กลายเป็นประเด็นขึ้นมาทันทีท่ามกลางกระแสข่าวในสังคม จากกรณีป้าทุบรถที่มาจอดขวางหน้าบ้าน ตรงแถวตลาดสวนหลวง ร.9 เนื่องจากเจ้าของรถล็อคเบรกมือ ทำให้ออกจากบ้านไม่ได้

เหตุการณ์นี้นับว่าเป็นอุทาหรณ์ อย่างยิ่ง สำหรับคนที่ชอบจอดรถมักง่าย และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกของเรื่องราวการจอดรถมักง่ายในสังคม เพราะก่อนหน้านี้มีเหตุการณ์คล้ายๆ กันเกิดขึ้นมานักต่อนักแล้ว

 

จอดรถพื้นฐานต้องรู้

การ “จอดรถ” นับเป็นพื้นฐานการใช้รถยนต์ในชีวิตประจำวัน ในการใช้รถใช้ถนน เมื่อต้องลงไปทำธุระ หรือผละจากรถไปทำกิจกรรมอื่น เราควรจะจอดรถให้เป็นระเบียบเรียบร้อย มันช่วยให้รถคุณอยู่รอดปลอดภัยไร้ปัญหากังวลใจยามที่คุณไม่อยู่ที่รถ

แนวทางการจอดรถตามปกติในประเทศไทย มี 3 แนวทางด้วยกัน คือ

1.จอดในช่องจอด เป็นหลักสากลปฏิบัติเหมือนกันทั่วโลก หากพบว่ามีที่วางที่พอจะเข้าจอดได้ในช่องที่กำหนด ผู้ขับขี่ควรจะนำรถเข้าช่องจอด ซึ่งมีความปลอดภัยสูงมากในการป้องกันไม่ให้รถของเราไปสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ใช้รถคนอื่น และไม่เป็นการกีดขวางการจราจรด้วย

ในประเทศที่เจริญแล้ว ผู้ใช้รถจะไม่จอดรถเกะกะคนอื่น แต่จะเข้าช่องจอดเสมอ ไม่มีการจอดซ้อนคันขวางกัน ไม่ใช่เพียงเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ยังช่วยให้การจราจรคล่องตัวด้วย

2.จอดขนาน เป็นการจอดรถที่ได้รับอนุญาตในบางพืนที่ในการจอดรถริมถนนชิดขอบทาง โดยตามกฎหมายระบุให้สามารถกระทำได้ แต่ต้องจอดให้ชิดขอบทางในขอบเขตด้านซ้ายตัวรถอยู่ในระยะ 25 ซ.ม. จากขอบทางด้านท้า เพื่อให้รถยังสามารถสัญจรได้

3.การจอดซ้อนคัน แนวทางการจอดซ้อนคัน เป็นที่นิยมมากในประเทศไทย เนื่องจาก อำนวยความสะดวกแก่ตัวเจ้าของรถเอง ในการลดเวลาหาที่จอดรถในช่อง เนื่องจากต้องวนหาที่จอด จนกว่าจะมีรถคันอื่นออกจากช่องจอด ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว การจอดซ้อนคัน เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคนไทยจำนวนมาก

หลายคนทราบถึงแนวทางปฏิบัติในการจอดซ้อนคัน ว่าควรจะต้องทำอย่างไร ซึ่งเราจะมาทบทวนกันอีกสักครั้ง

 

เมื่อต้องจอดซ้อนคัน

ในกรณีที่คุณจอดรถซ้อนคัน แนวทางการปฏิบัติไม่ว่าจะจอดที่ไหนอย่างไร เหมือนกันหมด คือ

1.ไม่ดึงเบรกมือ  หรือ ล็อคเบรกมือ

2.ปลดให้รถอยู่ในภาวะเกียร์ว่าง เพื่อให้รถคันที่จะออกจากข้างในช่องจอด สามารถเข็นรถคุณได้  

 

แต่ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือ คนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะคนที่เพิ่งมีรถใหม่ หรือใช้รถคันแรก ไปจนถึงมือใหม่หัดขับ มักจะปลดเกียร์ว่างไม่เป็น

วิธีการปลดเกียร์ว่างนั้น ค่อนข้างง่าย มาก หลักๆ จะมีอยู่ไม่กี่วิธี และไม่ใช่ปัญหาในรถเกียร์ธรรมดา เนื่องจากตำแหน่งเกียร์ว่างจะอยู่ตรงกลางของชุดเกียร์ คุณเพียงเข้าให้เกียร์ไม่อยู่ตำแหน่งได้เลย ทีเหลือเพียงไม่ยกเบรกมือ ก็จอดซ้อนคันได้ สบาย

กรณีที่มีปัญหาส่วนใหญ่ มักจะเกิดขึ้นในเกียร์ออโต้  ซึ่งบังคับให้ผู้ขับขี่ต้องจอดรถแล้วดับเครื่องยนต์ในตำแหน่งเกียร์  P จึงจะปลดกุญแจจากคอพวงมาลัย หรือ ดับเครื่องยนต์ได้

วิธีการปลดเบรกมือในเกียร์ออโต้นั้นมีหลากรูปแบบมากมาย แต่ปัจจุบันรถยนต์บางรุ่น โดยเฉพาะบรรดารถยุโรปทั้งหลายส่วนใหญ่ รวมถึงบรรดารถยนต์ที่มาพร้อมระบบขับเคลื่อนไฮบริด จะหันไปใช้ระบบเกียร์ไฟฟ้า ทำให้ไม่สามารถเข้าเกียร์   N   ได้ จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะจอดซ้อนคัน

ในกรณีรถยนต์ทั่วไป การปลดตำแหน่งเข้าเกียร์   N   อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ จะกระทำการโดยวิธีการที่เราเรียกว่า   Shift Lock  ซึ่งรถญี่ปุ่นโดยส่วนใหญ่จะสามารถทำได้ แต่อาจจะมีการแตกต่างกันไปบ้าง

ปุ่ม   Shift Lock  Overide  หรือ หมุด (แล้วแต่ยี่ห้อ) จะอยู่ที่ คันเกียร์ (Shifter)   เสียงส่วนใหญ่ เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน เมื่อพบช่องหรือปุ่มแล้ว เพียงให้กุญแจกดลงไป จากนั้นลากคันเกียร์ ลงมาที่ตำแหน่ง   N   ก็จะเทียบเท่ารถอยู่ในตำแหน่งเกียร์ว่างแล้ว

ในรถบางรุ่นที่อาจจะเป็นเกียร์กึงไฟฟ้า อาทิเช่น,รถฟอร์ด  เอคโค่สปอร์ต – ฟอร์ดเฟียสต้า (เกียร์ พาวเวอร์ชิฟท์) การปลดเกียร์ว่างในรถ อาจจะสะดวกกว่า โดยการดับเครื่องแล้วเหยียบเบรกให้สุด ลากตำแหน่งเกียร์มายัง   N   ได้เลย

รถบางรุ่นอย่าง  Subaru  XV  ( MY 2013-2015) สามารถดับเครื่องที่เกียร์ N ได้เลย หากได้รับการเซทอัพจากศูนย์บริการ

ส่วนในวอลโว่หลายรุ่น ปุ่ม   Shift lock   จะซ่อนอยู่ใต้พรมยางพื้นที่เก็บของทางด้านข้าง (ยืนยันรุ่น  XC60 – S60)  เมื่อเอาพรมยางออกมา ปุ่ม   Shift lock   จะอยู่ตรงนั้น เพียงกดลงไปก็เลื่อนคันเกียร์ ได้ทันที

เมื่อปลด  Shiftlock   เรียบร้อยแล้ว ลงจากรถ ล็อครถ และที่สมควรจะทำคือ ทดสอบเข็นรถตัวเองเบาๆ ดูว่ามันสามารถเลื่อนได้หรือไม่ เพื่อป้องกัน การผิดพลาดหรือลืมดึงเบรกมือทิ้งไว้

 

จุดที่ไม่ควรจอดรถ  

ทราบแนวทางปฏิบัติการจอดรถคร่าวๆ ไปแล้ว ในการจอดรถ มีบางจุดที่คุณไม่ควรจะไปจอดรถเช่น กัน เนื่องอาจจะเกะกะขวางทาง สร้างความเดือดร้อนรำคาญ แก่ผู้อื่น

1.หัวโค้ง ช่วงทางโค้ง เป็นช่วงที่รถมีจุดบอกบางส่วนต่อทัศนวิสัย เนื่องจากเป็นจุดที่ผู้ขับขี่ต้องยังคับควบคุมพวงมาลัยรถ และอาจจะไม่สามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่ กลางหรือหลังโค้งได้ การจอดรถช่วงทางโค้ง มีความสุ่มเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสูงมาก โดยเฉพาะโค้งบังตา หักศอกทั้งหลาย

2.บริเวณทางร่วมทางแยก ไม่เพียงแค่บนถนนเท่านั้น ที่มีข้อกำหนดห้ามจอดในบริเวณทางร่วมทางแนกเท่านั้น ในซอยหรือหมู่บ้าน ที่เป็นช่วงทางร่วมทางแยก ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะจอดในบริเวณดังกล่าว เนื่องจากการจอดรถจะทำให้มุมเลี้ยวรถต้องแคบลง เพียงเพราะมีรถมาจอดขวาง ยิ่งในหมู่บ้าน การจอดตรงทางแยก อาจทำให้รถไม่สามารถเลี้ยวสวนกันได้ และสร้างปัญหาน่ารำคาญ จากความเห็นแก่ตัวของคุณเอง

3.ที่มืด หรือแสงสว่างไม่พอ การจอดรถในที่มืดหรือแสงสว่างไม่เพียงพอ โดยเฉพาะใครที่ใช้รถสีเข้ม อาจทำให้รถเกิดอุบัติเหตุได้ เนื่องจากรถไม่เป็นที่สังเกตมากพอสำหรับผู้ขับขี่ท่านอื่น ที่สำคัญยังสุ่มเสี่ยงต่อการโจรกรรมอีกด้วย

4.กีดขวางหน้าบ้านหรือทางเข้าออกคนอื่น  จากกรณีของป้าทุบรถ จะเห็นว่าการจอดรถหน้าบ้านคนอื่น โดยไม่ดูแลรับผิดชอบรถตัวเอง อาจนำมาซึ่งปัญหาใหญ่หลวงกว่าที่คิด การจอดรถกีดขวางทางเข้าออกคนอื่น หรือหน้าบ้านคนอื่น ไม่สมควรอย่างยิ่ง แม้ว่าคุณจะจอดบนถนน แต่ทางเข้าออกบ้านเป็นเส้นทางส่วนบุคคล ซึ่งผู้อยู่อาศัยมีสิทธิใช้งานได้โดยสะดวก

และในกรณีจอดรถในหมู่บ้าน ที่มีลักษณะบ้านติดกัน เช่นในหมู่บ้านที่มีลักษณะเป็นทาวโฮม สมควรจะจอดตรงบ้านที่คุณมาพบปะ และควรดับเครื่องยนต์เมื่อจอดรถด้วยเพื่อไม่รบกวนเพื่อนบ้านหลังอื่น ของเพื่อนที่คุณมาหา

5.พื้นที่ห้ามจอดอื่นๆ ในบางจุดจะมีการประกาศห้ามจอดเอาไว้อย่างชัดเจน คุณสมควรจะตรวจสอบให้ชัดเจนว่า จุดที่คุณจอดรถสามารถกระทำได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย หรือไม่เป็นจุดต้องห้ามตามกฎหมาย ได้แก่ ตู้ไปรษณีย์, หัวฉีดน้ำดับเพลิง และอื่นๆที่เจ้าของพื้นที่หรือเทศบาลกำหนดให้เป็นพื้นที่ห้ามจอดรถ

 

กฎหมายกับการจอดรถ

คราวนี้เราลองมาดูในเชิงกฎหมายกันบ้าง ว่ามีการจัดการปัญหาการจอดรถสุ่มสี่สุ้มห้ายังไงบ้าง

1.จอดรถไม่ชิดขอบทาง ปรับ 500 บาท

2.จอดรถในทางร่วมทางแยกหรือในระยะ 10 เมตร บริเวณทางร่วมทางแยก ปรับ 500 บาท

3.จอดในที่มี เครื่องหมายห้ามจอด ปรับไม่เกิน 500 บาท

4.จอดรถในที่คับขัน ปรับไม่เกิน 500 บาท

5.จอดรถในลักษณะกีดขวางการจราจร ปรับไม่เกิน 500 บาท

สำหรับการจอดรถหน้าบ้านคนอื่น สามารถกระทำได้ แต่ถ้าเจ้าบ้านพบว่ามีผู้มาจอดรถขวางหน้าบ้าน  และไม่สามารถผ่านเข้าออกได้ สามารถแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของรถได้ ในข้อหา “สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ผู้อื่น”  แต่ไม่มีสิทธิทำลายรถที่มาจอดขวางหรือนำสิ่งกีดขวางมาตั้งปิดทางเพื่อเปิดทางเข้าออกของตัวเอง

เช่นกันในกรณีที่เจ้าของรถพวกว่า  รถตนที่มาจอดขวางหน้าบ้านคนอื่นได้รับความเสียหาย จากการกระทำของเจ้าของบ้านที่ตนเองไปขวางทางเข้าออก หากสามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นการกระทำของเจ้าของบ้านจริง สามารถแจ้งความข้อหา “ทำให้เสียทรัพย์” และสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ครับ  

 

การ “จอดรถ” ไม่ว่าที่ใดก็ตามส่วนสำคัญ คือสามัญสำนึกในการรักรถของคุณ และเห็นใจผู้อื่น คิดถึงใจเข้ามาใส่ใจเรา หากเราเคารพสิทธิของเราและผู้อื่นในการใช้ทางร่วมกัน ก็จะไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น ถ้าเราคิดได้แบบนี้ การจะไปจอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่น หรือสร้างความเดือดร้อนรำคาญ ก็จะไม่เกิดขึ้นครับ

สำหรับกรณีป้าทุบรถ นับเป็นตัวอย่างที่ดี ชี้ให้เห็นว่าสามัญสำนักในการจอดรถ เป็นสิ่งสำคัญ ที่ไม่ควรจะมองข้าม คำว่า ลงไปทำธุระเดี๋ยวเดียว ไม่คิดว่าจะเป็นปัญหา สมควรจะเลิกคิดเข้าข้างตนเองได้ แล้ว เพราะไม่มีใครทราบว่า นาทีที่คุณจอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่น เขาอาจจะมีธุระฉุกเฉินนาทีเป็นนาทีตายคนในบ้าน ที่ต้องออกจากบ้านโดยเร่งด่วน  แต่กลับมาติดเพียงเพราะความมักง่ายของคุรเอง ที่มองว่า “ไม่เป็นไร แค่เดี๋ยวเดียว”

ติดตามข่าวสารและบทความดีๆ จากพวกเรา Ridebuster.com



แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่