Home » งานศึกษาพบ รัฐบาลจีน ทุ่มงบ “8.5 ล้าน ล้าน บาท” สนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ
ข่าวต่างประเทศ ข่าวสารยานยนต์

งานศึกษาพบ รัฐบาลจีน ทุ่มงบ “8.5 ล้าน ล้าน บาท” สนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ทำให้ภาครัฐของสหรัฐอเมริกา ต้องมีการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีน คือการที่พวกเขามองว่ารัฐบาลประเทศจีน มีการสนับสนุน และช่วยเหลือผู้ผลิตรถยนต์จีนมากเกินไป แต่มันมากขนาดไหนกันล่ะ ?

จากข้อมูลโดยหน่วยงาน Center for Strategic and International Studies (CSIS) หรือ ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และนานาชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่านับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา จนถึงปี 2023 ทางรัฐบาลของประเทศจีน ได้มีการลงเงิน หรือทุ่มงบสนับสนุนเหล่าผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนไปแล้วมากกว่า “2.308 แสน ล้าน ดอลล่าร์สหรัฐ” หรือราวๆ “8,500,000 ล้านบาท”

ที่น่าสนใจคือ เมื่อเจาะจงช่วงเวลาข้างต้น ออกเป็น 3 ส่วน เราก็จะพบว่าการทุ่มงบสนับสนุนเหล่าผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนที่ว่านี้ ไม่ได้เป็นการทยอยลงงบสนับสนุนที่สม่ำเสมอมาตั้งแต่แรก แต่เป็นการค่อยๆทุ่มงบหนักขึ้นเรื่อยๆ

นั่นคือ ในระหว่างปี 2009-2017 ทางรัฐบาลจีน มีการทุ่มงบสนับสนุนลงไป 6,740 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือราวๆ 2.48 แสนล้านบาท ต่อปี จากนั้นเม็ดเงินสนับสนุนก็เพิ่มขึ้นอีก 3 เท่าตัว ในช่วงปี 2018-2020 และยิ่งพุ่งกระฉูดสูงขึ้นอีกหลังจากนั้นจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ การทุ่มงบสนับสนุนจากภาครัฐข้างต้น ไม่ได้หมายถึงการนำเงินไปสนับสนุนผู้ผลิตโดยตรง แต่เป็นการประเมินจากเม็ดเงินจากนโยบายหลายๆด้าน เช่นการงดเว้นให้เหล่าผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องจ่ายภาษีจากการขายบางส่วน การมอบเงินอุดหนุนสำหรับก่อตั้งโรงงาน และการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของเหล่าผู้ผลิตบางรายมาใช้งานในหน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจของประเทศ

ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลจีนยังให้ความสำคัญกับหน่วยงานวิจัยและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของเหล่าผู้ผลิตเช่นกัน โดยแม้ในระหว่างปี 2009-2017 พวกเขาจะมีการมอบเงินสนับสนุนเหล่าผู้ผลิตเพียง 2,000 ล้านดอลล่าร์ หรือราวๆ 73,500 ล้านบาท แต่จากนั้นในปี 2018 ก็มีการเพิ่มงบสนับสนุนขึ้นเป็น 3,600 ล้านดอลล่าร์ หรือราวๆ 132,000 ล้านบาท และขยับขึ้นเป็น 4,300 ล้านดอลล่าร์ หรือราวๆ 158,000 ล้านบาท ในปี 2023 ที่ผ่านมา

และไม่ใช่แค่การสนับสนุนแต่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเดียว แต่รัฐบาลจีนยังได้มีการทุ่มงบสนับสนุนในแต่ละท้องที่, การมอบที่ดินเปล่า (สำหรับปลูกสร้างโรงงาน), การมอบส่วนลด (ในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า), และการให้เงินสนับสนุนเหล่าผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้ารายย่อยอื่นๆอีก

หรือว่าง่ายๆคือทุ่มงบสนับสนุนทุกภาคส่วนของประเทศที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า อย่างเช่น CATL ที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเอง ก็ยังได้รับการงบเว้นการจ่ายภาษีไปมากกว่า 809.2 ล้านดอลล่าร์ หรือราวๆ 29,700 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมาซึ่งนั่นถือว่ามากกว่าตอนที่พวกเขาได้รับการงดเว้นในปี 2018 ถึง 10 เท่า และมากกว่าในปี 2022 อีก 2 เท่า

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้หน่วยงานข้างต้นมองว่า นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ “โครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ของทั้งประเทศจีน และในตลาดโลก ที่มีรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนถูกนำเข้าไปทำตลาด ได้รับผลกระทบหนัก” เพราะเหล่าผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมากเกินไป จนทำให้ต้นทุนหลัก และต้นทุนแฝงของเหล่าผู้ผลิตสัญชาติจีนต่ำลงไปมาก เมื่อเทียบกับเหล่าผู้ผลิตสัญชาติอื่นๆ”

ซึ่งผลกระทบที่ตามมาคือ แม้ในตอนนี้ประเทศจีน จะมีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 200 แบรนด์ และพวกเขาก็ไม่สามารถขายรถยนต์ของตนเองได้อย่างมีกำไรมากนัก แต่ด้วยการที่บริษัทมีรัฐบาลหนุนหลังอย่างแน่นหนา จึงทำให้พวกเขาไม่ต้องกังวงว่าบริษัทจะเจ๊งมากนัก และผู้ผลิตยังกล้าผลิตรถออกมาเป็นจำนวนมากๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลงได้เรื่อยๆจนล้นตลาด และเกิดการแข่งขันด้านราคา หรือ “สงครามราคา” ที่มีผลต่อตลาดโลกอย่างที่เป็นกันอยู่ตอนนี้ในที่สุด

ทั้งนี้ แม้หน่วยงาน CSIS จะมองว่า ท้ายที่สุดเหล่าแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนเอง ก็จะทยอยปิดตัวลงไป เพราะหากภาครัฐหยุดสนับสนุนเมื่อไหร่ พวกเขาก็อาจไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้ในทันที แต่ในฝั่งผู้ผลิตที่เติบโตจนเป็นยักษ์ใหญ่ของวงการได้แล้ว จะยิ่งมีฐานรากที่แข็งแกร่งขึ้นมาก เพราะศัตรูทางการค้าของพวกเขาน้อยลงนั่นเอง

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Comments are closed.