ปรากฎการณ์สำคัญหนึ่งในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โปปีนี้ ดูท่าจะไม่พ้นการมาของรถยนต์   Nissan LEAF  ที่หลายคนต่างเฝ้าหวังรอ หลัง นิสสันแบะท่าจะมาราคาสักประมาณล้านกลางๆ ตามการให้สัมภาษณ์มาตลอดปี

ราคาที่เปิดมา 1.99 ล้านบาท ถือว่าเป็นราคาที่ในมุมหนึ่งสำหรับเศรษฐีคนมีเงินก็พอจะกล้าควักจ่ายอยู่บ้าง หากในอีกมุมก็ดับฝันคนชั้นกลางที่ไม่ค่อยมีงบประมาณซื้อรถราคาระดับล้านบาทกลางๆ ขึ้นไป จนกลายเป็นกระแสว่า รถยนต์ไฟฟ้าท้ายที่สุด ก็กลายเป็นเพียงของเล่นคนรวยเท่านั้น ในหลายมุมหลายกระแสสังคม

ทำไมแพง???

บางคนอาจสงสัยไปที่ตัวนิสสันเอง ที่อาจจะตั้งราคาเพื่อค้ากำไรจากการนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งก็ไม่แปลกกับในแง่ภาคธุรกิจ แต่นั่นคงไม่ใช่ปัจจัยเดียวเท่านั้น เพราะด้วย  Nissan LEAF   ใหม่ เป็นรถที่นำเข้าจากญี่ปุ่นทั้งคัน ทำให้ปัจจัยสำคัญประกอบในเรื่องนี้อาจเป็นเรื่องราวของภาษีที่ภาครัฐจัดเก็บต่อรถด้วย

ตามหลักการการนำเข้าสินค้าใดๆก็ตามเข้ามาในราชอาณาจักร จะต้องผ่านภาษี สำคัญ 3 ตัวด้วยกัน ได้แก่ ภาษีนำเข้า,ภาษีสรรพสามิต และ ภาษีมหาดไทย เป็นอัตราพิกัดเบื้องต้นก่อนจะเข้าสู่การค้าในประเทศ ซึ่งจะมีเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่มเข้ามาบวกเพิ่มอีกตัวด้วย รวมแล้ว 4 ภาษี ก่อนจะได้ซื้อหา
แต่ก่อนที่เราจะสามารถคำนวนได้นั้น เราต้องทราบถึงราคาสินค้ารวมกับค่าขนส่งและค่าประกันภัยขนส่ง หรือศัพท์ทางพวกชิปปิ้งทั้งหลาย เรียกว่า ราคา   CIF (Cost Insurance Freight)  รวมทั้งต้นทุน(ตัวสินค้า- ค่าขนส่งจากญี่ปุ่นถึงไทย และ ค่าประกันภัยการขนส่งไว้เรียบร้อยแล้ว)

เราอาจไม่มีทางรู้ค่า   CIF   ที่แน่ชัดแน่ เนื่องจากเป็นความลับระหว่างบริษัทขนส่งกับลูกค้า แต่ที่เราสามารถทราบได้อย่างแน่นอนคือว่า รถคันนี้มาจากที่ไหน 

Nissan  LEAF   ใหม่ ที่มาขายในไทยนั้น เป็นรถที่ผลิตจากโรงงานในญี่ปุ่น  ซึ่งในญี่ปุ่น มีราคาขายที่ 3,150,000 เยน (ราคาค้าปลีกในตลาดญี่ปุ่น) หากคำนวณเป็นเงินไทยที่อัตราแลกเปลี่ยน 30 บาท ต่อ 100 เยน จะมีราคาค้าปลีกที่ญี่ปุ่น 945,000 บาท

ราคาขายปลีกรถยนต์   Nissan  Leaf   อยุ่ที่ 945,000 บาทเท่านั้น 

นั่นคือราคาค้าปลีก ที่เราพอทราบได้ … แต่การส่งออกไปยังต่างประเทศ  จะไม่คิดภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีที่รัฐเก็บจากการใช้ บริโภคสินค้าภายในประเทศ) ในญี่ปุ่น มีการจัดเก็บอัตราภาษีร้อยละ 8

เราเอาค่าภาษีดังกล่าวมาลบกับราคาขายปลีก เราคำนวณแล้วพบว่า ในราคาขายปลีก  Nissan  Leaf   ที่ญี่ปุ่น มีราคาภาษีรวมอยู่ 252,000 เยน  นำไปลบกับราคาขายรถตั้งต้น (3,150,000 เยน)เท่ากับราคาต้นทุนก่อนภาษีมูลค่าเพิ่มในญี่ปุ่น คือ 2,898,000 เยนหรือคิดเป็นเงินไทย 869,400 บาท เป็นมูลค่าต้นทุนจากญี่ปุ่น ก่อนส่งมาไทย(อาจจะถูกกว่านี้ถ้าสั่งมาหลายคันในล็อทเดียว) โดยไม่รวมค่าขนส่งและประกันภัยการขนส่ง

แต่เนื่องด้วยเราไม่มีทางทราบราคาประเมินราคาประกันภัยขนส่งและการขนส่งรถยนต์ Nissan Leaf   จากประเทศญี่ปุ่นมาถึงไทย ผมจึงต้องประมาณการเอาเองว่าทั้งหมดน่าจะมีมูลค่าคันละ 1,000,000 บาท เป็นราคา   CIF   เมื่อถึงประเทศไทย (อาจจะมากกว่าก็ได้)

อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้นว่า การนำเข้าสินค้ามาสู่ราชอาณาจักรไทยจะต้องเจอภาษี 3 ตัว ด้วยกันที่สำคัญ ได้แก่  ภาษีนำเข้า , ภาษีสรรพสามิต และภาษีมหาดไทย หรือ ภาษีท้องถิ่นนั่นเอง

มาถึงตรงนี้หลายคนคงเคยได้ยินสูตร 3 เท่าของราคาขาย ซึ่งคนจำนวนมากใช้ประเมินรถยนต์นำเข้าเมื่อเทียบจากต่างประเทศ ว่ามีภาษีรวมๆแล้ว 278%  จากราคาขายในต่างประเทศ ทำให้รถนำเข้าส่วนใหญ่มีราคาขายแสนแพงจนมิอาจเอื้อม

ทว่า Nissan  Leaf นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นทั้งคันทำให้เรื่องนี้ต่างออกไปโดยสิ้นเชิง เนื่องจากประเทศไทยและญี่ปุ่นมีข้อตกลงความร่วมมือหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น หรือที่เรียกกันในวงการเศรษฐศาสตร์ว่า   JTEPA  เป็นข้อตกลงที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2550

โดยการนำเข้ารถยนต์ทั้งคัน ขนาดไม่เกิน 3000 ซีซี เป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับการกำหนดให้มีอัตราภาษีลดลงปีละ 5%  ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีมีอัตราภาษี80%   และลดลงเหลือ 75%   ในปี พ.ศ. 2551 และลดต่อเนื่องปีละ 5%   จนคงที่อัตราภาษีนำเข้า 60%  ในปี พ.ศ. 2553 และระบุว่า ห้มีการเจรจาต่อในภายหลัง ตามข้อมูลในเวลานั้น (หากในการเจรจา อาจมีการปรับลดลงต่อเนื่องทุกปี) ก็จะทำให้ภาษีอากรนำเข้าจากญี่ปุ่นอยู่ที่ร้อยละ 20 เท่านั้น

จากราคา CIF   ตามที่ผมกล่าวอ้าง  1,000,000 นำมาคำนวณกับภาษีนำเข้า 20%   จะได้ ค่าอากร 200,000 บาท หรือ รวมแล้ว ราคาตั้งต้นในการนำเข้ารถ  Nissan  Leaf  อยู่ที่ 1,200,000 บาท 

ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตทั้งสิ้น .. เป็นสูตรได้แก่

ราคา   CIF    X  อัตราภาษีสรรพสามิต / 1-(1.1Xอัตราภาษีสรรพสามิต)

สรุป แล้ว Nissan    จ่ายภาษีสรรพาสามิต Nissan  Leaf   ไป  199,999 บาท ถ้วน

ทำให้เมื่อรวมราคาภาษีสรรพสามิตรอยู่ที่ 1,399,999 บาท

ผ่านด่านแรกไปได้ก็ต้องไปจ่ายภาษีมหาดไทยหรือ ภาษีท้องถิ่น คิดอัตราเดียวร้อยละ 10%  ของราคาที่รวมกับภาษีสรรพสามิตรเรียบร้อย หรือ ต้องจ่ายที่ 139,999 บาท  รวมกับราคาเดิม 1,399,999  บาท เป็น รวมแล้วเป็นราคาขาย 1,539,998 บาท

และท้ายสุดราคาภาษี มูลค่าเพิ่ม  7%   ก็คือการนำราคาที่รวมจากการจ่ายภาษีมหาดไทยไปแล้วมาคำนวณ เป็นภาษีทั้งสิ้น 107,799 บาท คิดรวมมูลค่าราคาขาย  จะเท่ากับ 1,647,797บาท

หากเรานำภาษีทั้งหมดมาคำนวณ ได้แก่ ภาษีนำเข้า , ภาษีสรรพสามิต ,ภาษีมหาดไทย ตลอดจนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเท่ากับ 200,000+199,999+139,999+107,799 รวมแล้ว   Nissan  จ่ายภาษีสำหรับการนำเข้า  Nissan Leaf   แต่ละคันไป 647,797 บาท

(จากคำนวณโดยการสมมุติค่า   CIF   รวมที่ 1 ล้านบาทต่อคัน)

จากการคำนวณดังกล่าวเมื่อมองที่ราคา 1.99 ล้านบาท สำหรับค่าตัว  Nissan  Leaf   จะพบว่ากว่าครึ่งเป็นต้นทุนในการนำเข้าจากญี่ปุ่น อีก 25%   เป็นค่าภาษีที่เกิดขึ้นจากกระบวนการนำเข้าจนกระทั่งส่งถึงผู้บริโภค ส่วนที่เหลือ เป็นค่าบริหารจัดการ การตลาด

(ซึ่งเป็นไปได้ว่าในการนำเข้าจริงจะมีมูลค่านำเข้า ค่าขนส่งและค่าประกันภัยอาจมากกว่านี้)

อย่างไรก็ดี สิ่งที่หลายคนพูดถึงในมุมภาษีจากภาครัฐในเวลานี้ คือทำไมรัฐไม่เก็บ 2%   ตามที่เคยเป็นข่าว นั่นเพราะ การเก็บอัตราดังกล่าว คือ นิสสันจะต้องหมายมั่นแล้วว่าจะลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า   Nissan  LEAF   ประกอบขายในไทย

ถ้าเอาตัวอย่างราคา  CIF  มาคำนวณว่าได้ภาษีสรรพสามิตรที่ 2%   ในราคา   CIF   ตามตัวอย่าง จะพบว่า ราคา  Nissan  Leaf   ที่เสียภาษีจะลดลงไปเหลือเพียง 24,539 บาท 

แถมในการทำให้ได้2%นิสสันจจะต้องลงทุนเพิ่มในประเทศไทย ในการผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าซึ่งอาจจะต้องหมดอีกหลายพันล้านบาท ทั้งที่ตลาดตรงนี้อาจจะยังไม่มีความต้องการของผู้บริโภคที่ชัดเจน

ดังนั้นเราอาจกล่าวได้ว่าในมุมภาษีอาจไม่ตอบคำถามว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะถูกลง ถ้าสรรพสามิตถูกลงแค่  6%   จากเดิม แต่รัฐอาจต้องจูงใจผู้บริโภคด้วยวิธีอื่นเช่นการให้ส่วนลดหรือเงินช่วยเหลือสำหรับใครที่สนใจใช้รถยนต์ไฮบริดหรือรถยนต์ไฟฟ้า คล้ายในโครงการรถยนต์คันแรกที่เคยทำให้รถยนต์ขนาดเล็กได้แจ้งเกิดในใจคนไทย

ราคา  นิสสัน ลีฟ แพงหรือไม่งวดนี้ก็คงต้องขึ้นอยู่กับมุมมองที่คุณมีกับนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้าคนส่วนใหญ่อาจจะว่ามันแพง จนถูกตีตราว่ามันคือของเล่นสำหรับคนรวย (อีกแล้ว)หากอีกด้านอย่างที่เราเห็นกันมาตลอดหลายปี เทคโนโลยีชั้นนำขั้นสูงก็มักจะมีราคาแพงในระยะแรกและถูกลงเรื่อยๆ มีคนใช้งานมากขึ้น

ตลอดจนจนกว่าคนไทยจะพร้อมและมีความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าสูงขึ้นจริงๆ ทั้งในแง่ความพร้อมสถานีชาร์จ,การให้ความรู้เรื่องรถยนต์ไฟฟ้า และ ความสนใจของคนไทยต่อนวัตกรรมขับขี่โลกใหม่ไปจนถึงการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน รวมถึงรัฐบาลในเชิงภาษี และเงินสมทบสำหรับผู้ซื้อเมื่อนั้นเราอาจจะได้เห็น รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาถูกลงก็ได้  จนเป็นภาพที่ชินตาบนถนน

แต่คงอาจยังไม่ใช่ในเร็วๆ นี้ 

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่
Tags: