รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการพูดถึงค่าฝุ่นละอองในอากาศ ที่ค่าอยู่ในช่วง  PM 2.5 ในเขตกรุงเทพมหานคร  พวกมันมีผลกระทบต่อสุขภาพในวงกว้าง ปัญหาเรื่องนี้มาจากไหนยังไม่มีใครทราบต้นตอแน่ชัด แต่ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า มาจาก ความนิยมรถเครื่องยนต์ดีเซลของคนไทย และปัจจุบันนิยมนำไปแต่งซิ่งควันดำอย่างโจ๋งครึ้ม โดยไม่มีหน่วยงานภาครัฐสนใจตรวจสอบดูแล

ประเด็นเรื่องรถดีเซลอาจเป็นผู้ก่อการร้ายทำลายสุขภาพประชาชน มีแนวทางแก้ไขมากมาย ทั้งการควบคุมตรวจจับ การแต่ง หรือการดูแลสภาพรถของประชาชน ไปจนถึงการออกระเบียบการปล่อยไอเสียอัพมาตรฐานยูโร 4 ที่ใช้กันมายาวนานไปสู่ระดับที่สูงกว่า  แต่วันนี้เราจะพาไปตอบคำถามสำคัญว่า ทำไมกระบะในไทยถึงนิยมใช้เครื่องยนต์ดีเซลกัน

ดัทสัน ช้างเหยียบ ปัจจุบันคนชอบนำมาเก็บเดิมสะสมไว้เป็นคอลเลกชั่น

ในยุคแรกของรถกระบะในประเทศไทยสมัยคุณปู่-คุณตาของพวกเรา รถกระบะที่มีขายในไทย ยังมีให้เลือกทั้งเครื่องยนต์เบนซินและดีเซลแล้วแต่ความชอบของลูกค้าจะเลือก รถอย่าง ดัทสันช้างเหยียบ (ที่เรียกว่าช้างเหยียบ เพราะโฆษณาใช้บรรทุกลูกช้าง กลายเป็นที่จดจำ)  ออกมาชายในช่วงปี พ.ศ. 2513-2520  มีเครื่องยนต์เบนซิน Datsun J15 ขุมพลังเบนซิน 4 สูบ ขนาด 1,500 ซีซี ให้เลือก ในเวลานั้นทำกำลังสูงสุด 76 แรงม้า และยังมีทางเลือกเครื่องยนต์ดีเซลใช้รหัส  SD20  ให้กำลัง 60 แรงม้าเท่านั้น

Isuzu TFR
Isuzu TFR กระบะรุ่นยอดนิยมตลอดกาล ขึ้นชื่อเรื่องประหยัดน้ำมัน ทนทาน แม้เครื่องมีพลังแค่ 90 แรงม้า

ดีเซลยุคแรกๆ ยังไม่ได้รับความนิยมนัก เนื่องจากมีเสียงดัง และมีปัญหาเชิงเทคนิคมากมายต่อเนื่อง ประกอบกับ ความคุ้นเคยของช่างซ่อมบำรุง ยังไม่มีมากเท่ารถเก๋งเครื่องยนต์เบนซินที่ใช้กันมายาวนานกว่า

ยุคสมัยเปลี่ยนไปเครื่องยนต์ดีเซลมีการพัฒนาต่อเนื่อง ช่วงยุค 80 ปลายๆ กลายเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่ทำให้กระบะหันมาใช้เครื่องยนต์ดีเซลกันแพร่หลาย โดยเฉพาะเจ้าตลาดหันมาใช้เครื่องยนต์ดีเซลทั้งหมด เนื่องจากความสามารถของเครื่องยนต์ดีเซล มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนสามารถตอบโจทย์ได้

Toyota Hilux Tiger (เจนฯ 4) ใช้เครื่องดีเซลระบบ D4D หรือฉีดตรงเข้าห้องเผาไหม้

อาทิ พัฒนาการไหลเวียนอากาศเข้าสู่ห้องเผาไหม้แบบพิเศษของมิตซูบิชิในเครื่องยนต์  4D56 ,การพัฒนาระบบฉีดน้ำมันตรงสู่ห้องเผาไหม้ Direct injection ของ Isuzu ทำให้กำลังเครื่องยนต์ดีเซลดีขึ้นตามลำดับ และยังได้ประสิทธิภาพในการใช้น้ำมันอย่างคุ้มค่าด้วย

แถมในแง่การดูแลรักษาเครื่องยนต์ดีเซล ยังไม่ต้องกังวลมากเท่าเครื่องยนต์เบนซินที่มีระบบต่างๆ จุกจิกมากกว่า โดยเฉพาะการจุดระเบิดด้วยชุดหัวเทียน นานวันหัวเทียนต้องเปลี่ยนระบบจุดระเบิดมีปัญหา

ยุคปี 2000 เป็นต้นมา กระบะดีเซลนิยมเครื่อง 3,000 ซีซี

กลับกันเครื่องยนต์ดีเซลใช้การจุดระเบิดด้วยการจ่ายน้ำมันเข้าห้องเผาไหม้ ในจังหวะที่อากาศถูกบีบเผาไหม้หมด ซ่อมบำรุงง่ายในระยะยาว แถมลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาได้ในระดับหนึ่ง จนเริ่มเป็นที่นิยมในการใช้เชิงพาณิชย์ ก่อนความคิดเดียวกันเริ่มแพร่หลายในหมู่คนไทยใช้กระบะในเวลาต่อมา

ประเด็นหนึ่งที่สำคัญ ที่ถูกนำมาพูดเสมอ ในยุครุ่งเรืองของดีเซล นอกจากความอึดถึก ทน แล้ว ประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ดีเซลในแง่แรงบิดจากเครื่องยนต์ถือว่าดีกว่าเครื่องเบนซินมาก

การจุดระเบิดจากการบีบอัดอากาศ ทำให้ได้กำลังอัดสูง ทำให้เครื่องยนต์ดีเซลเป็นต้นกำลังที่มีแรงบิดสูงในรอบต่ำ

กระบะหัวเดี่ยวยังคงได้รับความนิยมจากห้างร้าน และบริษัท ในประเทศไทยเพื่อขนของไปยังจุดหมาย

เหมาะมากสำหรับรถกระบะที่ต้องมีการบรรทุกขนสินค้า และสำหรับคนทั่วไปก็ไม่มีปัญหาในยามขึ้นเขา หรือทางลาดชัน กำลังแรงบิดเครื่องยนต์ดีเซลมีประโยชน์ใช้งานอย่างครอบคลุมมาก เสียเพียงอย่างเดียวเครื่องยนต์ดีเซลในยุคนั้นยังเสียงดัง และไม่น่าพิสมัยเท่าไร

ในยุคช่วงต้นปี 2000 เครื่องยนต์ดีเซลมีการพัฒนาที่สำคัญอยู่ 2 ประการ หนึ่งมีการริเริ่มติดตั้งเทอร์โบชาร์จระบบอัดอากาศเข้ามาตอบโจทย์ในการใช้งาน และในเวลาไม่นานต่อจากนั้นราวๆ ปี 2006 ก็มีการพัฒนาระบบหัวฉีดจากปั้มสายไปสู่ระบบปั้มไฟฟ้า เป็นระบบคอมมอนเรลคล้ายกับในวันนี้ เพียงแค่มีแรงดันต่ำกว่า

ความสามารถเครื่องยนต์ดีเซลในเวลานั้นเรียกว่าก้าวกระโดดจาก ไม่เกิน 100 แรงม้า มาเป็น 120-130 แรงม้า และรถกระบะตั้งแต่ช่วงปี 2006 ขึ้นมามีกำลังเริ่มต้น 140 กว่าแรงม้า และสูงสุด 163 แรงม้า จนในปัจจุบันรถกระบะเริ่มต้นที่ 150-160 แรงม้า และสูงสุดที่ 213 แรงม้า

รถกระบะเครื่องเบนซิน

ยิ่งถูกอกถูกใจคนไทยเน้นพละกำลังในการขับขี่ จนเริ่มกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ ซื้อรถกระบะเครื่องยนต์ดีเซลมาแต่งซิ่งอย่างที่เราเห็นกันตามถนน แล้วเป็นข่าวเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากระบบกันสะเทือนรถกระบะไม่ได้ออกแบบมาให้ขับเร็ว และเมื่อไม่บรรทุกยังมีอาการท้ายเบา

จากจุดเริ่มต้นในยุค 80 ปลายๆ ทำให้กระบะดีเซลนิยมเติบโตในไทยอย่างมาก แต่ในช่วงข้าวยากหมากแพงน้ำมันสูงลิบ กระบะเบนซินยังมีแววจะกลับมาเหมือนกัน

ข้อดีของเครื่องยนต์เบนซินสำคัญ คือมันสามารถใช้พลังงานทางเลือกได้หลากหลาย ไม่เพียงแต่น้ำมันแก๊สโซฮอล เท่านั้น ยังสามารถใช้แก๊สธรรมชาติ ช่วยเพิ่มความประหยัดค่าเดินทาง-ขนส่งได้ด้วย

แต่เครื่องยนต์เบนซินก็มีข้อด้อยสำคัญ คือมันทำแรงบิดได้น้อยกว่าเครื่องยนต์ดีเซล แถมต้องรีดแรงบิด เมื่อเครื่องยนต์ทำงานในช่วงรอบ 3-4 พันรอบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่คุ้นเคยสำหรับคนทั่วไปที่มักถูกสอนว่าจะต้องขับในช่วงไม่เกิน 3 พันรอบต่อนาที

รถกระบะเครื่องเบนซิน

ถ้าเทียนให้เห็นภาพขอยกเอาเครื่องยนต์ของ   Nissan Navara   ในประเทศไทย YD25DDTi  Mid Power   กับเครื่องยนต์  QR25DE ที่ขายในอเมริกามาฉายให้ชัดเจนขึ้น

เครื่องยนต์   YD25DDTi   ปัจจุบันทำกำลังสูงสุด 163 แรงม้า ทำแรงบิดสูงสุด 420 นิวตันเมตร แต่ในเครื่องยนต์เบนซินขนาดใกล้เคียงกันทำกำลังเพียง 152 แรงม้า และทำแรงบิดสูงสุด 231 นิวตันเมตร หรือจะต้องพูดว่าแรงบิดต่างกันครึ่งต่อครึ่ง

Ford Ranger 2019 2.3 Ecoboost โฉมสหรัฐฯ ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากจากสื่อเมืองลุงแซม

ด้วยเหตุดังกล่าวเครื่องยนต์เบนซินจึงไม่นิยมใช้ในกระบะประเทศไทย แต่ในมุมหนึ่งเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เริ่มแนะนำในเครื่องยนต์เบนซินก็น่าสนใจไม่น้อย เช่น   Ford Ranger ในอเมริกา มีเครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบขนาด 2.3 ลิตร ให้กำลัง 231 แรงม้า ทำแรงบิด 310 นิวตันเมตร ถือว่าทำได้มากพอกับการใช้งานแล้ว และปัจจุบันรถกระบะส่วนใหญ่ก็เริ่มหันมาใช้ชุดเกียร์อัตโนมัติมากขึ้น ช่วยในการขับขี่ตอบสนองมากกว่าเดิมพอสมควร

อย่างไรก็ดีการหายไปของกระบะเบนซินหลังยุคน้ำมันแพง ไม่ใช่เหตุเพียงเพราะเครื่องยนต์ดีเซลได้รับความนิยมเท่านั้น แต่นอกจากค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงแล้ว ค่าภาษีประจำปียังถือว่าเป็นอีกบทบาทสำคัญ จนแม้แต่เครื่องยนต์ดีเซลยังต้องปรับลดขนาดลงต่อเนื่อง ขณะที่ตัวรถใหญ่ขึ้นตามลำดับ

ปัจจุบันการคิดภาษีรถกระบะในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มสำคัญ หนึ่งเป็นรถกระบะสี่ประตู จะคิดตามขนาดเครื่องยนต์  เมื่อเกิน 1,800 ซีซีขึ้นไปจะเสียซีซีละ 4 บาท หากเราต้องการกระบะเบนซินที่มีกำลังเท่าแรงบิดปัจจุบัน อาจจะต้องใช้เครื่องยนต์ขนาดใหญ่แบบในอเมริกา ประเภท V6 3.5 ลิตร ซึ่งจะต้องเสียภาษีปีละประมาณ 8-9 พันบาท ซึ่งคงไม่มีใครชอบใจแน่

กระบะฟูลไซส์เครื่อง V6-V8 ความจุตั้งแต่ 3.5-6.2 ลิตร ได้รับความนิยมเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

ส่วนอีกแนวเป็นกระบะที่ตีทะเบียนรถบรรทุก ประเภทป้ายเขียว พวกนี้คิดตามน้ำหนักซึ่งไม่แพงนัก แต่ถ้ากระบะเป็นเบนซินบล็อกใหญ่ เชื่อว่าคนจะมาบ่นเรื่องอัตราบริโภคน้ำมันแทน ซึ่งก็มีเหตุผลที่ต้องใช้เบนซินเครื่องใหญ่ในต่างประเทศ เพื่อลดการสึกหลอที่เกิดขึ้นจากการใช้งาน

เหตุผลที่กระบะเมืองไทยเป็นเครื่องยนต์ดีเซล ดูแล้วจะเห็นว่ามีความสมเหตุสมผลในตัวมันเอง กระบะเบนซินอาจปล่อยมลภาวะน้อยไร้สารพวก   Nox   ซึ่งเป็นต้นปัญหาของฝุ่นและหมอกควันพิษ แต่ก็ตามมาด้วยค่าบำรุงรักษา และอัตราประหยัดน้ำมัน

ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
หากภาครัฐไม่มีมาตรการควบคุมมลพิษจากเครื่องดีเซล ท้องฟ้าของกทม. ก็คงปกคลุมไปด้วยหมอกควันพิษอยู่

แม้ไม่มีทางที่เราจะเปลี่ยนแปลงความเชื่อของคนไทยต่อการซื้อกระบะดีเซล ทั้งที่ชีวิตนี้อาจไม่เคยใช้กระบะขนอะไรเลยด้วยซ้ำ ภาครัฐควรใส่ใจการเติบโตของรถเครื่องดีเซล ซึ่งมีปริมาณ 2.64 ล้านคัน ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร และในจำนวนนี้เป็นรถดีเซลรุ่นเก่าหรือไม่เคยได้รับการดูแลรักษา ตลอดจนรถใหม่บางคันอาจจะมีการดัดแปลงแต่งเครื่องจนสร้างมลภาวะจำนวนมาก

ถึงเราจะไม่สามารถเปลี่ยนให้คนไทยหันไปใช้กระบะเบนซินได้ แต่ภาครัฐสามารถกวดขันในการใช้รถเครื่องดีเซลให้เหมาะสมได้ ไม่มากก็น้อย

ติดตามข่าวสารและบทความดีๆ จากพวกเรา Ridebuster.com

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่