ในปัจจุบัน ขุมกำลังแบบไฮบริดนั้นก็ถือว่ามีวิธีการทำงานที่หลากหลายและแยกย่อยออกได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น HEV, MHEV, PHEV, หรือ e-Power แต่ในช่วงหลังๆมานี้ หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า EREV เพิ่มเข้ามาอีก แล้วมันคืออะไรล่ะ ?

แรกสุด เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ในปัจจุบัน รูปแบบขุมกำลังของรถยนต์ที่เราสามารถซื้อหาได้นั้น มีอยู่หลายรูปแบบมาก ซึ่งก่อนที่เราจะเข้าถึงประเด็นของ EREV เราก็ต้องทำความเข้าใจถึงระบบขุมกำลังอื่นๆที่คนส่วนใหญ่รู้จักอย่างคร่าวๆก่อน

  • ICE (Internal Combustion Engine) : รถยนต์ที่ใช้ขุมกำลังสันดาปภายในล้วนเป็นตัวขับเคลื่อน โดยอาศัยน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นแหล่งพลังงาน
  • BEV (Battery Electric Vehicle) : รถยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นขุมกำลังในการขับเคลื่อน โดยอาศัยกระแสไฟจากแบตเตอรี่เป็นแหล่งพลังงานเพียงอย่างเดียว และต้องมีการชาร์จไฟกลับด้วยตู้ชาร์จเท่านั้น (สามารถสร้างกระแสไฟจากแรงเฉื่อยของรถขณะผ่อนคันเร่ง หรือเบรกได้เล็กน้อย เป็นค่าพื้นฐาน)
  • HEV (Hybrid Electric Vehicle) : รถยนต์ที่ใช้ขุมกำลังสันดาปภายในเป็นตัวขับเคลื่อนรถ โดยมีมอเตอร์ไฟฟ้ามาคอยช่วยแบ่งเบาภาระการขับเคลื่อนในหลายๆสถานการณ์ ไม่ว่าจะการเร่งแซง การใช้ความเร็วคงที่ ที่ไม่สูงมากนัก หรือบางครั้ง มอเตอร์ไฟฟ้าก็ทำงานเองเพียงอย่างเดียว ในจังหวะการออกตัวในช่วงความเร็วต่ำ

    โดยมอเตอร์ขับเคลื่อน จะอาศัยกระแสไฟจากแบตเตอรี่ที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก และตอนจอดนิ่งอยู่กับที่กระแสไฟก็ยังมีมากพอให้สามารถเลี้ยงระบบไฟของรถได้เป็นระยะๆ โดยการชาร์จไฟกลับเข้าแบตเตอรี่ จะอาศัยการปั่นพลังงานจากเครื่องยนต์ หรืออาศัยแรงเฉื่อยจังหวะผ่อนคันเร่ง ไม่ก็เบรกเพียงเท่านั้น

    (อันที่จริงยังมีวิธีแบ่งการทำงานระหว่างมอเตอร์ไฟฟ้า กับเครื่องยนต์ยิบย่อยอีกหลายแบบ แล้วแต่ผู้ผลิต แต่จะขอยังไม่ลงลึกไปมากกว่านี้)
  • MHEV (Mild Hybrid Electric Vehicle) : รถยนต์ที่ใช้ขุมกำลังสันดาปภายในเป็นตัวขับเคลื่อนคู่กันไปกับมอเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็ก และแบตเตอรี่ขนาดเล็กกว่าแบบ HEV มาก

    จึงทำให้มอเตอร์ไฟฟ้าสามารถช่วยแบ่งเบาภาระเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนตัวรถได้แค่เพียงจังหวะออกตัว หรือเต็มที่ก็คือจังหวะเร่งแซงเท่านั้น ไม่สามารถทำงานโดดๆด้วยพลังงานไฟฟ้าที่มีได้ และการชาร์จไฟกลับ ก็จะอาศัยแรงเฉื่อยจากการเบรก และการชะลอรถเท่านั้นเช่นกัน
  • PHEV (Plug-In Hybrid Electric Vehicle) : รถยนต์ที่ใช้ขุมกำลังสันดาปภายในเป็นตัวขับเคลื่อนรถหลักอยู่ โดยมีมอเตอร์ไฟฟ้ามาคอยช่วยแบ่งเบาภาระการขับเคลื่อนในหลายๆสถานการณ์ เพื่อลดภาระ หรือตัดการทำงานของเครื่องยนต์ให้มากที่สุด โดยเฉพาะสำหรับการใช้งานในเมืองที่รถติดๆ คล้ายๆแบบ HEV ทั้งในรูปแบบของการทำงาน และวิธีการชาร์จไฟกลับขั้นต้น

    แต่ด้วยแบตเตอรี่ที่มีขนาดใหญ่กว่าขุมกำลังแบบ HEV มาก จนอาจแตะหลัก 50 kW จึงทำให้มันสามารถจ่ายไฟให้มอเตอร์ขับเคลื่อนตัวรถเองได้ราวๆ 50-100 กิโลเมตร โดยไม่พึ่งกำลังจากเครื่องยนต์เลยแม้แต่น้อย แบบเดียวกับรถ BEV เว้นก็แค่เพียงในช่วงความเร็วสูงๆ ที่มอเตอร์ไม่สามารถปั่นรอบไปได้ (ส่วนใหญ่จะไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง) หรือระบบมองว่าอาจทำให้มันกินไฟมากเกินไป เครื่องยนต์ก็จะกลับมาทำงานเป็นตัวขับเคลื่อนรถหลักเหมือนเดิม

    และด้วยความที่แบตเตอรี่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ดังนั้นจะอาศัยแค่การชาร์จไฟกลับจากแรงเฉื่อยของรถขณะเบรก หรือผ่อนคันเร่ง ก็คงไม่พอ ผู้ใช้รถจึงต้องมีการนำรถไปเสียบชาร์จไฟจากตู้ชาร์จด้วย จึงเป็นที่มาของชื่อ “Plug-In Hybrid”
  • e-Power (เบื้องต้น เป็นที่รู้กันว่ามีอยู่เฉพาะในรถยนต์ของ Nissan) : รถยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นขุมกำลัง สำหรับขับเคลื่อนตัวรถเพียงอย่างเดียว แบบรถยนต์ไฟฟ้าล้วน BEV

    แต่ด้วยการอาศัยพลังงานจากกระแสไฟที่อยู่ในแบตเตอรี่ขนาดไม่ใหญ่โตมากนัก พอๆกับรถยนต์ในกลุ่ม HEV จึงทำให้มันยังมีเครื่องยนต์มาหน้าที่เป็นตัวปั่นกระแสไฟเข้าสู่แบตเตอรี่ หรือช่วยเสริมกำลังไฟไปจ่ายให้กับมอเตอร์โดยตรง ในจังหวะที่ผู้ใช้ต้องการเร่งแซงด้วยอัตราเร่งหนักๆเท่านั้น โดยที่เครื่องยนต์เองก็จะไม่มีการนำกำลังจากเครื่องยนต์ลงไปขับเคลื่อนตัวรถแต่อย่างใดด้วย

    และในขณะเดียวกัน ด้วยการออกแบบขึ้นต้น ตัวแบตเตอรี่ ก็จะไม่สามารถรับกระแสไฟจากการเสียบปลั๊กชาร์จได้ เนื่องจากแบตเตอรี่มีขนาดเล็กมาก จนแค่การปั่นไฟจากเครื่องยนต์บวกกับการอาศัยแรงเฉื่อยของตัวรถ ขณะเบรกหรือปล่อยคันเร่ง เล็กๆน้อยๆ ก็เพียงพอแล้ว

แล้ว EREV ล่ะ เป็นยังไง ?

อันที่จริง ในบทความช่วงก่อนหน้านี้ ก็เปรียบเสมือนกับการบอกไบ้โดยคร่าวๆแล้วว่า ระบบ EREV จริงๆแล้วก็มีลักษณะ หรือเงื่อนไขการทำงานที่คล้ายๆกับจุดกึ่งกลาง ระหว่าง PHEV กับระบบ e-Power ของ Nissan

นั่นคือ แม้รถจะยังคงมีเครื่องยนต์เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของระบบ แต่มันก็มีหน้าที่แค่ไว้ปั่นไฟสำหรับชาร์จกระแสเข้าสู่แบตเตอรี่ หรือช่วยส่งกระแสไฟให้กับมอเตอร์ไฟฟ้าในยามที่ผู้ขับต้องการอัตราเร่งหนักๆเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ส่งกำลังไปขับเคลื่อนชุดล้อแต่อย่างใด คล้ายๆกับระบบ e-Power ของ Nissan

แต่สิ่งที่ต่างออกไปจากระบบ e-Power ก็คือ การที่แบตเตอรี่ของมันนั้น จะมีขนาดใหญ่พอสมควร จนเทียบเท่า หรือมากกว่ารถยนต์ในกลุ่ม PHEV นั่นจึงหมายความว่าผู้ใช้ก็ต้องชาร์จไฟกลับด้วยตู้ชาร์จเองด้วย เพราะหากจะอาศัยเครื่องยนต์เพียงอย่างเดียวก็คงไม่พอ

ดังนั้น ข้อดีสำคัญที่สุดของรถยนต์ที่ใช้ขุมกำลังแบบ EREV ก็คือการที่มันจะให้ความรู้สึกในการขับเคลื่อนแบบเดียวกับรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) รวมถึงระยะทางในการใช้งานด้วยโหมดพลังไฟฟ้าล้วน ก็เหลือเฟือสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน ซึ่งหากไม่พอก็ยังมีเครื่องยนต์มาคอยทำหน้าที่ปั่นไฟเสริมให้อีกชั้น

จึงทำให้ผู้ใช้สามารถใช้รถเดินทางไกลได้สบายใจกว่า เพราะถึงแบตฯหมด แล้วที่ชาร์จเต็ม ก็สามารถเติมน้ำมันขับไปต่อไป ซึ่งเป็นคุณลักษณะเดียวกันกับรถ PHEV แต่ขับด้วยโหมดไฟฟ้าได้ไกลกว่า เพราะแบตฯใหญ่กว่า

และในขณะเดียวกัน ด้วยความที่เครื่องยนต์ไม่ต้องเสียกำลัง หรือพลังงานไปกับการขับเคลื่อนตัวรถ จึงทำให้หากเราคิดอัตราการปล่อยไอเสียต่อระยะทางดีๆ เราก็จะพบว่ามันมีการปล่อยมลพิษที่น้อยกว่ารถยนต์ขุมกำลังไฮบริดอื่นๆด้วย ซึ่งนั่นก็รวมถึงอัตราสิ้นเปลืองที่อาจจะดีกว่าขุมกำลังไฮบริดอื่นๆที่เรารู้จักกันดี ไม่เว้นแม้แต่ PHEV เสียอีก

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่มันยังคงเป็นขุมกำลังซึ่งใช้การทำงานจากทั้ง มอเตอร์ไฟฟ้า+แบตเตอรี่ ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจนแทบจะเทียบกับกับรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กบางรุ่น และยังมีเครื่องยนต์ที่ไว้ปั่นไฟเสริมอีก นั่นจึงหมายความว่าค่าบำรุงรักษาอาจสูงขึ้นอีกพอสมควร เพราะต้องดูแลทั้ง 2 ระบบจริงๆ โดยเฉพาะค่าแบตเตอรี่ที่สูงขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตอีกที ว่าจะมีการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา และค่าอะไหล่ไว้ใจดีกับผู้ใช้มากน้อยแค่ไหน ?

โดยในปัจจุบัน รถยนต์ EREV อาจยังไม่เป็นที่รู้จักในไทยเท่าไหร่นัก เนื่องจากยังไม่มีผู้ผลิตรายใดที่นำรถมาขายให้คนไทยได้สัมผัสกันอย่างจริงจัง แต่เชื่อว่าคงใช้เวลาอีกไม่นานเท่าไหร่นัก เพราะตอนนี้ก็มีผู้ผลิตรายหนึ่งที่ยืนยันข้อมูลไว้แล้วว่าพวกเขาจะทำตลาดรถยนต์ขุมกำลังดังกล่าวในเร็วๆนี้ นั่นคือ Changan นั่นเอง

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่