ในโลกยุคใหม่ คนจะซื้อรถหลายคน ต่างตั้งคำถามเมื่อจะซื้อรถใหม่ที่มีให้เลือกทั้งรุ่นเครื่องยนต์เบนซินและเครื่องยนต์ดีเซลให้เลือกว่า เครื่องยนต์อะไรตอบโจทย์ได้ดีกว่ากัน … 

คำถามนี้ไม่ต่างอะไรจากคำถามว่า ไก่กับไข่ อะไรอร่อยกว่ากัน คำถามว่าเครื่องยนต์เบนซินกับดีเซลอะไรแรงกว่ากัน กลายเป็นเรื่องเถียงกันหน้าดำคร่ำเครียด จุดเริ่มต้นของคำถามนี้ เกิดขึ้นเมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากเครื่องยนต์ดีเซลเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น จนไม่เคยคิดว่าเครื่องดีเซล จะมาแทนใจเครื่องเบนซินได้ในวันนี้

เบนซิน..ไม่แรงหรือไม่ค่อยพัฒนา

ก่อนยุคเครื่องยนต์ดีเซลจะเฟื่องฟู เครื่องยนต์เบนซินถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ด้วยข้อดีของเครื่องยนต์ที่มีมากมาย ทั้งเสียงเงียบในการทำงาน แรงสั่นสะเทือนในการทำงานน้อย และยังทรงประสิทธิภาพในการขับขี่ด้วยรอบเร่งที่สูง เครื่องยนต์เบนซินปกติสามารถทำรอบเครื่องได้สูงอย่างน้อยๆ 6,000 รอบต่อนาที

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราต้องยอมรับว่าเครื่องยนต์เบนซินไม่ได้มีการพัฒนามากมายอย่างที่หลายคนคิด ในช่วงยุค 2000 เครื่องยนต์เบนซินเพิ่งจะติดตั้งระบบวาล์วแปรผันเข้ามาเป็นมาตรฐานในโลกยุคใหม่ จนมีแทบทุกยี่ห้อ

 ในประเทศไทยเองบริษัทรถยนต์เริ่มพัฒนาให้รองรับพลังงานทางเลือกผสมเอทานอลได้  จนบางยี่ห้อรองรับได้ถึง  E85   หากในเชิงวิศวกรรมเครื่องยนต์ถือว่าไม่มีอะไรใหม่ พวกมันยังเป็นเครื่องยนต์ที่สันดาปภายในด้วยการอาศัยแรงดูดของลูกสูบเหมือนเดิม

ระบบวาล์วแปรผันที่เติมเข้ามาเพียงช่วยให้เครื่องยนต์มีความสามารถในการตอบสนองดีขึ้นในยามขับขี่ต้องการอัตราเร่ง รถจะรู้สึกตอบสนองดี เนื่องจาก เมื่อชุดวาล์วจะปรับจังหวะการทำงานและเวลาที่เปิดวาล์ว ให้ยาวนานมากยิ่งขึ้น ช่วยให้รถสามารถจะตอบสนองในการขับขี่ดีขึ้น แต่การทำงานอื่นๆไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก

จนกระทั่งในช่วงปี 2010 เป็นต้นมา มีกระแสการลดขนาดเครื่องยนต์ ขนาดกระบอกสูบถูกปรับเล็กลง แล้วติดตั้งระบบเทอร์โบชาร์จเข้ามา  การเข้ามาของระบบเทอร์โบชาร์จ เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องดีเซลถือว่าล้าช้ากว่านับ 10 ปี แต่เนื่องจากที่ผ่านมาเครื่องยนต์เบนซินสามารถทำกำลังเครื่องยนต์ให้อัตราเร่งที่ดีอยู่เป็นทุนเดิม จึงไม่จำเป็นต้องใช้ตัวเร่งช่วยในการทำงานของเครื่องยนต์

ส่วนเครื่องยนต์ที่ไม่ได้ติดตั้งระบบเทอร์โบชาร์จ ก็จะติดตั้งระบบจ่ายน้ำมันแบบใหม่เข้ามา อาทิ ระบบ   Direct Injection  อย่างในเครื่องยนต์ของทาง  Subaru   หรือ จะเป็นระบบหัวฉีดคู่อย่างในเครื่องยนต์ของ Suzuki  Swift   ก็ได้

และท้ายสุดในโลกยุคใหม่เครื่องยนต์เบนซินถูกพัฒนาให้เป็นเครื่องยนต์ที่มีกำลังอัดสูงคล้ายเครื่องยนต์ดีเซลในบางรุ่น โดยเฉพาะในรถยนต์มาสด้า

ดีเซล..มาแรง เพราะพัฒนาต่อเนื่อง

ช่วงปี 2000 “เครื่องยนต์ดีเซล”ได้รับการพัฒนาขนานใหญ่ เนื่องจากบริษัทรถยนต์ทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป เริ่มถูกบีบคั้นจากปัญหาภาวะโลกร้อน และรถยนต์เป็นตัวการหนึ่งที่สำคัญ

ในมุมหนึ่งของเครื่องยนต์ดีเซลมันเป็นเครื่องยนต์ที่ถูกออกแบบมาให้สร้างแรงบิดสูง การสร้างแรงบิดสูงในรอบต่ำของมัน ทำให้ในความเป็นจริงผู้ใช้สามารถขับขี่รถด้วยความประหยัดง่ายกว่าเครื่องยนต์เบนซิน ไม่จำเป็นต้องเร่งเครื่องลากรอบสร้างมลภาวะเพื่อให้ได้ความเร็วที่ต้องการ  

Honda  CR-V   เครื่องดีเซล

ปัญหาเดียวของเครื่องยนต์ดีเซล คือ พวกมันปล่อยมลภาวะเยอะมาก โดยเฉพาะในจังหวะเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ จะเกิดควันดำ  ซึ่งคราบเขม่าสีดำเหล่านี้มีสารที่ก่อเกิดเป็นโรคมะเร็งแก่ผู้ที่สูดเข้าไป แถมกำลังเครื่องดีเซลในอดีตก็ขี้เหร่มาก คุณคงยังจำได้ไหม 25 ปีที่แล้ว เครื่องดีเซล 2.5 ลิตร ในเจ้ากระบะยอดนิยมคนไทยทำกำลัง 90 แรงม้า ผ่านมา 20 ปีทำได้ 120 แรงม้า แต่กระนั้นก็ไม่ได้มีใครบ่นเรื่องกำลังที่ได้จากเครื่องยนต์ ด้วยเครื่องยนต์ดีเซลแรงบิดดี ออกตัวง่าย แซงดีไม่มีปัญหา

เครื่องยนต์เทอร์โบดีเซลเข้ามาในยุคปี 2000 แต่อะไรเลยจะสู้การเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคระบบจ่ายน้ำมันคอมมอนเรล ซึ่งใช้หัวฉีดไฟฟ้าแรงดันสูง ช่วยจ่ายน้ำมันได้ละเอียดขึ้น เพิ่มความสามารถในการจุดระเบิดให้เผาไหม้สมบูรณ์มากขึ้น ให้กำลังดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด

เครื่องดีเซล

ส่วนเรื่องไอเสียก็ได้ตัวกรองเขม่าและแคททาไลติค คอนเวิร์ตเตอร์ ช่วยทำหน้าที่อีกทอดหนึ่งจนวันนี้เครื่องยนต์ดีเซลกลายเป็นเครื่องยนต์ที่สมบูรณ์แบบที่สุด

เปรียบให้ชัด ดีเซล-เบนซินมันแรงกว่าอย่างที่เราเข้าใจจริงหรือ

เวลาจะเปรียบเทียบอะไร เราต้องให้มีความเหมือนกันในทุกด้าน ที่ผ่านมาเวลาเถียงกันคอเป็นเอ็นในเว็บบอร์ดตามที่ต่างๆ ผมสังเกตุว่าคนไทยชอบเอาความรู้สึกมาเป็นที่ตั้งในการบอกว่าอะไรดีกว่าอะไร

ในเรื่องนี้ ผมขอหยิบยกเครื่องยนต์มาเปรียบเทียบให้เห็นภาพ โดยมีเงื่อนไขดังนี้

1.เครื่องยนต์ทั้งคู่ต้องมีขายในไทย

2.เครื่องยนต์ทั้งคู่ต้องปริมาตรกระบอกสูบใกล้เคียงกัน

3.เครื่องยนต์ทั้งคู่ต้องอยู่ในรถยนต์ที่ได้รับความนิยม

มาถึงตรงนี้ผมไม่เห็นคู่ชกไหน จะสนุกเท่าการจับเครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร มาเจอกับดีเซล 1.5 ลิตร ทั้งคู่ติดตั้งด้วยระบบเทอร์โบชาร์จเหมือนกัน

ฝั่งเบนซิน เป็นเครื่องยนต์จากฮอนด้า ขุมพลัง  Vtec Turbo   ขนาด 1,500 ซีซี ที่อยู่ใน Honda  Civic  มีขนาดพื้นที่กระบอกสูบจริง 1,498 ซีซี มาพร้อมเส้นผ่านศูนย์กลางกระบอกสูบ Xช่วงชัก 73.0X89.5   มม. ทำกำลังอัด 10.8:1 ต้นกำลังรุ่นนี้ให้กำลังสูงสุด 173 แรงม้า สูงสุดที่  5,500 รอบต่อนาที ทำแรงบิดสูงสุด 220 นิวตันเมตร สูงสุด 1,700-5,500 รอบต่อนาที (เทอร์โบบูสต์ 14.5 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว)

เครื่อง   VTEC Turbo

ส่วนดีเซล ไม่ใครอื่นใดนอกจาก Mazda Sky Activ D   1.5  สถิตในรถยนต์   Mazda2  รุ่นเครื่องยนต์ดีเซล มีขนาดกระบอกสูบจริง 1,498 ซีซี ให้เส้นผ่านศูนย์กลางกระบอกสูบ Xช่วงชัก, 76X82.6 มม. ให้กำลังอัดเพียง 14.8:1 ทำกำลังสูงสุด 105 แรงม้า สูงสุดที่ 4,000 รอบต่อนาที และให้แรงบิดสูงสุด 270 นิวตันเมตร สูงสุดที่  1,600-2,500 รอบต่อนาที

เครื่องดีเซลมาสด้า

งานนี้เกียร์ไม่เกี่ยว ขนาดรถน้ำหนักตัวรถไม่เกี่ยว มองกันที่เครื่องล้วนๆ เมื่อเปลือยสมรรถนะเครื่องยนต์ดู คุณจะพบว่า เจ้าเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล ที่เทคโนโลยีเท่ากัน  มันก็กลับไปยังนิสัยพื้นฐานเดิมของเครื่องยนต์ ที่ซึ่งเครื่องยนต์เบนซินให้กำลังแรงม้ามาก และทำแรงบิดพอสมน้ำสมเนื้อ และเครื่องยนต์ดีเซลให้กำลังแรงบิดสูงในรอบต่ำ และไม่ได้ให้กำลังแรงม้าเยอะมาก เพียงพอแค่ใช้งานได้ดีเท่านั้น

สิ่งที่เห็นได้ทันที่เมื่อเครื่องยนต์เบนซินติดตั้งเทอร์โบ คือพวกมันสามารถให้แรงบิดสูงในรอบต่ำได้เช่นกัน อย่างใน   Honda  Civic   สามารถให้แรงบิดสูงได้ตั้งแต่ 1,700 จนถึง 5,500 รอบต่อนาที ลากยาวไปยันจุดที่มีแรงม้าสูงสุดของเครื่องยนต์ หมายถึงมันให้การตอบสนองดีในทุกรอบการขับขี่เหยียบติดเท้ามากกว่าในช่วงต้องการอัตราเร่ง

กลับกันเครื่องยนต์ดีเซล อย่างที่คุณเห็นมันให้แรงบิดสูงในรอบต่ำก็จริง แต่ก็เพียงช่วงสั้นๆ ในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งหลังจากนั้น แม้ว่าจะไม่อยู่ในช่วงแรงบิดสูงสุด แต่เครื่องยนต์ดีเซลก็ให้แรงบิดมากกว่าเครื่องเบนซิน

ดังนั้นเมื่อกลับมามองความจริงว่า จะเป็นอย่างไร เมื่อขับบนถนน ถ้าเครื่องยนต์ทั้งคู่อยู่ในรถแบบเดียวกัน น้ำหนักเท่ากันใช้เกียร์เดียวกัน

เครื่องยนต์ดีเซลจะออกตัวดีกว่าอย่างไม่ต้องสงสัยในช่วงแรก ส่วนเครื่องยนต์เบนซินจะออกตัวช้ากว่าและจะไปเร่งตามทันในช่วงความเร็วกลางๆ มันจะดูดี๋ไปเรื่อย จนดีเซลหมดลมช่วงความเร็วปลาย ที่ซึ่งกำลังแรงม้าของเครื่องยนต์เบนซินจะมีประโยชน์ พาคุณทะยานความเร็วสูงสุดมากกว่าเครื่องดีเซลที่มีกำลังน้อยกว่า

ส่วนเวลาเร่งแซงเครื่องยนต์ดีเซลจะแซงได้มั่นใจกว่า จากความห้าวหาญของกำลังอัดที่เหนือกว่า ด้านเบนซินแซงได้เช่นกัน  ออกอารมณ์ไปได้เร็วกว่า ด้วยการอาศัยกำลังแรงม้าเครื่องยนต์มากกว่า และสามารถลากรอบยาวกว่า มีประโยชน์มากถ้าคุณต้องการแซงรถยาวๆ เช่นอาจจะต้องแซง รถพ่วง สัก 3 คัน เครื่องเบนซิน จะมั่นใจกว่า 

ในมุมหนึ่งมันฟังดูเหลือเชื่อ แต่สิ่งที่เรากำลังพูดอยู่ภายใต้เงือนไขของการเปรียบเทียบ

ความจริงคือ เรารู้สึกว่าเครื่องยนต์ดีเซลปัจจุบันแรงกว่าเบนซิน เพราะเครื่องยนต์เบนซินส่วนใหญ่ไม่ใช่เครื่องยนต์ระบบเทอร์โบชาร์จ กลับกันดีเซลยุคใหม่ให้เทอร์โบ มาทุกรุ่นทุกยี่ห้อ รวมถึงกำลังอัดของเครื่องยนต์เบนซินก็น้อยกว่าเครื่องยนต์ดีเซลมาก

หรือถ้าพูดกันง่ายๆ เครื่องยนต์เบนซิน และดีเซล มีดีกันคนละแบบ

และด้วยแรงบิดที่ดีกว่าเครื่องยนต์ดีเซลจึงประหยัดกว่า ด้วยไม่จำเป็นต้องเหยียบคันเร่งเยอะเพื่ออกตัวจากหยุดนิ่ง รวมถึงในการขับทางไกลรถที่มีแรงบิดจะมีข้อได้เปรียบในการเร่งแซง หรือทำความเร็วต่อเนื่อง

กลับกันเครื่องยนต์เบนซินอาจต้องใช้คันเร่งเยอะกว่าเดินรอบเครื่องยนต์สูงกว่าในการเร่งแซง จุดแรงบิดสูงสุดเครื่องยนต์เบนซินปกติ (ไม่ติดตั้งเทอร์โบชาร์จ, แรงบิดสูงสุดจะอยู่ที่ 3,000-4,000 รอบต่อนาที) จึงอาจกินน้ำมันมากกว่าในการขับขี่จริง

 แต่ประเด็นความประหยัดกลับอยู่ที่ความหลากหลายในการเลือกใช้พลังงานที่มีตั้งแต่น้ำมันเบนซินปกติไปยัน  E85   สามารถเลือกเติมได้ตามความต้องการของคุณ ส่วนดีเซลมีน้ำมัน 2 ประเภทคือ ดีเซลหมุนเร็วปกติ และดีเซลพรีเมียมซึ่งแพงกว่า

ถ้ามองเรื่องน้ำมันประกอบ เราจะพบว่าน้ำมันดีเซลอาจจะไม่เคยมีราคาเกินลิตรละ 30 บาท (ปัจจุบันอยู่ที่ลิตรละ 29.89 บาท ณ วันที่เขียน) ส่วนเบนซินแก๊สโซฮอล 95 มีราคาสูงถึงลิตรละ 30.95 บาท (ณ วันที่เขียน) เท่ากับปัจจุบันน้ำมันเบนซินและดีเซลต่างกันเพียง 1 บาทเท่านั้น และคุณไม่มีทางเลือกอื่นหากใช้รถดีเซล ไม่ว่าน้ำมันแพงแค่ไหนก็ต้องเติม ส่วนเบนซินคุณอาจจะเลี่ยงไปใช้พลังงานทางเลือกตัวอื่นก็ได้ เช่นวันไหนกระเป๋าแฟบ อาจเติม  E20   ขับขี่ใช้งานก็ได้ เหมือนกัร
(ไม่เปรียบเทียบเบนซิน 95 เพราะ ปัจจุบันน้ำมันดีเซลปกติ ก็มีส่วนผสมไบโอดีเซลร่วมด้วยในอัตรา 5%)

สรุป จะซื้อก็ดู เบนซิน/ดีเซล อยู่ที่เราเลือก

มาถึงตรงนี้เชื่อว่า คนจำนวนไม่น้อย มีเสียงค้านในใจ มันจะเป็นไปได้หรือ ที่เครื่องยนต์เบนซินจะมีความสามารถใกล้เคียงดีเซล

อย่างที่ผมบอก เรากล่าวในแง่เชิงเปรียบเทียบเฉพาะตัวเครื่องยนต์ ไม่ได้ควบรวมถึงน้ำหนักรถ ชุดเกียร์ และแรงดันเทอร์โบที่อาจจะเป็นปัจจัยอื่นๆ ที่เข้ามามีผลต่อการขับขี่ บทความนี้ไม่ใช่สิ่งที่ฟันธงในการตัดสินใจซื้อของคุณ แต่เรามาอธิบายให้เข้าใจความเป็นจริงของการเปรียบเทียบ

หากนำสิ่งที่เรานำเสนอมากล่าวสรุป

1.แรงบิดเยอะ

เครื่องยนต์ดีเซลข้อดีคือ

2.น้ำมันถูก

3.ตอบโจทย์การบรรทุกและการฉุดลาก

4.ประสิทธิภาพเดินทางระยะไกลดีกว่า

กลับกันเครื่องยนต์เบนซินเองก็มีข้อดี คือ

1.กำลังเครื่องสูงกว่า (แรงม้ามากกว่า)

2.รอบเครื่องลากได้มากกว่า

3.ใช้พลังงานทางเลือกได้เยอะกว่า

4. ค่าบำรุงรักษาถูกกว่าในระยะยาว (ในรุ่นที่ไม่มีเทอร์โบ)

ถ้าให้ผมเลือกรถสักคันมาขับใช้งานปกติในชีวิตประจำวัน ใช้ชีวิตปกติทั่วไปขับโลดโผนบ้างเวลาเร่งรีบ ผมเลือกรถเครื่องเบนซิน ด้วยความเหมาะสมในการใช้งานครบทุกด้าน มันอาจไม่ประหยัดมาก(ก็เป็นไปตามขนาดเครื่องยนต์) แต่ขับสนุกได้อารมณ์ และยังเลือกเติมน้ำมันตามใจฉันดีกว่า

ส่วนเครื่องยนต์ดีเซล ถ้าผมจะซื้อ เมื่อมองหารถที่ใช้เดินทางไกลบ่อยครั้งเน้นขับทางไกลเป็นประจำ ขับขึ้นเขาลงห้วยแบบกะว่ายัดถังเดียวถึงเชียงใหม่ อาจจะเป็นรถที่ต้องการใช้สำหรับการบรรทุก หรือฉุดลากสิ่งของในบางสถานการณ์ ขนคนมีผู้โดยสารเป็นประจำ หรือต้องการกำลังแรงบิดเพื่อเอาชนะอุปสรรคในเส้นทางสมบุกสมบัน ผมไม่ได้มองดีเซลที่ความประหยัด แต่มองประสิทธิภาพที่ดีได้ในการขับขี่มากกว่า

ประเด็นเรื่องเครื่องยนต์เบนซินและดีเซลใครแรงกว่า คงจะยังเถียงต่อไป สิ่งที่อยากบอกคุณคือ เครื่องยนต์ทั้ง 2 ต่างมีคุณสมบัติในการใช้งานต่างกันออกไป แม้ภาพวันนี้จางๆ จะให้คุณเห็นว่า ดีเซลมีดีกว่าอย่างไร แต่ถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว เบนซินก็มีดีเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าคุณต้องการใช้งานรถยนต์อย่างไรมากกว่า   

ติดตามข่าวสารและบทความดีๆ จากพวกเรา Ridebuster.com

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่