ในทันที ที่ Honda ได้มีการเปิดตัวรถมอเตอร์ไซค์ Honda CBR650R / Honda CB650R พร้อมเทคโนโลยี ระบบคลัทช์ไฟฟ้า ที่มีชื่อเรียกว่า ” E-Clutch ” ออกมา หลายคนต่างสงสัยว่า มันทำงานอย่างไร และเมื่อใช้งานแล้วจะให้ความรู้สึกสะดวกสบายอย่างไรบ้าง ? ซึ่งในที่สุดทีมงาน Ridebuster ก็ได้มีโอกาสลองสัมผัส และ รีวิว มันกันแล้ว

ก่อนที่เราจะทำการ รีวิว Honda E-Clutch แท้จริงแล้วทีมงาน Ridebuster ได้มีการอธิบายรายละเอียดการทำงานของมันไปแล้วครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่ที่ระบบถูกเปิดตัวออกมาเป็นครั้งแรกเมื่อปลายปีก่อนไปแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งเราขอแนะนำว่า หากเป็นไปได้ คุณควรอ่านบทความนี้ก่อน เพื่อความเข้าใจในหลักการทำงานของมัน

และใน รีวิว ครั้งนี้ เราจะขออธิบายถึงสัมผัสที่ใช้จากการใช้งานจริงอีกครั้ง ว่ามันจะมีดี สมกับคอนเซ็ปท์ที่ทางค่ายได้อธิบายเอาไว้ ดังบทความที่เราเขียนไปก่อนหน้านี้อย่างไรบ้าง ?

เบื้องต้น สำหรับใครที่ยังไม่ได้อ่านบทความเกี่ยวกับระบบ “E-Clutch” ที่ผู้ทดสอบได้เคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้ เราขออธิบายขั้นต้นง่ายๆว่า “ระบบนี้ จะช่วยให้คุณสามารถขี่รถบิ๊กไบค์ เกียร์ธรรมดา ได้โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องไปจัดการระบบคลัทช์ หรือเอามือซ้าย ไม่คุมก้านคลัทช์ด้วยตนเอง เลยแม้แต่จังหวะเดียว

จนคุณสามารถขี่มันได้เหมือนกับรถมอเตอร์ไซค์แม่บ้านคันหนึ่งอย่าง Honda Wave ได้เลย แถม ที่พิเศษกว่าคือ เนื่องจากรถมีระบบควิกชิฟท์เตอร์ติดตั้งมาให้ ในจังหวะต่อเกียร์ และลงเกียร์ คุณจึงไม่ต้องปิดคันเร่งก่อนต่อเกียร์ หรือเบิ้ลคันเร่งตอนลงเกียร์ แบบรถซุปเปอร์สปอร์ตไบค์อีกด้วย

นั่นคือ วิธีการใช้งานแบบสรุปสั้นๆ ซึ่งหากคุณพอใจเท่านี้ ก็ไม่จำเป็นต้องอ่านกันต่อ…. เพราะมันง่ายแค่นั้นจริงๆ

แต่หากคุณยังคงคาใจ ก็มาว่ากันต่อไป ให้เราได้อธิบายเพิ่ม

สำหรับระบบ E-Clutch ที่ถูกติดตั้งเข้ามานั้น ทาง Honda ระบุว่าพวกเขาตั้งใจที่จะช่วยให้มันเปิดโลกนักบิดมือใหม่ ที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์แบบรถบิ๊กไบค์ได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้น

เพราะแต่เดิมบุคคลเหล่านั้น อาจจำเป็นที่จะต้องฝึกวิธีการใช้คลัทช์ให้เป็นประมาณหนึ่งก่อน แล้วยังต้องฝึกวิธีการทรงตัว และการรับมือกับน้ำหนักตัวรถที่มากกว่ารถมอเตอร์ไซค์แม่บ้านอีก 1-2 เท่าตัว ให้ปวดหัวอีก

แต่เมื่อระบบคลัทช์ไฟฟ้านี้ถูกติดตั้งเข้ามา ปัญหาที่มือใหม่หลายคนต้องคอยพะวงเรื่องคลัทช์ ว่าจะออกตัวแล้วดับ หรือลืมกำคลัทช์และดับก่อนจอด จนเป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์ล้มแปะ จะหมดไป เนื่องจากระบบนี้จะจัดการคุมจังหวะคลัทช์ให้ทั้งหมดในทุกจังหวะ

ดังนั้น ในจังหวะออกตัว สิ่งที่คุณต้องทำหลังจากนี้ เพื่อขี่รถมอเตอร์ไซค์ Honda ที่มีระบบ E-Clutch ก็มีแค่เพียง บิดกุญแจ สตาร์ทรถ เข้าเกียร์ 1 แล้ว บิดคันเร่ง รถก็จะสามารถออกตัวจากหยุดนิ่งไปได้เลย โดยที่คุณไม่ต้องไปคลอคลัทช์ด้วยตนเองให้เมื่อมือแต่อย่างใด

ส่วนในจังหวะต่อเกียร์ขึ้น คุณก็สามารถงัดเกียร์ขึ้นได้เลยเช่นกัน โดยไม่ต้องผ่อนคันเร่ง แล้วกำคลัทช์ เพราะระบบมีควิกชิฟท์เตอร์คอยจับจังหวะ แล้วสั่งตัดกำลังเครื่องยนต์ให้อย่างฉับพลัน สำหรับการต่อเกียร์ เหมือนรถซุปเปอร์สปอร์ตที่มีระบบนี้อยู่แล้ว

แต่ที่พิเศษกว่าคือ นอกจากการตัดกำลังเครื่องยนต์อย่างฉับพลัน ระบบจะมีการคลอคลัทช์ให้เล็กน้อยด้วย เพื่อให้การงัดคันเกียร์แต่ละจังหวะ มีความนุ่มนวลมากขึ้น ซึ่งคุณสามารถกำหนดความแข็ง-อ่อน หรือความกระชับนี้ได้ จากการปรับโหมด จากฟังก์ชันย่อยภายในหน้าจอได้ เมื่อรถหยุดนิ่ง โดยจะสามารถปรับได้ทั้งหมด 3 ระดับ ได้แก่ Hard, Medium, และ Soft

เช่นเดียวกัน ในจังหวะการตบเกียร์ลง แม้กระทั่งในจังหวะที่จะตบเกียร์ 2 หรือเกียร์ 1 ไปหา เกียร์ N (เกียร์ว่าง) คุณก็แค่เพียงตบคันเกียร์ให้เข้าจังหวะเพียงเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องมากำคลัทช์ เบิ้ลเครื่องเองแต่อย่างใด

เพราะแม้ระบบจะไม่มีคันเร่งไฟฟ้า ที่สามารถใส่ฟังก์ชันระบบ Auto Blip เหมือนรถซุปเปอร์สปอร์ตที่มีระบบชิฟท์เตอร์ขึ้น-ลง 2 ทาง แบบดั้งเดิม แต่มันจะใช้วิธีควบคุมจังหวะคลัทช์ให้คุณสามารถลงเกียร์ได้ ในแบบที่ควรจะเป็นแทน นั่นจึงทำให้หลายๆครั้ง ผู้ทดสอบรู้สึกว่ามันให้ความนุ่มนวลในการใช้งานมากกว่าการใช้ชิฟท์เตอร์ขาลงแบบดั้งเดิมเสียอีก

และแน่นอนว่าคุณก็สามารถเซ็ทน้ำหนัก หรือความกระชับในการลงเกียร์ได้ 3 ระดับ เช่นเดียวกับขาขึ้น โดยสามารถเซ็ทแยกกันได้เลย เช่น ขาขึ้น คุณอาจจะอยากให้เกียร์มีความกระชับด้วยการปรับไประดับ Hard ส่วนขาลง อยากให้มันมีน้ำหนักคันเกียร์อยู่ในระดับกลาง ก็เซ็ทไว้ที่ค่า Medium ได้เลย

แต่เราขอย้ำอีกครั้งว่า การเซ็ทน้ำหนักคันเกียร์ที่ว่านี้ จะเซ็ทได้ก็ต่อเมื่อรถอยู่ในสภาวะจอดหยุดนิ่งเท่านั้น ไม่สามารถปรับเซ็ทระหว่างที่รถกำลังเคลื่อนที่ ล้อหมุนอยู่ได้

จากข้อดีในการใช้งานในข้างต้น นั่นจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการใช้งานในเมือง ที่หลายคนมักมีอาการปวดเมื่อยนิ้ว เพราะต้องคอยคลอคลัทช์ไปๆมาๆอยู่ตลอดเวลา

จากนี้คุณก็สามารถใช้สมาธิทั้งหมดไปกับการควบคุมการทรงตัวของรถ และการเบรกได้อย่างเต็มที่ และแทบจะปล่อยมือซ้ายให้มีหน้าที่ไว้ประคองแฮนด์ไว้ให้คุณสามารถหักเลี้ยวรถตามใจชอบ เหมือนกับการขี่รถออโตเมติกคันหนึ่งได้เลย

แน่นอน ในเมื่อความสามารถในการทำงานของมัน เรียกได้ว่าแทบจะทำให้ก้านคลัทช์ด้านซ้าย เกือบจะไร้ประโยชน์ไปเลย เพราะต่อให้สายคลัทช์ขาด ก้านคลัทช์หัก รถก็ยังสามารถขี่ไปต่อได้ หากเครื่องยนต์และระบบกลไก E-Clutch ไม่ได้รับความเสียหาย (ซึ่งเราจะไปว่ากันต่อ ว่ามันต้องวุ่นวายในการดูแลรักษามากขึ้นหรือไม่ ? ในภายหลัง)

แล้ว Honda จะยังคงใส่ก้านคลัทช์มาให้เพื่ออะไร ?

สำหรับคำตอบเกี่ยวกับคำถามนี้ นั่นก็คือเพื่อให้ลูกค้าบางท่าน หรือผู้ขี่บางคน ที่ยังคงอยากได้อารมณ์สปอร์ต สามารถใช้คลัทช์ได้ทุกเมื่อที่ต้องการ หรือในบางจังหวะที่คุณจำเป็นต้องคุมคลัทช์เองจริงๆ คุณก็ยังสามารถควบคุมมันด้วยตนเองได้อยู่

เพราะด้วยความที่ระบบ E-Clutch ถูกสร้างขึ้นมา โดยมีการโปรแกรมให้มันควบคุมจังหวะการจับปล่อยคลัทช์ ในรูปแบบการขับขี่ทั่วไปเป็นหลัก เช่นในการออกตัว ก็จะปล่อยคลัทช์ตั้งแต่รอบต่ำๆ เพื่อให้รถออกตัวได้อย่างนุ่มนวล แม้คุณจะเปิดคันเร่งแรงแค่ไหนก็ตาม

นั่นจึงหมายความว่า สำหรับใครที่ลงสนามแข่ง แล้วอยากออกตัวแบบชิงไฟด้วยการใช้รอบสูงๆ คุณจะต้องปรับมาใช้โหมด “แมนวลคลัทช์” ด้วยการกำคลัทช์เองตั้งแต่ออกตัว แล้วเย่อ หรือคลอคลัทช์เองในจังหวะออกตัวจากหยุดนิ่งด้วยตนเองเท่านั้น

หรือในจังหวะที่คุณอยากจะยกล้อเล่นในสถานที่ปิด คุณก็ยังสามารถกำคลัทช์แล้วเย่อคลัทช์เองได้ทุกเมื่อ

โดยเงื่อนไขการที่ระบบ E-Clutch จะปล่อยให้คุณสามารถคุมคลัทช์ด้วยตนเอง ก็มี 3 รูปแบบ ง่ายๆ ดังนี้

  • ในจังหวะออกตัวจากหยุดนิ่ง

    หากคุณสตาร์ทรถ แล้วระบบ E-Clutch ทำงานอยู่ (ระบบจะขึ้นสัญลักษณ์ไฟสีเขียวทางด้านขวาของจอมาตรวัด) ระยะฟรีของก้านคลัทช์จะหายไปจากปกติราว 70%-80% เนื่องจากระบบได้ดึงคลัทช์ไว้ให้ก่อนแล้ว

    หากคุณอยากออกตัว ด้วยการคุมคลัทช์เอง คุณจะต้องกำก้านคลัทช์เข้าจนสุด (จากเกียร์ใดก็ได้) เมื่อสัญลักษณ์การทำงานของไฟ E-Clutch สีเขียวดับลง คุณก็สามารถออกตัวด้วยการเย่อคลัทช์เองได้ตามสบาย

    โดยหลังจากที่คุณออกตัวไปแล้ว ระบบ E-Clutch จะกลับมาทำงานอีกครั้งโดยอัตโนมัติ หากคุณไม่ได้ไปยุ่งกับระบบคลัทช์ต่อภายใน 5 วินาที

    ดังนั้น หลังออกตัวด้วยคลัทช์มือไปแล้ว คุณยังสามารถต่อเกียร์แบบไม่ใช้คลัทช์ได้อยู่ แค่ต้องรอให้พ้น 5 วินาทีก่อน จนกว่าระบบจะกลับมาทำงานเอง ก็เท่านั้น

    ทั้งนี้ ในสภาวะรถจอดนิ่ง โดยที่ระบบ E-Clutch ได้ดับไป เพราะคุณกำลังกำคลัทช์อยู่

    เงื่อนไขที่ระบบ E-Clutch จะกลับมาทำงานอีกครั้ง จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคุณตบเกียร์เข้าไปที่เกียร์ว่างก่อนเท่านั้น ระบบจึงจะกลับมาทำงานอีกครั้ง

    นั่นจึงหมายความว่า หากคุณเผลอกำคลัทช์แล้วเข้าเกียร์ไปแล้ว คุณจะต้องออกตัวด้วยวิธีเย่อคลัทช์เองเท่านั้น ห้ามลืมตัวเผลอปล่อยคลัทช์จนสุดเด็ดขาด หากไม่ได้ตบเกียร์ N เอาไว้ก่อน

    มิเช่นนั้นรถอาจจะพุ่งโดยคุณไม่ทันตั้งตัว ซึ่งโชคดีรถอาจจะแค่ดับแล้วหยุด โดยที่คุณยังสามารถทรงตัวได้ แต่หากโชคร้าย คุณอาจจะตั้งขาไม่ทัน ทำให้รถล้มแปะ เกิดความเสียหายต่อตัวคุณและตัวรถในที่สุด
  • ในจังหวะที่รถกำลังวิ่ง

    คุณสามารถกำก้านคลัทช์เข้ามาเพื่อต่อเกียร์ หรือลงเกียร์ แล้วเบิ้ลเครื่องเองได้เลย แต่ระบบจะกลับมาทำงานอีกครั้งภายในระยะเวลาที่สั้นลง

    นั่นคือ ลดลงเหลือ 2 วินาที หลังการปล่อยก้านคลัทช์สุด เพื่อความต่อเนื่องในการขึ้น-ลงเกียร์ลำดับถัดๆไป จนกว่ารถจะหยุดนิ่ง
  • ท้ายสุด หากคุณไม่อยากให้ระบบ E-Clutch กลับมาทำงานเลยระหว่างการขับขี่

    คุณก็สามารถเลือกปิดระบบทิ้ง (Off) ตอนรถจอดหยุดนิ่งไปได้เลย ในหน้าจอตั้งค่าเดียวกันกับการปรับความแข็ง-อ่อนของน้ำหนักคันเกียร์

    แต่เพื่อความปลอดภัย ป้องกันผู้ขี่ใช้ระบบนี้จนชิน แล้วเผลอเข้าเกียร์โดยไม่ได้กำคลัทช์ทั้งที่ระบบปิดอยู่ ทาง Honda จึงตั้งค่าให้ระบบนี้ จะเปิดขึ้นใหม่เองโดยอัตโนมัติ ทุกครั้งที่มีการดับรถ (ปิดกุญแจ) แล้วเปิดระบบรถใหม่อีกครั้ง

แล้วสำหรับการใช้งานในสนามล่ะ เป็นอย่างไรบ้าง ?

เมื่อคุณเข้าใจถึงประโยชน์จากการใช้งานบนถนน ซึ่งเป็นลักษณะการใช้งานหลักของทั้ง Honda CBR650R กับ Honda CB650R ที่มีระบบ E-Clutch ในเมืองแล้ว ทาง Honda ยังได้มีการจัดให้เหล่าสื่อ ได้ทำการทดสอบตัวรถในสนามแข่งขันอีกด้วย (จริงๆจัดให้เราเทสในสนามก่อนออกไปขี่บนถนนจริงเสียอีก)

ซึ่งอันที่จริง มันก็สามารถทำงานได้ดีเลยทีเดียว แม้จะเป็นการขี่ด้วยความเร็วสูง ที่เครื่องยนต์ถูกเค้นกำลังอย่างหนัก และมีแรงกระทำในชุดเกียร์ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะขาขึ้นที่สามารถทำงานได้เนียน กระชับ ฉับไว

แต่ เราขอย้ำให้คุณต้องเตะเกียร์แบบเน้นๆหน่อย อย่าเตะแบบสะกิด เพราะหลงไปกับความเบาของคันเกียร์ เพราะไม่เช่นนั้น เกียร์อาจจะเข้าไม่สุด และเกิดอาการเกียร์ว่าวได้ ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานของการใช้รถที่มีควิกชิฟท์เตอร์อยู่แล้ว

ทว่า การจะเจอเหตุการณดังกล่าว ก็มีโอกาสน้อยครั้งมากๆ ชนิดที่ว่าตลอดการขี่ทดสอบในสนามช้าง ที่ต้องมีการต่อเกียร์ไม่น้อยกว่า 100 ครั้ง ต่อเซสชัน และต้องขี่กัน 2 เซสชัน ผมเจอแค่เพียง 2 ครั้ง เท่านั้น ที่ไม่สามารถต่อเกียร์ในจังหวะงัดครั้งแรกได้ ขณะที่พี่ๆสื่อฯคนอื่นก็ไม่เจอเลย

ส่วนการขี่ในช่วงความเร็วต่ำในเมืองที่ไล่เรียงไปก่อนหน้านี้ อันที่จริงตัวผู้ทดสอบก็เจอจังหวะงัดเกียร์ไม่ขึ้นอยู่ประมาณ 2-3 รอบ แต่เป็นเฉพาะจังหวะเกียร์ 1 ไป 2 ที่ผมต้องยอมรับว่าตัวเองอาจจะเตะเบาไปมากจริงๆ (แค่สะกิดจริงๆ เพราะหลงไปกับความเบาของคันเกียร์) เกียร์เลยเข้าไม่สุด

อย่างไรก็ดี เนื่องจากตัวรถอย่าง CBR650R และ CB650R ต่างก็ยังไม่ได้รับการติดตั้งระบบคันเร่งไฟฟ้า วิธีการทำงานของระบบเกียร์ที่มีชุดกลไก E-Clutch เข้ามา จะไม่ได้อาศัยวิธีการเบิ้ลเครื่อง เพื่อลดแรงเอนจิ้นเบรกอย่างฉับพลัน ให้เกียร์ลำดับถัดไปในขาลงสามารถเข้าต่อได้

แต่มันจะอาศัยการคุมระบบคลัทช์ ให้คลายตัวออกมาโดยตรง เหมือนกับการที่เรากำคลัทช์เพื่อลดเกียร์ด้วยตัวเอง ในจังหวะเกือบจะทันทีที่ตัวชิฟท์เตอร์พบว่าเรากำลังกดคันเกียร์ลง แล้วค่อยๆปล่อยให้คลัทช์กลับไปจับกันอีกครั้งอย่างนุ่มนวล และให้รอบเครื่องเด้งขึ้นมาเอง ตามอัตราทดเกียร์ที่เปลี่ยนไป

จากการทำงานในลักษณะข้างต้น ทำให้ในจังหวะการขี่รถด้วยความเร็วต่ำๆ เราอาจจะไม่รู้สึกถึงความผิดปกติมากนัก เพราะเอาจริงๆตอนที่เราขี่รถคลัทช์มือปกติ ถ้าเรากะจังหวะการจับปล่อยคลัทช์เนียนๆ เราก็สามารถลดเกียร์ได้อย่างนุ่มนวล โดยไม่ต้องเบิ้ลเครื่องอยู่แล้ว

ทว่าในตอนที่ขี่ลงสนาม ผู้ทดสอบกลับพบข้อสังเกตอยู่หลายจุด นั่นคือ

เรายังไม่สามารถรวบเกียร์ หรือ ลดเกียร์ลงแบบต่อเนื่องรวดเดียวได้ เนื่องจากมันต้องรอให้เกียร์ลงไปอยู่ในตำแหน่งที่ควรจะเป็น (เช่น หากกดจาก 4 เกียร์ต้องลงไปอยู่ 3 แบบแน่นๆ) และรอบเครื่องยนต์ต้องเด้งขึ้นมาอยู่ในช่วงที่สัมพันธ์กับความเร็ว ณ ขณะนั้นก่อน ถึงจะสามารถลงเกียร์ต่อไปได้

และในกรณีที่คุณเซ็ทความหนักของคันเกียร์ขาลงไว้นุ่มเกินไป เช่นเซ็ทค่าไว้ที่ Soft ตัวคันเกียร์อาจจะนิ่มเกินไป จนรู้สึกหวิวๆแปลกๆ และการทำงานของระบบคลัทช์เองยังอาจจะหน่วงนานเกินไป จนทำให้มีจังหวะเอนจิ้นเบรกหายเป็นระลอกๆ ทุกครั้งที่มีการลดตำแหน่งเกียร์ลง

ดังนั้น หากเป็นไปได้ ผู้ทดสอบจึงแนะนำว่า หากคุณเป็นคนที่มีสไตล์การขี่แบบดุดัน ชอบเบรกลึกๆ ชอบลดเกียร์เร็วๆ และอยากได้เอนจิ้นเบรกแบบหนักๆแน่นๆต่อเนื่อง คุณจึงควรเซ็ทค่าการทำงานของระบบ E-Clutch ในจังหวะลดเกียร์ให้เป็นแบบ Hard ไปเลยดีกว่า เพื่อความกระชับในจังหวะลดเกียร์ก่อนเข้าโค้ง

ทว่าหากคุณยังเป็นนักบิดหน้าใหม่ ที่พึ่งทำความรู้จักกับรถ หรือตัวสนามได้ไม่นาน จะเซ็ทค่าความแข็งของคันเกียร์ไว้ที่ Medium หรือ Soft ก่อนก็ได้ เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน ก็ไม่ใช่ปัญหา

ระบบ E-Clutch จะทำให้การดูแลรถมีความยากลำบากขึ้นมั้ย ? มันทนทานขนาดไหนกัน ?

ข้อแรก ในส่วนความทนทานและการดูแลรักษา จากการที่เราได้พูดคุยกับวิศวกรของ Honda เจ้าตัวได้ให้คำอธิบายกับเราเอาไว้ว่า หากเจาะจงไปที่ตัวชุดกลไกของระบบ E-Clutch ที่ติดตั้งอยู่ทางด้านขวาของแครงก์เครื่องยนต์เพียงอย่างเดียว ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องกังวลในเรื่องความทนทานของมันเลยสักนิด

โดย หากให้เทียบกับ มอเตอร์ไดสตาร์ท ที่ต้องหมุนอย่างหนักหลายๆรอบเพื่อสตาร์ทเครื่องยนต์ กว่าจะพังก็อาจต้องผ่านการใช้งานมาแล้ว 6-7 ปี รถวิ่งไปหลักแสนโล หรือตัวลูกปืนดุมล้อ ที่กว่าจะแตกก็ต้องผ่านการวิ่งไปแล้วเกินครึ่งแสนโล (ในกรณีที่ผู้ใช้ไม่ดูแลชิ้นส่วนนี้เลย ไม่เคยแม้แต่จะแกะออกมาล้าง แถมยังเอะอะขี่โดดหลุมเป็นว่าเล่น)

แต่ตัวกลไกของระบบ E-Clutch กับมีชิ้นส่วนเคลื่อนที่จะเคลื่อนเพียงเล็กน้อย ทั้งชุดเฟืองขบขยับไม่ถึงรอบ มอเตอร์เอง และลูกปืนต่างๆ ก็เช่นกัน และด้วยความเป็นระบบปิดก็ดี รวมถึงภาระแรงกระทำของชิ้นส่วนต่างๆก็ยังน้อยมากๆอีก จึงทำให้ตัวกลไกเหล่านี้มีอัตราการสึกหรอที่ต่ำมากๆ จนชนิดที่ว่า กว่าจะถึงจุดที่มันพังได้ ชิ้นส่วนสำคัญอื่นๆของตัวรถคงจะพังไปก่อนเสียอีก

เว้นเสียแต่ว่ารถจะเกิดประสบอุบัติเหตุ แล้วชิ้นส่วนเหล่านี้ได้รับความเสียหายจากแรงกระแทกจนถึงขั้นทำให้แครงก์เครื่องยนต์แตกออกมาได้ ซึ่งถ้าเครื่องยนต์จะได้รับความเสียหายขนาดนั้น แสดงว่าตัวรถทั้งคัน ก็คงเละจนขี่ต่อไม่ได้แล้วเช่นกัน

ส่วนความทนทานของชิ้นส่วนระบบเซนเซอร์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งกล่องประมวลผล ซึ่งเป็นกล่องควบคุมชุดที่สอง ที่แยกออกมาจากกล่อง ECU คุมเครื่องยนต์อีกที, เซนเซอร์วัดตำแหน่งลิ้นเร่ง, เซนเซอร์วัดความเร็วล้อหน้า-หลัง, เซนเซอร์วัดความเร็วรอบเครื่องยนต์, เซนเซอร์วัดตำแหน่งก้านคลัทช์

เกือบทั้งหมดก็ล้วนเป็นเซนเซอร์ที่มีอยู่ในตัวรถมาตั้งแต่แรกในรถตัวปกติอยู่แล้ว แต่ระบบ E-Clutch จะขอใช้กล่อง ECU เพิ่มมาอีกกล่อง เพื่อใช้ข้อมูลจากเซนเซอร์เหล่านั้น มาประมวลผลการทำงานของตัวเองเพิ่มก็เท่านั้น นั่นจึงหมายความว่า ความทนทานของชิ้นส่วนต่างๆที่ไล่เรียงมา ก็เทียบเท่ากับรถมอเตอร์ไซค์ตัวปกติ

ด้านคำถามที่ว่า แล้วผู้ใช้จะสามารถเบิกชิ้นส่วนไปแปลงใส่กับรถรุ่นอื่นๆของตนเองได้หรือไม่ ? ณ ตอนนี้ อาจสามารถทำได้กับรถ Honda CBR650R/CB650R ที่ใช้เครื่องยนต์ลูกเดียวกัน และมีเซนเซอร์ต่างๆ รวมถึงฟังก์ชันในหน้าจอรองรับเท่านั้น แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถเอาสายไฟมาต่อๆแล้ว Plug&Play ได้เลย จึงทำให้มันยังคงมีความยุ่งยากอยู่

ดังนั้น หากคุณอยากได้รถที่มีระบบ E-Clutch จริงๆ ก็ขายรถคันเก่าแล้วมาซื้อรถที่มีระบบนี้ติดตั้งมาให้ตั้งแต่ออกโรงงานเลยจะดีกว่า

สรุป แล้ว สำหรับการ รีวิว Honda E-Clutch ครั้งนี้ ส่วนตัวผู้ทดสอบมองว่า นี่ถือเป็นระบบที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ยอดนิยมอย่าง Honda CBR650R / Honda CB650R ได้ดีเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในมุมของนักบิดมือใหม่ หรือนักบิดประสบการณ์สูง

โดยเฉพาะในจังหวะการขี่รถในเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น ที่คุณไม่จำเป็นต้องมาปวดหัว ปวดนิ้วกับการเย่อคลัทช์ซ้ำๆอีกต่อไป เพราะระบบคอยจัดการให้หมด สิ่งที่คุณต้องทำ จึงมีแค่เพียงการเข้าเกียร์ บิดคันเร่ง แล้วตั้งสมาธิอยู่กับเส้นทางและการทรงตัว กับการเบรกก็เท่านั้น

การจะใช้งานเดินทางไกล หรือการเล่นโค้ง จะในสนาม หรือ ตามทางเขาขณะออกทริป ก็เป็นอีกมุมที่ระบบนี้จะช่วยเพิ่มอรรถรสความสนุกสนาน ไปพร้อมกับการเพิ่มความสะดวกสบายให้กับคุณ แม้แต่ตัวผมเอง ก็อยากจะลองเอาเจ้ารถที่มีระบบนี้ไปขี่เล่นบนเส้นทางขุนเขาที่เราคุ้นเคยดูสักครั้ง

โดยตัวรถ Honda 650-Series ที่มาพร้อมกับระบบ E-Clutch ก็จะมีราคาเพิ่มขึ้นจากตัวเกียร์ปกติเพียงแค่ราวๆ 20,000 บาท เท่านั้น ได้แก่

  • 2024 Honda CB650R E-Clutch : 332,100 บาท (ราคาตัว Standard : 312,100 บาท)
  • 2024 Honda CBR650R E-Clutch : 347,300 บาท (ราคาตัว Standard : 327,300 บาท)

และหากคิดเล่นๆ การเบิกเฉพาะตัวก้านเกียร์แบบมีเซนเซอร์ควิกชิฟท์เตอร์ก็อาจจะสนนราคาเกิน 15,000 บาท เข้าไปแล้วสำหรับราคาออกศูนย์ แต่ถ้าคุณยอมขยับงบมาจับรถที่ได้ออพชันเต็มเลยแต่แรก คุณก็จะได้ออพชันที่นำความสะดวกสบายในการใช้งานมาให้คุณได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่า จึงถือว่าเป็นส่วนต่างที่คุ้มค่าแก่การเพิ่มขึ้นมาจริงๆ

โดยหากเพื่อนๆคนไหนที่สนใจ ก็สามารถจับจองตัวรถทั้งสองรุ่นได้แล้ว ที่ศูนย์บริการ Honda BigBike ทั่วประเทศ นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ขอขอบคุณ Thai Honda ที่ให้เกียรติทีมงาน Ridebuster ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบเทคโนโลยี Honda E-Clutch เป็นกลุ่มแรกของโลก ในครั้งนี้

  • ภาพ : Thai Honda
  • ทดสอบ/เรียบเรียง : รณกฤต ลิมปิชาติ
แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่