—————————————————————

Honda  CR-V 2.4 Gasoline

ในการทดสอบ   Honda CR-V  ผมวางแผนไว้ว่าจะให้น้ำหนักในการทดสอบรุ่นเบนซิน น้อยกว่าดีเซล เนื่องจากรุ่นเบนซิน เป็นเครื่องยนต์เดิมจากรุ่นที่แล้ว แต่ตอนที่ไปสนามช้างฯ ทางทีมวิศวกร ก็พูดเสียผมสนใจ พวกเขาบอกว่า พวกเราปรับอัตราทดเกียร์ใหม่นะ”

ฟังแล้ว มันก็น่าสนใจดี จนกระทั่งผมมาเปิดสเป็กดู ก่อนวันไปรับรถ เจ้า   Honda  CR-V   ใหม่  มาพร้อมเครื่องยนต์ ขนาด 2.4 ลิตร ยังคงให้กำลังสูงสุด 173 แรงม้า ที่ 6,200 รอบต่อนาที และทำแรงบิด 224 นิวตันเมตร ที่ 4,200 รอบต่อนาที ชุดเกียร์ยังเป็น CVT  มีอัตราทด 2.645 – 0.405 เหมือนเดิมกับรุ่นที่แล้ว แต่เปลี่ยนอัตราทดเฟืองท้ายเป็น 5.363 จากเดิม 5.047

อ่านข้อมูลก็พอเดาได้ว่าทางฮอนด้าต้องการให้อัตราเร่งออกมาแบบว่าสนุกสุดใจ อัตราประหยัด ช่างมันปะไร ในเมื่อเครื่องขับดี

Honda  CR-V 2.4 EL

Honda  CR-V 2.4 EL

ผมขึ้น Honda  CR-V   เบนซินครั้งแรก ขับออกมาจากฮอนด้า วิ่งไปตามถนนสุขุมวิทกลับบ้าน อัตราเร่งของมันได้ใจสุดๆ  จะมุดจะแซงก็ทำได้ง่าย แต่เมื่อขยิบมือหลังพวงมาลัย อ้าว!! เฮ้ย!!  ไม่ได้ให้   Paddle Shift   นี่หว่า … อรรถรสเรื่องสปอร์ต เป็นอันตกไป

อย่างที่คุณน่าจะพอเดาได้ ขับรถเครื่องใหญ่ในเมือง มันต้องซดน้ำมันโฮกกว่าเครื่องยนต์ขนาดเล็ก แถมงวดนี้ทางฮอนด้า เพิ่มอัตราทดเฟืองท้ายให้สูงขึ้นออกตัวดีขึ้น เมื่อมาเจอการจราจรเดี๋ยวขับเดี๋ยวหยุดในเมือง มันก็ออกจะซดน้ำมันหน่อย ผมลองในเมืองโดยใช้เส้นทางถนนสุขุมวิท ตรงผ่าสยามกลับบ้านทางปิ่นเกล้าไปยังบางใหญ่

จากการขับตามสภาพการจราจรจริง   Honda  CR-V   เบนซินกินแหลกไม่ต้องสิบ อัตราประหยัดของมันจากการเติมคืนถังที่ปั้มประจำแถวบ้าน ทำได้เพียง 7.3 ก.ม./ลิตร ด้วยน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 91 ตามที่ทางฮอนด้า เติมมาให้ขับทดสอบ

ผมไม่รอช้าที่จะเจ้า  CR-V   ลองขับทดสอบในภาวะจำลองในเมืองและนอกเมืองในอัตรา 50/50 ภายใต่ข้อกำหนด “Bonn Test Mode” โดยในเมืองวิ่งความเร็วไม่เกิน 90 ก.ม./ช.ม. ส่วนนอกเมืองใช้ความเร็วไม่เกิน 120 ก.ม./ช.ม.  ผ่านถนนเส้นหลักๆ ที่สำคัญ เช่น ถนน ราชดำเนินกลาง, ถนน เพชรบุรีตัดใหม่ สุขมวิท  แล้วกลับมายังปั้มเดิม วันนี้ขับได้ระยะทาง 63.4 กิโลเมตร  เสียบหัวจ่ายเข้าถัง เติมน้ำมันจนหัวจ่ายตัด เจ้า   Honda  CR-V   รับประทานไปทั้งสิ้น 5.357 ลิตร ดีดเครื่องคิดเลขได้อัตราประหยัด 11.83 ก.ม./ลิตร

Honda  CR-V 2.4 EL

อัตราประหยัดย่ำแย่ ไร้  Paddle Shift   แต่ราคาแพงขึ้น ยิ่งทำให้ผมรู้สึกว่า ฮอนด้าเข้าใจสาระการใช้งานของลูกค้าจริงๆ หรือเปล่า  
Honda CR-V  ไม่จำเป็นที่จะต้องแรงมุทะลุอะไรมาก แต่ควรเป็นรถที่ขับสบายนั่งดี้ และที่สำคัญที่สุดของคำว่ารถครอบครัว คือการประหยัดน้ำมัน  

 ย้อนกลับไปตอนสมัย   Autodeft.com , Honda เคยพาผมไปตะลุยสังขละบุรี แต่ละคันมีผู้โดยสาร 4 คน ทุกคัน ทริปนั้นจบอัตราประหยัดที่ 11.3 ก.ม./ลิตร และหลังจากจับทดสอบในเมืองและโหมดเฉลี่ย มากค่อนข้างมั่นใจว่า รุ่นใหม่ น่าจะด้อยกว่าเดิม อย่างไม่ต้องสงสัย

งานนี้ต้องลองให้มันรู้กันไปเลย ไหนๆ ก็ลากยาว มาแล้ว ผมตัดสินใจ ขับรถเลี้ยวออกวงแหวนตะวันตก ตัดยาวไปตามทางจนถึงถนนสายเอเซีย จากนั้นม้วนกลับทางต่างระดับบางปะหัน แล้วตรงกลับบ้านทันที

เมื่อใช้ความเร็ว   Honda  CR-V  โชว์ความดีงามของระบบช่วงล่างทางด้านหน้า และทางด้านหลังของรถให้ประจักษ์ชัดยิ่งขึ้น ระบบกันสะเทือนด้านหน้าแบบแม็คเฟอร์สันสตรัท และด้านหลังแบบมัลติงลิงค์ ถูกปรับปรุงใหม่บางจุด โดยเฉพาะบุชช่วงล่าง Honda CR-V  รุ่นใหม่ จะเป็นแบบบุชที่บรรจุของเหลวไว้ภายในหรือ  Liquid fill bushing ช่วยซับแรงกระแทกจากถนนดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม รวมถึงปรับขนาดเหล็กกันโคลงหน้า-หลังใหม่

โดยในส่วนของช่วงล่างด้านหน้า นอกจากการหันมาใช้บุชชิ่งแบบใหม่ที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ทางฮอนด้ายังปรับจุดยึดแขนช่วงล่างทางด้านล่างใหม่ เปลี่ยนตำแหน่งจุดยึดเข้ากับโครงสร้างหลักของตัวรถช่วยเพิ่มอำนาจการควบคุมให้กับผู้ขับขี่ ขณะที่ทางด้านหลังได้ทางฮอนด้าเปลี่ยนชุดโช๊คมาใช้ชุดโช๊คแรงเสียดทานต่ำในระบบกันสะเทือนมัลติลิงค์ เพื่อความสบายในการโดยสารสูงสุด

ตลอดเวลาที่ขับขี่เจ้า  Honda  CR-V 2.4  ต้องยอมรับว่า เทียบกับรุ่นเดิมแล้ว ระบบช่วงล่างรุ่นใหม่ตอบสนองดีกว่า แต่ก็ให้ความรู้สึกที่แข็งกว่าอย่างเห็นได้ชัด อาการช่วงล่างค่อนข้างความรู้สึกใกล้เคียงกับรถยุโรป เว้นแต่ผมรู้สึกมันยังค่อนข้างกระด้างกว่าพอสมควร อาการของระบบกันสะเทือน   Honda  CR-V   ใหม่ ออกมาในทางแน่นหนึบ แอบความกระด้างไว้ในมุมลึกๆ ซึ่งไม่สมควรจะมีอย่างยิ่งในรถยนต์นั่งสำหรับครอบครัว

ความกระด้างสามารถสัมผัสได้ เมื่อรถวิ่งผ่านถนนที่ทำมาไม่ค่อยดี เช่นถนนปูนที่มีลอนเป็นลูกคลื่นเล็กๆ ถี่ยิบอย่าง บางช่วงของถนนสายเอเชีย เจ้าซีอาร์วีเรา สามารถเก็บรายละเอียดการสั่นจากถนนได้แทบทุกเม็ด จนแทบสามารถจะไปบอกกรมทางหลวงได้เลยว่า พี่ๆ ตรงนี้พี่ทำถนนไม่เรียบนะ …

ส่วนตัวผม กลับรู้สึกว่า ฮอนด้า พยายามทำให้   Honda  CR-V   ใหม่ ตอบสนองดีขึ้นเมื่อขับเร็ว และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อคุณขับรถใช้ความเร็วเกิน 100 ก.ม/ช.ม. อาการเด้งจะน้อยลงเห็นได้ชัด และจะน้อยกว่านี้อีก เมื่อคุณใช้ความเร็วเกิน 120 ก.ม./ช.ม.  หากในชีวิตจริงคนไทย กล้องจับความเร็วจะผ่านเมื่อไร ก็ไม่มีใครอาจจะคาดเดาได้ ในชีวิตคนทั่วไป คงไม่มีใครเหยียบตะบันพาครอบครัวซิ่งที่ความเร็วสูงในรถอเนกประสงค์มากมายนักหรอก หรือว่าไม่จริง !!!  (ขืนขับเร็ว..เมียด่ากล่องตัด แน่นอน)

Honda  CR-V 2.4 EL

ทางด้านการควบคุมบังคับเลี้ยว ทางฮอนด้าพัฒนาจุดยึดและชุดแกนพวงมาลัยใหม่หมดจด พร้อมตอบโจทย์ ด้วยระบบพวงมาลัยพาวเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า พร้อมชุดเฟืองพิเนียน 2 ตัว 

แง่การใช้งานจริงบนถนนตอบสนองในเรื่องน้ำหนักในการควบคุมความเร็วต่ำและความเร็วสูงได้ดี พวงมาลัยมีระยะฟรี 1-2 องศา นับว่าน้อยกว่ารุ่นที่แล้วมากพอสมควร แต่ระหว่างขับก็เจอความรู้สึกหลอกของระบบพวงมาลัยชุดนี้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะใครที่เป็นนักปาดในเมืองบ่อยๆ สมควรระวัง ถ้าคุณไม่ได้บังคับพวงมาลัยตั้งตรงเอาไว้ แล้วหันไปทำอะไรอื่นๆ  กลับมาจับพวงมาลัยอีกที ความรู้สึกตอบสนองเรื่องทิศทางจะหายไป คุณต้องเดาเอาเอง หรือจำให้ได้ ว่าบังคับทิศทางไหนไว้ เพื่อปรับทิศทางให้ถูกต้องก่อนออกตัว จะได้ไม่เซไปหาชาวบ้าน

เท่าที่ขับ เจ้า   Honda CR-V 2.4   3 วัน เต็ม ผมว่าเครื่องยนต์ 2.4 ลิตร ยังเป็นขุมพลังที่เร้าใจอยุ่เหมือนเดิม แม้ว่าเราต่างจะรู้ดีว่าการวิศวกรรมเครื่องยนต์บล็อกนี้เริ่มเก่าแล้ว เพราะผ่านการพัฒนาจากเครื่องยนต์ตระกูล   K  จากรุ่นสู่รุ่น แต่ในยามที่ขับบนถนนตามต่างจังหวัดมันขับได้ดีน่าประทับใจ

อย่างไรก็ดี ด้วยอัตราทดเฟืองท้ายที่เพิ่มขึ้น เน้นความนิ่มนวลออกตัว เร่งแซงมั่นใจกว่ารุ่นเดิม ส่งผลต่ออัตราประหยัดอย่างชัดเจน ในการขับนอกเมือง ผมขับที่ความเร็ว 100-130 ก.ม./ช.ม. เร่งแซงเป็นบางจังหวะตามสภาพการจราจรใช้งานจริง ผมจบอัตราประหยัด รุ่นเบนซิน  ที่ 8.4 ก.ม./ลิตร   

สรุปอัตราประหยัด Honda CR-V เบนซิน

อัตราประหยัดในเมือง 7.3 ก.ม./ลิตร
อัตราประหยัด นอกเมือง 8.4 ก.ม./ลิตร
Bonn Test mode 11.83 ก.ม./ลิตร

 

 เมื่อมองภาพรวมอัตราประหยัดของเครื่องยนต์ 2.4 ลิตร คงจะเห็นว่ามันโซ้ยแหลก ไม่ว่าจะนอกเมืองในเมือง ก็น่าแปลกใจนัก เพราะเครื่องยนต์ 2.4 ลิตร บล็อกนี้ไม่ได้มีกำลังเพิ่มขึ้น แต่ทางฮอนด้า เลือกที่จะขยับอัตราทดเฟืองท้ายขึ้นไป เพื่อช่วยในการออกตัวให้ดีขึ้น เนื่องจาก เมื่อเปรียบเทียบรถรุ่นใหม่กับรุ่นเดิม  Honda  CR-V  หนักขึ้นถึง 79 กิโลกรัม
(Honda CR-V 2016  หนัก 1591 กก. รุ่นใหม่ 2.4  EL  หนัก 1670 กก.) 

แทนที่จะเพิ่มกำลังเครื่องยนต์ หรือเปลี่ยนบล็อกเครื่องยนต์ไปใช้บล็อกเดียวกับอเมริกา  ซึ่งมีกำลังสูงสุด185 แรงม้า และมีแรงบิดสูง 245 นิวตันเมตร ซึ่งจะเรียกความน่าสนใจมากกว่า เพียงการปรับอัตราทดเกียร์ และทำให้อัตราประหยัดไม่ดูซดแหลกขนาดนี้

ตารางทดสอบอัตราเร่ง Honda CR-V เบนซิน

  ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 เฉลี่ย
อัตราเร่ง 0-100 กม./ช.ม. 12.246 11.956 11.946 12.049
อัตราเร่ง 80- 120 ก.ม./ช.ม. 8.1 8.0 7.7 7.933
อัตราเร่ง 0- 160 ก.ม./ช.ม. 31.2 34.0 34.2 33.13
ความเร็วสูงสุด ก.ม./ช.ม. 194

หมายเหตุ ทดสอบบนถนนลาดยาง นั่ง 1 คัน อุณหภูมิขณะทดสอบ 31 องศาเซลเซียส ขับด้วยโหมด   D ,ระยะทางทดสอบความเร็วสูงสุด 3.5 กิโลเมตร

ทางด้านการทดสอบอัตราเร่ง เพื่อนๆ น่าจะเห็นได้ว่าอัตราเร่ง ของเครื่องยนต์ 2.4  Honda  CR-V   มีอัตราเร่ง 0-100 ก.ม./ช.ม. อยู่ที่พิกัด 12 วินาที และ 80-120 ก.ม./ช.ม. มีพิกัดที่ 7.9 วินาที จากข้อมูลโดยเฉลี่ย

ความจริงแล้ว ในระหว่างการทดสอบ ผมรู้สึกว่ารถน่าจะเร่งได้ดีกว่านี้  แต่เนื่องจากชุดเกียร์ของ   Honda  CR-V   เบนซิน ไม่ได้เป็นลักษณะตัดรอบเครื่องยนต์เอง หรือขึ้นตำแหน่งต่อไปต่อเนื่อง

หากจะดูการเหยียบคันเร่งของผู้ขับขี่ว่ายังต้องการอัตราเร่งหรือไม่ และจะค้างเกียร์ปัจจุบันไปจนกว่าจะสาแก่ใจ นั่นทำให้ผมต้องกระดิกเท้าหรือผ่อนคันเร่งเป็นบางจังหวะ เพื่อให้เกียร์ตอบสนองยังอัตราทดต่อไป  หากไม่เสียจังหวะดังกล่าว เชื่อว่าก็น่าจะให้ตัวเลขอัตราเร่ง 0-100 ก.ม./ช.ม. ระดับเลขตัวเดียวได้ และสิ่งที่จะช่วยได้อีกอย่างคือ Paddle Shift   หรือ  Manual Mode   ที่ควรมีมาให้ในรถระดับนี้

โอเค ผมยอมรับ 173 แรงม้า สำหรับคนทั่วไปก็เรียกว่า รถแรงแล้ว แต่  Paddle Shift   หรือ  Manual Mode   มีไว้ให้อุ่นใจ ดีกว่าเน้นขับย่ำที่เท้าจริงไหม !!!  

อ่านรีวิวต่อ >>>>>

ชอบกดไลค์ใช่กดแชร์ ขอบคุณทุกกำลังใจสำหรับพวกเรา   ridebuster.com 

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่