ย้อนไปเมื่อปี 2015 ทาง Royal Enfield ได้สร้างรถมอเตอร์ไซค์แนวแอดเวนเจอร์ทัวร์ริ่งสไตลด์คลาสสิคอย่าง Himalayan ออกมาให้ชาวโลกได้รู้จักเป็นครั้งแรก แต่บางครั้ง มันอาจดูพร้อมลุยมากเกินกว่าที่ใครจะได้ใช้งานทุกวัน เจ้า Royal Enfield Scram 411 คันนี้จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมา

และ ใช่ครับ ก่อนที่เราจะไป รีวิว Royal Enfield Scram 411 คันนี้ เราต้องบอกก่อนว่า มันถูกสร้างขึ้นมา โดยใช้พื้นฐานร่างต้นจากเจ้า “แพะภูเขา – Royal Enfield Himalayan” แต่เนื่องจากเจ้าร่างต้นที่ว่านั้น ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานที่เน้นการเดินทางไกลไปยังถิ่นธุรกันดารมากกว่า จึงทำให้มันอาจตอบโจทย์ลูกค้าได้เพียงเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

นั่นจึงทำให้ทาง Royal Enfield ต้องการสร้างรถมอเตอร์ไซค์รุ่นใหม่ที่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้คนที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยมีพื้นฐานจากเจ้า Himalayan ที่ถูกปรับแต่งใหม่ ให้เหมาะสำหรับการใช้งานในเมืองมากกว่าเดิม ทั้งในเรื่องของรูปลักษณ์ และสมรรถนะในองค์รวม

ดังนั้น นอกจากสีสันที่ถูกออกแบบใหม่ ให้ดูมีความทันสมัย และสะดุดตาแล้ว มันยังมาพร้อมกับชิ้นส่วนเปลือกนอกใหม่ ที่ทำให้ตัวรถดูคล่องตัวมากยิ่งขึ้น เริ่มจากการถอดโครงเหล็กข้างถังน้ำมัน และชุดชิลด์หน้าทรงสูงทิ้งไป แล้วย้ายตำแหน่งไฟหน้าโคมกลมดวงเดิมใหม่ ให้อยู่ต่ำลง พร้อมเปลี่ยนตัวครอบใหม่เรือนโคมไฟใหม่ให้ดูทันสมัย และรับกับเรือนไมล์ใหม่มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ในตำแหน่งจุดยึดโครงเหล็กเดิมทางด้านล่าง ก็เปลี่ยนใหม่เป็นแผ่นครอบทรงหกเหลี่ยมพร้อมกราฟฟิกตัวหนังสือชื่อแบรนด์ และบังโคลนหน้าก็ถูกเปลี่ยนใหม่ จากแบบสองชั้น เป็นชั้นเดียว กับชุดเบาะนั่งที่เปลี่ยนจากแบบสองตอน เป็นตอนเดียวซึ่งดูหนานุ่มกว่าเดิม (แต่ความสูงเบาะยังคงเท่าเดิม ที่ 800 มิลลิเมตร) เช่นเดียวกับชุดราวกันตกด้านหลัง ที่เปลี่ยนเป็นท่อนเหล็กขนาดกระทัดรัด ไม่ยื่นยาวไว้เผื่อติดตั้งกล่องหลังอีกต่อไป

และจุดท้ายสุดที่ถูกปรับเปลี่ยนไป ให้เราสามารถสังเกตได้จากภายนอก ก็คือ ชุดล้อทางด้านหน้า ที่เปลี่ยนวงล้อซี่ลวดใหม่ จากขนาด 21 นิ้ว เป็น 19 นิ้ว ที่นอกจากจะเล็กลงแล้ว ยังรัดดวยยางรุ่นเดิม แต่หน้ากว้างขึ้น จาก 90/90-21 เป็น 100/90-19 เพื่อหน้ารถมีความมั่นคงยิ่งขึ้น เหมาะสำหรับการใช้งานในเมืองเป็นหลักมากกว่าเดิม

ส่วนความเปลี่ยนแปลงที่สามารถสองได้จากตัวเลขทางเทคนิคบนโบรชัวร์ เราก็จะพบความเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมอีกว่า

  • โช้กหน้าของตัวรถมีช่วงยุบลดลง 10 มิลลิเมตร เหลือ 190 มิลลิเมตร
  • ความสูงใต้ท้องรถ ลดลง 20 มิลลิเมตร เหลือ 200 มิลลิเมตร
  • มิติตัวรถ ด้านสูง ลดลง 205 มิลลิเมตร เหลือ 1,165
  • มิติตัวรถ ด้านยาว มากขึ้น 30 มิลลิเมตร เป็น 2,210 มิลลิเมตร

และ

  • น้ำหนักตัวรถเมื่อรวมของเหลว ลดลง 5 กิโลกรัม เหลือ 194 กิโลกรัม (เพราะชิ้นส่วนหลายๆอย่างหายไป)

นอกนั้นรายละเอียดในด้านต่างๆก็ล้วนยังคงเดิมทั้งหมด ซึ่งเราจะไล่เรียงไปพร้อมกับการรีวิวแต่ละจุด ดังนี้

ท่านั่ง และท่าทางการขี่

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในจุดต่างๆของตัวรถ Scram 411 ที่ไล่เรียงมานั้น แทบไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในจุดอื่นใดที่เกี่ยวของกับท่าทางการขี่เลย ทั้งตัวแฮนด์บาร์ ที่ยังคงกว้างและสูงเท่าเดิม ไม่เว้นแม้กระทั่งตำแหน่งพักเท้า

นั่นจึงทำให้แม้ตัวรถจะดูเตี้ยลง แต่ทั้งการวางแขน และวางเท้าในขณะนั่งขี่ จึงยังคงให้ความรู้สึกสบาย ตามฉบับรถทัวร์ริ่งอยู่ ทั้งการวางแขนที่ค่อนข้างสูงนิดๆ แต่ไม่มากจนรู้สึกจม สำหรับผู้ขี่ที่สูงไม่ถึง 170 เซนติเมตร หรือติดกระจกมองข้างรถกระบกยกสูงจนมุดลำบากเท่าไหร่นัก

ความกว้างแฮนด์ที่อาจจะมากหน่อยจนทำให้มุดได้ยาก แต่หากเล็งมุมกันดีๆ มันก็สามารถมุดได้คล่องไม่แพ้รถมอเตอร์ไซค์สกู๊ตเตอร์พิกัด 150cc เพราะถ้าแฮนด์ผ่าน ที่ส่วนที่เหลือของตัวรถก็สามารถผ่านได้สบายๆ

ขณะที่ตำแหน่งพักเท้าเอง ก็สามารถวางได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ได้รู้สึกต้องกางมากเกินไป หรือเตี้ยจนเกินไปแต่อย่างใด แถมในขณะเดียวกัน ยังคงให้ความรู้สึกที่กระชับกำลังดีในท่ายืนขี่ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องขอบคุณงานออกแบบทรงถังน้ำมัน ที่มีเหลี่ยมสันรับกับช่วงหัวเข่าไว้อย่างพอดิบพอดีด้วย

สิ่งเดียวที่ต่างออกไปในตัว Scram 411 เมื่อเทียบกับร่างต้น Himalayan ในส่วนท่านั่ง ก็คือตัวเบาะ ที่แม้จะดูเหมือนหนาขึ้น แต่ก็ให้ความรู้สึกนุ่มสบายในการนั่งมากกว่าเล็กน้อย และทำให้ตัวผู้ทดสอบสามารถขี่รถมอเตอร์ไซค์คันนี้เป็นระยะทาง 100 กว่ากิโลเมตร ต่อเนื่องไม่พักได้โดยไม่ได้รู้สึกปวดเมื่อยใดๆทั้งสิ้น

และถึงแม้ว่าตัวเบาะจะมีความสูงมากถึง 800 มิลลิเมตร ซึ่งทำให้ผู้ขี่ที่สูงไม่ถึง 170 เซนติเมตร ต้องเขย่งส้นเท้าบ้างเล็กน้อย เมื่ออยากจะวางเท้าทั้งสองฝั่ง และน้ำหนักตัวรถก็มีตัวเลขมากถึง 194 กิโลกรัม แต่ด้วยรูปทรงตัวรถที่ค่อนข้างผอมบาง จึงทำให้ส่วนตัวผู้ทดสอบพบว่ามันไม่ได้มีปัญหาในการยืนจอดติดไฟแดงเป็นระยะเวลานานๆมากเท่าไหร่นัก

เครื่องยนต์ติดรถมา ยังคงเป็นเครื่องยนต์ LS-410 แบบสูบเดียว 4 จังหวะ SOHC ความจุ 411cc ระบายความร้อนด้วยอากาศ อัตราส่วนกำลังอัด 9.5 : 1 ให้กำลังสูงสุด 24.3 PS ที่ 6,500 รอบ/นาที กับแรงบิดสูงสุด 32 นิวตันเมตร ส่งกำลังด้วยชุดเกียร์ 5 สปีด ซึ่งทุกอย่างล้วนยังคงเดิมกับ Himalayan ทุกอย่าง

แต่เนื่องจาก Scram 411 มาพร้อมกับน้ำหนักตัวที่เบากว่า 5 กิโลกรัม จึงทำให้ผู้ทดสอบจับสังเกตได้ว่า ตัวรถสามารถเรียกอัตราเร่งในจังหวะเปิดคันเร่งได้ติดมือกว่าเดิมพอสมควร เช่นเดียวกับการไต่ความเร็วปานกลางราวๆ 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไปจนถึงสูงราวๆ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่มีความติดมือกว่าเดิมเล็กน้อย

แต่ก็ยังคงลักษณะนิสัยเดิมเอาไว้ นั่นคือความโดดเด่นของการเรียกกำลังในช่วงรอบกลางๆ ส่วนต้นจะไม่พุ่งมากนัก เพราะถูกปรับเซ็ทเอาไว้ และปลายจะตื้อนิดๆ ตามประสารถสูบเดียวลูกเล็กช่วงชักยาว เพราะดั้งเดิม มันคือเครื่องที่ออกแบบมาเพื่อใช้ในการปีนป่ายอุปสรรคแบบค่อยๆไหลแล้วไต่ขึ้นเนินไปทีละนิด

ซึ่งถ้ามองในอีกมุม ด้วยคาแร็คเตอร์เช่นนี้ จึงทำให้มันกลายเป็นลักษณะนิสัยเครื่องยนต์ที่กำลังเหมาะกับการใช้งานในเมืองด้วย เพราะไม่พุ่งจนเครียดเกินไป แต่ก็ไม่ได้มาช้าจนต้องเสียเวลาในการเร่งแซงในช่วงความเร็วปานกลางจนถึงสูงนิดๆ

อย่างไรก็ดี ในส่วนการทำงานของระบบส่งกำลัง ส่วนตัวผู้ทดสอบมองว่าระยะในการกำคลัทช์ให้จากนั้นค่อนข้างจะกว้างไปสักหน่อย ทำให้แม้จะตั้งคลัทช์ใหม่จนเหลือระยะฟรีไม่มากแล้ว แต่ก็ยังแทบจะไม่สามารถใช้สองนิ้วกำคลัทช์ให้จากจนสุดได้

ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะถุงมือที่ผู้ทดสอบใช้อยู่ค่อนข้างหนาก็เป็นได้ แต่ต่อให้กำจนสุดแล้ว การหาเกียร์หนึ่งทั้งๆที่รถหยุดนิ่ง และเครื่องยนต์ติดอยู่ยังทำได้ยากผิดปกติอยู่ดี หรือจะให้ใช้วิธีรีบปลดเกียร์ว่างก่อนที่รถจะหยุดนิ่ง ก็อันตราย หรือจะใช้วิธีดับเครื่องยนต์ช่วยตอนรถจอดนิ่งๆแล้วค่อยหาเกียร์ว่าง ก็เสียจังหวะอีก

แต่สิ่งที่น่าชมในจุดนี้ ยังมีอยู่บ้าง นั่นคือ น้ำหนักก้านคลัทช์ไม่ได้มากมายเท่าไหร่นัก จึงทำให้การขี่ในเมืองที่ต้องเจอรถติดๆ เดี๋ยวเบรกเดี๋ยวจอด ต้องกำคลัทช์บ่อยๆ เป็นเวลาครึ่งวันนั้น ยังไม่ได้สร้างภาระให้กับนิ้วมือเท่าไหร่นัก

และถึงแม้รถจะมีเกียร์เพียงแค่ 5 จังหวะ หรือ 5 สปีด แต่เมื่อลองใช้งานจริง กลับไม่ได้รู้สึกว่ามันทดน้อยไปแต่อย่างใด และเพียงพอแล้วสำหรับการใช้งานในช่วงความเร็วเดินทาง

ส่วนการทดสอบเรื่องความประหยัด หรืออัตราสิ้นเปลืองขอเก็บไว้ก่อน เพราะรอบนี้เป็นการทดสอบแบบทริปกับพี่ๆท่านอื่น จึงไม่สามารถเก็บค่าได้

การทำงานของระบบช่วงล่าง ที่อยู่ในเจ้า Scram 411 ที่ถือว่ามีความแตกต่างจาก Himalayan ชัดเจนมากที่สุด หากไม่นับเรื่องหน้าตา ทั้งจากชุดวงล้อหน้าที่เล็กลง แต่มาพร้อมกับหน้ายางที่กว้างกว่า และระยะยุบโช้กหน้าที่น้อยลง

จากการทดสอบในครั้งนี้ พบว่ามันกลับให้ความรู้สึกที่กำลังพอเหมาะพอดีกับการใช้งานในเมือง ทั้งในเรื่องความคล่องตัวในจังหวะที่ต้องซอกแซกรถไปมาท่ามกลางรถติด และน้ำหนักหรือความหน่วงของช่วงหน้าตัวรถ ที่แม้จะไม่ได้ไวมากเหมือนกับรถเล็ก

แต่ในทางกลับกัน มันดันให้ความรู้สึกที่มั่นคง และค่อนข้างจะตามสั่งในการพลิกเลี้ยวที่มากกว่า Himalayan อย่างเห็นได้ชัด เรียกได้ว่า หากคุณเริ่มชินกับท่าทาง และน้ำหนัก รวมถึงมิติของตัวรถแล้ว คุณจะสามารถซอกแซกมันไปตามช่องจราจรต่างๆได้อย่างสนุกมือแน่นอน โดยไม่ต้องกลัวว่ารถจะโคลงไปมามากเกินแต่อย่างใด เว้นเพียงช่วงท้ายรถที่อาจจะยังคงรู้สึกจมมากไปหน่อย เมื่อต้องเลี้ยวรถด้วยความแรงจริงๆ และตัวยางที่ต้องใช้เวลาในการวอร์มสักนิด ถึงจะเริ่มเกาะกับผิวถนน เพราะมันคือยางเทรล

แต่นั่นก็ถือเป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะยังไงสุดท้ายแล้ว เจ้า Scram 411 คันนี้ ก็ยังคงถูกออกแบบมาให้เผื่อวิ่งบนทางลูกรักอยู่ ดังนั้น ขณะที่การซับแรงสะเทือนจากผิวถนนที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อ ฝาท่อ และทางรถไฟของกรุงเทพฯ ยังสามารถเก็บได้สบายๆ คือยังรู้สึกถึงแรงสะเทือนอยู่บ้าง แต่ไม่เลยที่จะเจออาการยัน (เว้นแต่คุณจะโดดสูงจริงๆ)

ในส่วนของการซับแรงสะเทือนบนทางกรวด หรือทางลูกรัง ของระบบกันสะเทือนที่ติดรถมา ก็ยังถือว่าทำได้ดี สำหรับการค่อยๆไหลผ่านอุปสรรคเหล่านั้นไป หรือจะใช้ความเร็วแบบ Hard Enduro ก็ยังได้ หากคุณมีทักษะมากพอ แต่ด้วยล้อหน้าที่เป็นขนาด 19 นิ้ว และขนาดยางหน้าที่กว้างขึ้น กับน้ำหนักตัวที่ยังอยู่ในระดับร้อยเก้าสิบกว่าๆ

มันจึงยังให้ความรู้สึกที่กินแรงผู้ขี่นิดๆอยู่ดี ถ้าต้องขี่ผ่านอุปสรรคทางฝุ่นด้วยความเร็วสูงๆ แถมยังมีโอกาสที่ใต้ท้องรถจะขูดพื้นง่ายขึ้นด้วย หากกระโดดหรือปีนหลุมไม่ระวัง แต่ในภาพรวมก็ยังถือว่าสอบผ่านอยู่ดี เมื่อมองจากโจทย์การออกแบบตัวรถ ที่เปลี่ยนไปเน้นการวิ่งทางดำถึง 80% และเผื่อทางฝุ่นไว้อีก 20% ซึ่งอันที่จริงมันสามารถขี่บนทางฝุ่นได้ดีกว่านั้นมาก (อาจจะราวๆ 40%-50% เลยเสียด้วยซ้ำ)

สุดท้ายคือการทำงานของระบบเบรก ที่เรียนตามตรงว่า อาจไม่ได้เป็นส่วนที่หวือหวาเท่าไหร่นัก ทั้งในส่วนของรายละเอียดทางเทคนิค ที่ยังคงใช้จานเบรกเดี่ยวขนาด 300 มิลลิเมตร ทำงานร่วมกับคาลิปเปอร์เบรกแบบโฟลทติ้งเมาท์ 2 พอร์ท ทางด้านหน้า และจานเบรกเดี่ยวขนาด 240 มิลลิเมตร ทำงานร่วมกับโฟลทติ้งเมาท์คาลิปเปอร์ 1 พอร์ท เช่นเดิม

และในส่วนของความรู้สึกจากการใช้งานเอง ก็ไม่ได้เป็นเบรกที่มีความนุ่มนวลจนถึงขนาดเป็นปุยนุ่น แต่ก็ยังคงให้ความแน่น และสามารถกะเก็งแรงเบรกได้ง่าย ถือว่าเอาอยู่กับน้ำหนักตัวรถและความเร็ว ในส่วนเบรกหน้า

ขณะที่เบรกหลังเอง ก็ถูกออกแบบให้ผู้ขี่สามารถไล่แรงได้ง่ายเช่นกัน และอาจให้ความรู้สึกที่นุ่มกว่าเบรกหน้าเล็กน้อย (แต่จริงๆมันก็เทียบกันกับเบรกหน้าโดยตรงไม่ได้ เพราะแนวแรงที่ใช้ในการกดไม่เหมือนกัน) ซึ่งในบางครั้งหากคุณเบรกมาหนักจริงๆ แล้วกดเบรกหลังแรงเกินไป มันก็อาจเกิดอาการล็อคได้ง่าย..

แต่เนื่องจากตัวรถมีระบบ ABS อยู่แล้ว จึงหายห่วงไปได้เลย แถมการทำงานของมันยังอยู่ในระดับที่ไม่ไว หรือขี้ระแวงจนเกินไป ค่อนไปทางทำงานช้ากว่ารถมอเตอร์ไซค์ทั่วไปนิดๆเสียด้วยซ้ำ แต่นั่นแหล่ะ จึงทำให้มันเป็นรถที่สามารถใช้ขี่ในทางฝุ่นได้สนุกอยู่

นอกจากนี้มันยังเป็นระบบ ABS แบบ Dual Channel ซึ่งแยกการทำงานกันระหว่างเบรกที่ล้อหน้า กับเบรกที่ล้อหลัง ดังนั้นหากล้อใดล้อหนึ่งล็อคขึ้นมา มันก็จะไม่ไปกวนการทำงานของระบบเบรกอีกด้านหนึ่ง

สรุป Royal Enfield Scram 411 ถือเป็นรถมอเตอร์ไซค์อีกหนึ่งรุ่น ที่แม้จะไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนในเชิงรายละเอียดทางเทคนิคที่แตกต่างจาก Himalayan เท่าไหร่นัก แต่ทุกอย่างที่ถูกเปลี่ยนไปนั้น ล้วนทำให้มันกลายเป็นรถที่เหมาะสำหรับการใช้งานในเมืองขึ้นมากในแทบทุกด้าน

ไม่ว่าจะเป็น กำลังเครื่องยนต์ที่กำลังพอดี สำหรับคนที่อยากขี่ชิลบ้าง รีบบ้าง, ท่านั่งที่สบาย ไม่เมื่อยล้า, และระบบกันสะเทือนที่มีช่วงยุบและความหนืดให้สามารถซับแรงจากถนนผิวดวงจันทร์ในเมืองกรุงเทพฯได้สบายๆ เหลือเพียงเรื่องของน้ำหนักเท่านั้น ที่อาจจะไม่หนัก แต่ก็อยากให้เบาลงกว่านี้อีกสักหน่อย เพื่อการใช้งานที่สนุกสนานขึ้นอีกสักนิด

โดยตัวรถ Royal Enfield Scram 411 ได้มีการเปิดราคาสำหรับการวางจำหน่ายในประเทศไทยเริ่มต้นที่ 175,900 บาท และมีตัวเลือกใน 3 สไตล์ 7 สี  Graphite Yellow, Graphite Red, Graphite Blue, Skyline Blue, Blazing Black, White Flame และ Silver Spirit 

ซึ่งหากเพื่อนๆคนไหนสนใจ สามารถสัมผัสตัวรถคันจริงได้แล้ว ที่ศูนย์บริการและตัวแทนจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์ Royal Enfield ทั่วประเทศเทศ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ขอขอบคุณ Royal Enfield ที่ให้เกียรติทีมงาน Ridebuster ได้เข้าร่วมการทดสอบและ รีวิว รถ Royal Enfield Scram 411 ในครั้งนี้

ทดสอบ : รณกฤต ลิมปิชาติ
เรียบเรียง : รณกฤต ลิมปิชาติ

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่