ในปัจจุบัน ตัวเลือกรถยนต์แนว “สปอร์ตคูเป้ 2 ประตู” นับวันก็มีแต่จะน้อยลงเรื่อยๆ และส่วนใหญ่ก็มีราคาระดับ 3 ล้านกว่าบาทขึ้นไปทั้งนั้น แต่กับ Audi A5 Coupe 40 TFSI คันนี้ กลับไม่ได้เป็นแบบนั้น

Audi A5 Coupe ถูกวางจำหน่ายในประเทศไทย ทั้งหมด 2 รุ่นด้วยกัน นั่นคือ Audi A5 Coupe 45 TFSI quattro S line Black Edition ซึ่งสนนราคาวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการที่ 3,699,000 บาท และสำหรับตัวรอง Audi A5 Coupe 40 TFSI S line ก็จะสนนราคาวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ 2,799,000 บาท

ดังนั้นเราเห็นได้ว่านอกจากมันจะมีราคาถูกกว่ารุ่นใหญ่สุดถึงเกือบ 1 ล้านบาทแล้ว มันยังถูกกว่าคู่แข่งคันอื่นๆหลักหลายแสนถึงล้านกว่าบาทเช่นกัน

แต่นั่น จะทำให้มันดูด้อยกว่าคู่แข่งทั้งหลายไปเลยรึเปล่าล่ะ ?

ตามชื่อที่บ่งบอกไว้อย่างชัดเจน Audi A5 Coupe รหัส 40 TFSI คันนี้ มาพร้อมกับชุดแต่ง “S line” ดังนั้น นอกจากการที่ดั้งเดิม เจ้า A5 คันนี้ จะมีหน้าตาที่หล่อเหลา และเน้นเส้นสายตัดตรง และเฉียบคมจากหัวจรดท้ายอยู่แล้ว

มันยังได้รับการติดตั้งชิ้นส่วนภายนอกที่เสริมความโฉบเฉี่ยวให้กับตัวรถอีกหลายรายการด้วยกัน ทั้ง ไฟหน้าแบบ Matrix LED, ไฟท้าย LED, ไฟเลี้ยวแบบ Dynamic (กระพริบเป็นแถบๆ จากด้านในไปด้านนอก), ชุดล้ออัลลอยด์ขนาด 19 นิ้ว, และชุดกันชนหน้า ที่ทำให้ตัวรถดูมีมิติ และความสะดุดตามากขึ้น ด้วยกรอบช่องไฟตัดหมอกสีเงินขนาดใหญ่กว่าเดิม

*ภาพภายใน Audi A5 Coupe 45 TFSI ปี 2017 ซึ่งจะมีความแตกต่างจาก A5 Coupe 40 TFSI ในหลายๆจุด

ในด้านชิ้นส่วนภายในเอง สำหรับ A5 Coupe 40 TFSI S line ที่ขายในไทย น่าแปลกใจตรงที่ชิ้นส่วนเหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วกลับไม่ได้เป็นชิ้นส่วนที่อยู่ในแพ็คเกจ S line เหมือนตัวรถสเปคทวีปยุโรป เพราะอันที่จริงก็มีเพียงชายบันใดสีโครเมียมพร้อมโลโก้ S line เท่านั้น ที่บ่งบอกในจุดนี้

นอกนั้นด้านชิ้นส่วนอื่นๆก็เป็นชิ้นส่วนการตกแต่งเหมือนตัวรถ A5 Coupe รุ่นพื้นฐานในทวีปยุโรปแทบทุกรายการ ไม่ว่าจะเป็นชุดคอนโซลสีดำตัดโทนชิ้นพลาสติกสีเงินคาดกลาง ดูเรียบง่าย, เบาะนั่งปรับไฟฟ้าทรงสปอร์ต หุ้มหนัง (ซึ่งสามารถเลือกได้ว่าจะเอาเบาะสีดำ หรือสีน้ำตาล) พร้อมระบบจดจำตำแหน่งท่านั่ง, ขณะที่พวงมาลัยมัลติฟังก์ชันหุ้มหนังแบบขอบตัดเรียบทางด้านล่าง ที่เป็นออพชันเสริมในทวีปยุโรป กลับเป็นออพชันติดรถออกโรงงานมาเลยสำหรับเวอร์ชันที่ขายในไทย

และจากการทดสอบ ที่ผู้เขียนได้ลองนั่งทั้งฝั่งผู้ขับและผู้โดยสาร ต้องบอกว่าแม้มันจะเป็นรถยนต์ทรงคูเป้ 2 ประตู แต่บรรยากาศภายในกลับยังคงรู้สึกโปร่ง ไม่อึดอัด ตั้งแต่การเข้า-ออกตัวรถ จากประตูบานประตูที่ค่อนข้างยาว และเปิดออกได้ค่อนข้างกว้าง

ในส่วนของกระจกบานหน้า และกระจกบานข้าง ก็ให้ทัศนวิสัยกว้างพอในระดับที่ไม่ต่างจากรถเก๋งทั่วๆไปเท่าไหร่นัก ซึ่งทั้งนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะว่าสุดท้ายแล้วรถยนต์ทรงนี้ก็ถูกสร้างขึ้นจากพื้นฐานของรถเก๋ง 4 ประตู แล้วย่อส่วนในฝั่งห้องโดยสารครึ่งหลังให้หดเข้ามา

และแม้ว่าผู้โดยสารตอนหลังเองจะติดในเรื่องพื้นที่โดยสารไปบ้าง แต่หากเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ผู้เขียนก็มองว่ามันไม่ได้สร้างความรู้สึกน่าอึดอัดในการนั่งเท่าไหร่นัก เนื่องจากกระจกสำหรับผู้โดยสารตอนหลังเองก็ไม่ได้เล็กจนเกินไป องศาของพนักหลังเองก็เอนกำลังดี จะติดก็แค่เพียงเรื่องของระยะวางขาที่ค่อนข้างสั้น กับองศาของตัวเบาะนั่งที่ค่อนข้างชัน และหลังคาที่ลาดต่ำลงมา ตามฉบับรถคู่เป้ที่มีที่นั่งแบบ 2+2

กลับมาที่ในส่วนของเบาะผู้โดยสารคู่หน้า แม้เราจะระบุไว้ในข้างต้นว่าเบาะที่ให้มาเป็นเบาะทรงสปอร์ต แต่ในภาพรวม มันเป็นเบาะนั่งที่ขนาดค่อนข้างกว้าง ขนาดที่ผู้เขียนเป็นผู้ชายไซส์หมี ยังสามารถนั่งแล้วขยับเอวไปมาเพื่อปรับตัวเข้าหาเบาะได้ง่าย ทั้งนี้ในส่วนตัวปีกเบาะก็ถูกยกสูงขึ้นมาให้สามารถโอบผู้นั่งตอนรถมีแรงเหวี่ยงได้กำลังพอดี โดยที่ลักษณะการนั่งอื่นๆ หากผู้นั่งติดขัดในจุดไหน คุณก็สามารถปรับรูปทรง หรือความสูงเบาะ ให้เข้ากับตนเองได้หมดทุกทิศทาง แม้แต่ความยาวของเบาะนั่ง กับตำแหน่งพวงมาลัยสูง-ต่ำ ใกล้-ไกล ก็ได้หมด

ส่วนลูกเล่นต่างๆก็มีมากมายเช่นกัน ทั้ง

  • ระบบเครื่องเสียง Audi sound system
  • หน้าจอแสดงผลระบบอินโฟเทนเมนท์แบบสัมผัส (MMI touch) ขนาด 10.1 นิ้ว พร้อมระบบ MMI Radio plus รองรับการเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือผ่านสัญญาณบลูทูธ และระบบ Apple CarPaly หรือ Android Auto (แต่ยังไม่ใช่การเชื่อมต่อแบบไร้สาย)
  • หน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่แบบ Virtual cockpit plus ขนาด 12.3 นิ้ว
  • กระจกมองหลัง และกระจกมองข้างพร้อมระบบตัดแสงอัตโนมัติ
  • แอร์แบบแยกส่วน 3 โซน (เบาะนั่งคู่หน้า แยกซ้าย-ขวา และอีกหนึ่งช่องสำหรับผู้โดยสารตอนหลัง)
  • เบาะผู้นั่งตอนหลังพับได้
  • ระบบฝาท้ายที่สามารถเปิดได้แบบไม่ต้องใช้มือ

ทว่าแม้จะเป็นรถยนต์ที่มีราคามากถึง 2 ล้านปลายๆ แต่ระบบอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยที่ให้มากลับมีแค่เพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับรถยนต์ในยุคปัจจุบันเท่านั้น นั่นคือ

  • ถุงลมนิรภัยคู่หน้า 2 ตำแหน่ง สำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสาร
  • ถุงลมนิรภัยด้านข้าง และม่านถุงลมนิรภัยด้านข้าง,
  • ระบบเตือนการคาดเข็มขัดนิรภัย
  • ระบบเบรกมือไฟฟ้า
  • ระบบล็อกเบรกขณะหยุดนิ่ง (Audi hold assist)
  • ระบบเบรกป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-lock braking system)
  • ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronic brake distribution)
  • ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TCS (Traction control system)
  • ระบบควบคุมการทรงตัว ESC (Electronic control system with stabilization function)
  • เซ็นเซอร์หน้า-หลังช่วยในการนำรถเข้าจอด
  • กล้องแสดงภาพด้านหลัง ขณะถอยจอด
  • ระบบควบคุมความเร็วคงที่ (Cruise control)

ซึ่งจะเห็นได้ว่ามันยังไม่มีระบบกล้องรอบคัน 360 องศา ที่เอาไว้ใช้ทำงานร่วมกับระบบความปลอดภัยขั้นสูง หรือ ADAS เช่นระบบตรวจจับยานพาหนะในมุมอับ, ระบบ Adaptive Cruise Control, และระบบช่วยเบรกในกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น แต่อย่างใด ทั้งๆที่ในปัจจุบัน รถยนต์ราคาไม่ถึง 1 ล้านบาท สัญชาติญี่ปุ่นรุ่นใหม่ๆก็มีมาให้แล้ว แต่ทั้งนี้ก็ยังพอเข้าใจได้อยู่ว่าในความเป็นจริง Audi A5 เจเนอเรชันปัจจุบัน ไม่ได้รับการปรับโฉมครั้งใหญ่เลยมาตั้งแต่ปี 2018

ด้านขุมกำลังของ Audi A5 ที่มาพร้อมกับรหัส 40 TFSI นั้น ก็จะเป็นบล็อคเบนซิน 4 สูบเรียง ความจุ 1,984cc พ่วงระบบอัดอากาศเทอร์โบชาร์จเจอร์ และมอเตอร์ไฟฟ้าช่วยกันทำงานแบบ Mild Hybrid ให้กำลังสูงสุด 190 แรงม้า PS ที่ 4,200 – 6,000 รอบ/นาที กับแรงบิดสูงสุด 320 นิวตันเมตร ที่ 1,450 – 4,200 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยระบบเกียร์อัตโนมัติ S tronic 7 จังหวะ ไปยังชุดล้อคู่หน้า หรือว่าก็คือ แม้จะเป็นรถ Audi ที่โดดเด่นในเรื่องระบบ Qauttro แต่มันก็ไม่ได้มาพร้อมกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแต่อย่างใด

และจากการทดสอบ ผู้เขียนพบว่าขุมกำลังของมัน ให้ความรู้สึกในการเรียกอัตราเร่งที่ต่อเนื่องทันทีที่ออกตัว แต่ก็ไม่ได้ไต่ความเร็วหน้ากลัวจนคุมยากอะไร เพราะอันที่จริงด้วยแรงม้าในระดับนี้ มันก็อยู่ในระดับเดียวกับรถซีดานสัญชาติญี่ปุ่นระดับ B และ C Segment ที่ใครหลายๆคนคุ้นชินอยู่แล้ว

ดังนั้นในแต่ละจังหวะที่ต้องการเรียกคันเร่ง ทั้งในช่วงความเร็วต่ำ-กลาง หรือ กลาง-สูง ส่วนตัวผู้ทดสอบจึงมองว่าขุมกำลังของมันมีบุคลิกแบบไหลขึ้นตามเท้ากำลังดี ไม่หนืดจนเกินไป หรือเร่งเร้าจนเกินไป ซึ่งความรู้สีกทั้งหมดที่ไล่เรียงมานั้นคือการขับด้วยโหมดการทำงานแบบ Auto ซึ่งเป็นค่ากลาง

หากคุณอยากได้ความมันเท้ามากกว่านี้อีกนิด ก็สามารถปรับไปขับด้วยโหมด Dynamic ที่จะช่วยลากจังหวะการเปลี่ยนเกียร์ให้ไปอยู่ในช่วงรอบเครื่องยนต์ที่สูงขึ้นได้ หรือหากอยากขับชิลๆแบบกินลมชมวิว ไม่อยากแกล้งคนที่นั่งไปด้วยเท่าไหร่นัก ก็ปรับไปขับในโหมด Comfort แทนก็ได้ ซึ่งการปรับโหมดทั้งหมดที่ว่ามานี้ มีผลแค่กับคันเร่ง และความไวพวงมาลัยเท่านั้น ไม่ได้มีผลถึงช่วงล่างแต่อย่างใด เพราะมันยังไม่ได้มาพร้อมกับระบบช่วงล่างไฟฟ้า

ส่วนตัวเลขความเร็วสูงสุด จากตัวเลขในเอกสารทางเทคนิค ที่ระบุว่ามันถูกล็อคค่าตรงนี้เอาไว้ที่ 240 กิโลเมตร/ชั่วโมง ประกอบกับอัตราเร่งที่ยังคงสามารถใต่ขึ้นเรื่อยๆจนแตะความเร็ว 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้แบบสบายๆ จึงเชื่อว่ามันคงแตะความเร็วระดับนั้นได้ไม่ยาก แค่ต้องลากระยะทางกันยาวสักหน่อยก็เท่านั้น

และสุดท้ายคงในเรื่องของขุมกำลังแน่นอนว่าย่อมเป็นเรื่องอัตราสิ้นเปลือง ซึ่งแม้ว่าในการทดสอบ ผู้เขียนจะไม่ได้ใช้ความเร็วที่ช้ามากเท่าไหร่นัก เฉลี่ยนอยู่ที่ราวๆ 120-130 กิโลเมตร/ชั่วโมง และมีการกระแทกคันเร่งเป็นพักๆ ในจังหวะที่ถนนโล่งจริงๆ แต่ตัวเลขที่ขึ้นก็ยังอยู่ในระดับ 14-15 กิโลเมตร/ลิตร ซึ่งถือว่าค่อนข้างน่าพอใจเลยทีเดียวกับความแรงระดับนี้

ด้านระบบช่วงล่าง ต้องบอกว่าทาง Audi ได้ทำการปรับเซ็ทให้มันทำงานในแบบที่ค่อนข้างมีความเป็นผู้ใหญ่มากพอสมควร กล่าวคือ มันไม่ได้มีความตึงตังมากมายเท่าไหร่นัก คือผู้ที่อยู่ในห้องโดยสาร อาจจะยังสามารถรับรู้ถึงแแรงสั่นสะเทือนจากผิวถนนขึ้นมาถึงตัวบ้าง ในช่วงที่ผิวถนนมีหลุม หรือฝาท่อ แต่ก็ไม่ได้เป็นการกระเทือนที่ชัดเจนมากมายขนาดนั้น

ในขณะที่จังหวะการยืดยุบต่างๆค่อนไปทางหนืดนิดๆ รับกับพวงมาลัยไฟฟ้าที่มีระยะฟรีค่อนข้างกระชับ และน้ำหนักตึงมือนิดๆได้เป็นอย่างดี ซึ่งแน่นอนว่ามันย่อมให้ความมั่นใจ แม้ในจังหวะที่ต้องขับบนทางตรงด้วยความเร็วสูงระดับ 150-160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ยังนิ่งอยู่

ทว่าในจังหวะที่ต้องเลี้ยงความเร็วนั้นแล้วยัดเข้าโค้งไป ปรากฏว่าถึงล้อทั้งสี่จะสามารถเกาะไปกับผิวถนนจนรู้สึกถึงแรงเหวี่ยงได้ดี ราวกับมันมีระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ แต่มันยังคงมีอาการท้ายย้วยให้รู้สึกอยู่เป็นระยะๆ หากผิวถนนที่เรากำลังเข้าโค้งไปมีลอนคลื่นอยู่ ซึ่งจุดนี้ผู้ขับอาจจะต้องใช้เวลาสักพักเพื่อทำความเคยชินกับมัน และขอย้ำว่ามันคืออาการที่เกิดขึ้นเมื่อเข้าโค้งด้วยความเร็วที่สูงจริงๆ ดังนั้นหากคุณไม่ใช่คนที่เข้าโค้งด้วยความเร็วระดับนี้ จึงไม่ต้องพะวงอะไร

และสิ่งสุดท้ายที่ต้องระบุถึงก็คงต้องเป็นเรื่องระบบเบรก ที่มันมีอาการค่อนข้างน่าสนใจคือ ในขณะที่น้ำหนักของแป้นเบรกก็มีความแน่นและไวอยู่พอประมาณตามฉบับของรถคูเป้ แถมยังให้ระยะเบรกที่จัดว่าดีเยี่ยม รับกับความเร็วของรถได้อย่างเหลือเฟือ แต่หากพื้นผิวถนนที่ล้อเหยียบไป มีแรงเสียดทานต่างกันเพียงนิดเดียว

ปรากฏว่าความรู้สึกเหล่านั้นจะส่งมาถึงพวงมาลัยค่อนข้างชัดเจน เช่นหากพื้นถนนด้านซ้ายลื่นน พวงมาลัยก็จะดึงไปทางขวานิดๆ ซึ่งในจุดนี้หากใครไม่ชิน ก็อาจจะรู้สึกหวาดเสียวไปบ้าง แต่หากมองในมุมกลับกัน ส่วนตัวผู้เขียนเองกลับชอบความรู้สึกนี้ เพราะมันคือการที่รถกำลังบ่งบอกให้เรารู้ว่าตอนนี้กำลังเกิดอะไรขึ้นกับมันอยู่กันแน่ ทำให้เราสามารถแก้สถานการณ์รถได้ทันท่วงทีนั่นเอง

สรุป การรีวิว Audi A5 Coupe 40 TFSI S line ในครั้งนี้ อาจจะเป็นการรีวิวจากทริประยะสั้น แต่นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้เราได้รับรู้ว่า มันคือรถสปอร์ตคูเป้อีกหนึ่งรุ่นที่มีสรรถนะกลมกล่อมกำลังดี ไม่ดีด กระด้างจนขับยาก ออกไปทางหนักแน่น ทั้งการตอบสนองของคันเร่ง หรือแม้กระทั่งช่วงล่าง ที่ให้ความมั่นใจในการควบคุมในทุกย่านความเร็วใช้งานของคนทั่วไป ในราคาท

ดังนั้น หากคุณคือคนที่ดั้งเดิมอาจจะเป็นคนที่ขับรถเร็วเพียงบางเวลา ไม่เน้นเบ่งพลัง แต่เน้นการขับรถตามสภาพการจราจรไปเรื่อยๆแล้วกรีดกรายความหล่อไปตามท้องถนนแบบผู้ใหญ่ที่ดูสุขุมนุ่มลึก ไม่ก็ขอแค่เป็นรถคูเป้สักคันไว้จอดหล่อๆยามราตรี เชื่อเถอะครับว่า A5 Coupe 40 TFSI คันนี้ก็ตอบโจทย์การใช้งานของคุณแล้ว กับราคาที่จับต้องได้ง่ายที่สุดเมื่อเทียบกับเหล่ารถคูเป้ 2 ประตูสัญชาติยุโรปด้วยกัน ด้วยตัวเลข 2,799,000 บาท

สิ่งที่น่าเสียดายคงมีแค่เพียงระบบความปลอดภัย ADAS ที่ยังคงไม่มีมาให้ก็เท่านั้น ที่เราก็คงต้องรอดูกันต่อไปจนกว่าจะถึงการปรับโฉมใหญ่ครั้งหน้า ซึ่งเราเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามันจะยังมีอยู่หรือไม่ ท่ามกลางทิศทางของตลาดรถยนต์ในปัจจุบัน ที่ผู้คนให้ความสนใจในรถยนต์รูปทรงคูเป้ 2 ประตูแบบนี้น้อยลงไปทุกทีๆ

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่