ในปีที่แล้ว นอกจากการเปิดตัวรถยนต์ Honda City Hatchback ออกวางจำหน่ายแล้ว ทางฮอนด้า ยังถือโอกาสในช่วงเวลาเดียวกันในการเปิดตัว ทำตลาดรถยนต์ไฮบริด เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี นับตั้งแต่ การหมดวาระของทั้ง Honda Jazz Hybrid และ Honda Civic Hybrid
รถรุ่นที่เรากำลังพูดถึงนี้ คือ Honda City e:hev รถยนต์ซิตี้คาร์ขนาดเล็ก ที่หลายคนต่างมองข้ามมันไปอย่างน่าเสียดาย ด้วยราคา 839,000 บาท เรียกว่า กำลังจะชนเพดาน Honda Civic ทำให้หลายคนต่างมองว่า “ฉันจะซื้อรถเล็กๆ ที่มีเครื่องไฮบริดทำไม ทั้งที่ มีรถที่เหนือชั้นกว่า ในราคาที่แพงอีกไม่กี่หมื่นบาท”
การกลับมาพบกับ Honda City e:HEV ในครั้งนี้ ผมตั้งใจอย่างมาก ด้วยโจทย์ที่ท้าทายกับคำถามที่หลายคน ใคร่อยากจะถามเหมือนกัน ว่า มันคุ้มจริงหรือที่เราควรเพิ่มเงิน อีก 1 แสนบาท ซื้อรถรุ่นนี้ แล้วเงินที่จ่ายไปกับออพชั่นที่ได้มา ครบคุ้มจริงๆ หรือเปล่า
ก่อนจะเดินทางไปร่วมค้นหาความคุ้มค่า ฮอนด้า ซิตี้ อีเอชอีวี นั้น พัฒนาจากรถ Honda City RS (ตัวซีดาน) ราคารุ่นเครื่องยนต์ 1,000 ซีซี เทอร์โบ เปิดราคาขายที่ 739,000 บาท เป็นค่าตัว
การแปลงร่างเป็นรุ่นไฮบริด ทางฮอนด้า ได้ให้ สูตรสำเร็จ 3 ข้อใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ
- เครื่องยนต์ไฮบริด
- ระบบความปลอดภัย Honda Sensing
- ความสบายในการขับขี่ ที่เพิ่มขึ้นจากเดิม
ตอนรับรถมา ถ้าไม่ขึ้นขับเลย คุณไปเทียบข้าง Honda City RS ตัวปกติ มองเผิน ก็ต้องยอมรับก่อนว่า มันไม่ค่อยจะรู้สึกแตกต่างเท่าไรนัก ไม่ว่าจะการตบแต่ง ชิ้นส่วนสีดำในหลายๆ จุด ไฟหน้าเกล็ดปลา ล้อ 16 นิ้ว รวมถึงชุดแต่งต่างๆ คล้ายกับรุ่น RS เดิมราวกับแกะ ไม่ได้มีจุดเด่นชัดเจน
สิ่งที่ทำให้คุณสามารถ จำแนกว่า มันเป็นรุ่น RS หรือตัวปกติได้นั้น มี อยู่ 3 อย่าง ที่สามารถสังเกตได้ แทบจะทันที อย่างแรก คือ สีพิเศษ น้ำเงินมุก Obsidian Blue เป็นสีที่มีเฉพาะในตัวไฮบริดเท่านั้น ถ้าคุณไม่ชอบสีนี้ สีอื่นๆ ก็มีให้เลือก แต่จะเหมือนกับซิตี้ RS ตัวปกติ
ต่อมา ที่พอจะแยกได้ คือตราไฮบริด ทั้งทางด้านหน้าและด้านหลัง และอย่างสุดท้าย คือ ตรา e:hev ทางด้านหลัง บ่งบอกความพิเศษ
จะพูดกันตามตรงว่า รายละเอียดภายนอกไม่ให้ความรู้สึกต่างจากรุ่นปกติมากนัก ทั้งที่เพิ่มราคาเข้ามา แถมในความรู้สึกส่วนตัวผม มองว่า บุคลิกภายนอกขัดกับเอกลักษณ์ความเป็นจริงของคนซื้อไฮบริดที่น่าจะชอบความหรูหราทันสมัยมากกว่า
ถ้าให้ผมเลือก มองว่า น่าจะจับรุ่น SV มาทำ น่าจะดีกว่า ให้ภายนอกที่มีความหรูหราภูมิฐาน แต่ได้เครื่องยนต์ไฮบริด อาจจะดูน่าดึงดูดกว่า ในความคิดเห็นของผม
เปิดประตู ก้าวเข้ามาในห้องโดยสาร มองผ่านๆ หลายคนจะไม่เห็นจุดสังเกตการเปลี่ยนของ Honda City e:HEV เท่าไรนัก คอนโซลหน้าก็เหมือนเดิม คันเกียร์ก็เหมือนเดิม
ที่เปลี่ยนไปจริงๆ ถ้ามองดีๆ เล่นเกมจับผิดภาพ แบบปร๊าดแรก สะดุดตา นั่นคือ เบรกมือไฟฟ้า พร้อมระบบ Brake Hold ระบบนี้ มีมาให้ในเจ้าไฮบริดคันนี้
เมื่อหย่อนตัวลงนั่ง ตรงหน้าคนขับจะเห็นได้ว่า เรือนไมล์เปลี่ยนไป จาก เดิม เป็นเรือนไมล์วัดรอบ เข็มปกติธรรมดาๆ ก็กลายเป็นชุดจอ ขนาด 7 นิ้ว สามารถบอกค่าได้หลายแบบตามต้องการ ทั้งการใช้พลังงาน , การไหลเวียนพลังงาน เป็นต้น
อีกอย่างที่เปลี่ยนไป นั่นคือ บนพวงมาลัย จะมีปุ่มเยอะกว่าเดิม ปุ่มที่เพิ่มเข้ามา อีก 2 ปุ่ม ได้แก่ ปุ่ ควบคุมให้รถไม่หลุดเลน และ ปุ่มเพิ่มหรือ ลดระยะ ระบบ Adaptive Cruise Control ส่วนระบบ Paddle shift ก็มีมาให้ในรุ่นนี้เช่นกัน แต่มันทำหน้าที่ ควบคุม แรงหน่วงของมอเตอร์ไฟฟ้า จะเบาหรือหน่วงหนักๆ ก็เลือกได้จากแป้นตรงนี้
ตรงกลางระบบเครื่องเสียง ยังให้จอขนาด 8 นิ้ว รองรับการเชื่อมต่อเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงใดๆ นั่น เช่นเดียวกับการตัดเย็บเบาะนั่งเดินด้ายแดง ส่วนตอนหลัง เพิ่มช่องแอร์มาให้ได้ความสบายในการโดยสารมากขึ้น นั่นคือสิ่งที่เติมเข้า
การวิศวกรรม
อย่างที่กล่าวไปครับว่า การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ในรุ่นนี้ อยู่ที่การปรับมาใช้เครื่องยนต์ไฮบริด Sport i-MMD อย่าแปลกใจ ถ้าคิดว่ามันช่างฟังแล้วคุ้นเคยเสียจริง
ระบบนี้มีมานาแล้ว แนะนำในรถยนต์ Honda Accord Hybrid อยู่ยงคงกระพันมานาน ผมถามทีมวิศวกร เมือครั้นไปทดสอบกลุ่มว่า สรุปมันต่างจากรุ่นพี่อย่างไร
ทางฮอนด้า เบิกเนตร ชัดแจ้งว่า ด้วยหลักการทำงานของระบบเหมือนกันทุกประการ แตกต่างเพียงขนาดเครื่องยนต์ที่นำมาเลือกใช้ ในแอคคอร์ดจะเป็นเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร ส่วนในเจ้า ฮอนด้า ซิตี้ จะเป็นเครืองยนต์ 1.5 ลิตรเท่านั้น และ เผื่อใครยังไม่ทราบ เครื่องยนต์ในฮอนด้า ซิตี้ นี้ เป็นเครื่องตัวเดียวกับ Honda Jazz ในญี่ปุ่นเลย เรียกว่าบล็อกเดียวกันทุกอย่าง เว้นเพียงอาจจะเปลี่ยนรายละเอียดการปรับจูนให้แตกต่าง แค่ฟังก็คงน่าสนใจแล้วใช่ไหมครับ
มาถอดรหัส ในส่วนระบบขับเคลื่อน อย่างที่กล่าวไปว่า Honda City e:HEV ใช้เครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร ที่มีการพัฒนาเป็นแบบ Atkinson cycle
เครื่องยนต์ตัวนี้ มีกำลังอัดสูงมากถึง 13.5:1 เครื่องตัวนี้ เป็นพื้นฐานจาก L15A เดิม พื้นฐานช่วงชักและกระบอกสูบไม่ต่างกันแต่เน้นให้กำลังอัดสูงกว่า จึงทำให้มันเติมน้ำมันได้แค่ E20 เท่านั้น
ตัวเครื่องเองอย่างเดียว จะมีกำลังขับ 98 แรงม้า ที่ 5,600- 6,400 รอบต่อนาที และให้แรงบิดสูงสุด 127 นิวตันเมตร สูงสุดที่ 4,500-5,000 รอบต่อนาที จะว่าไป จะเห็นว่ากำลังอัดมากขึ้น ทำให้แรงบิดจากเครื่อง 1.5 ลิตร เพิ่มมากขึ้น ตามไปด้วย นั่นเอง
แต่จุดขายหลักของระบบขับเคลื่อนนี้อยู่ที่มอเตอร์ไฟฟ้าที่ให้มา 2 ตัว ตัวหนึ่งใช้ขับเคลื่อน อีกตัวใช้สำหรับปั่นไฟฟ้าไปยังแบตเตอร์รี่
มอเตอร์ขับเคลื่อนของ City e:HEV ถือว่า แรงเอาการ มันให้แรงบิดสูงสุดถึง 253 นิวตันเมตร ตั้งแต่ 1-3,000 รอบ ต่อนาที เรียกว่า แรงตั้งแต่ออกตัวกันเลยทีเดียว ส่วนแรงม้าก็พอถูไถได้ที่ 109 แรงม้า ช่วง 3,500-8,000 รอบต่อนาที
กำลังไฟฟ้าจ่ายมาจากแบตเตอร์รี่ลิเธียมไออนขนาดเล็ก ไม่ทราบประจุที่ชัดเจน
ในเรื่องการบังคับเลี้ยว ยกเป็นหน้าที่ของระบบพวงมาลัยไฟฟ้า EPS ให้การตอบสนองที่ดี เน้นน้ำหนักเบา คล่องตัวตามสไตล์รถในเมือง
อีกส่วนที่ทางฮอนด้า ติดตั้งมาในรถรุ่นนี้ คือ ระบบเบรกหลังแบบดิสก์เบรก 4 ล้อ แทนที่หน้าดิสก์หลัง ดรัมเดิมๆ ในซิตี้รุ่นปกติ เพิ่มความสามารถในการหยุดอย่างมั่นใจมากขึ้น
การทดลองขับ
ตอนขับ Honda City e:HEV ครั้งแรก ที่ไปทดสอบกลุ่มยังเขาใหญ่ ส่วนตัวรู้สึกว่า มันเป็นรถที่ไม่น่าสนใจเท่าไรนัก แม้ว่าการให้เครื่องไฮบริดจะดูหวือหวา ว้าวมากๆ แต่ก็กล่าวกันตามตรงว่า ด้วยราคาที่สูงลิ่ว ถ้าเปิดให้คนโหวตว่า ซื้อซิตี้ ไฮบริด หรือ ซื้อ ซีวิค 1.8 ตัวล่าง มั่นใจมากๆ ว่า ผลจะออกมาคือ ฉันไป ซีวิค 1.8 ตัวล่าง มากกว่า อย่างแน่นอน
รถที่มีช่วงราคา 7-8 แสน เป็นช่วงที่มีความอ่อนไหวต่อราคาขายมาก เนื่องจากรถที่มีราคาขายในช่วงนี้ กลุ่มคนซื้อยังเป็นคนที่มีรายได้ไม่มากนัก มักจะมองหารถที่มีความคุ้มค่าเสมอ
การกลับมาพบกันหนนี้ ผมจึงตั้งธงมาถาม ตามหัวข้อ ถ้าเราคิดว่า มันเพิ่ม 1 แสนบาท จะคุ้มไหม ที่มาซื้อไฮบริด น่าจะตรงกับที่หลายคนที่กำลังมองรถรุ่นนี้ กำลังคิดเหมือนกัน
ฮอนด้าไม่ผิดนะที่พัฒนารถจากรุ่นซีดานปกติ แต่ผมว่าที่ดูผิดหวังสำหรับหลายคน คงเป็นภายนอกที่เปลี่ยนน้อยไปหน่อยอย่างที่กล่าว ให้ตายเถอะ!! อย่างน้อย เปลี่ยนล้อให้มันดูแตกต่างสักหน่อยก็ยังดี
ส่วนภายในห้องโดยสาร ก็มาในแนวเน้นความสบายมากขึ้น ออพชั่นอัดมาเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่มากมายนัก เพราะ รายละเอียดส่วนใหญ่ ก็ยังคือ RS เป็นพื้นฐาน นั่นเอง
สตาร์ทเครื่องยนต์สัมผัสแรก ต้องยอมรับว่า การเป็นไฮบริดมันเงียบมาก เว้นแต่คุณสตาร์ทรถในตอนเช้า เครื่องยนต์จะทำงานเพื่อวอร์มเครื่องให้พร้อมใช้งานในช่วง 1-2 นาทีแรก รวมถึงชาร์จไฟฟ้าสั้นๆ เพื่อให้พร้อมใช้งาน แต่ถ้าไฟฟ้าอยู่ในระดับต่ำมาก เครื่องยนต์ก็ติดยาวๆ อาจเดินนาน 4-5 นาที จนไฟขึ้น 3-4 ขีดแล้วค่อยดับไป
ตามข้อมูลที่ วิศวกร ฮอนด้า ได้แจ้งกับผม ถึงแนวทางการทำงานของระบบ i-MMD ระบบ จะแบ่งออกเป็น 3 โหมดสำคัญ ได้แก่
- EV Mode โหมดที่ใช้พลังงานจากแบตเตอร์รี่ขับเคลื่อนมอเตอร์
- Hybrid Drive Mode โหมด ที่เครื่องยนต์ทำหน้าที่ปั่นไฟฟ้าให้แบตเตอร์รี่อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งกำลังไฟฟ้ายังมอเตอร์ขับขี่ เป็นแนวทางแบบ Series Hybrid
- Engine Drive โหมดนี้คลัทช์ชุดที่ 2 จะต่อเครื่องยนต์ขับลงล้อโดยตรง
ถ้าสังเกตจากที่เขาอธิบายผมมา จะพบว่า ฮอนด้าไม่ศรัทธาในการใช้มอเตอร์ขับร่วมกับเครื่องยนต์ ผมไม่รอช้าจะถามว่าทำไมถึงไม่มีทำให้มอเตอร์ขับร่วม เหตุผลที่ได้รับกลับมานั้นง่ายมาก คือ การให้ประสิทธิภาพในแต่ละช่วงความเร็วดีที่สุดนั่นเอง
เวลานี้ผมขับมาในเมือง กทม. เมืองฟ้าอมรยุคโควิดระบาด ก็ยังรถติดกันเหมือนเดิม บทนี้ Honda City e:HEV ร่ายมนต์ความประหยัดด้วยการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อน
ในการขับขี่ในเมือง ที่มีการขับแล้วเบรกหยุดต่อเนื่อง ถูกเรียกว่า การจราจร แบบ Stop and go ระบบขับเคลื่อน จะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าตลอดการทำงานและจะใช้แบบนี้ให้มากที่สุด จนกว่าความเร็วจะพ้นช่วง 60-70 ก.ม./ช.ม. จึงจะเปลี่ยนมาใช้ Hybrid Drive แทนการใช้ EV Mode
แต่ในกรณีที่เราขับแล้วการจราจรติดขัดอย่างบ้าคลั่ง จนแบตเตอร์รี่ลดลงต่ำมาก เนื่องจาก แอร์ และวิทยุก็ใช้แบตเตอร์รี่จากไฮบริดด้วย ระบบจะติดเครื่องยนต์ขึ้นมาบ้างเป็นช่วงๆ แล้วแต่จังหวะ แต่จะติดขั้นมาสั้นๆ 1-2 นาที แล้วดับไป
ถ้าให้สรุปโดยรวมของการทำงานระบบไฮบริด i-MMD ในเมือง คือใช้มอเตอร์ไฟฟ้าให้เยอะ ใช้เครื่องยนต์ให้น้อย ติดเมื่อยามจำเป็น และนั่นทำให้ จากที่ลองขับในเมืองในสภาพรถติดจริงจังมหาโหด ด้วยระยะทาง 61.3 ก.ม. เติมนั้นไป 3.92 ลิตร คิดเป็นอัตราประหยัด 15.6 ก.ม./ลิตร ดูๆ แล้ว ไม่ได้ประหยัดเท่าไรนัก
แต่คุณอย่าเพิ่งตีโพยตีพายไป ว่า ไหนว่า ทำได้ตั้ง 27.8 ก.ม./ลิตร เพราะการทดสอบดังกล่าวเป็นเรื่ององผลทางแล็ปทดสอบ ซึ่งใช้วิธีการวิ่งในแบบที่กำหนด เราได้จำลองเงื่อนไขเดียวกันมาทำในรถยนต์ Honda City e:HEV โดยวิ่งในสภาพการขับขี่จริงในเมืองและนอกเมือง ด้วยความเร็วในเมืองไม่เกิน 80 ก.ม./ช.ม.นอกเมืองขับไม่เกิน 120 ก.ม./.ช.ม.
จากที่ขับระยะทางรวม 69.6 ก.ม. เราเติมน้ำมันไปเพียง 2.67 ลิตรเท่านั้น คิดเป็นอัตราประหยัด 26.06 ก.ม./ลิตร ดังนั้น ถ้าเทียบว่าในความเป็นจริงสามารถทำได้ไหม อัตราประหยัดดังกล่าว ตอบเลยว่าเป็นไปได้
วันถัดมาผมทดสอบซ้ำในวันที่การจราจรไม่ติดขัดแบบหินมาก ขับไป 61.4 ก.ม. เติมน้ำมัน 2.3 ลิตรเท่านั้น คิดเป็นอัตราประหยัด 26.69 ก.ม./ลิตร
การขับขี่ในเมืองอาจไม่ได้บอกอะไรเรามากมายนัก การจราจร เดี๋ยวขับเดี๋ยวเบรก รถติด อารมณ์หงุดหงิดงุ่นง่าน แต่เท่าที่สัมผัสในช่วงขับในเมือง รู้สึกว่าพวงมาลัย Honda City e:HEV มีน้ำหนักมากกว่าตัวธรรมดา รถมีน้ำหนักกว่าเดิมพอสมควร จนรู้สึกได้
นั่นก็มาจากการมีชิ้นส่วนมากขึ้น จากการติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอร์รี่เพิ่มเข้ามา จากเดิมสัมผัสรถเบาคล่องตัว ก็ดูหนักแน่น จนบางอารมณ์แอบคิดว่ามันมีบุคลิกคล้าย Honda Accord อยู่พอสมควร พวงมาลัยเหมือนปรับการหน่วงและการตอบสนองไม่ไวเท่าเดิม ในรุ่นซีดานที่เคยสัมผัสมา
อารมณ์ของมัน เหมือนซิตี้ที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เรื่องนี้ก็ยังรู้สึกได้ ตอนขับเดินทางไกล ปกติ รถเล็กขับออกทางไกล จะรู้สึกไม่มั่นใจ ดูเบาดูโคลงโดยเฉพาะเวลาใช้ความเร็ว
เวลานี้ ผมขับบนเส้นทางไปยังสระบุรี ความรู้สึก Honda City e:HEV กลับมั่นใจกว่า รุ่นปกติอย่างมาก ความรู้สึกได้ใกล้เคียง ซีวิค 1.8 ด้วยซ้ำ ต้องขอบคุณน้ำหนักรถที่เพิ่มขึ้นอีก 62 กก. จาก 1,165 กก. ในตัวปกติ RS มาเป็น 1,227 ในรุ่นนี้ น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความมั่นใจในการขับ การโยนตัวเปลี่ยนเลนเพิ่มขึ้นด้วย
ที่สำคัญ การจัดวางแบตเตอร์รี่ไปทางด้านหลัง ทำให้ รู้สึกว่า รถตอบสนองในการขับขี่ได้ดีขึ้น การโยนตัวเวลาเปลี่ยนเลนน้อยลงมั่นใจขึ้น รวมถึงการเข้าโค้ง ก็รู้สึกมั่นใจ อยู่กับร่องกับรอยดีกว่า อาจรู้สึกแรงเหวี่ยงเพิ่มขึ้นบ้าง ถ้าฮ้อเข้าโค้งด้วยความเร็ว
การใช้ความเร็วดูหนักแน่นขึ้น การขับที่ความเร็ว 110-120 ก.ม./ช.ม.กลับกลายเป็นว่า มันให้ความรู้สึกช่วงล่างนุ่มนวลกว่ารุ่นปกติ สบายแผ่นหลังยิ่งขึ้นด้วย
เรื่องการเบรกห้ามล้อก็ดูมั่นใจขึ้นตอบสนองเร็วขึ้นเล็กน้อย สามารถปราบฝูงม้าเอยู่หมัด ถ้าอยากเบรกเร็วขึ้นไปอีก แนะนำปรับ Deaceleration Pedal ตั้งค่าไประดับ 2 หรือ 3 เพียงถอนคันเร่งก็จะหน่วงมาก ถ้าคิดว่ายังไม่พอ ขับๆ อยู่ กระชากลงมาเกียร์ B ก็ได้การตอบสนองที่ดีไปอีก สำหรับใครที่กะว่าจะขับรถซิ่งๆ ต้องใช้ความเร็วกันสักหน่อย
เวลาขับนอกเมืองแบบนี้ การทำงานของระบบไฮบริด จะใช้ทั้ง 3 โหมด ตัดสลับกันไปมา โดยไม่มีความรู้สึกถึงการตัดต่อมากวนใจ
ถ้าคุณใช้ความเร็ว ช่วง 70-80 ก.ม./ช.ม. นิ่งๆ หรือ ถอนคันเร่งลคความเร็ว จะเข้าสู่กระบวนท่า EV Mode ในยามที่ใช้ความเร็วเดินทางขับไปเรื่อยๆ จะใช้ Hybrid Drive Mode เท่าที่สังเกต จะทำงานในช่วง 90-120 ก.ม./ช.ม. ถ้าเกินกว่านี้ ระบบจะตัดเข้าสู่การทำงานของ Engine Drive Mode
แต่การใช้เครื่องยนต์เพียวๆ จะเกิดขึ้น เมื่อคุณขับด้วยความเร็วคงที่ในช่วงความเร็วสูง จะต้องใช้คันเร่งให้นิ่ง ระบบจึงจะทำงานในโหมดนี้ ซึ่งถ้าคุณไม่ใช่สายซิ่งจะเจอโหมดนี้น้อยมาก
เมื่อเครื่องยนต์ทำงานเพียงอย่างเดียว อาการตอบสนองในเรื่องอัตราเร่งจะลดลง ด้วยกำลังเครื่องยนต์อย่างเดียว เพียง 98 แรงม้า และ มีแรงบิดน้อยกว่า เกือบเท่าตัว เวลาเร่งแซง เดินคันเร่งลึก จึงมักจะปัดเป็น Hybrid Drive Mode แทน
จนสามารถพูดได้เต็มปากว่า Engine Drive Mode เอาไว้เวลาขับใช้ความเร็วทางยาวๆ เช่น ขับบนมอเตอร์เวย์ ต่อเนื่องเรื่อยๆ มากกว่า
หลังจากขับมาระยะทางพอสมควร 112.8 ก.ม. เข้าปั้มลองวัดอัตราประหยัด ด้วยการขับใช้ความเร็วไม่เกิน 120 ก.ม./ช.ม. เด็กปั้มเสียบหัวจ่าย เรามองตัวเลขวิ่งอย่างใจระทึก หัวจ่ายสะดุด หยุดที่ 4.995 ลิตร ดีด อัตราประหยัดออกมาได้ที่ 22.58 ก.ม./ลิตร สรุปเลยว่ามันค่อนข้างประหยัดเอาเรื่องเหมือนกันนะ
พูดในแง่อัตราประหยัดไปมาก ด้านการตอบสนองในแง่สมรรถนะ Honda City e:HEV ก็เรียกว่า ไม่เป็นสองรองใคร
จากการทดสอบอัตราเร่ง Honda City e:HEV บนถนนลาดยาง พบว่า
- 0-100 ก.ม./ช.ม. ทำเวลาเพียง 11.0 วินาที
- 80-120 ก.ม./ช.ม. ทำเวลาเพียง 9.0 วินาที
- ความเร็วสูงสุด สามารถทำได้ 185 ก.ม./ช.ม. ได้เท่ากับพี่ใหญ่ Honda Accord Hybrid
ถ้านำสถิติดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับ ซีดานตัวปกติ จะพบว่า ในอัตราเร่งช่วงแรก 0-100 ก.ม./ช.ม. ทำเวลา 12 วินาที และ 80-120 ก.ม./ช.ม. ใช้เวลาเพียง 7.0 วินาที เท่านั้น
หรืออาจกล่าวว่า มันเร่งดีกว่าตอนออกตัว แต่แซงได้ช้ากว่าเล็กน้อย ก็มาจากกำลังมอเตอร์ที่ไม่ได้มากมายเท่าไรนัก ในแง่ของแรงม้า นั่นเอง
สิ่งที่ผมสังเกตข้อหนึ่งใน เวลาทดสอบอัตราเร่ง คือ แรงบิดรถรุ่นนี้มากจนล้อฟรีทิ้งสั้นๆ ในช่วงแรกและเป็นแบบนี้หลายรอบ นั่นไม่ใช่เพราะ ผิวถนนที่เราทดสอบไม่ดี หรือมีฝุ่นเยอะ แต่น่าจะมาจากแรงบิดระดับนี้ มากพอๆ กับ เครื่อง 2.4 ลิตร และหน้าสัมผัสยาง ยังแคบไปไม่สามารถเอาแรงบิดลงพื้นได้หมด นั่นเอง มั่นใจเลยว่าถ้าหน้ายางใส่ได้สัก 205 อาจจะรู้สึกออกตัวดีกว่านี้แน่ๆ
แล้ว Honda Sensing ???
ทางด้านทีเด็ดอีกอย่างนอกจากเครื่องยนต์ในรถยนต์รุ่นนี้ ก็ดูจะหนีมาพ้นระบบความปลอดภัย ที่เรียกว่า Honda Sensing
ระบบความปลอดภัยที่มีในเจ้าน้องเล็กพลังไฮบริด มาค่อนข้างครบ ได้แก่
- ระบบเตือนและป้องกันการชนทางด้านหน้า
- ระบบ Adaptive Cruise Control
- ระบบเตือนการหลุดเลน และตกถนน
- ระบบช่วยรักษารถอยู่ในช่องทาง
- ระบบไฟสูงอัตโนมัติ
จากที่ทดลองใช้ระบบค่อนข้างจะเหมือนกับใน Honda Accord อยู่พอสมควรในแง่การทำงาน หลายๆ อย่าง เว้นตัว Adaptive Cruise Control ซึ่งใน Civic และ Accord จะมีตัว Low Speed Folow สามารถใช้งานในรถติดได้ แต่ไม่ได้ให้มาในฮอนด้าซิตี้
ในการทำงานของระบบอื่นๆ มีความเหมือนกัน เช่นการเตือนการชนทางด้านหน้า จะเตือนด้วยภาพและเสียง รวมถึงการเตือนการหลุดเลน ,การรักษาช่องทางด้านรถ
เรียกว่า ไม่ได้รู้สึกแตกต่างจากระบบที่เราเคยเห็นมาแล้วในรุ่นใหญ่ นัก แทบจะเรียกว่าเป็นเวอร์ชั่นเดียวกันก็ได้
สรุป Honda City e:HEV ขับสนุกเน้นประหยัด มันคือ Mini Accord Hybrid
หลังจากใช้เวลาลองขับ Honda City E:HEV อยู่หลายวัน ขับไปขับมา เริ่มรู้สึกชอบมันขึ้นมาบ้างเหมือนกัน นี่คือรถใช้งานที่คุ้มค่าที่สุดในตอนนี้
ส่วนที่ดีที่สุดของเจ้านี้ คงต้องยกให้ความประหยัดน้ำมันที่สามารถทำได้ใกล้เคียงตามที่เคลม อัตราประหยัด 20 กว่า กิโลเมตรต่อลิตรมีให้เห็นตลอดเวลา เติมน้ำมันบางทีก็อายเหมือนกัน ไม่ใช่อายที่รถประหยัด แต่อายที่เราเติมน้ำมันน้อยไปไหม จนบางทีไม่สามารถสะสมแต้มบัตรได้ก็มี
แต่ความประหยัดระดับนี้ก็แลกมาด้วยน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ราคาที่แพงกว่า อีก 1 แสนบาท ถ้ามองว่า ได้ทั้งระบบไฮบริด และ ระบบความปลอดภัยก็นับว่าคุ้มมาก
ความสามารถจากระบบไฮบริดไม่ใช่เรื่องความประหยัดเพียงอย่างเดียว การตอบสนองการขับขี่เร็วขึ้นและดีกว่า รุ่นเครื่องยนต์เทอร์โบชาร์จอยู่พอสมควร เพียงแต่อย่าไปหวังว่ามันจะปรู๊ดปร๊าด กำลังขับรวมเยอะมหาศาล เพราะแนวคิดของฮอนด้า ให้ระบบทำงานแยกส่วนกันไปดีกว่า นั่นเอง
แต่ความดีความชอบอีกอย่าง คือการปรับปรุงรถให้มีความสามารถในการขับขี่มั่นใจมากขึ้น ทั้งช่วงล่าง เบรก และการตอบสนองพวงมาลัย สอดผสานการทำงานจนเป็นบุคลิกใกล้เคียงกับรถอย่าง Honda Accord อยู่พอสมควร และนั่นไม่สิ่งที่บอกในโบว์ชัวร์จนกว่าจะได้ลองเอง
ทีมงานวิศวกร ฮอนด้า ที่ผมคุ้นหน้าดี บอกกับผมเป็นการส่วนตัวว่า เป้าหมาย Honda City e:HEV คือการสร้างที่สุดของฮอนด้า ซิตี้ ใกล้เคียงกับรถระดับบน ในราคาที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้
พอได้ขับยาวๆ ใช้ชีวิตกับรถนานๆ รู้สึกว่า มันเป็นรถที่เฟรนด์ลี่ ขับสบาย ไปมาสะดวก อยากขับสนุกขับมุดก็ได้เป็นบางอารมณ์ ในเวลาเร่งรีบ และค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำมันไม่แพง ช่วยคุณประหยัดได้มาก (แต่ดูแลแพงไหม อันนี้ไม่รู้) เผลอๆ จะประหยัด กว่า เครื่องยนต์ 1.8 ในซีวิค หรือ 1.5 เทอร์โบด้วยซ้ำ
สรุป อัตราประหยัด Hond City e:hev
- ในเมือง 1 – 15.6 ก.ม./ลิตร (รถติดหนัก)
- Bonn Test Mode 26.06 ก.ม./ลิตร (อัตราประหยัดเฉลี่ย ขับในเมืองและนอกเมือง ระยะทาง 61 ก.ม.)
- ในเมือง 2 26.69 ก.ม./ลิตร (รถติดไม่มากนัก)
- นอกเมือง 22.58 ก.ม./ลิตร
ส่วนที่ทำให้หลายคนไม่ซื้อรถคันนี้ .. ประเด็นแรก ผมเชื่อว่ามาจากราคาที่ตั้งมาสูง แต่ก็ใช่แหละ เขาให้ของมาครบ จนอาจจะพูดกันตามตรงว่า มาครบเกินไปไหม? (ไม่เคยคิดเลยว่าต้องพูดคำนี้)
บางคนสนใจรถไฮบริด แต่งบน้อยต้องใช้สอยอย่างประหยัด การซื้อรถราคา 8 แสนบาทขึ้นไป ต้องใช้เงินดาวน์สูงมาก และค่าผ่อนต่อเดือน ก็เฉียดไปที่หมื่นบาทต่อเดือนกันแล้ว นั่นเป็นราคาที่สูงมาก อาจจะเหมาะกับคนที่ซื้อรถคันที่ 2 มากกว่า ซึ่งตามธรรมชาติคนไทย รถอีโค่คาร์คือรถคันแรก และชีวิตคนเราต้องเปลี่ยนไป น้อยคนจะซื้อรถเล็กเป็นครั้งที่ 2 ส่วนใหญ่จะพยายามอัพไซส์ เปลี่ยนขนาด เปลี่ยนประเภทรถ เพื่อรองรับการใช้งานที่ดีขึ้นกว่าเดิม เช่น อาจมีครอบครัว , อาจมีลูก
นั่นทำให้ Honda City e:HEV ยอดไม่ค่อยเดิน เพราะราคามาสูงมาก จนคนไปมองซีวิค หรือไม่ ก็ข้ามไปยังรถอเนกประสงค์เลย เมื่อจะตัดสินใจ
ที่จริง ฮอนด้า น่าจะลองถอดบทเรียนความสำเร็จ Honda Jazz Hybrid มาแกะดูความสำเร็จในอดีต ปัจจัยสำคัญ คงเป็นทางด้านราคาขายเพียง 768,000 บาท เท่านั้น (ตอนนั้นรถนำเข้าจากญี่ปุ่นด้วย) จะเห็นว่าปัจจัยสำคัญมาจากราคาขายตัวรถที่ลูกค้ารับได้นั่นเอง
ในมุมมองผมต่อรถรุ่นนี้ ใจจริงอยากให้ทำรุ่นย่อยเพิ่มคล้ายใน Honda Accord Hybrid ไม่ต้องไปบังคับลูกค้าในเรื่องการซื้อรถ ฮอนด้า น่าจะมีทางเลือกรุ่นที่ไม่มีระบบ Honda Sensing ให้ลูกค้า สำหรับสาย Low Cost อยากได้รถไฮบริด แต่ไม่ได้ชอบระบบความปลอดภัยวุ่นวาย โดยเฉพาะสาวๆบางคน กังวลในเรื่องการใช้งานระบบเหล่านี้มาก มีเยอะไปใช่ว่าจะมีประโยชน์
นอกจากนี้ หน้าตาของตัวรถ แนะนำให้เอาของ SV มาใช้ เพราะ มันดูขัดๆ ระหว่างภาพความสปอร์ต แต่ฉันมีเครื่องยนต์ที่โคตรประหยัด รถลุคสปอร์ตเหมาะกับความครบเครื่องเรื่องสมรรถนะ ถ้ารถไฮบริดน่าจะเหมาะกับลุคหรูดูดีมากกว่า
หากฮอนด้า ตัด Honda Sensing ตัดชุดแต่ง RS แล้วลดราคาลงสัก 4-5 หมื่น ให้ไม่ทะลุ 8 แสนบาท เชื่อว่าจะขายดี เพราะอย่างน้อยคนรุ่นใหม่ ที่กำลังจะซื้อรถคันแรก ใช้รถทำงาน อาจจะกระโดดขึ้นมาซื้อบ้าง ไม่มากก็น้อย มันจะเป็นทางเลือกที่แข่งกับ ตัว RS ปกติ เองว่า คุณอยากหล่อหรือ ประหยัด เลือกเอา (ถ้าทำราคาลงไปได้ สัก 750,000-760,000 จะยิ่งดี)
ในภาพรวม Honda City e:HEV เป็นรถที่ได้ความประหยัดขับสนุก มีความพรีเมี่ยม ที่สุดเท่าที่รถซิตี้คาร์จะให้ได้ สิ่งเดียวที่ขวางความสำเร็จ เป็นเรื่องของราคา และออพชั่นที่มาเต็มล้นคัน
รถรุ่นนี้กลายเป็นรถที่เหมาะสำหรับผู้ใหญ่ ที่มองหารถที่ใช้งานง่ายๆ เน้นขับในเมือง อาจจะอยากเปลี่ยนรถเล็กอีแก่ที่บ้าน มาลองใช้ รถไฮบริด … ซึ่งกลุ่มนี้เอาตามจริงมีน้อยมาก เว้นว่าวันหน้า รัฐบาล ออกโครงการอุดหนุนรถไฮบริด เมื่อนั้นแหละ มันจะขายดี ทันที
ข้อมูลตัวรถ จาก Honda