คเกอร์ใหม่ เพื่อให้มันแข็งแรงมากขึ้น แต่ถ้าหากยังไม่มากพอ ลูกค้าก็สามารถสั่งชุดล้ออลูมิเนียมฟอร์จเพิ่มได้อีก โดยที่พวกมันจะรัดด้วยยางขนาด 120/70-17 กับ 200/55-17 ตามลำดับ หน้า-หลัง

ด้านระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ก็ถือว่าไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงมากเท่าไหร่นักเช่นกัน ทั้ง Riding mode หลายรูปแบบ “Rain”, “Road”, “Dynamic”, “Race” และ “Race Pro1-3”, Dynamic Traction Control, Wheelie Control, คันเร่งไฟฟ้า ปรับความไวได้ 2 ระดับ, Engine Brake ปรับได้ 3 ระดับ ในโหมด Race Pro, BMW Motorrad Race ABS Pro, Launch Control, Pit Lane Limiter, Hill Start Control Pro, Electronic cruise control ซึ่งทั้งหมดจะถูกแสดงผลการทำงานบนชุดหน้าจอ TFT ขนาด 6.5 นิ้ว

ส่วนข้อมูลตัวเลขมิติตัวรถอื่นๆที่น่าสนใจก็มีทั้ง มิติด้านยาว 2,073 มิลลิเมตร, ด้านกว้างรวมกระจกมองข้าง 848 มิลลิเมตร, ความสูงเบาะ 832 มิลลิเมตร, น้ำหนักรวมของเหลว 192 กิโลกรัม, และ ความจุถังน้ำมัน 16.5 ลิตร

ทั้งนี้ โอกาสที่ BMW M1000RR รุ่นใหม่ จะถูกนำมาเปิดตัวในไทยนั้น ถือว่ามีน้อยมากๆ เพราะรุ่นก่อนเอง ก็ไม่ถูกนำเข้ามาวางจำหน่ายในประเทศไทยโดยบริษัทแม่เลยเช่นกัน ดังนั้นหากใครสนใจ จึงอาจจะต้องลองหาบริษัทนำเข้าแล้วหาช่องทางเอาเข้ามาด้วยตนเองเท่านั้น ในตอนนี้

ข้อมูลจาก BMW

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่