เมื่อวันก่อนเราได้ยินข่าวว่ามีคุณแม่ท่านหนึ่งอุ้มลูกน้อยไว้ในอ้อมอกขณะรถที่นั่งมาเกิดเบรกฉุกเฉิน จนทำให้ทารกที่อยู่ในอกพุ่งไปกระแทกกับคอนโซลหน้ารถ โชคดีที่หลังการตรวจกับแพทย์ไม่พบว่าเด็กได้รับอันตรายใดๆ มีเพียงแค่อาการตกใจจนร้องไห้ขณะเกิดเหตุเท่านั้น แต่คำถามที่ทุกคนสงสัยคือเอาลูกไว้ที่ตักหรืออุ้มไว้ปลอดภัยจริงหรือ? 

 

 

เราเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนย่อมเป็นห่วงลูกน้อยของตนอย่างสุดหัวใจ บางคนก็สรรหาสิ่งที่ดีที่สุดมาให้ลูกใช้ ไม่ว่าจะเสื้อผ้า ของใช้ หรือแม้กระทั่งอาหารการกิน แต่ก็มีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยเลยที่หลงลืมเรื่องความปลอดภัยขณะเดินทางโดยรถยนต์ ตัวอย่างง่ายๆ คือเราสังเกตุเห็นว่าเวลาพ่อแม่บางคนพาลูกนั่งรถยนต์ไปนอกบ้าน บางท่านยังอุ้มลูกอยู่ในอ้อมอก ซึ่งเมื่อสอบถามว่าทำไมถึงต้องอุ้มหลายคนก็บอกกลับมาว่า… อุ้มเพราะอยากให้ลูกรู้สึกปลอดภัย ไม่ร้องงอแง และสามารถหลับได้ง่ายขณะที่อุ้มอยู่ โดยคำอธิบายที่บอกมานั้นก็มีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่เรื่องความปลอดภัยขณะที่เด็กถูกอุ้มไม่ว่าจะที่เบาะหน้าหรืออุ้มที่เบาะหลัง การกระทำดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้เด็กปลอดภัยเลย รังแต่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจนถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้

อ้าวแล้วมีวิธีอะไรบ้างล่ะ? ถ้าไม่ให้อุ้มแล้วจะต้องทำอย่างไรลูกน้อยถึงจะปลอดภัยเมื่อนั่งรถ คำตอบที่ง่าย ปลอดภัย และสะดวกที่สุดก็คือการให้เด็กนั่ง Car Seat หรือเบาะเด็ก ยังไงล่ะครับท่านผู้อ่าน เมื่อบอกไปอย่างนั้นคำถามที่ตามมาต่อเนื่องดั่งสายน้ำหลั่งไหลก็คือ ปลอดภัยขนาดไหน? ใช้อย่างไร? ราคาเท่าไหร่? ซึ่งในบทความนี้เราจะมาบอกคำตอบให้ท่านเข้าใจแบบเบาสมอง และสามารถนำข้อมูลไปบอกต่อญาติพี่น้อง เพื่อน หรือคนที่ทำงานใกล้ชิดก็ได้

 

 

Car Seat ปลอดภัยขนาดไหน?

 

คำถามยอดฮิตเวลาเราบอกว่าพ่อแม่ทุกท่านว่า “ลูกของพวกคุณต้องนั่งเบาะเด็กนะครับ เพราะจะได้รับความปลอดภัยที่สุด” เสียงที่ได้ยินกลับมาก็ได้แก่ “ปลอดภัยจริงอ่ะ? เด็กนั่งแล้วไม่ชอบร้องไห้งอแงนะ…” เอาอย่างนี้ครับ ถ้าถามว่าเบาะเด็กทำให้ลูกของคุณปลอดภัยได้อย่างไร เราก็ต้องบอกวิธีที่เบาะเด็กปกป้องลูกของคุณเสียก่อน

อันดับแรกเลยคือเบาะเด็กถูกออกแบบให้มีโครงสร้างที่ดูดซับและกระจายแรงกระแทกไปยังชิ้นส่วนโครงสร้างเบาะ เปรียบเทียบให้เห็นง่ายๆ คือ เวลารถเกิดอุบัติเหตุแรงกระแทกที่เข้าหาเด็กยังไม่สามารถทำอันตรายใดๆ ได้ เพราะแรงเหล่านั้นจะถูกกระจายไปยั่งโครงสร้างของเบาะเด็กแทน ลำดับต่อมาคือเบาะเด็กมีการออกแบบเพื่อให้เด็กนั่งแล้วรู้สึกสบายแถมโอบกระชับกับสรีระในเด็กแต่ละวัย เช่น แรกเกิดถึงหนึ่งขวบครึ่ง หรือแรกเกิดถึงอายุสี่ปี

นอกจากนี้ ยังใช้เข็มขัดนิรภัยแบบ 5 จุดเหมือนที่เราเห็นกับในรถแข่ง โดยเมื่อพ่อแม่จับลูกนั่งปรับเบาะให้เหมาะสม แล้วคาดเข็มขัดนิรภัยให้แน่นกำลังดีไม่หลวมหรือคับจนเกินไป เวลารถเกิดเบรกฉุกเฉินหรือชนกับรถคันหน้า รับประกันเลยว่าลูกของท่านจะไม่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงแน่นอน

 

 

ว่าแต่ Car Seat ราคาถูกกับราคาแพงต่างกันตรงไหน?

 

คุณเคยได้ยินคำนี้ไหม? “ของถูกและดีไม่มีในโลก” เหตุผลที่เราต้องพูดแบบนี้ก็เพราะว่า เบาะเด็กนั้นมีคุณภาพวัสดุรวมถึงโครงสร้างที่แตกต่างกันไม่มียี่ห้อไหนเลยที่จะเหมือนกันร้อยเปอร์เซ็น นอกจากนี้เรื่องของมาตรฐานการทดสอบ การง่ายต่อการติดตั้ง ขนาด น้ำหนัก วิธีการติดตั้ง รวมถึงความสบายของเด็กเมื่อนั่งโดยสารก็แตกต่างกันไป เอาง่ายๆ เบาะเด็กราคาถูก (สองถึงหกพันบาท) ส่วนใหญ่มักติดตั้งแบบใช้เข็ดขัดนิรภัยเบาะหลังมาคาดพาดกับตัวเบาะ

โดยวิธีการติดตั้งแบบนี้มักมีความซับซ้อนยุ่งยากมากกว่าการติดตั้งแบบ Isofix ที่มีอยู่ในเบาะราคาแพง (หนึ่งหมื่นบาทขึ้นไป) ซึ่งเบาะเด็กที่มี Isofix จะต้องติดตั้งบนเบาะหลังที่มีจุดตะขอยึด Isofix ด้วยเช่นกัน ข้อดีของมันคือเพียงเสียบตะขอให้ตรงล็อคเจ้าเบาะเด็กก็จะถูกยึดแน่นหนาและปลอดภัยที่สุด กลับกันเบาะเด็กราคาถูกที่ต้องใช้สายเข็มขัดมาคาดเอง ถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจวิธีการติดตั้งหรือไม่ได้รัดสายให้แน่น โอกาศที่เบาะจะหลุดระหว่างเบรกแรงๆ หรือเกิดการชนก็มีสูงกว่าเบาะ Isofix มาก

 

 

ติดเบาะเด็กที่เบาะคนนั่งด้านหน้าได้ไหม แล้วควรติดหน้าออกหรือหันหน้าเข้าเบาะ?

 

แม้ว่าพ่อแม่หลายท่านจะซื้อเบาะเด็กราคาแพงมาให้ลูกน้อยของตนนั่งแล้ว แต่หารู้ไม่หากติดตั้งผิดวิธีก็อาจเกิดอันตรายต่อบุตรสุดรักได้เหมือนกัน อย่างไรก็ตามคุณไม่ต้องกังวลใจไปเพราะเราพร้อมบอกวิธีติดตั้งเบาะเด็กให้ถูกต้องง่ายๆ ได้รับรู้ ก่อนอื่นเลยคุณต้องรู้ว่าเบาะที่ซื้อมาเหมาะสำหรับเด็กช่วงอายุไหน

โดยถ้าเป็นแบบกระเช้า (Infant car seat) จะใช้ได้ตั้งแต่แรกเกิด-หนึ่งขวบครึ่ง ซึ่งแบบแรกนี้จะต้องติดตั้งไว้ที่เบาะหลังแล้วหันหน้าเด็กเข้าหาเบาะนั่งเท่านั้น (ส่วนมากเป็นแบบ Isofix บังคับติดตั้งหันหน้าเข้าเบาะหลังอยู่แล้ว) อีกอย่างคือห้ามนำเบาะชนิดนี้ไปติดตั้งที่เบาะนั่งด้านหน้าฝั่งคนขับเด็ดขาด แม้คุณจะปิดถุงลมนิรภัยฝั่งคนนั่งได้แต่นั่นก็ยังอันตรายต่อเด็กอยู่ดี

ต่อมาคือเบาะนั่งที่ใช้ได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 4 ปี (Convertible car seat) ประเภทนี้เป็นเบาะที่เราพบได้มากในท้องตลอด มักมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่หลักพันถึงหลายหมื่นบาทตามแต่ละยี่ห้อ วิธีติดตั้งก็ง่ายๆ คือแรกเกิดถึงขวบครึ่งให้หันหน้าเด็กเข้าหาเบาะหลัง พออายุเกินขวบครึ่งไปจนถึงสี่ขวบก็เปลี่ยนมาหันหน้าไปด้านหน้าตามปกติ

แต่สำหรับการติดตั้งนั้นเราแนะนำว่าควรให้เบาะเด็กอยู่ที่เบาะหลังจะปลอดภัยที่สุด แม้ว่าเด็กจะโตพอจนเอาเบาะไปติดข้างคนขับได้ แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุเศษซากกระจกหรือเหล็กอาจเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้การติดตั้งที่เบาะหน้ายังต้องดูว่ารถของคุณปิดการทำงานของถุงลมฝั่งคนขับได้หรือไม่ควบคู่กัน

 

 

ก่อนจบบทความเราอยากฝากให้พ่อแม่ทุกท่านยอมลงทุนซื้อเบาะเด็กให้ลูกที่คุณรัก แม้มันจะมีราคาแพงสักหน่อยแต่เชื่อเถอะว่าเงินหลักหมื่นที่จ่ายไปนั้นคุ้มค่ากว่าค่ารักษาหรือเงินที่ตีค่าไม่ได้หากลูกเกิดพิการหรือเสียชีวิต อาจมีบางคนบอกว่าเป็นคนขับรถไม่ประมาท ขับช้าปลอดภัย แต่คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่าคนอื่นบนท้องถนนจะขับปลอดภัยเหมือนอย่างคุณ… ฉะนั้นการป้องกันจึงดีกว่าการแก้ไขครับ

 

 

ติดตามข่าวสารและบทความดีๆ จากพวกเรา Ridebuster.com

 

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่