ในปัจจุบัน เหตุผลที่ใครหลายๆคนเลือกจะใช้รถไฟฟ้า นับวันกลับไม่ได้มีแค่เพียงเหตุผลในเรื่องของการรักษ์โลก แต่ยังมีเหตุผลในเรื่องของความประหยัดจากการใช้พลังงาน และค่าบำรุงรักษาด้วย ซึ่งมันเป็นเช่นนั้นจริงๆหรือ ?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นข้อมูลที่ถูกนำเสนอโดย AXA บริษัทประกันภัยสัญชาติฝรั่งเศส ที่ได้ทำการศึกษาข้อมูลอุบัติเหตุบนท้องถนน แล้วพบว่าอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์รุ่นใหม่ๆ มักมีค่าเสียหายที่แพงขึ้นเรื่อยๆเป็นอันดับต้นๆก็คือรถไฟฟ้า และในขณะเดียวกัน มันยังเป็นยานพาหนะที่มีความอันตรายต่อผู้อื่นมากที่สุดเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาอีกด้วยว

“กรมธรรม์และลูกค้าของเราจำเป็นต้องจัดการกับความเสี่ยงใหม่ เพราะแม้รถยนต์ไฟฟ้าจะไม่ได้ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากมายในประเทศนี้ แต่มันกลับมีค่าเสียหายที่แพงมากเป็นอันดับต้นๆในการเคลมอุบัติเหตุแต่ละครั้ง” Nils Reich ผู้จัดการด้านงานประกันภัยของบริษัท AXA ประเทศเยอรมันกล่าว

โดยสาเหตุที่ทำให้การเรียกเงินประกันจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าแพงเป็นพิเศษ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อนเท่าไหร่นัก เพราะรถยนต์เหล่านี้ มักมาพร้อมกับเทคโนโลยีขั้นสูง ที่มีราคาแพง ดังนั้นหากมันได้รับความเสียหายขึ้นมา มันก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม (หรือเปลี่ยน) ที่สูงขึ้นตาม แม้ว่าโดยส่วนใหญ่แล้วอุปกรณ์มูลค่าสูงเหล่านั้น จะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเหตุผลทางด้านความปลอดภัย ภายในห้องโดยสารก็ตาม

นอกจากนี้ เนื่องด้วยตำแหน่งการยึดแบตเตอรี่ของยานพาหนะไฟฟ้าส่วนใหญ่ มักถูกติดตั้งเอาไว้ใต้ท้องรถ จึงทำให้มันมีความเสี่ยงสูงมากที่ก้อนแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่แพงแทบจะที่สุดของรถไฟฟ้าหนึ่งคัน อาจได้รับการกระทบกระเทือนจากสิ่งกีดขวางบนท้องถนนได้มากที่สุด เมื่อเกิดอุบัติเหตุ แต่ทั้้งนี้กลับไม่พบปัญหาความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดเพลิงไหม้แต่อย่างใด เพราะจากข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุกว่า 10,000 ครั้ง มีเพียง 5 ครั้งนี้เท่านั้น ที่มีกรณีเพลิงไหม้หลังเกิดเหตุ

ในมุมความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายของรถไฟฟ้า ก็คือเรื่องของขุมกำลังแบบมอเตอร์ไฟฟ้าของยานพาหนะชนิดนี้ ที่ส่วนใหญ่ ล้วนมาพร้อมกับคุณสมบัติเด่นคือความสามารถในการเค้นแรงบิดสูงสุดในทันทีที่เกิดการหมุน ซึ่งหากผู้ใช้ไม่เข้าใจในจุดนี้ หรือเผลอลืมตัว กดคันเร่งจนรถกระชาก แล้วยกเท้าออกจากคันเร่งกระทันหัน มันก็อาจทำให้รถเสียการควบคุม และเกิดอุบัติเหตุตามมาในทันที

และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ ทาง AXA ยังพบอีกว่า มันมีโอกาสมากกว่า 50% ที่การเหยียบคันเร่งแรงเกินไปของผู้ใช้รถไฟฟ้า จะทำให้เกิดอุบบัติเหตุตามมาในภายหลัง มากกว่าการเหยียบคันเร่งผิดของผู้ที่ใช้รถขุมกำลังเครื่องยนต์สันดาปภายใน และกลายเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่จะทำให้ผู้ใช้รถไฟฟ้าเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายที่สุดอีกด้วย

“รถไฟฟ้าส่วนใหญ่, โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพวกที่มีพละกำลังสูงๆ, มีแรงบิดเยอะๆ, แบบที่สามารถรู้สึกได้ในทันทีที่คุณแตะคันเร่ง”, “สิ่งนี้อาจทำให้เกิดผลที่คุณไม่ต้องการได้, การเร่งที่รุนแรงจะทำให้คนขับไม่สามารถควบคุมมันได้อีกต่อไป” Michael Pfaffli หัวหน้าฝ่ายงานวิจัยอุบัติเหตุ ของ AXA ประเทศสวิตเซอร์เแลนด์กล่าว

สุดท้าย อีกสาเหตุที่ทำให้ เมื่อรถไฟฟ้า เกิดอุบัติเหตุขึ้นมา มักมีโอกาสที่จะสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม มากกว่ารถเครื่องยนต์สันดาปภายในก็คือ เรื่องของน้ำหนักตัว เพราะหากเทียบกันที่ขนาดตัวรถเท่าๆกันแล้ว ส่วนใหญ่รถไฟฟ้ามักมาพร้อมกับน้ำหนักตัวที่มากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรถที่ใส่แบตฯลูกใหญ่มากๆสำหรับระยะทางในการวิ่งที่ไกลกว่าตัวรถรุ่นล่างๆ

เพราะด้วยน้ำหนักตัวรถที่มากเป็นพิเศษ หากเกิดอุบัติเหตุด้วยความเร็วขึ้นมา พลังงานจลน์ หรือแรงเฉื่อยที่เกิดขึ้นหลังย่อมมากขึ้นตาม และนั่นก็หมายถึงความแรงในการปะทะกับสิ่งกีดขวางที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งมันก็อันตรายต่อทั้งผู้ที่อยู่ภายในห้องโดยสาร และผู้ที่อยู่ภายนอกห้องโดยสารนั่นเอง

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่