ท่ามกลางกระแสงาน   Motor Expo  2018   หลายคนต่างสนใจการแนะนำรถยนต์ไฟฟ้า ออกมาทำตลาดของ Nissan  ที่ตัดสินใจส่งท้ายปีด้วยการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า   Nissan Leaf   ส่งท้ายปีนี้

ตั้งแต่เปิดตัวออกมาด้วยราคา 1.99 ล้านบาท ต่างสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหู ถึงราคาจำหน่ายที่ไม่เป็นมิตรกับคนทั่วไป ทั้งที่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา Nissan   บอกกล่าวเล่าว่า รถคันนี้จะมีราคาขายประมาณล้านกลางๆ มาโดยตลอด จนหลายคนเกิดการเฝ้ารอและคาดหวังว่าจะได้ใช้นวัตกรรมใหม่ทันสมัย ไร้มลภาวะ

ราคาที่ออกมาค่อนข้างสูง อาจจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา ในหลายมุมมอง ทั้งราคาแพงเกินเหตุ ไปจนถึงการแปรเปลี่ยนว่า รัฐบาลไม่จริงใจต่อการให้รถยนต์ไฟฟ้าได้เกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งหมดทั้งมวล ย้อนลับมาที่คำถามสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “รถยนต์ไฟฟ้า พร้อมหรือไม่สำหรับประเทศไทย และคนไทยจะได้ใช้หรือไม่ ในอนาคต “

ภาพจากต่างประเทศ … บอกได้

ก่อนจะมาถึงบ้านเรา คงต้องดูในกระแสโลกกันก่อนว่ารถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมหรือไม่

รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่งจะเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมยานยนต์โลก เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่น ได้แก่  Nissan  ได้เปิดตัวรถยนต์   Nissan  LEAF   ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบผลิตขายจริงครั้งแรกในปี 2010 และตามมาด้วย Mitsubishi  I Miev   ที่เปิดขายในช่วงระยะเวลาไล่เลี่ยกัน

รถทั้ง 2 คัน ถูกนำเข้ามาจัดแสดงในประเทศไทยภายในปีเดียวกัน และภาพรถยนต์ไฟฟ้าชัดเจนขึ้นท่ามกลางงาน  BOI Fair   ในปี 2011 เป็นเหมือนพันผูกว่าจะมาขายในไทย

nissan-leaf-30kwh-hits-showrooms-7

การเปิดตัวรถยนต์   Nissan  Leaf   และ   Mitsubishi  I Miev ไม่ได้ทำให้รถยนต์ฟ้าในระดับโลกกระเตื้องขึ้น มากนัก แต่มีคนจำนวนไม่น้อยสนใจและเลือกซื้อหา โดยเฉพาะในประเทศแถบยุโรป ทางกลุ่มสแกนดิเนเวีย ที่มีความตระหนักในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า และการใส่ใจในสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

ในขณะที่ทางฝั่งอเมริกาการก่อกำเนิดแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า   Tesla   ทำให้ตลาดที่นั่นเริ่มสนใจรถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้จากว่ามันใช้ไฟฟ้าในการขับขี่ แต่จากสมรรรถนะที่เหนือชั้นกว่ารถสปอร์ตในยุค, Tesla  Model  S   ถือเป็นรถที่สร้างชื่อย่างมาก จนทำให้เทสล่าได้ยืนหยัดมายาวนานจนทุกวันนี้

ถ้าคุณถามว่ารถยนต์ไฟฟ้าขายได้ดีมากแค่ไหน คงต้องตอบว่าคนยังไม่เชื่อใจมากนัก

รายงานจากทางนิสสัน ระบุว่า ตลอดอายุการผลิต   Nissan  LEAF   รุ่นแรกตั้งแต่ปี 2010 พวกเขาขายรถไปได้ 320,000 คันเท่านั้น หรือเฉลี่ย 6 ปี ก่อนจะแนะนำรุ่นใหม่ ตกปีละ 40,000 กว่าคันเท่านั้น  ซึ่งเทียบกับปริมาณรถยนต์ใช้เครื่องยนต์ที่มียอดขายปีละนับหลายล้านคันถือว่า เป็นอัตราส่วนที่น้อยมาก และกลับกันก็แสดงว่ามีคนสนใจอยู่

การเปลี่ยนแปลงในปี 2017  Nissan   เปิดเผยข้อมูลว่าในปี 2017   Nissan LEAF   ขายได้ทั้งหมด  54,451 คัน (ยอดขายตามปีงบประมาณ) นั่นมากกว่าปี 2016  ที่มียอดขาย 47,423 คัน  หรือโตขึ้นจากเดิม 10 %  เมื่อเปลี่ยนรุ่นใหม่  (เดิมที   Nissan  LEAF   ขายใน 51 ประเทศ ทั่วโลก ในปี 2017)

จะเห็นได้ว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้านั้นไม่ได้เยอะอย่างที่คิด เนื่องด้วยปัจจัยเทคโนโลยีใหม่ ที่อาจจะต้องการความเข้าใจในการใช้งาน รวมถึงยังมีข้อจำกัดในการขับขี่อีกมากที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจ

จุดเริ่มต้น รถยนต์ไฟฟ้าในไทย

ด้วยประเทศไทย เป็นประเทศชั้นนำในแง่การผลิตรถยนต์  หลายปีนับตั้งแต่มียานยนต์ใหม่เข้าสู่ตลาดในกลุ่มรถยนต์ไฮบริด เริ่มได้รับความสนใจจากคนไทยมากขึ้น ก็มีกระแสให้ภาครัฐเปิดช่องให้รถยนต์ไฟฟ้าได้มาแจ้งเกิดในไทยบ้าง  เนื่องจากกระแสโลกผลัดไปทางการลดการปล่อยไอเสียจากปลายท่อ โดยเฉพาะในยุโรป เขตเมืองใหญ่หลายแห่งมีมาตรการสำคัญในอีก 10 ปีข้างหน้าจะไม่ให้รถยนต์วิ่งบนถนนในเขตเมืองเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

การยอมรับในเทคโนโลยีใหม่ ไม่ได้เกิดขึ้นวันนี้พรุ่งนี้ ประกอบกับที่ผ่านมารถยนต์ไฟฟ้าไม่เคยอยู่ในกฎหมายจราจรที่คร่ำครึของเมืองไทย เไม่มีใครคิดว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นนวัตกรรมในการขับขี่ในอนาคต รวมถึงต้องมีการศึกษาในหลายส่วนว่า ท้ายที่สุดรถยนต์ไฟฟ้าจะเหมาะสมมาใช้ในเมืองไทยได้หรือไม่ 

จุดกำเนิดเริ่มขึ้นหลังงาน  Boi Fair   ในปี 2011 หน่วยงานแรกที่ขานรับรถยนต์ไฟฟ้า ไม่พ้นการไฟฟ้านครหลวงในฐานะผู้จัดจำหน่ายไฟฟ้าในเขตมหานคร ได้รับการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าไปขับทดลอง อยู่หลายปี มีทั้ง   Mitsubishi  I Miev, Nissan  LEAF   และ   BYD e6   เป็นโครงการนำร่องใช้ในหน่วยงาน เพื่อศึกษาข้อมูลต่างๆ  จำเป็น ในการวางแผนทางด้านพลังงานไฟฟ้า

หากก็มาติดเรื่องสถานีชาร์จไฟฟ้า ใช้ในการเติมไฟฟ้าให้กับรถยนต์ ซึ่งจำเป็นต้องมีอย่างครอบคลุม และสมควรจะดำเนินงานโดยเอกชน แต่ด้วยข้อจำกัดบางประการได้กำหนดว่า การไฟฟ้าเป็นผู้ขายไฟฟ้าได้รายเดียวเท่านั้น ทำให้ไม่มีใครเห็นการให้บริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าตามที่สาธารณะ และมีไม่กี่ที่ ที่มีสถานที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า คือ  ปั้ม ปตท. คริสตัล ราชพฤกษ์ , สำนักงานการไฟฟ้าหลายแห่งในเขตการไฟฟ้านครหลวง และสถานที่ราชการบางแห่งที่อาจมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในหน่วยงานเท่านั้น

จุดชาร์จ เรื่องใหญ่ ใช้รถยนต์ไฟฟ้า

การไม่มีจุดชาร์จไฟฟ้าตามที่สาธารณะให้เห็น นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ต่อการแจ้งเกิดรถยนต์ไฟฟ้า มันคล้ายๆกับรถยนต์ปกติที่เราใช้ ถ้าขับไปแล้วไม่มีปั้มน้ำมัน คุณก็คงกังวลว่าจะถึงบ้านไหม

สถานีชาร์จ เป็นประเด็นแรกๆ ที่มีการถกเถียงท่ามกลางวงเสวนารถยนต์ไฟฟ้า ว่าการไฟฟ้าฯ ควรรวบยอดไว้เพียงรายเดียวหรือไม่ และการไฟฟ้ามีกำลังพอจะสร้างสถานีชาร์จหรือเปล่า หรือควรเปลี่ยนเป็นภาคเอกชนเข้ามารับบทบาทหน้าที่แทนในเรื่องนี้

ด้วยการพูดคุยในประเด็นดังกล่าว ทำให้ท้ายสุดแล้ว เราได้เห็นการสร้างธุรกิจใหม่ที่สำคัญ คือธุรกิจสร้างจุดชาร์จไฟฟ้าในเริ่มแรก จากภาคเอกชนขนาดเล็ก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทรถยนต์ยุโรปหลายราย ทั้ง Porsche,  Mercedes Benz  ,BMW   และ   Volvo   เริ่มแนะนำรถยนต์ไอบริดเสียบปลั้กเข้าทำตลาด อย่างหนักในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา และเศราฐีจำนวนมากก็สนใจซื้อหาเช่นกัน

บริษัทเหล่านี้จึงถือกำเนิดขึ้น และสร้างจุดชาร์จให้ทั้งกับเจ้าของรถยนต์เอง รวมถึงกับบริษัทห้างร้านที่ต้องการจุดชาร์จสำหรับรถยนต์ไฮบริดเสียบปลั้กทั้งหลาย ซึ่งหัวชาร์จเดียวกันนี้สามารถใช้ได้กับรถยนต์ไฟฟ้า 100%  ได้ด้วยเป็นอานิสงค์ทำให้ความหวังรถยนต์ไฟฟ้ามีแสงสว่างปลายอุโมงค์ครั้งแรก

จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว ทำให้นักลงทุนบางกลุ่มเริ่มมองว่า น่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะลงทุนสร้างหัวชาร์จตามที่ต่างๆ เพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต แต่ถึงรถยนต์ไฟฟ้า 100%   จะยังไม่มีมาเยอะนักในวันนี้ ก็พอจะขายบรรดาเศรษฐีที่ขับไฮบริดเสียบปลั้กกันได้ไปพลางๆ แก้ขัดไปก่อนได้เช่นกัน

บริษัทที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจดังกกล่าวในวลานี้ยังไม่เจ้าอื่นทัดเทียมไม่มีใครเหนือ บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด ผู้ก่อตั้ง   EA Anywhere   ผู้ให้บริการสถานีชาร์จ และจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า  ตามที่สาธารณะ ซึ่งเริ่มเปิดให้ทดลองใช้มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2018 และขยายจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

จนล่าสุดเริ่มขยายไปตามต่างจังหวัดแล้ว ในหัวเมืองใหญ่ และมีแผนขยายให้ครอบคลุมกว่า 1,000 จุด ภายในปีหน้า โดยนอกจากจะหาสถานที่วางจุดชาร์จเองแล้ว ยังเปิดให้ผู้ที่สนใจ สามารถเข้าร่วมโดยซื้อตู้ชาร์จในลักษณะแฟรนไชล์ไปลงในพื้นที่ของตัวเองได้ด้วย  

การขยายจุดชาร์จดังกล่าวเริ่มครอบคลุมขึ้นอย่างมาก จนทาง  Nissan  นำเอาเรื่องดังกล่าวมาพูดถึงว่า มีจุดชาร์จ 244 จุด ที่นิสสัน ลีฟ สามารถเข้าใช้บริการได้

แต่ถ้าเทียบกับในประเทศที่มีการส่งเสริมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในญี่ปุ่นแล้ว เราจะพบว่า จุดชาร์จในประเทศไทย ที่มีเพียงหลักพันแห่งต้นๆ ถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับบริการชาร์จไฟฟ้าที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในปี 2015 มีรายงานว่า จุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในญี่ปุ่นมีมากถึง 40,000 แห่ง นั่นมากกว่าจำนวนปั้มน้ำมันในประเทศญี่ปุ่นเอง และยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ ซึ่งมาถึงวันนี้ก็คงทะลุ 50,000 แห่ง ทั่วประเทศไปแล้ว

ไฮบริด..ไม่ได้ปูทางสู่รถยนต์ไฟฟ้า

ในภาพหนึ่งรถยนต์ไฮบริดหรือรถที่ใช้พลังงานผสมผสานระหว่างเครื่องยนต์สันดาปภายใน และมอเตอร์ไฟฟ้าที่มีออกมาขายมากขึ้นอาจจะดูเหมือนส่งเสริมให้คนใช้รถยนต์ไฟฟฟ้ามากขึ้น

แต่ในต่างประเทศ ตลอดจนการวิจัยทั่วโลก รวมถึงจากบริษัทรถยนต์เอง ต่างชี้แล้วว่านั่นไม่ใช่เรื่องจริง ของการเปลี่ยนพฤติกรรมคนให้หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า แม้ว่าจะมีรุ่นแบบที่เสียบปลั้กชาร์จแล้วก็ตาม

เมื่อไม่นานมานี้ผู้บริหารระดับสูงของ   Toyota  ,นาย โคอิชิ คาเนโกะ วิศวกรผู้อยู่เบื้องหลังรถยนต์   Toyota Prius   ออกมาฉายภาพถึงการเปลี่ยนแปลงของรถยนต์ไฮบริดยุคต่อไป

โดยท่ามกลางการให้สัมภาษณ์เขาเปิดเผยกับสื่อว่า รถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้า ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน และรถยนต์ไฮบริดไม่มีทางจะผลักดันคนหันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้ เนื่องจากคนซื้อรถยนต์ไฮบรืด จะมองหาความคุ้มค่าจากการซื้อรถ ไม่ใช่ต้องการใช้เทคโนโลยีใหม่

การมองว่ารถยนต์ไฮบริดเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่เทคโนโลยีใหม่อาจเป็นความเข้าใจผิดในการมองตลาด จึงจะเห็นได้ว่า   Toyota   ทำรถยนต์ไฮบริดกับไฮโดรเจนแยกรุ่นกันไปเลย เพราะยังไม่เชื่อในการเปลี่ยนถ่ายว่า รถประเภทหนึ่งจะดันไปสู่อีกประเภทได้

ซึ่งในญี่ปุ่นเองแม้จะมีรถยนต์ไฟฟ้าขายมานานแต่ก้ใช่ว่าเราจะเห้นคนใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันเยอะมาก เรียกว่ายังอยู่ในจำนวนจำกัดสำหรับคนที่สนใจจริงๆ

2018 จุดเริ่มต้นรถยนต์ไฟฟ้า ที่แท้จริง

ประเด็นเรื่องจุดชาร์จไฟฟ้า ประกอบกับการขาดองค์ความรู้เรื่องรถยนต์ไฟฟ้าของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ทำให้รถยนต์ไฟฟ้ายังไม่ถูกนำมาขายในประเทศไทยอย่างจริงจังมาก่อน ในปี 2016 (โดยประมาณ)   BMW   เคยนำ  BMW i3   เข้ามาขายในไทย แต่นั่นเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น และไม่มียอดขายชัดเจนว่า ขายได้กี่คัน  

แต่กระแสรถยนต์ไฟฟ้าได้รับความสนใจน้อยถ้าถามว่าค่ายไหนเป็นพระเอก ต้องยกให้ บริษัทรถยนต์เจนเนอเรชั่นใหม่  Fomm   ที่ออกมาเปิดตัวรถยนต์ ไฟฟ้า   Fomm One  มาฟอร์มดีในระยะแรกด้วยราคาขายที่คาดว่าจะเริ่มได้ต่ำกว่าอีโค่คาร์เพียง3 แสนกว่าบาทกลางๆ แถมยังลอยน้ำได้ เริ่มทำให้คนจำนวนมากคิดว่า รถยนต์ไฟฟ้าน่าสนใจ

Fomm One

การเปิดตัวรถในงาน   Motor Show   ปี 2018  เมื่อช่วงต้นปี Fomm   ได้รับความสนใจอย่างมาก เรียกว่าคนเข้าบูธตลอดเวลาหัวบันไดไม่แห้ง บ้างสนใจจองทิ้งไว้ และบ้างอาจตัดสินใจสั่งซื้อ

ในขณะที่   Fomm   มาดีทางได้  BYD   ประเทศไทย ก็เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าหลายรุ่นแต่ที่ได้รับความสนใจและวางขายจริง คือ   BYD e6   ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าอีกรุ่นที่ได้รับความนิยมทั่วโลก   

BYD e6   เคาะราคาขายที่ 1.89 ล้านบาท เป็นค่าตัวรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ซึ่งมีราคาไม่สูงมากนัก ส่วนหนึ่งมาจากการประกาศเศรษฐกิจการค้ากับจีน ซึ่งสินค้ารถยนต์ไฟฟ้าได้รับสิทธิทางภาษีนำเข้า  0% และ BYD e6   ถูกนำไปใช้เป็นรถแท็กซี่สาธารณะด้วย 

ทางด้าน   Hyundai   แบรนด์รถยนต์จากเกาหลี ก็ขอกระโดดเข้ามาร่วมวงรถยนต์ไฟฟ้าด้วย โดยเปิดรถยนต์ไฟฟ้า   Hyundai ioniq   ออกมาทำตลาดโดยไวขายในราคาเดียวกับ   BYD 1.89   ล้านบาท แต่มีจำนวนจำกัดเพียง 28 คัน ได้ทราบมาว่าตอนนี้ขายไปได้แล้วเกือบครึ่ง ประมาณ 12 คัน ยังเหลืออีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นยอดขายที่ไม่น้อยเลย สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจากเกาหลี

และท้ายสุดปีนี้   Nissan   ในฐานะแบรนด์จากญี่ปุ่น จัดการเปิดตัว   Nissan LEAF   รถยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในโลก ออกมาให้คนไทยได้สัมผัส สนนราคา 1.99 ล้านบาทเป็นค่าตัว

Nissan  LEAF   แพงเกินไป หรือ รอจังหวะเหมาะสม

ท่ามกลางวงการข่าวสารยานยนต์  ตั้งแต่   Nissan LEAF  เปิดตัววางจำหน่ายกระแสรถยนต์ไฟฟ้าที่เคยคาดว่าจะมาครองใจคนไทยรายนี้กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างถ้วนหน้า ทั้งในแง่ของราคาและภาษีจากภาครัฐบาลที่แลดูยังสูง จนคนทั่วไปไม่อาจเอื้อม ลามไปถึงความไม่จริงใจต่อภาครัฐบาลที่อยากให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้าแต่ไม่ช่วยสนับสนุอย่างที่ควรจะเป็น

ประเด็นเรื่อง Nissan  LEAF   กลายเป็นเรื่องเด่นประจำงานรถยนต์ส่งท้ายปี แต่ก็มีหลายมุมมองต่อราคา ว่ามันแพงเกินไป หรือเหมาะสมแล้ว

ในมุมหนึ่ง สำหรับคนที่ติดตามวงการข่าวสารยานยนต์อย่างต่อเนื่อง  Nissan  LEAF   ถือว่าเปิดตัวด้วยราคาที่แพงกว่าเคยคิดเอาไว้มาก เนื่องจากในช่วงแรกที่เปิดตัวทำตลาดมีการเปิดเผยจากข้อมูลหลายแหล่งว่า น่าจะมีราคาขายเพียง 1.5-1.6 ล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากนิสสันสนใจในการขายรถยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน และมีแผนเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดในไทย

แต่ท้ายที่สุดกลายเป็นนิสสัน เลือกจะลงทุนแต่   Nissan  e Power  ระบบขับเคลื่อนไฮบริดเท่านั้น ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าที่เคยลั่นวาจาไว้ ต้องนำเข้าจากญี่ปุ่นทั้งคัน เพื่อมาสนองตลาด ซึ่งประเด็นการนำเข้านี่เองที่เป็นหัวใจสำคัญ ถึงราคาที่พุ่งสูงลิ่ว

แม้ว่า ไทยและญี่ปุ่นจะมีข้อตกลงทางการค้าระหว่างกันที่เรียกว่า   JTEPA  และมีการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ลงต่อเนื่อง จนปัจจุบันเหลือเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น แต่ก็ยังเจอภาษีอีกหลายตัว อาทิ ภาษีสรรพสามิต ,ภาษีมหาดไทย และภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเราได้นำเสนอไปแล้วในบทความเกี่ยวกับ ราคา นิสสันลีฟ

การต้องนำเข้าทั้งคัน ดังกล่าวเป็นเหตุผลที่ทำให้มีราคาสูง แต่นั่นอาจไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด

เพราะมองในมุมหนึ่งถึงความพร้อมเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ถือว่ายังมีน้อยมาก โดยเฉพาะเรื่องสถานีชาร์จ และยังขาดความเข้าใจต่อตัวเทคโนโลยีต่อข้างมากเช่นกัน

เรื่องดังกล่าวอาจทำให้นิสสันอาจต้องการเลือกคนที่รู้และเข้าใจมาซื้อ การสร้างกำแพงราคาเป็นข้อหนึ่งที่สามารถทำให้รถยนต์ไฟฟ้าอยู่ในมือของคนที่สนใจและต้องการอยากใช้งานจริงๆ 

ตลอดจนด้วยความยังไม่พร้อมของทั้งสถานีชาร์จ และ อาจหมายรวมถึงบริการหลังการขายรถยนต์ไฟฟ้า ที่ต้องใช้ช่างผู้ชำนาญการเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการซ่อมบำรุง ผู้เขียนเคยคุยกับค่ายรถยนต์  BMW   ที่มีตัวแทนจำหน่ายเปิดขายรถยนต์ไฟฟ้า   BMW I   ย่านแจ้งวัฒนะ พบว่า การซ่อมบำรุงรถยนต์ไฟฟ้านั้น จะต้องความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และต้องมีการลงทุนเครื่องมือต่างๆ ที่จำเป็นในการดูแลรักษารถ เนื่องจากเป็นระบบไฟฟ้ากำลัง (ไฟฟ้าแรงสูง๗

การสร้างกำแพงราคาขึ้นมาในช่วงแรก อาจทำให้นิสสันพอประวิงเวลาเพื่อเตรียมพร้อม และรอให้วันที่โครงสร้างพื้นฐาน เช่นศูนย์บริการสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และ สถานีชาร์จพร้อมมากกว่านี้ แล้วค่อยว่ากันใหม่ก็เป็นไปได้

ถ้านับจากวันนี้ไปอีก 4 ปีข้างหน้า  ประมวลตามข้อตกลง   JTEPA   , มีโอกาสที่การนำเข้ารถยนต์ต่ำกว่า 3,000 ซีซี จะเหลือ 0%   เหมือนข้อตกลงจากประเทศจีน หรือ พูดง่ายๆ ราคา  Nissan  LEAF จะมีราคาขายลดลงอย่างน้อยที่ 20%   จากปัจจุบัน และอาจยังเข้าต่อเงื่อนไขการคิดภาษีรัฐบาลที่จะประกาศในอนาคตด้วย

4 ปีต่อจากนี้ นั่นหมายถึงว่า จะเป็นช่วงเวลา   Nissan  LEAF Minor Change  พอดี  ซึ่งก็เข้าทางนิสสันอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้ามีการพัฒนาความสามารถในการขับขี่ทุกปี ให้มีระยะทางมากขึ้นเป็นอานิสงค์ตามมาด้วย

นอกจากนี้ถ้ามองราคาขายรถยนต์ไฟฟ้า   Nissan  LEAF   เทียบกับจากแบรนด์จีน และเกาหลี  ที่มีราคาอยู่ที่ 1.89 ล้านบาท เป็นค่าตัว รถยนต์ไฟฟ้าจากญี่ปุ่นก็แพงกว่าเพียง 1 แสนบาทเท่านั้นเอง

อีโค่คาร์ไฟฟ้า หมัดเด็ดรอแจ้งเกิด

ถ้ามองว่ารถยนต์ไฟฟ้าไม่มีทางที่ราคาของมันจะราคาถูกได้ในอนาคตก้คงจะดูใจร้ายไปนิด

เพราะในเวลานี้ภาครัฐกำลังพยายามผลักดันโดยจับเอาโครงการรถยนต์นั่งประกยัดพลังงานหรืออีโค่คาร์ มาปัดฝุ่นให้สามารถใช้เทคโนโลยีได้หลากรูปแบบไม่จำกัดเพียงที่เคยนำเสนอซึ่งมีรายงานหลายครั้งว่าจะรวมถึงการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าด้วย

โครงการรถยนต์อีโค่คาร์อีวี เริ่มเป็นที่พูดถึงท่ามกลางวงการข่าวเศรษฐกิจ ซึ่งมีรายงานออกมาอย่างต่อเนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมว่า ท้ายที่สุดแล้วโครงการนี้น่าจะเป็นรูปธรรม เนื่องจากความสมดุลทางด้านภาษีและการสนับสนุนให้รถยนต์ไฟฟ้าได้เกิดขึ้นในไทย

แนวคิดโครงการถรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการพูดคุยกันมายาวนาน ตั้งแต่ช่วงปี 2014 โดยในตอนนั้น   Mitsubishi  Motor   มองว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะขายรถยนต์ไฟฟ้า และพวกเขาพร้อมถ้าภาครัฐไทยจะเอาด้วย ในเวลานั้นบริษัทกะจะเอาระบบจาก   Mitsubishi  i-Miev  แปลงมาลง   Mitsubishi  Mirage   

Honda   เป็นหนึ่งในแบรนดืที่เข้ามาทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก

ในมุมหนึ่งจะว่าไป ด้วยข้อจำกัดของรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันที่ยังไม่สามารถขับได้ไกลมาก หรือถ้าอยากให้ขับได้ไกล ก็ต้องเจอราคามหาโหด

การส้างสมดุลตรงกลาง ด้วยการปั้นรถเล็กไฟฟ้าออกมา เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบในการขับขี่ที่จำเป็นของคนเมืองทดแทนการใช้รถยนต์ ก็น่าจะเรียกว่า ตอบโจทย์ได้ถูกต้องตรงเป้าหมาย

และรอเพียงการตัดสินใจจากภาครัฐว่า จะเดินหน้ากลายเป็นจริงหรือไม่

อยากให้ใช้ รัฐต้องช่วย .. จัดโปรหนักส่งเสริมคนชนชั้นกลาง

ถ้าคุณมองว่าราคารถยนต์ไฟฟ้าค่อนข้างแพงก็ไม่แปลกนัก เนื่องจากทางบริษัทรถยนต์คงจะต้องขอถอนทุนทำกำไร จากที่ลงทุนวิจัยนานแรมปี โดยเฉพาะแบตเตอร์รี่ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ในหลายประเทศ ที่รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยม ภาครัฐเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสร้างโปรโมชั่น ให้คนสนใจจะใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะกับกลุ่มคนชนชั้นกลาสง วัยทำงานที่ใช้รถยนต์ทุกวัน แล้วยังลังเล ว่าจะซื้อใช้ดีหรือไม่

การกำเนิดรถยนต์ไฟฟ้านั้นสูตรสำเร็จของแทบทุกประเทศไม่ว่าจะในสแกนดิเนเวีย , ญี่ปุ่น หรือ ในอเมริกา คือการให้เงินสนับสนุน (Incentive)   แก่ผู้ซื้อ พร้อมสิทธิประโยชน์ต่างๆ นานามากมาย ซึ่งในประเทศไทย มีแต่คำว่า “อยากให้คนใช้” แต่ไม่มีอะไรให้ติดปลายนวมมาเลย นอกจากคำบอกเล่าจากภาครัฐบาล

การให้เงินสนับสนุนเพื่อซื้อรถก็ไม่ใช่แนวทางใหม่ ด้วยประเทศไทยเคยผ่านประสบการณ์โครงการสุดติ่ง “รถคันแรก” เชิญชวนให้คนซื้อรถกันจนผลิตมาขายไม่ทันมาแล้ว แนวทางเดียวกันนี้อาจสามารถปรับใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าได้ โดยอาจไม่เป็นเงินให้กับลูกค้าเมื่อออกและครอบครองรถไปแล้ว

แต่อาจเป็นเงินโปรโมชั่นให้เปล่าจากรัฐบาลสนับสนุนให้คนที่สนใจมีเงินขวัญถุงเสาะหารถยนต์ไฟฟ้าที่ถูกใจ สามารถใช้ได้ทั้งเป็นส่วนลดเงินสด หรือใช้เป็นเงินดาวน์ก็ได้  ในต่างประเทศอย่างเช่นอเมริกา มีการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว โดยผู้ที่สนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามีโอกาสจะได้รับสนับสนุนจากรัฐบาลตั้งแต่ 2,500-7,500 ดอลล่าร์ (75,000-225,000บาท)  ตามแต่ราคา ขนาดรถยนต์ไฟฟ้าที่จะซื้อ

ในญี่ปุ่นภาครัฐ เริ่มหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าก่อน เพื่อส่งเสริมคนสนใจ

ไม่เพียงเท่านี้ยังมีการให้สิทธิประโยชน์ เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เช่น ในอังกฤษ รถยนต์ไฟฟ้าสามารถขับในช่องทางเดินรถสาธารณะหรือบัสเลนได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย , หรือในประเทศออสเตรีย อนุญาตให้รถยนต์ไฟฟ้าวิ่งเร็วกว่ากฎหมายกำหนดได้ถึง 130 ก.ม./ช.ม. มากกว่ารถยนต์ใช้เครื่องยนต์ปกติ 100 ก.ม./ช.ม.

รวมถึงบริษัทห้างร้านเอกชน ก็มีการให้ความสำคัญต่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เช่นการจัดที่จอดพิเศษสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า หรือ สามารถจอดในสถานที่ซึ่งอำนวยความสะดวกกว่ารถยนต์ปกติทั่วไป

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาในประเทศไทย …ไม่มีการส่งเสริมอะไรทั้งสิ้น นอกจากปล่อยให้คนใช้ หรือผู้ที่สนใจจัดการกันเอง แล้วหวังว่า รถยนต์ไฟฟ้าจะนิยมเองในที่สุด

Car Sharing   ใช้ด้วยกัน รถยนต์ไฟฟ้าอาจเกิดตรงนี้

มุมมองอนาคตกับการขับขี่รถยนต์ ทั่วโลกต่างเห็นพ้องต้องกันว่าในที่สุดรถยนต์ จะไม่ใช่สินค้าที่ต้องมีเป็นของตัวเองอีกต่อไป เนื่องจากมีการเสื่อค่าเสื่อมราคา ต้องดูแลมากขึ้น

แนวคิดเรื่อง   Car Sharing   เป็นแนวคิดที่มีการพูดถึงมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยหลักการคือ มีการปล่อยเช่ารถที่ใครจะสามารถนำไปใช้ก้ได้ แล้วไปดรอป ,จอดตามจุดที่กำหนดไว้ เพื่อรอคนอื่นมาใช้งานต่อไป

ในบางประเทศ   Car sharing  ได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากง่ายต่อการจัดการต้นทุน และมีรูปแบบที่เหมาะสม ตลอดจนยังสร้างข้อจำกัดผู้ใช้ได้ด้วย

ปัจจุบันในไทยมีธุรกิจ   Car Sharing  แต่ยังไม่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจแบ่งปันกันใช้ อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเกิดความสนใจ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจหลักกการ แนวทาง และคุณลักษณะในการขับขี่

ถ้าจะให้รถยนต์ไฟฟ้านิยมควรต้องได้มีโอกาสลองใช้ และจุดที่ดีที่สุดอาจจะอยู่ที่ระบบขนส่งแบบ   Car Sharing  ซึ่งทุกคนมีโอกาสจะสัมผัสว่ารถยนต์ไฟฟ้าเป็นอย่างไร ขับดีหรือไม่ น่ากลัวรึเปล่า

ปัจจุบันมีโครงการถยนต์แบ่งปันเดียวที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นของ  Toyota Ha-mo   ซึ่งใช้ในพื้นที่จำกัดบางแห่ง เช่นในมหาวิทยาลัย หรือสถานที่ท่องเที่ยว แล้วก็ยังไม่ใช่รถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ แต่ก็มีบางบริษัทออกมานำเสนอความคิดดังกล่าวแล้ว เพียงแต่วันนี้เรายังไม่เห็นว่ามันเกิดขึ้น

ส่องอนาคต  รถยนต์ไฟฟ้าจะนิยมหรือไม่ ….ในอนาคต

แม้ว่าต่างประเทศ จะเอาจริงเอาจังเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดโลกร้อน แล้วหันใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลยังไม่มีความเคลื่อนไหวในประเทศไทย

ที่ผ่านมารถยนต์ไฟฟ้าถูก กูรูรถยนต์บางคนมองแบบขวานผ่านซากว่า ถ้าใช้รถยนต์ไฟฟ้าเยอะ ไฟฟ้าจะไม่พอ , ถ้าใช้เยอะก็ก่อมลภาวะเยอะที่โรงไฟฟ้า รวมถึงแหล่งที่มาของพลังงานไฟฟ้า และต่างๆ นานา อีกมากมาย เป็นประเด็นที่ทำให้… แทบจะพูดได้เลยว่า ไม่น่าจะมีทางได้เกิดในบ้านเรา

ความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้าจะเกิดหรือไม่ในอนาคต ยังเป็นภาพที่ไม่ค่อยชัดเจนนัก เพราะไม่มีทางที่เราจะเปลี่ยนความเชื่อของคนได้ในวันสองวัน แต่อาจจะต้องใช้เวลาเป็นเดือนเป็นปี กว่าจะเกิดการยอมรับและหันมาให้ความสนใจ ศึกษาใช้งาน คล้ายกับมือถือสมาร์ทโฟน ใช้เวลายามนานกว่าได้รับการยอมรับ จนทุกคนในวันนี้หันมาใช้

ถ้าให้ประมาณการคร่าวๆ ก็น่าจะ 4-5 ปี ต่อจากนี้ คนไทยจะเริ่มสนใจรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น แม้ว่านิสสันจะเคยวิจัยพบว่า รถตคันต่อไป คนส่วนใหญ่มองว่าจะหันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าก็ตาม

ความเป็นไปได้ดังกล่าว เป็นแรงผลักดันจากระบบเครื่องยนต์ไฮบริดที่จะเป็นตัวอุ้มชู โดยเฉพาะรถยนต์ไฮบริดเสียบปลั้ก ให้คนไทยรุ่นใหม่สนใจ และจบลงด้วยตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากมีความเข้าใจระบบขับเคลื่อนมากขึ้น

แต่ก็ต้องยอมรับว่า คงจะไม่ใช่จำนวนมาก ขนาดใช้กันทั้งบาง เนื่องจากการขับรถยนต์ไฟฟ้าจำเป็นต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ และการใช้งานบางประการ อาจไม่สะดวกต่อทุกคนที่สนใจ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าอาจยังไม่เหมาะเดินทางไกล ถ้าในประเทศไทย ยังมีสถานีชาร์จไม่ครอบคลุม

ต่อข้อคำถามเรื่องไฟฟ้า กับรถยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันประเทศไทย อาจใช้พลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟออสซิลก็จริง แต่ก็มีภาคเอกชนบางรายและหลายรายเริ่มใส่ใจกับคำว่าพลังงานสะอาด , เช่นพลังงานจากลม และแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน ใช้ได้ไม่จำกัด หากก็ต้องยอมรับว่ายังน้อยกว่าการใช้พลังงานจากฟอสซิลมาก ทว่าก็พัฒนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง เช่นการตั้งกังหันลม ที่อำเภอ ห้วยบง , เขายายเที่ยง และอีกหลายจังหวัดในเขตภาคกลาง

ดังนั้นถ้าตอบว่า รถยนต์ไฟฟ้าเป็นเทคโนโลยีสะอาดได้หรือ ต้องตอบว่าได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาไฟฟ้า ว่ามาจากแหล่งเชื้อเพลิงใดที่ทำให้เรามีกระแสไฟฟ้าใช้ ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็ดีกว่าเรามาสันดาปเอากำลังเหมือนที่ใช้กันในรถยนต์ทุกวันนี้อย่างแน่นอน เพราะการกำจัดมลพิษที่โรงไฟฟ้ามีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

และล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  ออกมาเปิดเผย โยคาดการณ์ว่ารถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า จะมียอดขายในปี พ.ศ.2562 ถึง3.85 หมื่นคัน หรือเติบโประมาณ  83%   ของปี  2561  โดยในจำนวนนี้คาดว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบ Batterry Electric Vehicle   400-450 คัน หรือ เป็นการเติบโต 327-718%  จากเดิมในปัจจุบัน

รถยนต์ไฟฟ้าจะนิยมไหม ในอนาคต คำตอบคือ นิยมแน่ … แต่ยังอาจอยู่ในวงจำกัด ทั้งหมดทั้งมวล มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกันด้วย

ทั้งความตั้งใจจริงของภาคเอกชนในการนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาขายในราคาที่กำไรพองาม และไม่สูงจนยากจะจับต้อง ภาครัฐที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุน มีสิทธิพิเศษให้คนอยากใช้รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการส่งเสริมในแง่การลงทุน แก่ผู้ประกอบการ ที่สนใจจะมาไทยเป้นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

ไปจนถึงการสร้างความตระหนักรู้รถยนต์ไฟฟ้า ทั้งจากภาครัฐบาล , เอกชน และ สื่อมวลชน ที่ควรจับมือร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทย ไปสู่มืองปลอดมลพิษ ลดมลภาวะใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากกว่าปัจจุบัน ไม่ใช่ยืนกระต่ายขาเดียว ทู่ซี้ว่า รถยนต์ไฟฟ้าไม่ควรขายในไทย มันควรเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคตัดสินใจไม่ใช่เรา ตัดสินใจแทนคนอื่น แทนลูกหลาน ที่อาจจะต้องใช้ชีวตหลังเราจากไป กับสภาวะแวดล้อมที่ถูกทำลายจากพฤติกรรมของเราในอดีต

และสำคัญที่สุดการมีองคืความรู้เรื่องรถยนต์ไฟฟ้า ที่ควรจะต้องส่งต่อสุ่ทั้งคนรุ่นใหม่ และคนทั่วไปที่กำลังสนใจ แต่อาจจะยังไม่เข้าใจดี

ผมไม่บอกว่ารถยนต์ไฟฟ้าเกิดไม่ได้ แต่มันต้องอยู่กับความร่วมมือกันหลายภาคส่วน เพราะการเปลี่ยนแปลงแนวคิดในการเดินทางเป็นเรื่องใหญ่ เหมือนกับในอดีตที่เราเปลี่ยนการใช้ม้า วัว และควาย รถลากมาสู่ การใช้รถยนต์ มันไม่ง่ายที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมคน ไปสู่ทิศทางใหม่ ด้วยเป็นสิ่งที่ยึดติดกันมายาวนานหลายชั่วอายุคน

แต่มันคงผิดเช่นกันถ้าตัดสินว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะสม กับคนไทย … 

เราควรปล่อยให้สังคมตัดสินว่ารถยนต์ไฟฟ้าเหมาะสมกับการใช้งานหรือไม่  แล้วเมื่อนั้นการขับขี่ที่ไร้มลภาวะประหยัดรักษ์โลก จะเกิดงอกงามเองในใจคนไทย และนิยมไปในวันหน้า คล้ายสมาร์ทโฟนที่วันนี้เราขาดมันไม่ได้

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่