ในบรราดา รถยนต์อีโค่คาร์ ที่วางขายในไทยปัจจุบัน ตลาดอีโค่คาร์ ถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูง และมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา จนมาถึง ยุคที่อีโค่คาร์นั้นมีความสามารถ เท่ารถยนต์เครื่อง 1.5 ลิตร ในอดีต แล้วเข้ามาแทนที่อย่างใน Honda City
การเปลี่ยนแปลงตลาดนี้ด้วยรถที่มีขนาดใหญ่ขึ้น น่าใช้งานขึ้น ทำให้ตลาดมีความหวังอีกครั้ง แม้ว่านับวัน ยุครถยนต์ไฟฟ้าครองเมือง จะมาใกล้เคียงเต็มที หากก็ใช่ว่าทุกคนจะพร้อมสำหรับการเปลี่ยนตัวเอง รวมถึงปัจจัยทางด้านราคา และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการใช้รถ
ตลาดอีโค่คาร์ เดิมที มีแต่รถเก๋ง โดยใช้ข้อกำหนดทางด้านขนาดเครื่องยนต์ และการปล่อยไอเสีย รวมถึงข้อบังคับทางด้านความปลอดภัยเป็นจุดสร้างความแตกต่าง ระหว่าง รถปกติ กับรถที่เข้าเงื่อนไขอีโค่คาร์ ภายใต้ระเบียบเรื่องการลงทุน และผลิตจำหน่ายในอีกทาง
ถ้ามามองย้อนดีๆ จะพบว่า โครงการนี้ไม่มีข้อกำหนดทางด้านขนาดตัวรถ เป็นระเบียบ วาระสำคัญ ทำให้รถอีโค่คาร์ ในวันวานที่คิดว่าจะมีขนาดเล็กมีความโตขึ้น จนบางรุ่น เรียกว่า มีขนาดไม่ต่างจากคอมแพ็คคาร์ในอดีต อาทิ Suzuki Ciaz เป็นต้น
ขนาดตัวรถที่ใหญ่ได้ตามต้องการ ขอเพียงทดสอบผ่านมาตรฐานเรื่องการปล่อยไอเสียและความประหยัด ทำให้บริษัทรถยนต์ ต้องนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาสำแดง เช่น หัวฉีดคู่ของ Suzuki ,เครื่อง 1.0 ลิตร เทอร์โบของ ฮอนด้า
สิ่งเดียวที่เรายังไม่เคยเห็น และคาดว่า น่าจะอีกไม่นานแล้วในกลุ่มนี้ คือ รถยนต์อเนกประสงค์ใน หมวด อีโค่คาร์ คำถามเดียวใครจะมาก่อนกัน
อุปสรรค ที่ขัดขวางให้รถยนต์อเนกประสงค์อีโค่คาร์ ยังไม่จุติในประเทศไทย มาจากภาพเดิมของรถอเนกประสงค์ที่ต้องพร้อมสรรพในการขับขี่ สามารถลุยได้ มีขนาดใหญ่นั่งสบาย
แต่หลายีที่ผ่านมา แบรนด์รถยนต์น้องใหม่อย่าง MG พิสูจน์แล้วใน MG ZS ว่า แนวคิดทางการตลาด รถอเนกประสงค์ขนาดเล็กราคาถูกนั้นเป็นไปได้ จากยอดขายสุดปัง
การประสบความสำเร็จของ MG ZS ทำให้ มาสด้า ตัดสินใจปรับราคารถ Mazda CX-3 ลงมาห้ำหั่นด้วย แล้วก็มียอดขายดีขึ้นตามลำดับ มีรถใหม่ป้ายแดงออกมาวิ่งมากขึ้นทั้งที่ รถก็ทำตาดมายาวนาน นั่นชี้ให้เห็นว่า รถอเนกประสงค์ขนาดเล็กที่มีราคาถูกต้อง คนไทยก็พร้อมจะจับจอง โดยเฉพาะในระดับราคา 7 แสน กลาง ไปจนถึง 8 แสนบาทต้นๆ
ถ้ามองรถ 2 รุ่นที่ขายในปัจจุบัน ตามที่กล่าวมาข้างต้น จะพบว่า ทั้งคู่ไม่ได้ เข้าเงื่อนไขโครงการอีโค่คาร์ คันหนึ่งใช้เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร มาสด้า ใช้เครื่อง 2.0 ลิตร ทำให้มีราคาค่อนข้างสูง
เค้าลาง อีโค่ SUV มีแนวทางอยู่บ้าง อาทิ โตโยต้า เคยทำรุ่น Yaris Cross ออกมา วางจำหน่าย ทำให้หลายคนสนใจ เป็นชุดแต่งที่ออกมาเข้าท่าเข้าทีไม่น้อย
ความหวัง การมี SUV ในกลุ่มอีโค่คาร์ไม่ได้ลิบหรี่เสียทีเดียว เพราะมันอาจแจ้งเกิดจากกลุ่ม อเนกประสงค์ขนาดตัวไม่เกิน 4 เมตร ที่มีแนวโน้มว่าจะเข้ามาขายในไทยในเร็วๆ นี้ รถอย่าง Toyota Raize ,Nissan Magnite และ อีกหลายรุ่น มีขนาดตัวไม่ใหญ่มาก และมีน้ำหนักเบา ความสามารถของเครื่องยนต์ 1.2 ลิตร เทคโนโลยีสูง สามารถทำให้พวกมันพิชิตอัตราประหยัด และการปล่อยไอเสียได้
สิ่งที่ขัดขวางจริงๆ ในเรื่องนี้ คือ ขนาดตัวรถที่จะต้องมีสัดส่วน สูงจากพื้นมากกว่า และ น้ำหนักรวมในการใช้งานมากกว่ารถปกติทั่วไป ที่สำคัญ เมื่อเป็นรถอเนกประสงค์ความสามารถในการเดินทางไกล ก็เป็นเรื่องที่สำคัญด้วยการตอบสนองของเครื่องยนต์ โดยเฉพาะเวลาโดยสารเต็มที่ เป็นเรื่องที่ลูกค้าคาดหวังมาก และอาจจะมากกว่าเก๋งอีโค่คาร์ ที่เน้นขนาดเล็กคล่องตัวใช้งานในเมือง
เจ้าอีโค่ SUV จะเป็นไปได้ไหม เวลาเท่านั้น คือ คำตอบ แต่แน่นอนว่า ค่ายไหนที่ทำได้ก่อน ในราคาที่ถูกต้อง ก็จะเป็นอีกครั้งที่มีการพลิกตลาดครั้งสำคัญ