หากคุณเป็นคอรถเครื่องดีเซลไม่ว่าจะชอบขับรถกระบะ คลั่งไคล้รถเยอรมันขุมพลังดีเซล หรือสนใจที่จะหารถดีเซลเครื่องเล็กมาใช้สักคัน ก่อนอื่นเราอยากถามคุณว่ารู้อะไรเกี่ยวกับเครื่องยนต์ชนิดนี้บ้าง? ที่แน่ๆ ทุกคนทราบว่าเครื่องดีเซลแรงบิดสูง ขับประหยัดน้ำมัน และมีค่าบำรุงรักษาต่ำ แต่บางสิ่งอย่างเรื่องระบบกำจัดไอเสียมีหลายคนยังไม่เข้าใจ และบทความนี้จะมาอธิบายว่ารถดีเซลของคุณกำจัดเขม่าและก๊าซพิษได้อย่างไร…

 

 

รถเครื่องดีเซลเป็นที่นิยมมายาวนานเพราะขึ้นชื่อเรื่องทรทาน ประหยัด และมีพละกำลังฉุดลากดีกว่าเครื่องเบนซิน โดยปัจจุบันรถดีเซลมักมีราคาแพงจนผู้บริโภคหลายคนบ่นกันว่า… จะแพงไปไหน มันมีต้นทุนเรื่องใดที่ทำให้ค่าใช้จ่ายการผลิตเครื่องสูงขนาดนั้น และถ้าคุณสงสัยแบบนี้เราคำตอบให้ เหตุผลที่แพงก็มาจากตั้งแต่ตอนเริ่มหล่อวัสดุเพื่อใช้เป็นเสื้อสูบ ลูกสูบ รวมถึงชิ้นส่วนต่างๆ ภายในเครื่องยนต์ที่ต้องทนทานกว่าอะไหล่ที่ใช้ในรถเครื่องเบนซินหลายเท่าตัว และปัจจัยสำคัญก็คือระบบบำบัดไอเสีย ที่ในแต่มาตรฐานไอเสียจะมีข้อกำหนดเข้มงวดจนทำให้ผู้ผลิตต้องหาวิธีมากำจัดก๊าซพิษจากการเผาไหม้

 

 

EGR อุดทำไม? ดีหรือไม่ดี?

 

ตัวอักษรภาษาอังกฤษ 3 ตัวคำนี้คุ้นหูและติดปากคอรถกระบะมาหลายขวบปี โดยเจ้า EGR ที่ว่านี้คือ Exhaust Gas Recirculation หรือแปลตรงตัวว่าระบบนำไอเสียกลับมาเผาซ้ำ หน้าที่ของมันคือการนำไอเสียที่ออกจากห้องเผาไหม้มาผสมกับไอดีแล้วนำไปเผาไหม้พร้อมกันซ้ำอีกครั้ง ผลที่ได้คือไอเสียมีก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ (NOX) น้อยลงกว่าการเผาไหม้เพียงรอบเดียว ซึ่งการบำบัดวิธีนี้ช่วยให้ไอเสียที่ปล่อยออกสู่ภายนอกผ่านมาตรฐานไอเสีย Euro 3 ที่ประกาศใช้มานานหลายสิบปี เอาล่ะหลังรู้แล้วระบบทำงานอย่างไรแล้วมาดูต่อว่าควรปิดระบบนี้หรือไม่…

 

เขม่าจะเกาะอยู่ใน EGR จำนวนมาก แต่ไอเสียที่ปล่อยออกมามีความสะอาดมากกว่า

 

บางคนนำรถไปใส่แผ่นเหล็กปิดระบบ EGR เพื่อให้รถวิ่งได้แรงขึ้น

 

 

คำพูดบอกต่อกันในวงการช่างซ่อมรถหรือแม้กระทั่งสายกระบะตูดดำควันท่วมก็คือ อุดแล้วดีกว่า ส่วนคำตอบคือ ดีกว่า แต่ดีสำหรับเครื่องยนต์เท่านั้น สาเหตุมาจากการปิดกั้นไม่ให้ระบบ EGR ทำงานจะทำให้ไอเสียไม่ถูกนำกลับไปเผาซ้ำ นั่นทำให้ไอเสียไหลออกได้ไวขึ้น ขณะเดียวกันลิ้นปีกผีเสื้อก็ไม่อุดตันไว และที่สำคัญคือเครื่องลื่นและน้ำมันเครื่องดำช้าลง ถ้าดูผ่านๆ จะเข้าใจการอุด EGR มีข้อดีต่อเครื่องยนต์มากมาย ทว่าความจริงแล้วผู้ที่อุดหรือปิดการทำงานของระบบดังกล่าวกำลังทำร้ายโลกแบบไม่รู้ตัว เพราะสิ่งที่คุณทำคือการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมาก แล้วเคยสงสัยไหมว่าทำไมเวลาเราเดินริมถนนในกรุงเทพฯ ไม่นาน แค่ปาดนิ้วบนใบหน้าก็มีคราบเขม่าดำติดนิ้วแล้ว นั่นแหละเป็นผลจากการที่เครื่องยนต์มีมาตรฐานไอเสียเก่า รวมถึงผู้ที่นำรถของตนที่ก่อนอุดมีมาตรฐาน Euro 4 ไปอุดระบบบำบัดไอเสียจนกลายเป็น Euro 1 หรือ 2 มาทำลายโลกและปอดของผู้อื่น

 

เมื่อกรองดักเขม่าไอเสีบ (DPF) ตันจะมีไฟเตือนขึ้นบนแผงหน้าปัตร

 

DPF กรองตันต้องเข้าศูนย์ทุกที…

 

ช่วงนี้ผมได้อ่านกระทู้ที่มีคำถามเกี่ยวกับ DPF มากมายหลายแหล่ง ซึ่งบางคนก็ยังไม่เข้าใจว่าไอ้เจ้าเนี่ยทำมีหน้าที่ไว้ทำอะไร แล้วทำไมมันถึงต้องมี ถ้าพูดศัพท์เชิงวิชาการเขาจะเรียกว่า Diesel Particulate Filter หรือเรียกง่ายๆ ว่ากรองดักจับเขม่าไอเสีย โดยกรองชิ้นนี้เปรียบเหมือนผู้รับไม้วิ่งผลัดต่อจาก EGR ที่เผาไหม้ไอเสียซ้ำเพื่อลดก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ จากนั้นไอเสียจะไหลเข้าสู่กรองที่คอยดักจับเขม่าดำๆ เรียกว่าป้องกันไม่ให้เขม่าไหลออกไปได้ถึง 99% เลยทีเดียว ทีนี้ถ้าเราขับรถไปเรื่อยๆ กรองชิ้นนี้ก็จะเริ่มอุดตัน อีกอย่างที่ควรรู้ก็คือรถที่มี DPF ส่วนใหญ่จะมีมาตรฐานไอเสียตั้งแต่ Euro 5 ขึ้นไป

 

 

ถามว่าถ้าตันแล้วทำอย่างไร? ง่ายๆ เลยครับถ้าคุณได้อ่านคู่มือจะมีบอกไว้ครบถ้วนว่าควรทำอะไร แต่ถ้าลืมก็ไม่เป็นไรเพราะเราจะบอกให้ วิธีคือคุณต้องขับรถด้วยความเร็วระดัง 60-80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงคงที่เป็นเวลาราว 10 นาที หรือจนกว่าไปเตือนกรอง DPF จะดับลง ฟังดูวิธีนี้เหมือนจะง่ายแต่เอาเข้าจริงคนที่ใช้รถในเมืองเป็นหลักคงร้องว่า ยาก!! ยิ่งถ้ารถของคุณใช้น้ำมันดีเซลที่มีมาตรฐาน Euro 4 โอกาสที่กรองไอเสียจะตันก็ยิ่งไวขึ้นกว่าการใช้น้ำมันดีเซล Euro 5 ซึ่งอย่างหลังนี้จะมีอยู่ตามปั๊มน้ำมันแต่ก็แพงกว่าน้ำมันปกติถึง 3 บาท

 

เหล่านี้คือน้ำมันดีเซลยูโร 5 ที่จะช่วยให้รถของคุณเผาไหม้สะอาดและทำให้กรอง DPF ตันช้าลง

 

ถ้าคุณไม่มีปัญหาเรื่องค่าน้ำมันที่ต้องจ่ายเพิ่มกับน้ำมันดีเซลเกรดพรีเมียม หรือหนึ่งวันในสัปดาห์มีเวลาพอที่จะขับรถออกไปต่างจังหวัดบ้าง การทำแบบนี้จะช่วยให้ DPF ตันช้าลงแถมคุณยังไม่ต้องมาหัวเสียกับไฟ Check Engine ที่ขึ้นมาสว่างวาบ อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราบอกคุณในบทความนี้ทางผู้ผลิตรถคงไม่ได้บอกหรือบอกความจริงไม่หมด เพราะถ้าพวกเขาบอกคุณว่ารถของคุณมีมาตรฐานเทียบเท่ารถยุโรป สิ่งที่ต้องทำตามมาก็คือการเลือกใช้น้ำมันที่ต้องพิถีพิถันกว่ารถกระบะหรือรถพีพีวียี่ห้อตลาดทั่วไป

 

 

Adblue ไอเสียสะอาดสุดแต่ต้องจ่ายค่าเติมเพิ่ม

 

หัวข้อสุดท้ายที่เราจะอธิบายให้ท่านทราบเกี่ยวกับระบบบำบัดไอเสียอย่างเจ้า Adblue (แอทบลู) ของเหลวสีใสที่มีราคาต่อลิตรอยู่ราว 50-300 บาทหรืออาจแพงกว่านั้นถ้าคุณโดนศูนย์ฯ ฟันกำไร ซึ่งของเหลวใสชนิดนี้จะทำงานอยู่ในระบบบำบัดไอเสียที่เรียกว่า DENOXTRONIC (ดีน็อกซ์ทรอนิกส์) โดยมันจะรับไอเสียที่ถูกดักจับเขม่าจากกรอง DPF มาผ่านกระบวนการทางเคมีด้วยการฉีดน้ำยาเข้าไปผสมกับไอเสีย เพื่อทำให้ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ลดลงต่ำกว่าค่าที่มาตรฐานไอเสีย Euro 6 ได้กำหนดไว้ ข่าวดีก็คือรถที่ต้องเติมแอทบลูมักเป็นรถเครื่องดีเซลจากยุโรปแบรนด์หรูต่างๆ ทั้ง Benz BMW Audi Jaguar และอื่นๆ ส่วนรถยี่ห้อตลาดที่มีในบ้านเรานั้นต้องรอจนกว่ารัฐบาลจะประกาศยกเลิกไอเสีย Euro 4 แล้วข้ามมาใช้ Euro 6 เสียก่อน

 

Adblue 1 ลิตรสามารถใช้งานได้ระยะทาง 700-1,000 กิโลเมตร โดยรถส่วนใหญ่บรรจุน้ำยาได้ 15-25 ลิตร

 

สำหรับผมคิดว่ารถที่ใช้ Adblue มีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์มากกว่า สังเกตุได้ว่าถ้าคุณไปท่องเที่ยวในประเทศแถบยุโรป เวลาสูดอากาศเข้าไปจะรู้สึกสดชื่นชุ่มปอดที่สุด นั่นแหละครับคือผลที่ได้จากการบังคับใช้มาตรฐานไอเสีย Euro 6 สิ่งนี้แหละที่รัฐบาลไทยรวมถึงคนในบ้านเรามองข้าม แต่ถ้าพวกเราช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลให้ทุกคนได้รับรู้ ผมเชื่อว่าอีกไม่กี่ปีเราจะได้สูดอากาศบริสุทธิ์ในทุกสถานที่บนประเทศไทย

 

ช่วยเป็นกำลังใจให้เรา

 

 

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่