ท่ามกลางเทคโนโลยีสมัยใหม่มากมายในปัจจุบัน ทำให้หลายคนมักละเลยขอปฏิบัติสำคัญกับรถยนต์ที่เราใช้หลายเรื่อง หนึ่งในเรื่องสำคัญหนีไม่พ้นการลดภาระความร้อนเครื่องยนต์ หลังการขับขี่ หรือที่บางคนอาจจะรู้จักว่า   Engine Cool Down

เมื่อ 2-3 เดือนก่อน ผมมีโอกาสพูดคุยกับท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านไปในบทความ Engine Warm up  ในภาวะสตาร์ทเย็น หรือ Cold Start มันเป็นการอุ่นเครื่องยนต์ให้อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการใช้งาน  การคูลดาวน์ (Cool Down)   เป็นกระบวนการกลับกัน หลังจากเราใช้งานเครื่องยนต์ระหว่างการขับขี่อย่างสาสมความต้องการ เราก็ควรจะลดภาระการทำงาน เพื่อทำให้อุณหภูมิน้ำมันเครื่องยนต์และน้ำมันเกียร์ ตลอดจนความร้อนหม้อน้ำไม่สูงเกินไป

 แต่คำถาม คือมันยังจำเป็นไหมในปัจจุบัน

เทคโนโลยีมากมายถูกแนะนำในรถยนต์วันนี้ หนึ่งในนั้นจะไม่กล่าวถึงเลยไม่ได้ คือ น้ำมันเครื่องยนต์ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ 100% ผิดกับสมัยก่อนน้ำมันเครื่องจะใช้พื้นฐาน   Mineral Base  ทำให้ในการใช้งานมีคุณสมบัติด้อยกว่าปัจจุบัน

น้ำมันเครื่องเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ อีกด้านเมื่อมามองว่าหลักการถ่ายเทความร้อนของเครื่องยนต์อาศัยการนำพาความร้อนโดยน้ำและน้ำมันเครื่องยนต์ ทั้งหมดยังทำงานเชิงกลไก (โดยส่วนใหญ่) อาศัยการทำงานของชุดปั้มน้ำมันเครื่อง และปั้มน้ำ เพื่อหมุนวนสร้างแรงดันไปหล่อเย็น ชิ้นส่วนต่างๆ  โดยอากศัยการขับของโซ่หรือสายพานในเครื่อง

การทำงานดังกล่าวหมายความว่า เมื่อคุณสตาร์ทเครื่องยนต์ให้ทำงานแม้จะในรอบเดินเบาอุปกรณ์ ปั้มน้ำ และ ปั้มน้ำมันเครื่องยนต์จะทำงาน ตลอดเวลา นำพาความร้อนจากชิ้นส่วนต่างๆ ทั้ง เสื้อสูบ, และชิ้นส่วนอื่นๆ ออกไปแลกเปลี่ยนความร้อน

การหมุนวนน้ำ/คูลแลนท์ ความร้อนจะถูกแลกเปลี่ยนที่หม้อน้ำ ส่วนความร้อนที่สะสมในน้ำมันเครื่อง จะถูกแลกเปลี่ยนที่ตัวระบายความร้อนน้ำมันเครื่อง หรือที่เรียกว่า   Oil Cooler ส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้อ่างน้ำมันเครื่องเพื่อทำให้ความร้อนน้ำมันในในอ่างน้ำมันเครื่อง ไม่สะสมมากจนเกินไป

Cool Down เครื่องเทอร์โบ

ความเชื่อว่า รถปัจจุบันไม่จำเป็นต้องคูลดาวน์ สามารถดับเครื่องได้เลย เป็นความเข้าใจผิดจากคนจำนวนมาก อาจจะจริงที่รถมีการพัฒนามากมาย ในส่วนเครื่องยนต์อาจจะมีการออกแบบให้ผนังสูบบางแลกเปลี่ยนความร้อนได้เร็วขึ้น รวมถึงมีความสามาถในการแลกเปลี่ยนความร้อนดีขึ้น จากวัสดุของเสื้อและฝาสูบ หากก็ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่จำเป็นต้องทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดาเครื่องยนต์เทอร์โบทั้งหลาย ไม่ว่าเบนซินหรือดีเซล

การติดตั้งระบบเทอร์โบชาร์จเข้ามา ทำให้มีความร้อนสะสมมาก เทอร์โบทำงานตลอดเวลา และพวกมันมีความร้อนมาก เนื่องจากฝั่งหนึ่งของใบเทอร์โบถูกผูกติดกับปลายทางท่อร่วมไอเสีย ทำให้ความร้อยถูกถ่ายทอดสู่ชุดใบ ชุดแกน ความร้อนจะถูกระบายออกมาด้วยน้ำมันเครื่อง (เทอร์โบบางลูกบางแบบอาจมีการใช้น้ำเข้ามาระบายความร้อนเพิ่มเติมด้วย) การดับเครื่องยนต์ทันที จะทำให้น้ำมันเครื่องยนต์โดนความร้อนจนสามารถกลายเป็นคราบแกลอะที่แกนเทอร์โบนานวันไป จะกร่อนแกนจนพังในที่สุด

Cool Down เครื่องเทอร์โบ

นอกจากตัวเครื่องยนต์แล้วความร้อนภายในชุดเกียร์เองก็สำคัญไม่แพ้กัน การขับรถใช้รอบจัดเป็นเวลานานๆ เช่นการขับรถด้วยความเร็วต่อเนื่อง อาทิ ขับเดินทางติดต่อกันหลายชั่วโมง ทำให้มีความร้อนสะสมในระดับหนึ่ง ถึงความร้อนจะถูกระบายออกอย่างต่อเนื่อง หากก็จะยังมีอุณหภูมิค่อนข้างสูงกว่าปกติ

ดังนั้นทั้งหมด จึงตอบได้เลยว่า ยังไงเสียรถยนต์ก็ยังต้องการการคูลดาวน์อยู่ ถ้าใช้งานอย่างหนัก

วิธีการคูลดาวน์เครื่องยนต์ คล้ายกับการ  Warm Up  ,หลายคนชอบเข้าใจผิดว่า มันคือการเดินเบาเครื่องยนต์ตามเวลาที่กำหนด ประมาณ 2-3 นาที โดยมากจะไม่เกิน 5 นาที หากมีดัชนีเกจจ์วัดความร้อนน้ำมันเครื่องยนต์ หรือหม้อน้ำ

แต่ถ้าคุณนึกถึงความเป็นจริง เหมือนคุณกำลังวิ่งมาราธอนมา คุณปวดท้องเข้าห้องน้ำ คุณคงไม่วิ่งไปจนถึงห้องส้วม จริงไหม คุณจะต้องเดินในช่วงระยะสั้นๆ เพื่อลดการทำงานของหัวใจก่อนสักหน่อย

หลักการเดียวกันนี้ คล้ายการคูลดาวน์ในเครื่องยนต์ มันไม่ใช่ว่าคุณฮ้อด้วยความเร็วแล้วมาจอดเดินเบาเครื่องยนต์ จำไว้ว่าการระบายความร้อนของรถยนต์ในหลายชิ้นส่วน อาศัยลมที่วิ่งผ่านตัวรถ เข้าช่วยพาความร้อนออกไปจากห้องเครื่อง มันคงจะดีกว่า ถ้ามีลมวิ่งผ่านเสมอ นั่นหมายความว่า ถ้าใกล้ถึงที่หมาย คุณเพียงขับรถด้วยความเร็วช้าลง ให้ลมวิ่งผ่านได้บ้างก็ถือว่าเป็นการคูลดาวน์แล้วในทางหนึ่ง และดีกว่าการจอดสตาร์ททิ้งไว้ด้วย

อย่างไรก็ดี ถ้าชีวิตเร่งรีบมาก ,ขับรถมาศัตรูบุกกลางทางต้องซิ่งวิ่งเข้าปั้ม ส่งแฟกซ์อย่างด่วน การติดเครื่องยนต์เดินเบาปกติพอจะสามารถทดแทนได้บ้าง แต่อย่างที่คุณพอจะนึกออก ถ้าเราดับเครื่องเลย เครื่องก็จะไม่ทำงานระบบหล่อเย็นจะหยุดทันที พัดลมไฟฟ้า หรือ ฟรีปั้ม ก็ไม่ทำงานความร้อนจะสะสมในเครื่อง คล้ายคุณวิ่งมาอย่างเหนื่อย แล้วยืนนิ่งๆเฉยๆ จะรู้สึกได้ว่าตัวเองกำลังร้อนขึ้น ทั้งที่เลิกวิ่งแล้วสักพัก ถ้าห่วงรักรถห่วงเครื่องยนต์ก็ต้องรอสักพัก จึงจะลงไปทำธุระได้

ด้วยเหตุนี้ในสายรถแต่งจึงมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า   Turbo Timer  ,ตัวตั้งเวลาดับเครื่องยนต์ ใช้สำหรับการคูลดาวน์เครื่องยนต์ ระบบจะทำงานการตัดระบบไฟอัตโนมัติตามเวลาที่ตั้งไว้ หลังเราบิดสวิทช์กุญแจปิดดับแล้ว การทำเช่นนี้ ช่วยให้การคูลดาวน์ของรถสมบูรณ์ขึ้น ,โดยไม่ต้องรอเวลาเหมาะสมก่อนดับสวิทช์เครื่องยนต์ด้วยตัวเอง

ถ้าให้สรุป การดูลดาวน์ ยังมีความจำเป็นในรถยนต์ โดยเฉพาะรถสมัยใหม่ที่เริ่มติดตั้งระบบเทอร์โบชาร์จเข้ามา แม้ว่าเราอาจจะเชื่อว่า การระบายความร้อนก่อนดับเครื่องอาจไม่จำเป็นแล้วในยุคนี้ ทว่าในความจริงเครื่องยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทอร์โบมีความร้อนสะสมในหลายจุดมากกว่าเครื่องยนต์ปกติ และมันจำเป็นต้องถูกระบายให้เหมาะสม

ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้รถมีความทนทานใช้งานได้ยาวไร้ปัญหากวนใจ เมื่อผ่านไปนานหลายปี

 

 



แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่
Tags: