“คาร์ซีท” ถือเป็นชิ้นส่วนเสริมเพื่อความปลอดภัย ที่ก่อให้เกิดการถกเถียงในประเทศไทยอยู่พักใหญ่ เมื่อมีการประกาศบังคับใช้มันกับผู้โดยสารเด็กเล็กเมื่อไม่กี่เดือนก่อน

ดังนั้นเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับผู้ที่เดือดร้อน และเป็นการสนับสนุนความปลอดภัยสำหรับเด็ก ทางภาครัฐจึงได้มีการประกาศราชกิจจานุเบกษา งดเว้นภาษีนำเข้า “คาร์ซีท” ออกมาเมื่อไม่นานมานี้

เบาะเด็ก คาร์ซีท

อ้างอิงจาก ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากร ตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 5) ซึ่งถูกเปิดเผยเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ระบุว่า

เพื่อประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศและความผาสุกของประชาชน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 12 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

  • ข้อ ๑ ให้ยกเลิกการลดอัตราอากรสำหรับของตามประเภทย่อย 9401.80.00 ตามบัญชีอัตราอากรท้ายประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากร ตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ลงวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า และให้ลดอัตราอากรและยกเว้นอากรสำหรับของดังกล่าวตามบัญชีอัตราอากรท้ายประกาศนี้แทน
  • ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

นอกจากนี้ ในประกาศราชกิจจานุเบกษาฉบับดังกล่าว ยังได้มีการเผยเงื่อนไขการคิด “ภาษีนำเข้าคาร์ซีท” เพิ่มเติมอีก ซึ่งจะมีใจความเป็นลำดับว่า

  • ก่อนหน้าการประกาศราชกิจจาฯ การเก็บภาษีอากรนำเข้าอุปกรณ์คาร์ซีท จะคิดอัตราส่วนที่ ร้อยละ 80 (80%)
  • เมื่อมีการประกาศราชกิจจาฯ อุปกรณ์คาร์ซีท ที่ถูกนำเข้ามา ตั้งแต่วันที่มีการประกาศ (ตามประกาศระบุว่าคือวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2565) จะถูกงดเว้นการเก็บภาษีอากรนำเข้า หรือก็คือ ไม่มีการคิดอากรภาษีเพิ่มเติม (0%) สำหรับการนำเข้ามาวางขายในไทย
  • การงดเว้นการเก็บภาษีอากรนำเข้าอุปกรณ์คาร์ซีท ตามประกาศราชกิจจาฯในครั้งนี้ จะมีผลถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566 (หรือก็คือจะงดเก็บภาษีถึงสิ้นปีหน้า)
  • สำหรับอุปกรณ์คาร์ซีท ที่ถูกนำเข้ามาเพื่อวางจำหน่ายในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 (หลังหมดช่วงการงดเก็บภาษีอากรตามประกาศ) เป็นต้นไป จะถูกนำกลับมาคิดการเก็บภาษีอากรนำเข้าอีกครั้ง ด้วยอัตราส่วนที่ ร้อยละ 20 (20%)

อ่านราชกิจจานุเบกษาตัวต้นฉบับได้ที่นี่

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่