ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สองแบรนด์ผู้ผลิตที่พยายามพัฒนาขุมกำลังแบบใหม่โดยใช้พลังงานจากก๊าซไฮโดรเจน ก็คือทาง BMW และ Toyota ซึ่งล่าสุดดูเหมือนว่าพวกเขาจะเตรียมจับมือกัน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีขุมกำลังใหม่นี้ให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันด้วย

จากการรายงานโดยสื่อ Nikkei Asia ระบุว่าในวันที่ 5 กันยายน ที่จะถึงนี้ ทาง BMW และ Toyota จะมีการลงนามทำความร่วมมือในสัญญา MOU ต่อหน้าสื่อมวลชนที่ได้รับเชิญ เกี่ยวการร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์รถยนต์ไฟฟ้าจากพลังงานเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน หรือ Hydrogen Fuel-Cell

โดยสาระสำคัญของการเซ็นสัญญาร่วมกันในครั้งนี้ เบื้องต้นแล้ว ทาง Toyota จะมีการสนับสนุนทาง BMW ทั้งในส่วนของ การผลิตถังเก็บก๊าซไฮโดรเจน และระบบจัดการเซลล์เชื้อเพลิงให้กับบริษัทพันธมิตร สำหรับตัวรถ Hydrogen Fuel Cell ยุคถัดไปที่พวกเขาจะพัฒนาทั้งชุดมอเตอร์ไฟฟ้ากับระบบขับเคลื่อนร่วมกันอีกที

แน่นอน ผลประโยชน์สำคัญที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันครั้งนี้ ก็คือเรื่องของต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง เช่นในฝั่ง BMW ที่สามารถลดต้นทุนในส่วนของการวิจัยและพัฒนาขั้นต้นได้ เพราะทาง Toyota มีการพัฒนาระบบขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีนี้มาพอสมควรแล้ว

และในขณะเดียวกัน ฝั่ง Toyota เอง ก็จะได้รับผลประโยชน์จากการที่ BMW เข้ามาใช้ชิ้นส่วนของระบบ Hydrogen Fuel Cell ที่ตนพัฒนาขึ้น ซึ่งในเมื่อพวกเขาต้องผลิตชิ้นส่วนเพื่อนำไปใช้กับรถยนต์ในจำนวนที่มากขึ้นได้ ก็ย่อมหมายความว่าต้นทุนในการผลิตชิ้นส่วนต่อหน่วย จะมีราคาที่ถูกลงเช่นกัน และยังทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่นี้ยิ่งไปถึงจุดคุ้มทุนได้เร็วขึ้น และควรค่าแก่การพัฒนาต่อมากขึ้นไปอีก (เพราะตอนนี้การพัฒนาเทคโนโลยียังใช้ต้นทุนค่อนข้างสูง)

โดยอีกสิ่งหนึ่งที่ทั้งสองฝ่าย จะรวมกันพัฒนาและผลักดัน ก็คือการทำสถานีเติมก๊าซไฮโดรเจนซึ่งยังไม่แพร่หลายเท่าไหร่นัก ไม่เว้นแม้กระทั่งในยุโรป ที่ถึงจะบอกว่าเป็นทวีปที่มีการใช้งานรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงมากที่สุด แต่ปัจจุบันพวกเขาก็มีสถานีเติมก๊าซไฮโดรเจนเพียง 270 แห่งเท่านั้นทั่วยุโรป (ข้อมูลเมื่อปี 2023 ระบุว่าในยุโรปมีจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะอยู่ราวๆ 632,423 แห่ง ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นตัวเลขที่ต่างกันมาก)

“เรายังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเป็นรถรุ่นไหน แต่เราเตรียมการเอาไว้ว่าจะวางขายมันภายในทศวรรษนี้ (ไม่เกินปี 2030)” นาย Jürgen Guldner ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายงานเทคโนโลยีไฮโดรเจนของ BMW กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสื่อ Nikkei Asia

“ในขณะที่เราตัดสินใจว่าเราจะต้องพัฒนารถที่ต้องใช้เวลาหลายปี(ในการสร้าง), จังหวะเดียวกันเราก็ต้องตัดสินใจด้วยเช่นกันว่าจะมีตลาด(ในประเทศ)ใดบ้างที่พร้อมจะรองรับการใช้งานเทคโนโลยีนี้” Guldner กล่าวเสริมถึงการพัฒนารถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงยุคใหม่ที่เตรียมพัฒนาร่วมกับ Toyota ในครั้งนี้ ที่จะไม่ได้มีแค่เพียงการพัฒนาตัวรถเท่านั้น แต่ยังรวมถถึงการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับสถานีชาร์จ ให้กับประเทศที่พวกเขาจะส่งรถของตนเองไปทำตลาดด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับการลงนามครั้งนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีเงื่อนไขน่าสนใจอีกมาก เราจึงต้องรอติดตามการอัพเดทข้อมูลกันอีกครั้ง ในวันเซ็นสัญญาลงนามร่วมกันจริงๆอีกที ซึ่งก็เหลือเวลาอีกเพียงราวๆ 1 สัปดาห์ นับจากนี้นั่นเอง

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่
Tags: