ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเวลาพูดถึงรถยนต์เปิดตัวใหม่ นอกจากออพชั่นต่างๆที่ เราหลายคนพยายามหาเปรียบกับราคา คำถามว่ารถคันนี้เร่ง 0-100 กม./ชม. วิ่งได้เท่าไหร่ จะปรากฏขึ้นทุกครั้งในวงสนทนาทั้งออนไลน์ ออฟไลน์

ว่าแต่เจ้าเลขอัตราเร่งมีผลมากขนาดนั้นเชียวหรือ? ทำไมเราคนไทยใส่ใจมันขนาดนั้น!!!

พวกเราทีมงาน Ridebuster คร่ำหวอดอยู่ในวงการรถยนต์เมืองไทยกันมานานเกิน 10 ปี มากพอที่จะเห็นพฤติกรรมของคนไทยจำนวนมาก มักมีข้อสงสัยต่างๆ นานา บ้างก็เหมือนคนสากลโลกทั่วไป บ้างก็จับแพะชนแกะ สร้างความฉงนน่าสงสัยให้แก่คนอ่านผู้อื่น รวมถึงผู้เขียนในฐานะสื่ออย่างเราด้วย

2017-Volvo-V40-T4-Review004

ประเด็นหนึ่ง ที่ถูกพูดถึงในวงสื่อสังคมออนไลน์ จนกลายเป็นเรื่องเด็ดเผ็ดร้อน ถกเถียงกันอย่างเมามันส์ มาจากเพจหนึ่งที่พูดถึงรถยนต์มีปัญหาเป็นประจำ โดยพวกได้ทำการสำรวจโพล ว่า คนที่กำลังคิดจะซื้อรถคิดอย่างไร ต่ออัตราเร่งรถ  เช่น การออกตัว 0-100 ก.ม./ช.ม. หรือ การเร่งแซง 80-120 ก.ม./ช.ม. จนนักทดสอบรถยนต์รุ่นใหม่ แทบจะทุกคนต้องหันมานั่งทำสถิติจับเวลา กันอย่างหน้าดำคร่ำเครียด ทั้งที่ความจริง อาจไม่สำคัญหรือเปล่า ??

หรือว่าตัวเลขเหล่านี้มีความสำคัญมากมายในมุมผู้บริโภค

หลายเสียงบอกอัตราเร่งแรงไว้ก่อน ปลอดภัย มั่นใจกว่า

คงมีคนสงสัยว่าทำไมเราถึงหยิบยกประเด็นอัตราเร่งมาพูดกันในวันนี้ เหตุผลเนื่องมาจากเราได้อ่านเจอผลสำรวจ จากเพจติดตามรถเจ้าปัญหาชื่อดัง ที่มีคนไลค์กว่า 8.7 หมื่นคน Car Complaint Thailand  พวกเขาเผยว่า ได้ทำการสำรวจด้วยกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้นกว่า 5,700 คัน ภายใต้คำถามว่า

 “คุณคิดว่า อัตราเร่ง มีผลต่อความปลอดภัยหรือไม่”

ผลคือ 92% ตอบว่า อัตราเร่ง มีผลต่อความปลอดภัย ส่วน 8% ที่เหลือตอบว่า อัตราเร่ง ไม่มีผลต่อความปลอดภัย สิ่งนี้บ่งบอกอะไรต่อความคิดของคนขับรถชาวไทยได้บ้าง?

ก่อนอื่นเรามามองกันในมุมของคนส่วนใหญ่ที่ตอบว่า อัตราเร่งมีผลต่อความปลอดภัยยามใช้รถใช้ถนน หากคิดแจกแจงออกมาเป็นเหตุผลทีละข้อ ก็จะได้ข้อมูลอันน่าสนใจดังต่อไปนี้

ถ้าอัตราเร่งดี เวลาแซงในจังหวะฉุกเฉินทำได้รวดเร็วมั่นใจกว่า

ข้อนี้ฟังดูมีเหตุผลเข้าท่าให้น่าคล้อยตาม ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ต้องใช้กำลังเครื่องทั้งหมดเพื่อเร่งหลบสิ่งกีดขวาง หรือแซงรถบรรทุก รถพ่วงเทรลเลอร์คันยาว บนถนนเลนสวนจะทำได้เร็วและมอบความรู้สึกมั่นใจผ่านพ้นไปไวกว่า

มองมุมกลับ – ในสถานการณ์ที่เจอรถเปลี่ยนเลนกะทันหัน หรือรถเลี้ยวกลับรถโดยที่ไม่ได้ให้สัญญาณไฟ ไปจนถึงเหตุอื่นๆ มากมาย ระหว่างการเร่งแซงเพื่อหลบหลีก หรือเหยียบเบรกเต็มที่แล้วหักหลบ การกระทำแบบไหนที่จะลดความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุได้มากกว่ากัน เพราะทั้งสองแบบมีความเสี่ยงในการชนหรือรถตกข้างทางพอๆ กัน

หากเร่งแซงด้วยความเร็วรถอาจหลบพ้นแต่ด้วยการหักเลี้ยวเปลี่ยนทิศทางฉุกเฉิน อาจทำให้รถเสียการทรงตัวจนหมุนไปชนกับรถยนต์คันอื่น หรือหลุดลงข้างทางไปฟาดกับเสาไฟฟ้าหรือต้นไม้

แต่ถ้าคุณคำนวณในใจว่าต้องเบรกเต็มแรง พร้อมกับหาช่องทางที่จะลดความรุนแรงของอุบัติเหตุได้มากที่สุด ข้อนี้ดูเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกว่าหากรถของคุณมีสมาชิกในครอบครัวที่รักโดยสารไปด้วย

รถแรงขนาดไหนก็ไม่เกี่ยว ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และวินัยจราจรของคนขับ

ถ้าคุณเติบโตมากับครอบครัวที่ต้องเดินทางไกล หรือมีเหตุให้ต้องนั่งรถออกไปท่องเที่ยวอยู่บ่อยครั้ง คุณคงได้ยินคุณพ่อคุณแม่พูดบอกกล่าวว่า การขับรถทางไกลไม่ใช่การขับรถให้ถึงจุดหมายเร็วที่สุด แต่เป็นการพาทุกชีวิตที่โดยสารไปด้วยให้ถึงยังจุดหมายอย่างปลอดภัย คำๆ นี้เป็นสิ่งที่หลายคนหลงลืมไปมาก ตามกาลเวลาที่รถยนต์ได้พัฒนาสมรรถนะจนมีอัตราเร่งเร็วแรงดั่งทุกวันนี้

บางทีสิ่งที่คนขับรถยุคใหม่เสพติด ไม่ว่าเรื่องความแรง สมรรถนะช่วงล่าง กับการตอบสนองของพวงมาลัย ตลอดจนระยะเบรกที่หน่วงดีตอบสนองดูดเท้าดีเยี่ยม ทำให้พวกเขาหลงลืมกฎพื้นฐานของการขับขี่รถยนต์ไปแบบไม่รู้ตัว เพราะแทนที่จะเริ่มหัดขับรถยนต์โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเอง รวมถึงห่วงใยผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน กลับแปรเปลี่ยนเป็นโฟกัสที่เรื่องความสนุกสนาน

รถยนต์ขนาดใหญ่ย่อมต้องมีเครื่องที่แรงกว่า แต่เพื่อช่วยในการแบกน้ำหนักเมื่อมีการใช้งานเต็มพิกัด

ผู้เขียนในสมัยเด็กเคยนั่งรถกระบะ Isuzu TFR Spacecab SLX เครื่องดีเซล 2.5 ลิตร 90 แรงม้า ไปกับคุณพ่อคุณแม่กับสัมภาระเต็มคันไปยังจุดหมายที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในสมัยที่ถนนของไทยยังเป็นเลนสวนแถมสภาพถนนก็ไม่ได้เรียบเหมือนกับปัจจุบัน เจ้ากระบะคันใหม่ในตอนนั้นที่ควบคุมโดยมือขับมากฝีมือ พาเราไปถึงปลายทางได้อย่างปลอดภัยไม่มีอะไรให้หวาดเสียว

แม้จะมีบางช่วงที่ต้องขึ้นเขาทางชันมีรถพ่วงคันยาวแล่นช้าอยู่เบื้องหน้า หรือเจอทางลาดชันพร้อมโค้งหักศอกคดเคี้ยวไปมา แต่คุณพ่อของผู้เขียนก็ยังพูดบอกถึงเทคนิคการขับรถ รวมถึงพร่ำสอนเสมอว่าควรคิดว่าผู้ขับคนอื่นเขาคิดอะไร แล้วคำนวณการใช้คันเร่ง เบรก ตลอดจนมองทัศนวิสัยเบื้องหน้าให้ไกลกว่าแค่ท้ายรถคันข้างหน้า

จนถึงปัจจุบันผู้เขียนยังคงนำหลักการที่พ่อเคยสอนมาใช้อยู่ทุกวัน ซึ่งก็เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ตั้งแต่สอบผ่านได้ใบขับขี่รถยนต์มาได้ใช้รถคันเก่งวิ่งไปทุกภาคทั่วไทย ยังไม่เคยเกิดอุบัติเหตุแม้แต่เพียงนิดเดียวให้ต้องปวดหัว

สิ่งที่ยกตัวอย่างมาไม่ได้ต้องการอวดอ้างว่าตนเก่งกาจอะไร หากแต่อยากบอกว่า การขับรถอย่างปลอดภัยนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอัตราเร่งที่แรงเสมอไป (แต่ใช่รถที่เร่งดีกว่า อาจจะทำให้ได้เปรียบในบางจังหวะมากกว่า) แต่การขับรถให้ปลอดภัยมาจากหลายปัจจัย อาทิ ประสบการณ์ ความมีสติ การอ่านความคิดของผู้ขับท่านอื่น ตลอดจนการระแวดระวังรอบข้างตื่นตัวตลอด และการเข้าใจประสิทธิภาพในรถของตนเอง

อัตราเร่ง ตัวเลขโชว์พาว!!  เราได้ใช้จริงหรือ

ทุกวันนี้คุณจะเห็นได้ว่า ทุกรีวิว จากสำนักชั้นรวมถึง   Ridebuster   เราเองก็มีการบันทึกข้อมูลอัตราเร่งของรถเอาไว้อย่างครบถ้วน รวมถึง ข้อมูลการทำความเร็วสูงสุดของรถแต่ละรุ่น เก็บไว้เป็นข้อมูลทางสถิติ เพื่อใช้ในการศึกษาข้อมุลทางวิศวกรรมของระบบขับเคลื่อน และสมรรถนะของรถแต่ละรุ่น

การเปิดเผยข้อมูลอัตราเร่งให้ผู้อ่านได้ทราบ ในฐานะหนึ่งในสื่อมวลชนสายรถยนต์ เราตั้งใจให้ข้อมูลดังกล่าว เพื่อบ่งชี้กับคนที่กำลังตัดสินใจซื้อว่า รถยนต์ที่พวกเขากำลังจะขับนั้นมีความสามารถมากขนาดไหน เช่น เมื่อคุณกระทืบแป้นคันเร่งออกจากไฟแดง มันจะไวขนาดไหนกัน

ถนนเลนสวนมักถูกยกเป็นข้ออ้างของความต้องการอัตราเร่งจากผู้ใช้ส่วนใหญ่ ทั้งที่เราสามารถขับตามกฎจราจร ก็เดินทางถึงจุดหมายได้เช่นกัน

แต่วิธีการวัดของแต่ละสื่อที่คุณรับทราบก็ไม่เหมือนกัน บ้างเป็นนาฬิกาจับเวลาโดยคนปกติที่มีทักษะการจับเวลาดีมาก ,บ้างใช้เครื่องมือหลักหมื่นเรือนแสนในการทำงาน อย่างเรา Ridebuster ใช้การจับ โดย GPS ตามปกติ ทำให้ตัวเลขของแต่ละสำนักไม่มีทางเท่ากัน แถมยังมีปัจจัยอื่น เช่น ถนนที่ใช้จับเวลา เป็นต้น ตัวเลขมากน้อยแต่ละสื่อ จึงพูดได้เต็มปากว่าไม่มีค่ามาตรฐานกลางของการจับอัตราเร่ง อย่างที่ผู้อ่านอาจจะเข้าใจ

ในรถยนต์อีโค่คาร์โดยส่วนใหญ่ อัตราเร่ง จะอยุ่ที่ ราวๆ 20 วินาที และไม่แปลกจากเครื่องยนต์ขนาด 1.2 ลิตร ของมัน รถเครื่อง 2.0 อย่าง  Subaru  XV   จะมีอัตราเร่งอยู่ที่ 12-13 วินาที โดยประมาณ ขณะที่พีพีวีตัวอ้วนอย่าง   Toyota Fortuner เครื่อง 2.4 จะมีอัตราเร่งที่เวลาใกล้เคียงกัน ส่วนรถสปอร์ต จะเร่งเร็วตั้งแต่ 8 วินาที ลงไป เร็วสุดที่เราเคยว้าวคือ   Volvo  XC60 T8  เห็นคันโตๆ แบบนั้น เร็วเป็นจรวด ด้วยอัตราเร่ง 0-100 ก.ม.ช.ม. ในเวลา  5.99 วินาที

ส่วนการเร่งแซง จะใช้สถิติ 80-120 ก.ม./ช.ม. ซึ่งก็สามารถวัดได้ 2 แบบ คือ Cruising and push คือ 80 แล้วกด คันเร่งเดินต่อ แล้วจัดการจับเวลา หรือ อาจจะเป็นวัดต่อเนื่องจาก 0-100 เพียงแต่เหยียบให้ถึง 120 ก.ม./ช.ม. ก็เท่านั้นเอง

แต่เอาตรงๆ ถามจริง เราจะคำนึงถึงอัตราเร่ง เวลาซื้อรถมากขนาดนั้นเลยหรือ

เราพร้อมจะออกตัว 0-100 ตลอดเวลา ขนาดไหน ทั้งที่หันไปข้างๆอาจจะเป็นแฟน หรือ ภรรยา ที่พร้อมจะรอโบกคุณ ถ้าขับรถเร็วเกินไป หรืออย่างดีสุดจะมีสายตาอำมหิต รอพิฆาตที่เรือนไมล์ ไหนจะความห่วงใยกับลูกของคุณ หรือสัมภาระท้ายรถ พ่อตาแม่ยาย เรารีบขนาดไหนถึงจะเร่งสุดตัวในชีวิตประจำวัน

ความจริงคือไม่มีทางหรอกที่คุณจะได้กดเต็มบาทาตลอดเวลา

เมื่อปีกลายทางแอดมินบอล มีโอกาสไปร่วมทริปทดสอบ   Toyota  Camry   แล้วก็เป็นเรื่องที่ทำให้เราฉุกคิดได้ว่า บริษัทรถยนต์ชั้นนำเขาไม่ได้คิดว่า ผู้ซื้อจะแคร์อัตราเร่งมาก ถ้ามันไม่ใช่รถสปอร์ต ที่ถูกออกแบบมาซิ่งจ๋าๆ

หลังจากขับเสร็จก็มาสู่ช่วงถามตอบตามธรรมเนียม การทดสอบรถในการถามตอบ โดยมีหัวหน้าทีมวิศวกร คุณ มาสาโตะ คัทสึมาตะ วิศวกรหัวหน้าพัฒนา   Toyota Camry   นั่งร่วมวงสนทนาด้วย

คำถามหนึ่งที่ผู้สื่อข่าวจากสื่อหนึ่งตั้งคำถามในวงสนทนา คือว่า “รถคันนี้ (Toyota Camry)มีอัตราเร่งเท่าไรครับ “

ทันทีท่านวิศวกรได้รับคำแปลจนเข้าใจ เขาก็ถึงออกอาการหัวเสียเล็กๆ ชี้แจงออกมาเป็นภาษาอังกฤษ ให้สื่อไทยที่ถามถึงกับอึ้งกิมกี่ จับใจความตามที่เขาพูดในตอนนั้น ได้ว่า

อัตราเร่งของรถอาจจะเหมือนมีความสำคัญจริง แต่เมื่อใช้งานจริงผู้ใช้คงไม่ได้ออกตัว 0-100 ทุกครั้งหรือไม่

อัตราเร่งดี = ปลอดภัย .. แล้วตัวช่วยในการขับขี่เรื่องความปลอดภัยคืออะไร

ถ้าถามผม จากที่แอดมินบอลเล่าให้ฟัง ท่านก็พูดถูก เพราะคงไม่มีใครจะมาออกตัว 0-100 ทุกไฟแดงในความเป็นจริง จะมีผู้ซื้อจริงๆ กี่คนที่จะกดเต็มฝ่าเท้าออกตัวอย่างรวดเร็วตลอดเวลา

ดังนั้นในแง่การเปิดเผยตัวเลขอัตราเร่งจากสื่อต่างๆ รวมถึง เรา   Ridebuster   เป็นเพียงการให้ข้อมูลเท่านั้น แต่ถ้าคุณอยากจะซื้อรถเพราะอัตราเร่ง และคิดว่า เร่งเร็วกว่า แล้วมันน่าจะปลอดภัยกว่า เราในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางด้านรถยนต์ ต้องกล่าวว่า เหมือนคนละเรื่องเดียวกัน  

การเร่งแรงกว่าเร็วไม่ได้ให้ความปลอดภัย กลับกันอาจหมายถึง คุณไม่เคยยั้งชั่งใจเวลาใดเหมาะที่จะแซง หรือคำนวนระยะการแซงว่ากดไปแล้วจะไปพ้นหรือไม่ ..หรือเปล่า

ถ้าเครื่องยนต์มีอัตราเร่งสูง คือคำตอบเรื่องความปลอดภัย ทำไม บริษัทรถยนต์ ต้องยัดเยียดออพชั่นความปลอดภัยมาให้เราๆ ท่านๆ อย่างระบบควบคุมการทรงตัว ,ระบบป้องกันลื่นไถลในโค้ง และอีกมากทีมองย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว รถในอดีตยังไม่มีตัวช่วยเท่านั้น ให้ต้องซื้อหากัน ถ้าพวกเขามองว่า เครื่องยนต์แรงกว่า เร่งเร็วกว่า คือรถปลอดภัยกว่า

นั่นแหละครับคำตอบ เพราะรถยิ่งเร็วขึ้น เร่งแรงมากขึ้น ไม่ได้เกี่ยวกับความปลอดภัยโดยตรง แต่เป็นส่วนหนึ่งในความมั่นใจในการขับขี่ ซึ่งผู้ใช้จะรู้สึกดีในยามที่จะตัดสินใจขับไปในจังหวะที่อาจจะมีความสุ่มเสี่ยง

รถที่เร่งเร็วอาจจะช่วยให้ขับแล้วรู้สึกคล่องตัวกว่า กระฉับกระเฉงมากกว่า แต่อัตราเร่งที่เร็วมากขึ้น หมายถึงเครื่องยนต์ต้องแรงมากขึ้นตามไปด้วย ในความเป็นจริง มันสวนทางเรื่องการประหยัดน้ำมันและยิ่งกว่านั้น รถที่มีศักยภาพความแรง จำเป็นต้องได้รับการวิศวกรรม ระบบกันสะเทือน และ ระบบเบรกให้ดีตามไปด้วย เพื่อรับสถานการณ์สุดขั้วด้วย

การเชื่อมั่นในอัตราเร่งของคนไทย หรือจะว่าไป ก็คงไม่ผิดว่า คนไทยบ้าพลัง อาจจะเป็นความเชื่อที่ผิดที่สุดในการมองหารรถสักคัน

เพราะรถที่ดีปลอดภัย ไม่ได้หมายความว่ามันต้องแรงอย่างเดียว มันควรจะลงตัวสมดุล ทั้งกำลังเครื่องยนต์ การตอบสนองช่วงล่างและพวงมาลัย รวมถึงมีตัวช่วยในการขับขี่ รถเหล่านี้บางคันไม่ได้เกินเอื้อม แค่คุณอาจจะต้องลองเปิดใจดูบ้าง นี่สิครับที่ปลอดภัย ไม่ใช่ว่ รถแรงแล้วปลอดภัยอย่างที่เข้าใจกัน

ถ้าคุณเป็นคนที่ขับรถเริ่มมากประสบการณ์ จะค้นพบว่า สามารถขับรถอะไร แบบไหนก็ได้ ถ้าเรารู้จักรถที่เราใช้ดี รถอีโค่คาร์ ก็เดินทางเหนือจรดใต้ได้ พาตัวเองและครอบครัวไปสู่จุดหมายปลายทางได้ปลอดภัย มันไม่ได้เกี่ยวว่าเครื่องต้องแรงจึงจะเร่งแซงมั่นใจ คุณควรคิดว่า เราควรแซงในจังหวะที่เหมาะสมกับเรา  

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่