เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ที่การพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่แต่ละครั้ง เหล่าผู้ผลิตมักโฆษณาพวกมันพร้อมจุดขายคือความแรงที่ทวี มากขึ้นกว่าเดิมขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่ารถกระบะ ตัวท๊อป ปัจจุบันมีแรงม้าเฉลี่ยกันที่ 200 ตัว และแรงบิดเฉลี่ย 500 นิวตันเมตร จนบางที ก็สงสับเหมือนกัน ว่า กระบะสมัยนี้ มันแรงเกินไปไหม ??

ย้อนไปในช่วงยุคปี 90 ณ ช่วงเวลาดังกล่าว รถกระบะยังมีแรงม้าแค่เพียง 90 ตัว และแรงบิดราวๆ 150 นิวตันเมตร หรือราวๆ เครื่องยนต์ เบนซิน 1.5 ลิตรในยุคนี้ มีความสามารถแบกน้ำหนักบรรทุก 1.1 ตัน กับตัวรถที่มีขนาดกำลังใช้งาน ไม่ใหญ่เทอะทะ หรือเล็กเกินไป

พัฒนาการเครื่องยนต์ดีเซล ถูกปรับปรุงต่อเนื่อ งตื่นเต้นทุกครั้ง ที่รถกระบะรุ่นใหม่เปิดตัว เริ่มจาก การพยายามทำให้ลมเข้าสู่ห้องเผาไหม้ดีขึ้น , จากนั้น ก็มาสู่ยุค ติดตั้งเทอร์โบชาร์จ เพื่อรีดกำลังขับให้ดีขึ้น และไม่นาน ระบบหัวฉีดแรงดันสูง ควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ระบบ Common Rail ก็เข้ามามีบทบาท และ ขยับแรงม้า เพิ่มไปเป็น มาตรฐาน 140 แรงม้า และ รุ่นท๊อป จะทำกำลัง อยู่ที่ราวๆ 160 แรงม้า แรงบิดเฉลี่ย ที่ 400 นิวตันเมตร นั่นก็เรียกว่า เหลือเฟือ

จนปี 2010 ฟอร์ด ทุบสถิติ ตลาดกระบะ แนะนำ เครื่องยนต์ 5 สูบ แถวเรียง 3.2 ลิตร ที่มีกำลังขับ 200 แรงม้า และแรงบิด 470 นิวตันเมตร กลายเป็นกระบะ 200 ม้า รุ่นแรก จน เชฟโรเล็ต ตัดสินใจพัฒนาตามเครื่องยนต์ 2.8 ลิตร ให้มีกำลังใกล้เคียง ภายหลัง โตโยต้า ตามมาในช่วงหลัง ด้วยตัวเลข 200 ม้า เช่นกัน และแรงบิดมากกว่า 500 นิวตันเมตร

เป็นอันศึกกระบะ ตัวท๊อป ต้อง 200 ม้า และ ฟอร์ด ก็หนีข้ามทุ่งด้วยเครื่องยนต์ใหม่ มีกำลังขับ 210 แรงมา้ และแรงบิด 500 นิวตันเมตร แต่ในอนาคต เครื่องยนต์ของพวกเขา จะยิ่งทวีความแรงขึ้น เพระามีแนวโน้ม ที่กระบะ V6 จะเข้ามาขายในบ้านเรา ซึ่งจะทำกำลัง 240 แรงม้า โดยประมาณ และ แรงบิดสูงสุด ราวๆ 600 นิวตันเมตร

และหากมองย้อน ไปยังกระบะที่มีเครื่องยนต์เล็กที่สุด อย่าง Isuzu D-Max ที่มาพร้อมเครื่องยนต์ 1.9 ลิตรในปัจจุบัน มันยังมีศักยภาพกว่า เท่าตัว เมื่อเทียบกับกระบะรุ่นพ่อ ด้วยกำลังขับ 150 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร

ประโยชน์เครื่องแรง

พัฒนาการกระบะที่ต้องการ อยากได้เครื่องยนต์ สมรรถนะดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากข้อเท็จจริงเครื่องยนต์ดีเซล ในอดีตที่ไม่สามารถสู้เครื่องยนต์เบนซินได้ จะมีดีก็เรื่องความทนทานระยะยาว เหมาะแก่การใช้งานหนัก รวมถึง แรงบิดสูงในรอบต่ำ ทำให้สามารถบรรทุกและลากจูง ดีกว่า เบนซิน

แต่การพัฒนาตัวรถในรุ่นถัดๆ มากก็มีการ เพิ่มขนาดตัวรถใหญ่ขึ้นตามลำดับ รวมถึง ยังปรับให้ความสามารถทางวิศวกรรมบางอย่าง อาทิ การทำให้รถขับสบายขึ้นด้วยเกียร์อัตโนมัติ ในยุคหลัง

ทำให้ วิศวกร จึงต้องพัฒนาเครื่องยนต์ ให้แรงขึ้นตามลำดับตามไปด้วย เนื่องจากน้ำหนักเปล่าตัวรถเพิ่มขึ้น อำนาจ การบรรทุกก็เพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมากกว่า กฏหมาย กำหนด แต่เป็นที่ถูกใจ ลูกค้าสายเน้นใช้งาน

แต่ส่วนหนึ่ง ที่รถมีความแรงขนาดนี้ ก็มาจากบ้านเรา เป็นฐานการส่งออกสำคัญไปยังหลายตลาดสำคัญ อาทิ ออสเตรเลีย , นิวซีแลนด์ , ตะวันออกกลาง ทำให้ รถที่จะผลิต ต้องตอบได้ทุกตลาด อานิสงค์ความแรง จึงตกถึงมือคนไทย ด้วยในอีกทาง

บ้าพลังเกินไหม .. ทั้งที่แค่รถกระบะ

มองในมุมดี และ ประโยชน์ จากเครื่องยนต์พันธ์ุแรง มันก็ทำให้รถขับดีขึ้น เมือต้องใช้งานในการบรรทุก แต่ประเด็นคือ เครื่องยนต์เลห่านี้อยู่ในกระบะตัวท๊อป ราคาเป็นล้านบาท และในรุ่นสี่ประตูเสียมาก ประเด็นเรื่อง การนำไปใช้เพื่อบรรทุกหนัก จึงน้อยมากๆ จะใช้ลากจูง ก็มีบ้างสำหรับคนบางกลุ่ม แต่ไม่ใช่ทุกกลุ่มในบ้านเรา

ด้วยเหตุนี้ หากมองไปที่โจทย์การใช้งานตามจริง รถกระบะในบ้านเรา มีขีดจำกัดการบรรทุกตามกฏหมายเพียง 1.1 ตัน เท่านั้น ขุมกำลังระดับ 200 แรงม้า กว่าๆ กับแรงบิดอีกราวๆ 500 นิวตันเมตร จัดว่า เหลือเฟือแล้วสำหรับการใช้งานตามข้อจำกัดทางกฏหมายที่ถูกขีดเส้นเอาไว้

อันที่จริงรถกระบะของไทยก็สามารถรับน้ำหนักเหล่านี้ได้ดีตั้งแต่ยุคที่มันยังมีแรงม้า 90 ตัว และแรงบิด 150 นิวตันเมตร และเริ่มอยู่ในเกณฑ์ที่ “เหลือเฟือ” มาตั้งแต่ช่วงที่รถกระบะยุค 150 แรงม้า กับแรงบิดราวๆ 300-400 นิวตันเมตร แล้วด้วยซ้ำ

ในทางกลับกัน กระบะพละกำลังที่สูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของแรงบิด , กลับสวนทางกับ ลักษณะทางกายภาพของตัวรถ ปัจจุบัน เน้นไปทางสูงโปร่ง ท้ายเบา ระบบช่วงล่างและยางเดิมๆติดรถ ก็เน้นไปที่การเผื่อรับน้ำหนักยามที่ต้องบรรทุกสิ่งของเป็นหลัก

หมายความว่า มันยิ่งมีโอกาสที่ ผู้ใช้อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ขับขี่ ที่มีประสบการณ์ไม่มาก และ แม้ว่าจะมีแรงบิดมากขึ้น จนอาจจะเป็นอันตรายได้ง่าย แต่ก็ยังไม่มีผู้ผลิตรายใด ให้มาตรฐานระบบควบคุมการทรงตัว และป้องกันล้อหมุนฟรี เป็นมาตรฐานในกระบะทุกรุ่น จะเริ่มมีก้ในรถราคา 8 แสนบาท ขึ้นไป

แม้แต่ในมุมของผู้เขียน ซึ่งมีโอกาสได้ลองทดสอบรถยนต์มาหลากหลายรุ่น ในหลายครั้งก็แอบรู้สึกว่ารถกระบะที่มีแรงบิดมากมายระดับ 400 นิวตันเมตรขึ้นไป สามารถมีอาการท้ายสไลด์ หรือล้อหลังเสียการยึดเกาะได้ง่ายอยู่บ่อยครั้ง ในมุมของคนที่ชอบขับรถ มันอาจจะเป็นอารมณ์สนุกสนานที่จะได้แก้อาการรถ

แต่หากอาการดังกล่าวเกิดขึ้นกับบุคคลซึ่งมีประสบการณ์ไม่มากนัก หรืออาจจะไม่ใช่คนที่ชอบขับดุดันเป็นทุนเดิม (เน้นการขับที่ปลอดภัย นุ่มนวลเป็นหลัก) เมื่อมาเจอกับรถกระบะที่มีแรงม้าสูงมากๆ ที่เสี่ยงต่อการเสียอาการได้ง่าย หากคุมคันเร่งทะเล่อทะล่า หรือคุมการทรงตัวรถเหล่านี้ยังไม่คล่อง ก็อาจจะเอารถไม่อยู่และเกิดการเสียหลัก และเกิดอุบัติเหตุตามมาได้ง่าย

ดังนั้น เรา จึงมองว่ารถกระบะ อาจไม่จำเป็นต้องทำให้มีแรงม้า หรือแรงบิดมากไปกว่านี้แล้วก็ได้ หากมองไปที่การใช้งานในชีวิตประจำวันของบุคคลทั่วๆไป นาน ๆ จะแบกของเต็มพิกัด (ยกเว้น สายพาณิชย์ พ่อค้า ตลาดนัด) แค่ซื้อรถกระบะเอาไว้เผื่อว่าในสักวันจะต้องย้ายบ้านก็เท่านั้น

ส่วนเหล่าผู้ใช้รถกระบะตัวจริง เช่นผู้มีอาชีพขนส่งสินค้าข้ามจังหวัด จุดนี้ก็คงต้องยอมรับกันตามตรงว่า ส่วนใหญ่แล้วมักใช้งานรถเกินขอบเขตข้อกฏหมายดั้งเดิมไปไกล ซึ่งย่อมหมายถึงการดัดแปลงสภาพรถให้มีทั้งความแข็งแรง และเรี่ยวแรงมากขึ้นกันเองในภายหลังอยู่แล้ว จึงอาจจะไม่ต้องกังวลในจุดนี้มากเท่าไหร่นัก (ขนาดกระบะเครื่อง 1.9 ก็ยังเอาไปโมฯกันได้จนแรงกว่ารถเครื่องฯ 3.0 เดิมๆไปไกล)

และ แน่นอน ใช่ว่าเหล่าผู้ผลิตจะปล่อยให้ผู้ใช้ ได้มีประสบการณ์ที่เสียงอันตรายกับรถของตนเองเช่นนั้น เพราะในขณะที่รถแรงขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาก็ สมควร การใส่ระบบความปลอดภัยที่คอยช่วยเหลือผู้ใช้เข้ามามากมายเช่นกัน อย่างเช่นระบบป้องกันการลื่นไถล, ระบบควบคุมการทรงตัว, หรือระบบป้องกันการเหยียบคันเร่งผิดวิธี เป็นต้น

ติดก็แค่เพียงระบบเหล่านั้น มักจะมีให้อย่างครบครันเฉพาะในตัวรถรุ่นท็อป หรือรถที่มีราคาแพงทั้งหลาย ในบางรุ่นย่อยที่มาพร้อมกับเครื่องยนต์แรงๆ ก็อาจไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ได้ระบบช่วยเหลือผู้ขับที่ครบครันเท่าไหร่นักเสียด้วย

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผู้ผลิตควรพัฒนาต่อไป สำหรับรถกระบะรุ่นใหม่ๆในอนาคต จึงอาจไม่ใช่การมุ่งเน้นไปที่เรื่องของตัวเลขพละกำลังสูงสุด หรือแรงบิดสูงสุดที่สามารถเค้นได้จากเครื่องยนต์

แต่ควรเป็นเรื่องของการพัฒนาระบบความปลอดภัยที่ครอบคลุม และฉลาดมากพอที่จะช่วยเหลือผู้ใช้ในยามคับขันได้อย่างอยู่หมัดจริงๆมากกว่า ใช่ว่าทุกคนที่เลือกซื้อรถกระบะมาใช้ จะสามารถขับมันได้ดี และที่สำคัญที่สุดคือ ควรใส่มาให้เป็นมาตรฐานในทุกรุ่นย่อย เหมือนๆกับรถยนต์นั่งเครื่องเบนซินบางรุ่น ที่แม้จะเป็นรถอีโคคาร์ ก็ยังมีระบบควบคุมการทรงตัวมาให้แล้ว

ข้อสำคัญ สุดท้าย กลุ่มคนซื้อกระบะ 200 แรงมา้ ก็น้อยนิด เพราะ การให้ที่สุดเทคโนโลยี ทำให้ราคาค่อนข้างแพง เราจึงได้เห็น 2 แบรนด์ตลาด ไม่เดินตามรอยนี้ นั่นคือ Nissan และ Isuzu ที่ตัดสินใจ หยุดเพดาน ที่ 190 แรงมา้ และแรงบิด 450 นิวตันเมตร เท่านั้น เช่นเดียวกับ มิตซูบิชิ นั่นทำให้ การแข่งขันกระบะ 200 ม้า มีเพียง ฟอร์ด และ โตโยต้า เท่านั้น ซึ่ง โตโยต้า ก็ดูไม่อยากจะก้าวไปไกลกว่านี้เท่าไรนัก

ทั้งนี้บทความที่ไล่เรียงมา ยังเป็นเพียงการนำเสนอในมุมแนวคิดของพวกเราเท่านั้น แล้วคุณผู้อ่านล่ะ คิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้กันอย่างไรบ้าง ?

“กระบะ แรงม้า 200 ตัว แรงบิดหลัก 500 นิวตันเมตร แรงเกินพอแล้วหรือยัง ?”

ลองแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเข้ามาได้เลยครับ

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่