ท่ามกลางการแต่งรถในทุกวันนี้เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อย ต่างเห็นว่ามีของเล่นในรถยนต์ที่เราใช้ต่างๆ มากมายมาช่วยตอบโจทย์การขับขี่ ของบางชิ้นใช้ได้ดี และบางชิ้นไร้ประโยชน์ จนคุณอาจลืมนึกไป นั่นทำให้เราต้องเปิดคอลัมน์ใหม่ที่เรียกว่า “รู้ก่อนแต่ง” เพื่อเข้าใจอย่างถูกต้อง

หลายปีที่ผ่านในกลุ่มผู้แต่งรถยนต์ฮอนด้า มีการพูดถึงชิ้นส่วนใหม่ช่วยในการขับขี่ที่เรียกว่า  “ซับเฟรม” จากข้อมูลที่เราทราบมา พวกมันถูกเผยสรรพคุณช่วยในการขับขี่โดยตรง ทำให้รถเข้าโค้งดีขึ้น และด้วยราคาของพวกมันที่ถูกแสนถูก เริ่มต้นเพียงพันกว่าบาง จึงเป็นของแต่ในรายการ “ของมันต้องมี” ที่เพื่อนคุณพยายามเป่าหูว่า ต้องซื้อ โดยที่คุณอาจจะยังไม่เข้าใจมันเลยก็ได้

“ซับเฟรม” (SubFrame)  คืออะไร  

ซับเฟรม คือ ชื้นส่วนโครงสร้างแยกอิสระรูปแบบหนึ่งที่ใช้ในการติดตั้งในรถยนต์ เพื่อรองรับโครงสร้าง และอาจจะรวมถึงชิ้นส่วนอื่นๆ ของตัวรถ อาทิ ระบบกันสะเทือน และยังมีส่วนช่วยในการรองรับแรงบิดตัวถังที่เกิดขึ้นในระหว่างการขับขี่หรือการเข้าโค้ง ช่วยให้รถมีความสามารถในการขับขี่ดีขึ้นเมื่อเข้าโค้ง หรือ ในสถานการณ์อื่นใดที่อาจจะต้องเจอแรงบิดตัวอย่างหนักหน่วง

ความเข้าใจผิดของคนจำนวนไม่น้อยคิดว่า ซับเฟรมไม่ใช่อุปกรณ์มาตรฐานติดมาให้ในรถยนต์ที่เราขับขี่กันธรรมดาทั่วไป ทั้งที่การออกแบบวิศวกรรมรถยนต์จำเป็นต้องติดตั้งชิ้นส่วนของซับเฟรมเอาไว้เพื่อรองรับการกระแทกที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว

ชิ้นส่วนนี้จะติดอยู่กับช่วงล่าง เป็นชิ้นหนึ่งของ สิ่งที่ ศัพท์ทางช่างเรียกว่า “แพ”  ซึ่งจะมีการยึดน๊อตใหญ่ 4-5 จุด แล้วต้องถอดออกเมื่อจำเป็นต้องมีการยกเครื่องยนต์ลงจากห้องเครื่อง หรือถอดประกอบช่วงล่างหน้าหรือหลัง  เนื่องจากเป็นชิ้นส่วนที่อยู่ทางด้านล่างสุดของตัวรถ

ชิ้นส่วน ซับเฟรม เป็นของมาตรฐานในรถยนต์รุ่นใหม่ 

แต่ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ โดยเฉพาะที่เล่นรถซิ่ง เรียก “ซับเฟรม” นั้นหมายถึงของแต่งที่บรรดาห้างร้านต่างๆ ติดตั้งเข้ากับระบบกันสะเทือนทางด้านหลัง (เพียงอย่างเดียว) ผมเห็นพวกมันมานาน และคิดว่าวัสดุอุปกรณ์ชิ้นนี้ น่าจะทำมาจากพวกอลูมิเนียม หรือไม่ ถ้าแข็งแรงหน่อยก็เป็นไทเทเนียม (จากราคาผมว่าน่าจะเป็นอลูมิเนียม)

ลักษณะชิ้นส่วนไม่ว่ายี่ห้อไหนก็เหมือนกัน ประกอบด้วย 3 ชิ้น คือ แขน 2 แขน นำไปยึดกับ…. (อะไรก็ตาม ที่เป็นชิ้นส่วนช่วงล่าง) แต่ไม่ใช่กับโช๊คและสปริงแน่ ส่วนชิ้นกลาง ติดเข้ากับคาน หรือโครงซับเฟรมเดิม เป็นอันเสร็จสิ้น

ซับเฟรมเสริมถูกติดตั้งในรถที่ต้องการขับขี่ด้วยความรุ่นแรง แต่ไม่ใช่ในแบบบ้านเรา

ผมอ่านหลายกระทู้นับสิบ ก่อน จับเอาข้อสรุปคนที่ติดซับเฟรมชิ้นนี้ ว่าได้ผลอะไรบ้าง ส่วนใหญ่จะพูดไปในทางเดียวกัน ว่า

1.สวยงามขึ้น (เนื่องจากเป็นอลูมิเนียม)

2.บางคนรายงานว่า รถมีอาการอันเดอร์สเตียร์ น้อยลง

3.บางคนว่า มันช่วยให้รู้สึกตัวถังแข็งขึ้นด้วย

ประเด็นแรกเรื่องความสวยงาม จากเจ้าซับเฟรมกำมะลอ เป็นเรื่องที่ชัดเจนอย่างมากอยู่แล้ว เนื่องจากเจ้าชิ้นส่วนนี้ทำมาจากอะลูมิเนียม  ซึ่งมีสีสันเงา และดูเด่นเมื่อคุณนำไปใส่ใต้ท้องรถ

แต่เมื่อเรามาพูดต่อไปว่า มันช่วยให้สมรรถนะในการขับขี่ดีขึ้นหรือไม่ … คุณต้องเข้าใจก่อนว่าซับเฟรมจริงๆ ทำหน้าที่อะไร

ทุกครั้งเวลาที่เราเลี้ยวโค้ง , เปลี่ยนเลน หรือทำอะไรก็ตามที่เป็นการบบังคับทิศทางรถในขณะใช้ความเร็ว โครงสร้างตัวถังรถจะมีการบิดตัวเกิดขึ้นไม่มากก็น้อย แรงบิดต่างๆ เหล่านี้จะถูกซับโดยเหล็กของชิ้นส่วนแชสซี ซึ่งมีผลต่อเนื่องกับการทำงานของระบบกันสะเทือน โดยเฉพาะในรถเก๋ง และรถอเนกประสงค์พื้นฐานเก๋ง เนื่องจากชิ้นส่วนช่วงล่าง อันได้แก่ โช๊คและสปริง อาศัยโครงสร้างหลักตัวรถในการ สร้างแรงกดให้ยึดเกาะกับพื้นถนน ซึ่งแรงบิดที่เกิดขึ้นทำให้ช่วงล่างก็เกิดแรงยกตามไปด้วย ทำให้ไม่เกาะถนน

หน้าตาชิ้นส่วน ซับเฟรมเมื่อถอดออกมา อันนี้ของ   Nissan  X-Trail

ซับเฟรม จึงถูกคิดค้นขึ้นในปี 1959 โดย Mini  เป็นรถยนต์แบรนด์แรกในโลกที่นำเอาซับเฟรมติดในรถของพวกเขา และได้รับการกล่าวขานถึงปัจจุบัน เนื่องจากเป็นบริษัทรถที่สร้างรถขับเคลื่อนล้อหน้าที่ยังใช้ในปัจจุบัน โดยหน้าที่ของซับเฟรม ที่ Mini  ผลิต ขึ้นมา คือซับแรงที่เกิดขึ้นจากการบิดของตัวถัง ทำให้แรงบิดหรือการกระเทือนโครงสร้างน้อยลง เกิดความ Stiff   ขึ้นต่อโครงสร้าง และซับเฟรมส่วนใหญ่จะใช้เหล็กที่มีความหนากว่าชิ้นส่วนแชสซีโครงสร้างตัวถัง เพื่อเน้นรับแรงที่เกิดขึ้น

โดยหลักแล้วมันช่วยลดการกระเทือนต่อโครงสร้างลง และ ทำให้เกิดสเถียรภาพต่อการขับขี่มากขึ้น เนื่องจากชิ้นส่วนระบบกันสะเทือนและระบบบังคับเลี้ยว ติดตั้งอยู่เหนือ ซับเฟรมทั้งหมด และจาก Mini   ก็เริ่มได้รับการพัฒนาต่อมาเรื่อยในรถยนต์หลายแบรนด์ จนรถปัจจุบันทุกรุ่นมีชิ้นส่วนนี้อยู่แล้ว  …จากโรงงาน

คุณพอดูออกไหม ตรงไหน ซับเฟรม

ดังนั้นเมื่อย้อนมาที่ เจ้าของแต่งที่เรียกว่า “ซับเฟรม” ในแง่สมรรถนะที่อาจจะเกิดขึ้นนั้นแทบไม่น่ามีความเป็นไปได้ แต่ในทางหนึ่งใช่มันอาจช่วยเพิ่มความแข็งแรงกับชิ้นส่วนที่คุณไปแปะมันติดลงไป คล้ายกับคุณมีกระดาษที่บางแล้วคุณเอากระดาษอีกแผ่นทางกาวติดลงไป มันจะแข็งแรงขึ้น

แต่คำถามที่ไม่มีใครตอบได้แม้แต่คนขายสินค้าชิ้นนี้ คือมันแข็งแรงขนาดไหน โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ใช้กล่าวว่ามันลดการอันเดอร์สเตียร์ได้อาจหมายถึงการที่โครงสร้างหลังมีความแข็งแรงขึ้น จนระบบช่วงล่างหลังให้ตัวน้อยลง แต่ในทางหนึ่งมันอาจหมายถึงการหักพวงมาลัยใช้ความเร็วในสถานการณ์ต่างกันทำให้ผลของเหตุการณ์ออกมาต่างกัน ตามไปด้วย

ถ้ามองในมุมเราที่มีความรู้เกี่ยวกับชิ้นส่วนรถยนต์ ที่เรียกว่า “ซับเฟรม” จริงๆ เจ้าอุปกรณ์แต่งรถราคาไม่กี่พันบางที่ชาวซิ่งวันนี้เรียกว่า “ซับเฟรม” นั้น น่าจะสมควรเรียกว่าค้ำล่างมากกว่า เพราะไม่ได้ยึดกับเฟรมชิ้นใด ยกเว้นระบบช่วงล่าง

แต่ถ้าจะเรียกมันว่าค้ำล่าง ชิ้นส่วนที่ต้องรับแรงกระทำต้องสมควรไม่ใช่อลูมิเนียม ที่ไม่ทนต่อแรงบิด …. ที่เกิดขึ้น ต้องเป็นเหล็ก หรือถ้าเป็นอลูมิเนียมต้องเป็นเกรดสูง ซึ่งไม่มีทางที่ราคาจะเพียงแค่ไม่กี่พันบาทเท่านั้น

คำถาม คือแล้วเราควรจะเรียกมันว่าอะไร …. เงินหลักพันบาท ที่คุณเสียไป กับซับเฟรมกำมะลอชิ้นนี้  ให้ประโยชน์คุณอะไรนอกจากคำว่า “สวยงาม” …. ลองคิดดูก่อนจ่ายครับ

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่