ท่ามกลางหน้าใหม่ในวงการยานยนต์ประเทศไทย ค่ายรถยนต์เกาหลี ไม่ว่าจะ Hyundai หรือ KIA ต่างเป็นที่รู้จัก ในฐานะแบรนด์รถยนต์ระดับโลกทั้งสิ้น แต่สังเกตไหมว่า กว่า 10 ปี ทั้งคู่ไม่ได้เติบโตมากนักในดินแดนสยาม ทั้งที่ในระดับโลก ยอดขายรถเกาหลีไม่เป็นรองจากบรรดารถญี่ปุ่นชั้นนำ
แบรนด์รถยนต์เกาหลี เข้ามาในตลาดไทยนานมากแล้ว ตั้งแต่ช่วง พ.ศ.253X โดยมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้า ที่ไม่ต้องการรถญี่ปุ่น ไม่ติดแบรนด์ เพียงต้องการรถที่ใช้งานได้ดี ตอบโจทย์ขับขี่ รถยนต์จากประเทศเกาหลี ถูกชูขึ้นมาเป็นพระเอกในเรื่องนี้
รถยนต์ Hyundai เป็นบริษัทแรกเข้ามาบุกตลาดในไทย ด้วยความตั้งใจของกลุ่มทุน บริษัท พระนครยนตรการ จำกัด ได้ ตั้งบริษัท ยูไนเต็ด ออโต เซลล์ ขึ้นมารับผิดชอบในการขายรถยนต์ฮุนได ในประเทศไทย เปิดตัวครั้งแรกในปี พ.ศ. 2535 ด้วยรถยนต์ Hyundai Sonata ,Hyundai Excel และ Hyundai Elantra ในงานมหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 35
การเปิดตัวแบรนด์เกาหลีในไทย มาสำเร็จเอาในรถ รถยนต์ Hyundai Elantra เนื่องจากนำเข้าทั้งคันราคาไม่แพงเท่าไรนัก ได้อานิสงค์ จากภาษี ในยุค ก่อนปีพ.ศ. 2540 ส่วน Hyundai Excel มาโดนใจลูกค้า เนื่องจากสมัยนั้นไม่มีรถนั่งขนาดเล็กกลุ่มซิตี้คาร์ ก่อนปรับการขายเป็น Hyundai Accent
ภายหลังจากยอดขายเดินดีมีการนำรถ Hyundai Tiburon มาวางจำหน่าย ในปี พ.ศ. 2539 เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนพิษเศรษฐกิจ ต้มยำกุ้ง จะถาโถมใส่ไทย
ภายหลังจากมีการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ ฮุนได ตกในที่นั่งลำบาก เช่นเดียวกับปัญหาเรื่องบริการหลังการขาย ที่มีปัญหาอย่างต่อเนื่อง เมื่อราคารถแพง ศูนย์บริการไม่ดี ก็ถึงคราวฮุนไดอำลาไปชั่วคราว นั่นเอง
ในช่วงปี พ.ศ. 2541 Hyundai – KIA มีการรวมหุ้นเพื่อทำให้ธุรกิจยานยนต์เกาหลีมีความแข็งแกร่งปี พ.ศ. 2542 บริษัทยนตรกิจเกียเกิดขึ้น เพื่อนำรถ KIA จากประเทศเกาหลีเข้ามาขาย รุ่นแรกที่เปิดตลาด คือ KIA Piagio รถตู้ 12 ที่นั่ง น่าจะพอคุ้นๆ กันบ้าง
ตามาด้วย Kia Caren , Kia Sorento , และ ล้มลุกคลุกคลานกับ 4 ล้อเล็ก K2700 จนมาถึง ยุคใหม่ หลังปี พ.ศ. 2550 ทำตลาด Kia Picanto และ Kia Grand Carnival
ประเด็นของเกีย อยู่ที่จำนวนศูนย์บริการ ไม่มากมายนัก แม้จะทำตลาดมายาวนานกว่า 20 ปี กลับมีศูนย์บริการเพียง 20 ศูนย์ เท่านั้น ถือว่าน้อยมาก ซึ่งก็มาจากยอดขายที่น้อยด้วย
สำหรับฮุนไดในยุคปัจจุบัน กลับมาทำตลาดในปี พ.ศ. 2549 แล้วเปิดตัวบริษัทในปี พ.ศ. 2550 เริ่มเข้าทำตลาดอย่างจริงจังด้วยรถตู้ Hyundai H1
รถรุ่นนี้ขายดีเป็นเทน้ำเท่า เนื่องจากราคาไม่แรงจนเกินไปนัก เหมาะเป็นรถครอบครัว ตอบการเดินทางสำหรับคนมีครอบครัวใหญ่ เช่นชาวไทยเชื้อสายจีน ประกอบกับไม่มีคู่แข่งชนกันตรงๆ อย่างแท้จริง รถคู่แข่งในช่วงนั้นเดินสายเกมรถพาณิชย์ รถรุ่นนี้จึงได้รับความนิยมต่อเนื่องมายาวนาน จวบจนปัจจุบัน
ฮุนไดยุคใหม่ แม้จะสร้างยอดขายดี และใช้ชื่อ ฮุนได มอเตอร์ประเทศไทย แต่ถ้าสืบไปถึงการก่อตั้ง บริษัทนี้ เกิดขึ้นจากการร่วมมือของ โซจิทซ์ คอร์ปอเรชัน บริษัทเทรดดิ้งชั้นนำของญี่ปุ่น และ บริษัท อาปิโก้ไฮเทค จำกัด (มหาชน) ได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ รับผิดชอบดูแล การตลาด การทำธุรกิจในไทย
หรือจะพูดให้เข้าใจ คือ บริษัทแม่ ( ฮุนได มอเตอร์) ไม่ได้มาเอง คล้ายกับยุค พระนครยนตรการ
สิ่งที่แตกต่าง คือ ฮุนไดยุคใหม่ มีแม่ทัพทางการตลาดดี คุณ สฤษฎ์พร สกลรักษ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายสื่อสารการตลาดและลูกค้าสัมพันธ์ หรือที่คนในวงการ รู้จักท่านในนาม “พี่อุ๋ย” เป็นบุคคลหนึ่งในวงการตลาดยานยนต์ที่น่ายกย่อง มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้สื่อข่าว ทั้งรุ่นเล็ก-รุ่นใหญ่ ไปจนเข้าถึงง่าย ยังเข้าถึงลูกถึงคนกับลูกค้า ทั้งบุ๋นทั้งบู้เบ็ดเสร็จ เพื่อสร้างยอดขาย และความเชื่อมั่นแก่คนใช้รถฮุนได
จนในระยะหลังมีการปรับขยายไลน์รถที่นำเข้ามาขายเพิ่มขึ้น มีทั้ง Hyundai Sonata , Hyundai Tucson ,Hyundai Elantra ไปจนถึง Hyundai Veloster รถสปอร์ตของบริษัท และมีความพยายามในการสร้างบริการขายที่มั่นคง จนเป็นยุคทองของแบรนด์ฮุนได
พี่อุ๋ย เสียชีวิตด้วยปัญหาทางสุขภาพในปี พ.ศ. 2558 เรียกว่าเป็นวันเศร้าโศกของวงการตลาดยานยนต์ การเสียพี่อุ๋ยไป ทำให้ฮุนได ต้องปรับกระบวนท่า จนดำเนินธุรกิจในแบบปัจจุบัน
ส่วนเกีย ประเทศไทย ภายหลังมา ลืมตาอ้าปากโดนใจลูกค้า ด้วย Kia Grand Carnival รถ MPV ขนาดใหญ่ หลังจากพยายามลองตลาดกับ Kia Soul มานาน จนปัจจุบัน กลับมาทำตลาดรถนั่งทั้ง Kia Stinger และ Kia Soul EV
ถ้ามองย้อนถึงประวัติศาสตร์ รถเกาหลีจากอดีต จนถึงปัจจุบัน จะพบประเด็นสำคัญ ที่ทำให้รถสายเลือดกิมจิ ไม่โดนใจลูกค้าชาวไทย ผิดกับซีรี่ย์เกาหลี ที่ทำเอาหลายคนฝันหวานไปตามๆ กัน จนต้องบินไปสัมผัสบรรยากาศ
ประเด็นแรก คุณจะเห็นได้ว่า บริษัทแม่ ทั้งฮุนได มอเตอร์ หรือ เกีย มอเตอร์ ต่างใช้วิธีการดำเนินธุรกิจเหมือนกัน คือ ใช้การแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่กับบริษัทในประเทศไทย เพื่อดำเนินธุรกิจ
บริษัทแม่ มีหน้าทีเดียว คือรอการสั่งซื้อรถจากบริษัทปลายทางในไทย แล้วผลิตตามใบสั่งซื้อ จากฐานการผลิตต่างๆ ทั้งในอาเซียน และในจากประเทศเกาหลีเองด้วย (ในบางรุ่น) บริษัทแม่ไม่ได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจในไทยแม้แต่นิดเดียว อาจจะด้วยยอดขายที่ยังไม่เติบโตจนถึงจุดคุ้มทุน ให้เข้าทำตลาด หรืออาจไม่ได้คิดว่าเป็นตลาดใหญ ่เหมือนทางอเมริกา – ยุโรป
ไม่ว่าจะทั้ง เกีย มอเตอร์ ประเทศไทย ภายใต้ บริษัท ยนตรกิจ คอรร์เปอร์เรชั่น จำกัด หรือ ฮุนได ประเทศไทย ที่มีเบื้องหลัง คือ การถือหุ้นของอีก 2 บริษัท จากญี่ปุ่น และกลุ่มทุนชาวไทย ต่างมีวาระคล้ายกันในเรื่องนี้
ประการต่อมา ชื่อเสียงที่ไม่ดีในอดีต , เรื่องนี้ต้องยอมรับว่า คนไทยเจ็บแล้วจำ การทิ้งแบรนด์ฮุนได ในช่วงหลังปี 2540 ของบริษัทตัวแทนก่อนหน้านี้ ทำให้แบรนด์ฮุนได ถูกมองข้ามทันที เพราะรถยนต์เป็นสินค้ามีมูลค่าสำหรับคนไทย ซื้อมาใช้ยาวๆ 5-6 ปี เป็นอย่างต่ำ ก็ต้องการความมั่นใจว่า บริษัทจะดูแลรถพวกเขาได้ ตลอดอายุการใช้งาน
ประวัติในอดีตทำให้คนไทยส่วนใหญ่ จะไม่ซื้อรถที่คิดว่า ตัวเองอาจจะต้องเสี่ยงโดนลอยแพในอนาคต จะเห็นได้ว่า คนซื้อรถฮุนไดในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นผู้มีฐานะ ซื้อมาแล้วใช้ไป พังก็ไม่เสียดาย เพราะสำหรับพวกเขาราคาของมันไม่ได้แพงมากจนเกินไปนัก
คนซื้อรถเกาหลีในไทยไม่เหมือนยุคแรก คนซื้อไม่เพียงแค่ชอบ แต่กลายเป็นยินดีที่จะจ่ายเพื่อความแตกต่าง ไม่ได้ซื้อเพราะความถูกกว่า คุ้มค่ากว่า
จะเห็นได้ชัดว่ารถอย่าง Kia Stinger นำเข้าจากเกาหลีทั้งคัน ราคาของมันเรียกว่าไล่กับ BMW Series 5 เลย หรือรถอย่าง Hyundai Kona EV ออกมาตอบตลาดกลุ่มลูกค้าที่อยากลองซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ราคามันจึงไม่ได้ถูกกว่า Nissan LEAF เท่าไรนัก เป็นภาพชัดว่า แบรนด์รถเกาหลี มุ่งไปยังตลาดบน มากกว่า จะลงมาทำตลาดล่างดั่งวันวาน
ประการที่ สาม , สืบเนื่องจากการทิ้งรถในอดีต ที่ทำให้คนไม่นิยม ในทางกลับกันตลาดมือสอง ก็เลยไม่ค่อยอยากจะเสวนากับรถเกาหลีเท่าไร หลายรายซื้อไว้ช่วยลูกค้า ยกเว้นรุ่นยอดนิยมอาจรับซื้อไว้ทำกำไร แต่พ่อค้าส่วนใหญ่ถ้าเลือกได้ ไม่อยากได้รถเกาหลีไว้ในพอร์ทของตัวเองสักเท่าไรนัก
และประการสุดท้าย คุณจะพบว่า ไม่ว่า KIA หรือ Hyundai ต่างมีจำนวนศูนย์บริการน้อยมาก และไม่ครอบคลุมลูกค้า จะมีเพียงในกรุงเทพมหานคร- ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่บางแห่งเท่านั้น
ปัจจุบัน เกีย มีโชว์รูมและศูนย์บริการจำนวน 20 แห่ง และ ฮุนได มี 16 แห่ง ทั่วประเทศไทย ในขณะที่แบรนด์รถยนต์ขนาดเล็กจากญี่ปุ่น อย่างซูบารุมี 35 แห่ง ทั่วประเทศไทย แสดงให้เห็นว่า แม้แต่แบรนด์ญี่ปุ่นขนาดเล็กให้ความสำคัญกับลูกค้า ค่อนข้างมากพอสมควร
นอกจากนี้ คนไทยมีความคุ้นเคยกับการใช้ ,การแก้ปัญหา และภาพจำของตรงสินค้ารถยนต์ญี่ปุ่นมากกว่าเกาหลี ถึงแม้รถเกาหลี จะมีการพัฒนาล้ำสมัย สวยงามน่าใช้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เวลาเห็นในโลกอินเตอร์เน็ต เรียกว่า น่าซื้อหลายรุ่นก็ตามที
แต่จนมาถึงวันนี้ รถเกาหลี ต้องพยายามเอาตัวรอดจากไทย เมื่อรถจีน เริ่มก้าวเข้ามาทำตลาดและประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม อย่างแบรนด์ MG
ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่แปลกใจนัก ที่แบรนด์เกาหลี จะไม่อยู่ในใจคนไทย มันเป็นตัวเลือกสำหรับคนบางกลุ่ม ที่ไม่ใช่คนชนชั้นกลางทั่วไป ซึ่งอนาคตรถทั้ง 2 แบรนด์จะเป็นอย่างไร เราคงต้องคอยช่วยเชียร์กัน