ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา เราต้องยอมรับว่า รถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ หรือที่คนจำนวนมากเรียกว่า “บิ๊กไบค์” กลายเป็นที่นิยมในหมู่คนชื่นชอบความเร็วรถสองล้อ

รถจักรยานยนต์นับสิบยี่ห้อ มีให้เลือกสรรมากมายในตลาด พร้อมหลายรุ่นหลายทางเลือกตอบโจทย์คนใช้ ไม่ว่าจะขี่ในเมืองไปจนถึงขี่เดินทางไกล จนกระแสนิยมจากคนไทยแรงไม่หยุดฉุดไม่อยู่ ยิ่งวันนี้ในกรุงเทพมหานครหรือวันหยุดยาวรถติดแน่นขนัด ยิ่งส่งผลให้ยอดขายรถกลุ่มนี้เติบโต

การขยายตัวของกลุ่มคนขี่บิ๊กไบค์ปัจจุบันไม่ได้อยู่ในวงจำกัดอีกต่อไป ถ้าคุณมีเงินดาวน์ มีเครดิตพร้อมผ่อนก็สามารถออกรถได้ทันที แถมด้วยค่าดอกเบี้ยที่ไม่ได้แพง ยิ่งจูงใจคนจำนวนไม่น้อยมาซื้อรถกลุ่มนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรานับว่าบิ๊กไบค์เริ่มต้นที่ 400 ซีซี ปัจจุบัน ราคาเริ่มต้นเพียง 2 แสนบาท สำหรับรถใหม่ และราคาอาจจะตกเฉลี่ยเพียง 6-7 หมื่นบาท สำหรับรถมือสองปีไม่เก่ามาก

รีวิว Honda CBR650R

อุบัติเหตุ เด็กอายุ 13 ปีขี่บิ๊กไบค์ชนสนั่นไม่ใช่เคสแรก และคงไม่ใช่เคสสุดท้าย ของเด็กวัยรุ่นขี่บิ๊กไบค์ ที่ผ่านมามีโจทย์และคำถามจากสังคมมากกมายถึงหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนกลุ่มผู้ใช้เองด้วยกันว่า จะต้องให้บิ๊กไบค์ใช้คำว่า รถจักรยานยนต์รวมไปถึงเมื่อไร ทั้งที่คนขี่ทั่วเมืองและนับว่าเสี่ยงภัยอันตรายเสมอที่ขับไปบนถนน

คนจำนวนไม่น้อยรวมถึงผู้เขียนเอง (ในฐานคนขี่บิ๊กไบค์คนหนึ่ง) ยอมรับว่า บิ๊กไบค์มีข้อดีในหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องสมรรถนะของตัวรถที่ทำออกมาขับสนุกทุกครั้งที่บิดเปิดคันเร่งไปข้างหน้า  รวมถึงยังประหยัดเวลา , ค่าใช้จ่ายในการบำรุ่งรักษา และที่จอดรถไม่ต้องไปวนหามากความ บางห้างมีการจัดที่จอดพิเศษไว้ให้บริการสำหรับคนกลุ่มนี้ด้วยซ้ำไป

แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุคราวใด โดยมากถ้าไม่นำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตหรือ ทรัพย์สิน ก็ย่อมอาจบาดเจ็บสาหัส จนผู้ขี่บิ๊กไบค์หลายคนพยายามหาวิธีป้องกันตัวเองที่ดีที่สุด ด้วยการซื้อหมวกกันน็อคที่ดี ตลอดจน อุปกรณ์ป้องกันราคาแพง หวังว่าจะช่วยได้ในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน เคียงข้างกับความพยายามฝึกทักษะการขับขี่ไปด้วยพร้อมกัน

แม้ว่าภาครัฐจะยังไม่เข้ามายุ่มย่ามกับตลาดบิ๊กไบค์ แต่วัฒนธรรมบริษัทผู้ขายรถยนต์บิ๊กไบค์เกือบทั้งหมด ต่างไปในทิศทางเดียวกัน ในการจัดอบรมฝึกสอนการขับขี่และทักษาะการควบคุมรถในเบื้องต้น

บริษัทรถจักรยานยนต์ชั้นนำ ฮอนด้า จะให้คอร์สอบรมฟรีแก่ผู้ซื้อรถบิ๊กไบค์คันใหม่ และสามารถเข้ามาเรียนซ้ำได้จนกว่าจะพอใจ หรือมั่นใจว่าเข้าใจ เช่นเดียวกับ ยามาฮ่า มีศูนย์ฝึกอบรม   Yamaha  Riding Academy   หรือแบรนด์อื่นมากมายต่างพยายามมุ่งมั่นสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ซื้อ เนื่องจากรถบิ๊กไบค์ไม่เพียง ขี่ไม่เหมือนรถจักรยานยนต์ทั่วไปเท่านั้น ยังจำเป็นต้องอาศัยส่วนประกอบต่างๆ ของร่างกาย เช่นเข่า , ศอก ตลอดจนน้ำหนักตัวผู้ขับขี่ในการเข้าโค้ง ปรับทิศทางรถ จนอาจพูดได้ว่า อยู่ดีๆ จะขึ้นคร่อมแล้วคิดว่า ขี่ได้สบายมาก แทบไม่มีทางเป็นไปได้เลยในความเป็นจริง

ตลอดจนในอีกด้านด้วยสมรรถนะของรถที่มีความแรงเป็นพิเศษจากกำลังเครื่องเบื้องต้น 40 แรงม้า ในน้ำหนักตัวเปล่าเพียง 200 กิโลกรัม ทำให้รถบิ๊กไบค์ตอบสนองดี ด้วยสมรรถนะระดับรถสปอร์ตและบางรุ่นเทียบเท่ารถซุปเปอร์คาร์ จนบางรุ่นต้องอาศัยทักษะการขับขี่ขั้นสูงในการควบคุมรถไม่ให้พยศจนเป็นอันตรายต่อเพื่อร่วมทาง

 แนวทางหนึ่งที่มีการพูดถึงกันมายาวนานในช่วงหลายปี และยังดูเหมือนเป็นลมที่ผ่านาเข้ามาในวงข่าวแล้วผ่านไป คงจะไม่พ้นเรื่องของ “ใบขับขี่เฉพาะ” หรือในสังคมคนเล่นมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ เรียกว่า “ใบขับขี่บิ๊กไบค์” ซึ่งจะจำกัดการเข้าถึงรถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ ไม่ใช่เพียงเงินถึงจัดเลย 1,000 ซีซี ซื้อแล้วต้องคุ้มค่า

แม้ทางกรมการขนส่งทางบกจะยังไม่ออกมาตีฆ้องลั่นระฆังทำใบขับขี่บิ๊กไบค์ ตามที่มีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อหลายครั้งหลายหน อาจจะด้วยการพยายามหาแนวทางที่เหมาะสมต่อคนไทย โดยเฉพาะข้อจำกัดในมุมต่างๆ  ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ กันหนาหูไม่ว่า จะการจำกัดอายุ ที่ถูกเด็กรุ่นใหม่กร่นว่า อายุวุฒิภาวะไม่เห็นเกี่ยวกับการขี่บิ๊กไบค์ ตลอดจนสายบิ๊กไบค์บางคนอยากให้มีความชัดเจน และมีสิทธิพิเศษเพิ่มขึ้น เช่นการเข้าใช้ทางด่วนได้ คล้ายในต่างประเทศ (ญี่ปุ่น) ,ความสามารถในการวิ่งช่องทางด่วน – มอเตอร์เวย์ และอีกมาก กลายเป็นรัฐต้องเอามือก่ายหน้าผากจะทำให้ถูกใจอย่างไรดี ในยุคนี้

ข้อหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ กรณีเด็กอายุ 13 ขี่บิ๊กไบค์ชนสนั่น มีหลายประเด็นด้วยกัน

ในมุมหนึ่ง เด็กอายุ 13 ปี สามารถครอบครองรถบิ๊กไบค์ขนาด 1,000 ซีซี ได้อย่างไร

มุมนี้ถ้าอ้างอิงตามรายงานข่าวทั้งหลายของคุณพ่อของน้องที่เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ ก็ยอมรับว่า ตนเองอนุญาตให้ซื้อและขับขี่ได้ เนื่องจากมั่นใจว่า น้องสามารถควบคุมรถได้ ไม่ว่าจะด้วยการเข้าคอร์สฝึกอบรมการขับขี่พื้นฐานเบื้องต้ รวมถึงยังมีความสามารถมากพอจะลงแข่งในสนามด้วย

อย่างไรก็ดี ความเป็นจริงทางกฎหมายบ้านเมือง ผู้ที่มีโอกาสขับขี่รถจักรยานยนต์ที่มีขนาดเกิน 110 ซีซีขึ้นไป จะต้องเป็นผู้ที่มีอายุเกิน 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 15 ปี บริบูรณ์ขึ้นไปทางกรมการขนส่งทางบกอนุญาตให้ทำใบขับขี่ชั่วคราวได้ สามารถขับขี่รถจักรยานยนต์ที่มีขนาดไม่เกิน  110 ซีซี ได้ และที่ไม่อนุญาตให้เด็ดที่มีอายุต่ำกว่านั้นขับขี่มอเตอร์ไซค์ได้ถูกกฎหมาย เนื่องจากทางนิตินับมองว่าวุฒิภาวะของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปียังไม่เหมาะต่อการขับขี่

รถจักรยานยนต์ที่อนุญาตให้เด็กอายุ 15 -18 ปี ขี่ได้คือ พิกัดไม่เกิน 110 ซีซี โดยมากจะเป็นรถประเภท Moped / Automatic

 

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เคยเปิดเผยในการเปิดตัวโครงการ “เด็ก Don’t Drive : ก่อน 15 ปี เลิกขับขี่ เลิกเจ็บ เลิกตาย” จัดโดยศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยฯ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  เมื่อปี 2016  ว่า มี 4 สาเหตุ หลักที่ เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และวัยรุ่นไม่ควรขับจักรยานยนต์  คือ

  1. เป็นนักขับมือใหม่ ขาดประสบการณ์
  2. วุฒิภาวะ พัฒนาการด้านการประสานงานของกล้ามเนื้อ การมองเห็น การแยกแยะภาพเคลื่อนไหว เพื่อตอบสนองทันที และการตัดสินใจภาวะฉุกเฉินยังไม่สมบูรณ์ก่อนอายุ 18 – 25 ปี โดยพบว่ามือใหม่หัดขับในวัยรุ่นที่มีอายุมากกว่าจะมีอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าคนที่อายุน้อยกว่า
  3. วัยรุ่นชอบมีพฤติกรรมเสี่ยงอันตราย จากแรงขับของฮอร์โมน
  4. มักมีพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้ยาก่อนขับขี่
  5. ไม่นิยมใช้อุปกรณ์เสริมความปลอดภัย

 

จากเหตุผลทั้ง 5 ข้อ สะท้อนว่า คนขี่รถจักรยานยนต์ ไม่ว่าจะขนาดเล็ก – ขนาดใหญ่ ไม่เพียงต้องมีทักษะการขับขี่ หากยังต้องมีวุฒิภาวะในการตัดสินใจด้วย ซึ่งที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าปัญหาสำคัญในรถมอเตอร์ไซค์ประเทศไทย คือ กรณีเด็กแวนซ์ และไม่เคยขจัดปัญหานี้ได้ไปในวงสังคม

อย่างไรก็ดี กลับมาที่บิ๊กไบค์ …  ทางภาครัฐเคยมีการโยนหินถามทาง เรื่องการจำกัดอายุผู้ซื้อรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 400 ซีซีขึ้นไป ตอน นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ออกมาเปิดเผย ว่ามติครม.เห็นชอบหลักการใบขับขี่บิ๊กไบค์ เมื่อเดือนสิงหาคมปีกลาย และจะเริ่มบังคับใช้ในปีพ.ศ. 2562 นี้  ว่า คนจะซื้อบิ๊กไบค์ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป

เสียงจากสังคมในเวลานั้น สะท้อนว่า ปัจจัยเรื่องอายุผู้ซื้อไม่ใช่ประเด็นที่จะมาจำกัดสิทธิในการขี่มอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ แต่จากเหตุการณ์หลายครั้งที่เกิดขึ้น มาจนครั้งล่าสุด เด็กวัย 13 ขี่บิ๊กไบค์ น่าสร้างคำถามถึงประเด็นนี้ไม่น้อยว่าอายุมีผลต่อการขับขี่หรือไม่

ถ้ายิ่งมองตามความจริงถึงราคาขายมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ ที่มีราคาตั้งแต่ 180,000 บาท ในพิกัด 400 บาท ไปจนถึงล้านกว่าบาท ในขนาด 1,000 ซีซี หรือสูงกว่านั้น ยิ่งสะท้อนว่า ราคาขายอาจมีส่วนช่วยสกัดดาวรุ่งวัยรุ่นอยากซิ่ง ทว่ากลับไม่ครอบคลุมถึงบรรดารถมือสองที่มีคนขายทอดตลาดนับไม่ถ้วน บางรุ่นหาซื้อได้ราคาไม่ถึงแสน และอาจไม่กี่แสนบาทสำหรับรถปีเก่าที่ถูกใจวัยโจ๋ จนยังคำถามว่า การจำกัดอายุเพียง 18 ปี นั้นพอหรือไม่ ที่จะทำให้ คนขี่บิ๊กไบค์ดูมีวุฒิภาวะมากขึ้นบนถนน และทำให้ภาพผู้ขี่บิ๊กไบค์ไม่ใช่เด็กแวนซ์อัพเกรด ควรเป็นผู้ที่รักชอบความเร็วและผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่มีรถแรงในมือ จะขี่จะเปิดคันเร่ง แว้นสามเกียร์อย่างไรก็ได้

ถนนสาธารณะความเป็นจริงคือเส้นทางการเดินทาง หาใช่สนามแข่งรถ ตลอดจนด้วยบิ๊กไบค์ด้วยตัวผลิตภัณฑ์ที่มีความพิเศษเอง ไม่ใช่เพียงต้องการผู้ที่มีทักษะการขับขี่เท่านั้น ยังต้องมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ การตัดสินใจ และปัจจัยประกอบอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อทำให้การขี่จักรยานยนต์ขนาดใหญ่ปลอดภัยทั้งต่อผู้ขี่เองและเพื่อนร่วมทาง

การขี่บิ๊กไบค์จะมีความปลอดภัยได้อย่างไร ยังเป็นโจทย์ที่หลายฝ่ายต้องร่วมกันปรึกษาหารือ ไปจนถึงเข้าใจธรรมชาติของรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ ทั้งภาครัฐ, ภาคเอกชน ตลอดจน ผู้ขับขี่บิ๊กไบค์เอง ที่วันนี้ก็หวังว่าวันหนึ่งภาครัฐจะเข้าใจว่า รถแบบนี้สักที มันไม่ใช่เรื่องผิดที่คุณจะขับขี่อะไร เร็วแรงแค่ไหน สำคัญที่สุด คือการตัดสินใจ ทักษะ การควบคุม ให้ตัวเรา – รถเรา ปลอดภัย และไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น 

 

 

 



แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่