Yamaha Xmax ถือเป็นรถบิ๊กสกู๊ตเตอร์ที่มีกระแสตอบรับแรงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งการปรับโฉมใหม่ครั้งใหญ่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และในตอนนี้ก็ได้เวลาแล้ว ที่เราจะพามันมาทำการทดสอบแบบ ฟูลรีวิว

แต่ก่อนที่จะไปไล่เรียงถึงการรีวิวต่างๆ เราขอไล่เรียงถึงรายละเอียดความเปลี่ยนแปลงของตัวรถรุ่นนี้กันก่อน ว่า…

Yamaha Xmax รุ่นปี 2023 มาพร้อมกับชื่อสำหรับการวางจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการคือ “Yamaha Xmax Connected” ซึ่งมีเหตุผลคือเพื่อบ่งบอกว่ามันมาพร้อมกับฟีเจอร์ใหม่ที่ทำให้รถสามารถ “เชื่อมต่อ” กับลูกเล่นใหม่ๆที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งานมันได้ดียิ่งขึ้น

ตัวรถภายนอก ถูกเสริมความโดนเด่น ด้วยเส้นสายงานออกแบบ ตามคอนเซปท์ “Condensed Vitality” ที่ถูกออกแบบใหม่ให้ดูมีความเหลี่ยมสันมากขึ้น และทางค่ายยังระบุอีกว่าพวกเขาตั้งใจให้สัดส่วนของตัวรถ มีการทิ้งน้ำหนักไปทางด้านหน้ายิ่งขึ้น เพื่อทำให้ตัวรถดูพร้อมพุ่งทะยานไปข้างหน้ามากกว่าเดิม

และในขณะเดียวกันชุดบังโคลนหน้าก็ปรับใหม่ให้ลู่ลมมากขึ้น เช่นเดียวกับชุดแฟริ่งกลางใต้เบาะนั่งที่ถูกออกแบบให้สามารถรีดไอความร้อนของเครื่องยนต์ออกจากแนวตัวผู้ซ้อนได้ดีขึ้น และไฟท้ายหลอด LED ที่ถูกปรับงานออกแบบใหม่ ทั้งกรอบภายนอก และเส้นรายละเอียดด้านใน ให้เป็นรูปตัว X

ด้านไฟเลี้ยวหน้า นอกจากปรับเป็นหลอด LED ยังถูกปรับตำแหน่งใหม่ ให้ย้ายไปติดตั้งขนาบกับฐานชิลด์หน้า เพื่อเพิ่มทัศนวิสัยการมองเห็นของผู้สัญจรรอบข้าง โดยที่ตัวชิลด์หน้าจะยังคงสามารถปรับความสูงได้เพียง 2 ระดับ และที่สำคัญคือยังต้องปรับด้วยมือเท่านั้น แต่มันก็ได้ปรับปรุงรูปทรงใหม่ ให้กว้างขึ้น เพื่อการแหวกลมออกจากตัวผู้ขี่ที่ดีกว่าเดิม

และท้ายสุดในเรื่องสิ่งที่เห็นได้ด้วยตาแบบมองเพียงผ่านๆ คือก้านกระจกมองข้างงานอลูมิเนียมหล่อขึ้นรูปให้มีลักษณะคล้ายครีบตัดลมเพื่อความสวยงามยิ่งขึ้น

ต่อกันด้วยลูกเล่นที่เป็นไฮไลท์ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่สุดของมัน นั่นคือชุดหน้าจอมาตรวัดแบบแยกส่วน โดยในส่วนจอบน จะเป็นจอ LCD ขาว-ดำ ขนาด 3.2 นิ้ว สำหรับแสดงเลขความเร็ว, ระดับน้ำมัน, ระยะทางทริป, และ ODO Meter ในแบบ Full-Digital ทั้งหมด

ขณะเดียวกัน ก็จะมีจอแยกทางด้านล่างขนาด 4.3 นิ้ว อีกชุด ซึ่งจอที่ว่านี้ จะเป็นจอ TFT Full-Color ที่ผู้ใช้สามารถปรับลูกเล่นให้มันแสดงค่าข้อมูลต่างๆได้อย่างหลากหลาย ตั้งแต่ค่าพื้นฐานอย่างวัดรอบเครื่องยนต์

หรือหากเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือผ่านสัญญาณบลูทูธและระบบ Y-Connect แล้ว มันก็จะสามารถแสดงผลข้อมูลได้หลากหลาย ทั้ง ชื่อเจ้าของสายโทรเข้า, ชื่อเจ้าของข้อความเข้า พร้อมแสดงข้อความเข้า และรายละเอียดข้อความขั้นต้น, ชื่อเพลงที่เปิดฟังอยู่ (กรณีมีหูฟังบลูทูธ หรือโทรศัพท์เปิดเพลงอยู่) รวมถึงสภาพอากาศทั้งปัจจุบัน และล่วงหน้า ซึ่งจะเป็นการดึงข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือที่เชื่อมต่ออีกที

และที่พิเศษสุดๆคือมันสามารถเชื่อมต่อกับสัญญาณดาวเทียม เพื่อใช้งานระบบ GPS ได้ ด้วยระบบของ Garmin ที่ติดตั้งมาให้แบบ Built-In ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม และสามารถใช้ได้ฟรีตลอดอายุการใช้งาน แต่ทั้งนี้ก็ต้องเล่นผ่านแอพพลิเคชัน Garmin StreetCross App ด้วย

ซึ่งจากการใช้งานจริง ข้อดีของการใช้ระบบนำทางจาก Garmin คือการที่มันมีความแม่นยำในเรื่องของการบอกตำแหน่งที่แม่นยำเป็นอย่างมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งข้อมูลระยะทางต่างๆ ก็มีความละเอียดและครบครัน สำหรับนักเดินทาง การบอกตำแหน่งของตัวเราบนช่องทางของถนน ที่ดีกว่าการใช้ Google Maps อย่างเห็นได้ชัด

และการบอกเส้นทางเอง ก็อาจจะทำให้เกิดความสับสนสำหรับมือใหม่ไปบ้าง แต่เมื่อปรับตัวไปสักพัก ก็จะเริ่มเข้าใจถึงสัญลักษณ์ต่างๆของตัวระบบ แถมตัวระบบยังมีการแสดงภาพช่องทาง พร้อมลูกศรที่เข้าใจง่ายให้ผู้ขี่สามารถเลี้ยวตามได้แต่เนิ่นจริงๆ

ทั้งนี้แม้ระบบจะมีความแม่นยำมากแค่ไหน แต่มันก็มีข้อสังเกตหลายจุดด้วยกัน ที่ทำให้ผู้ใช้ต้องปวดหัว ทั้งการที่ตัวแผนที่เป็นแบบที่ต้องดาวน์โหลดเข้าโทรศัพท์มือถือ ซึ่งสำหรับแผนที่ประเทศไทยนั้น จะไม่ได้ถูกแยกออกมา แต่จะถูกควบรวมอยู่ในแผนที่ภูมิภาคอาเซียนไปเลย จึงทำให้มันใช้พื้นที่ในโทรศัพท์มือถือมากถึงเกือบ 2 GB

นอกจากนี้ ด้วยความที่มันคือแผนที่แบบดาวน์โหลดมาเก็บไว้ในเครื่องโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นมันจึงไม่ใช่แผนที่ ที่จะอัพเดทแบบเรียลไทม์ และในหลายๆครั้ง การจะเสิร์จหาสถานที่ ซึ่งอาจไม่ใช่สถานที่ที่เป็นที่รู้จัก ก็มีโอกาสสูงที่ระบบจะไม่พบ หรือไม่รู้จักด้วย แม้แต่ห้างสรรพสินค้าบางแห่งที่เปิดมาเกือบปีแล้ว ระบบก็ยังไม่ได้รับการอัพเดทเลยด้วยซ้ำ

ซึ่งวิธีแก้หากระบบหาสถานที่ตั้งที่เราต้องการไม่เจอ หลักๆก็จะมีอยู่ 2 ทางด้วยกัน นั่นคือหาสถานที่ ที่ใกล้เคียง ซึ่งเกือบทั้งหมดต้องพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ (ส่วนตัวผู้ทดสอบจุดนี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่สำหรับชาวไทยบางส่วน ก็ไม่แน่)

และวิธีที่ 2 คือ การใช้เลขพิกัดดาวเทียมระบุตำแหน่งแบบเจาะจงไปเลย ซึ่งแม้มันจะแม่นยำสูง แต่ผู้ใช้ก็ต้องวุ่นวายในการหาตัวเลขนี้บน Google Maps ก่อน และถ้าไหนๆก็เปิดแอพพลิเคชันนี้ไปแล้ว ทำไมไม่ใช้มันนำทางไปเลยทีเดียวล่ะ ?

ที่สำคัญที่สุดเลยคือ แม้ระบบจะมีความแม่นยำ แต่ผู้ทดสอบพบว่าขณะใช้งาน หากรถมีการเขย่าเช่นการตกหลุมที่แรงในระดับหนึ่ง (ไม่ถึงกับสะท้าน แต่อาจจะเป็นการเจอกับฝาท่อ หรือทางข้ามทางรถไฟ) ตัวบลูทูธของรถก็จะหลุดไปดื้อๆ ทำให้เราต้องเสียเวลามาเชื่อมต่อใหม่ เปิดระบบนำทางใหม่ทั้งหมด

และในหลายๆครั้ง ก็ใช่ว่าจะจอดรถแล้วเปิดโทรศัพท์เชื่อมต่อได้เลย แต่ต้องดับรถ แล้วสตาร์ทใหม่ อีกหลายรอบถึงจะติด ซึ่งสร้างความหงุดหงิดในการใช้งานเป็นอย่างมาก

ไม่เพียงเท่านั้น การหลุดของระบบบลูทูธที่ว่านี้ ยังส่งผลถึงการเชื่อมต่อระบบเล่นเพลงด้วย ซึ่งในหลายๆครั้ง แม้เราจะสามารถเชื่อมต่อระบบดาวเทียมได้ แต่ระบบเล่นเพลงก็อาจจะยังใช้ไม่ได้ต่อไป…

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ปัญหาทั้งหมด อาจจะเกิดขึ้นเพราะโทรศัพท์มือถือของผู้ทดสอบเป็นรุ่นเก่า (iPhone 6s และ iPhone 7 ลองใช้สลับกัน) ก็เป็นได้ หากเป็นการใช้โทรศัพท์รุ่นใหม่ๆ อาจจะมีปัญหาระบบบลูทูธหลุดยากกว่านี้ หรืออาจจะไม่มีเลยก็ได้ ซึ่งต้องสังเกตเป็นกรณีๆกันไป

ด้านความเปลี่ยนแปลงในเรื่องรายละเอียดทางเทคนิค ที่มีผลถึงการใช้งาน และการขับขี่

แรกสุดคงเป็นเรื่องของ ท่านั่ง ซึ่งเราต้องบอกก่อนว่า ด้านตำแหน่งแฮนด์บาร์ และตำแหน่งตัวพื้นที่วางเท้า รวมกับตำแหน่งเบาะนั่งผู้ขี่ สามเหลี่ยมท่านั่งเหล่านี้ยังคงเหมือนกับตัวรถรุ่นก่อน

ซึ่งเป็นท่านั่งที่ให้ความสบาย หลังตรง แขนกางพอประมาณ และช่วงการวางขาก็สามารถจัดแจงได้หลายรูปแบบทั้งการนั่งแบบเหยียดขาตรง ยันสุดฟลอบอร์ด หรือการนั่งแบบปกติ เหมือนการนั่งบนโซฟา ก็ทำได้หายห่วง ไม่มีการติดขัดใดๆ

อย่างไรก็ดี เมื่อเรากลับมาเจาะรายละเอียดที่ตัวเบาะนั่ง คราวนี้ทาง Yamaha ได้มีการปรับรูปทรงช่วงเบาะผู้ขี่ใหม่ ให้สันด้านบนแคบลงอีกพอประมาณ ทำให้ผู้ขี่สามารถวางขาถึงพื้นได้สะดวกและง่ายดายมากขึ้น โดยที่ความสะดวกสบายก็ยังคงเท่าเดิม

และที่ดีกว่าเดิมคือ การเปลี่ยนผิวสัมผัสของวัสดุหุ้มเบาะใหม่ ช่วยให้มันมีความยึดเกาะกับกางเกงของผู้ขี่และผู้ซ้อนมากกว่าเดิม ช่วยให้เราไม่ต้องกังวลว่าถ้าเกิดมีจังหวะต้องเบรกหนักๆขึ้นมา แล้วตัวจะไหลไปกองกันด้านหน้าเหมือนรุ่นเดิมหรือไม่อีกต่อไป

และในขณะเดียวกัน ด้วยการออกแบบรูปทรงเบาะใหม่เช่นนี้ ส่วนตัวผู้ทดสอบพบว่ามันให้ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรถในยามที่ต้องพลิกเลี้ยวมากกว่าเดิม เนื่องจากสามารถใช้ช่วงขาหนีบเข้ากับตัวเบาะได้อย่างกระชับมากยิ่งขึ้น

ในฝั่งของผู้ซ้อนเอง แม้ตัวรถจะยังคงมีชุดท้ายที่บานกว่าด้านหน้าเช่นเดิม จนผู้ขี่ยังต้องระวังท้ายรถในยามลัดเลาะเช่นเคย แต่ตัวผู้ซ้อนก็ไม่ได้มีปัญหาใดๆ กับเหลี่ยมมุมต่างๆ ทว่าอาจจะบ่นเรื่องการกางขาที่มากกว่าการนั่งบนรถมอเตอร์ไซค์ทั่วๆไปก็เท่านั้น ซึ่งทำให้อาจไม่ชินกับท่าทางในช่วงแรกๆ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ซ้อนก็แทบจะไม่มีการบ่นเรื่องความเมื่อยล้าเลยสักนิด สำหรับการนั่งซ้อนเป็นระยะเวลานานๆราวๆ 1 ชั่วโมง เพราะเบาะรับกับบั้นท้ายได้แบบเหลือเฟือ หรือเบาะสามารถนั่งได้อย่างเต็มก้นนั่นเอง แต่จะไปบ่นเรื่องตำแหน่งพักเท้าคนซ้อนที่ค่อนข้างใกลตัวไปสักหน่อยก็เท่านั้น ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะผู้ซ้อนของผู้ทดสอบเป็นผู้หญิงตัวเล็กที่สูงเพียงราวๆ 160 เซนติเมตรเท่านั้น

ส่วนถัดมาที่ถูกเปลี่ยนแปลงไป ก็คือตัวระบบเบรกหน้า ที่แม้ทั้งจานเบรกหน้า จะยังคงเป็นแบบจานเดี่ยวขนาด 267 มิลลิเมตร ทำงานร่วมกับปั๊มเบรกล่างโฟลทติ้งเมาท์คาลิปเปอร์ 2 พอร์ทเหมือนเดิม

แต่จุดเปลี่ยนที่ว่า ก็คือตัวปั๊มเบรกบน ที่คราวนี้ทาง Yamaha ได้ทำการปรับจุดหมุนและระยะความยาวของก้านเบรกใหม่ ซึ่งส่งผลให้การใช้เบรกหน้าในจังหวะต่างๆ ไม่ว่าจะในจังหวะการขี่แบบชิลๆ ที่ผู้ใช้ก็สามารถใช้นิ้วเบรกรถได้อย่างเบาสบาย ไม่ต้องใช้แรงเกร็งเพื่อกดก้านมากนักเหมือนอย่างตัวรถโฉมก่อน

ส่วนในจังหวะที่ต้องขี่แบบทำเวลา แล้วเกิดเจอเหตุการณ์ฉุกเฉิน หรือต้องเบรกเข้าโค้งลึกๆขึ้นมา ด้วยการปรับปรุงระบบเบรกใหม่นี้ ก็ทำให้ผู้ขี่สามารถใช้งานเบรกได้อย่างมั่นใจ มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้นจริง หรือว่าง่ายๆก็คือเราสามารถควบคุมแรงเบรกได้อย่างละเอียดละออมากยิ่งขึ้น

นอกนั้นในด้านชิ้นส่วนโครงสร้างอื่นๆก็เรียกได้ว่าแทบจะไม่ได้มีความแตกต่างไปจากเดิมเลยแม้แต่น้อย

ทั้งในส่วนช่างล่างหน้า-หลัง ที่ยังคงมาพร้อมกับจุดเด่นคือความนุ่มนวลในการซับแรง ไม่ว่าจะเป็นแรงกระเทือนจากลอนคลื่น หรือจากการขี่ผ่านฝาท่อต่างๆ ซึ่งมีความนุ่มนวลดีกว่าของคู่แข่งอย่างเห็นได้ชัด โดยที่ความคล่องตัวในการพลิกเลี้ยวต่างๆก็ยังคงสามารถทำได้ดี ผิดกับหน้าตาและขนาดรถที่ดูใหญ่โตเช่นเคย

แต่ถึงแม้ทางค่ายจะไม่ได้มีการระบุว่าพวกเขาได้ทำการปรับเซ็ทระบบกันสะเทือนใหม่หรือไม่ ? ทว่าจากการลองสัมผัสความรู้สึกตอนที่ได้ทดลองขี่หลายๆครั้ง ผู้ทดสอบพบว่าช่วงหน้าของตัวรถ Xmax รุ่นใหม่นี้ สามารถหันเข้าโค้งได้คล่องตัวกว่าโฉมก่อนเล็กน้อย อาจจะไม่มากนัก แต่ถ้าจับสังเกตกันดีๆก็จะพอรู้สึกได้อยู่บ้าง

เครื่องยนต์ก็ยังคงเป็นแบบ Yamaha Blue Core 4 จังหวะ ระบายความร้อนด้วยน้ำ SOHC 4 วาล์ว สูบเดียว เช่นเดิม และยังคงมีความจุเท่าเดิมที่ 292cc ซึ่งแม้ทาง Yamaha ประเทศไทย จะไม่ได้มีการระบุตัวเลขกำลังสูงสุดเอาไว้

แต่หากอิงตามข้อมูลของรถ Xmax 300 รุ่นปี 2023 เทียบกับ รุ่นปี 2022 ในประเทศยุโรปแล้ว มันก็ยังคงมีกำลังสูงสุดเท่าเดิม คือ 28 แรงม้า PS ที่ 7,250 รอบ/นาที กับเลขแรงบิดสูงสุด อีก 29 นิวตันเมตร ที่ 5,750 รอบ/นาที เหมือนเดิมทุกประการ

ดังนั้น จากการทดสอบในครั้งนี้ ผู้ทดสอบจึงพบว่า การเรียกอัตราเร่งของตัวรถ แทบไม่ได้มีความแตกต่างไปจากตัวรถรุ่นก่อนเลย แต่หากมองในอีกมุม ทั้งความแรงที่ได้ จากการออกตัวตั้งแต่หยุดนิ่ง ไปจนถึงความเร็วปลาย ที่ราวๆ 145 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตามเรือนไมล์ ในแบบที่ไม่ต้องลุ้น เพียงเท่านี้ก็ถือว่าเพียงพอ หรืออาจจะเกินพอแล้วด้วยซ้ำสำหรับการใช้งานทั่วๆไป

ข้อดีสำคัญอีกประการก็คือ ผู้ทดสอบพบว่า ความนุ่มนวลที่ได้ ตั้งแต่รอบต่ำ-สูง ของเครื่องยนต์ที่อยู่ใน Xmax นั้น แอบมีความนุ่มนวลกว่าคู่แข่งเล็กน้อย ซึ่งหากใครชอบความเร่งแบบเนียน อาจจะถูกจริตกับเจ้าบิ๊กสกู๊ตเตอร์คันนี้มากกว่า

และสุดท้ายคือเรื่องของอัตราสิ้นเปลือง ที่น่าแปลกใจว่า แม้เครื่องยนต์ของมันจะเล็กกว่าคู่แข่ง แต่กลับให้อัตราสิ้นเปลืองแบบเฉลี่ยรวมๆทั้งการวิ่งในเมือง และนอกเมือง แบบการใช้งานของบุคคลทั่วไป ที่ราวๆ 28-34 กิโลเมตร/ลิตร (รถติดหนักๆในเมือง-รถโล่งๆเดินทางไกลๆ) ซึ่งนั่นดูจะด้อยกว่าคู่แข่งอยู่พอประมาณนั่นเอง… (คู่แข่งสามารถขี่ทำอัตราสิ้นเปลืองราวๆ 30 ต้นๆ กิโลเมตร/ลิตรได้สบายๆ ในสภาวะการขี่ในเมือง)

สรุปแล้ว.. Yamaha Xmax Connected รุ่นใหม่ปี 2023 เรายังคงยืนยันว่า มันอาจไม่ได้มาพร้อมกับการปรับปรุงในเรื่องรายละเอียดทางเทคนิคที่ต่างจากเดิมเท่าไหร่นัก จนทำให้สัมผัสการใช้งานในหลายๆด้าน ยังรู้สึกคล้ายเดิม แทบไม่หนีจากโฉมก่อน และดีขึ้นกว่ากันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

เว้นเพียงการปรับปรุงในส่วนระบบเบรกเอง ที่แม้จะเป็นเพียงจุดเล็กๆ แต่ก็ทำให้เราสามารถมั่นใจในการใช้งานมันขึ้นได้อีกมาก

ส่วนเครื่องยนต์ แม้จะน่าเสียดาย ที่ทาง Yamaha ไม่ได้บ้าจี้ ขยายขนาดความจุ หรือปรับจูนเพิ่มความแรงแข่งกับคู่แข่ง แต่หากมองในเรื่องของการซ่อมบำรุง ด้วยความที่เครื่องยนต์และระบบส่งกำลังในตัวรถอาจไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก

จึงทำให้ช่างอาจไม่ต้องเสียเวลาเรียนรู้มันใหม่ และสามารถดูแลรักษา ไปจนถึงการปรับแต่ง สำหรับสายซิ่ง ซึ่งเข้าใจว่าก็มีกันอยู่ไม่น้อยที่เป็นสาวก Yamaha Xmax ก็สามารถใช้ชิ้นส่วนร่วมกับรุ่นก่อนหน้านี้ได้เลย ไม่ต้องมาเสียเวลาไล่กันใหม่มากนักแต่อย่างใด

ส่วนสิ่งที่ดูน่าสนใจจริงๆของมัน ก็คือการปรับปรุงชิ้นส่วนเปลือกนอกใหม่ที่ทำให้ตัวรถดูโดดเด่นและทันสมัยขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนระบบหน้าจอ TFT ที่มีลูกเล่นครบครันกว่า และทันสมัยกว่า คุ้มค่ากว่าคู่แข่งอย่างเห็นได้ชัด ด้วยระบบ Y-Connected ที่สามารถเก็บค่าสถานะต่างๆของตัวรถไว้ได้อย่างละเอียด, ความสามารถในการเล่นเพลงพร้อมแสดงชื่อเพลง, ระบบแจ้งข้อความเข้า, ระบบรับสายโทรเข้า, ระบบดูสภาพอากาศ ที่แต่ละฟังก์ชันนั้นล้วนช่วยเพิ่มอรรถประโยชน์ในการใช้งานให้กับผู้ขี่ได้มากขึ้นจริงๆ

ติดแค่ตรงที่ในส่วนของระบบนำทางในตัว ที่แม้จะมีความแม่นยำ แต่ดันยังขาดความสเถียรในเรื่องของการเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถืออยู่บ่อยครั้งจนน่ารำคาญ ซึ่งเราก็หวังว่าปัญหานี้ จะเกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ที่ใช้โทรศัพท์รุ่นเก่าอย่างผู้ทดสอบเท่านั้น และทาง Yamaha ก็อาจจะมีการอัพเดทระบบซอฟท์แวร์ของมันให้ดีขึ้นเรื่อยๆจนลูกค้าสามารถใช้งานระบบนี้ได้อย่างไม่มีการขัดข้องในอนาคต

โดย NEW YAMAHA XMAX Connected … Follow the MAX พร้อมวางจำหน่ายในประเทศไทยแล้ว ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่ศูนย์บริการ และตัวแทนจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์ Yamaha ทั่วประเทศ ด้วยราคาเปิดตัวแนะนำ 189,900 บาท

ทดสอบ : รณกฤต ลิมปิชาติ
เรียบเรียง : รณกฤต ลิมปิชาติ
ภาพ : รณกฤต ลิมปิชาติ

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่