สัมผัสแรกพอบอกได้ แจ่มขึ้นพอตัว

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของ   Subaru XV   ใหม่ ไฮไลท์สำคัญ อยู่ที่การสร้างสรรค์สมรรถนะให้ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิมที่ผ่านมา 2 สิ่งที่ทางค่ายดาวลูกไก่จัดสรรมาพัฒนาในเครื่องยนต์รุ่นใหม่ ให้ตอบสนองในการใช้งานมากขึ้น และโครงสร้างที่มีความแข็งแรงมากขึ้นกว่าเดิม

ใต้เรือนร่างใหม่ของ  Subaru XV   ด้วยอานิสงค์จาก Subaru  Impreza   ทำให้   Subaru XV   เป็นรถรุ่นที่ 2 ที่ได้โครงสร้าง   Subaru  Global Platform  หรือ   SPG   โครงสร้างใหม่นี้มีความแข็งแรงกว่าเดิมถึง 70-100 %  เมื่อเทียบกับ  Subaru  XV   รุ่นเดิม

ที่สำคัญโครงสร้างใหม่ยังปรับเปลี่ยนจุดยึดเครื่องยนต์จนสามารถลดจุดศูนย์ถ่วงให้ต่ำลงได้อีก 5 มม. แม้จะฟังดูน้อย แต่ก็มากพอจะทำให้ลดการโคลงตัวของรถ โดยเฉพาะเมื่อรวมกับการใช้เหล็ก  High Tensile Steel ทางค่ายดาวลูกไก่ก็สามารถลดการโคลงตัวของรถได้ร้อยละ 50

ส่วนเครื่องยนต์  Subaru  XV  ใหม่ ถึงแม้ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร Boxer   สูบนอนเหมือนเดิม แต่มีการปรับปรุงชิ้นส่วนใหม่กว่าร้อยละ 80  ในเครื่องยนต์ รวมถึงเปลี่ยนฉีดน้ำมันจาก Port Injection  ในรุ่นเดิมมาสู่ระบบ   Direct Injection  ทั้งหมดทำให้กำลังของเครื่องยนต์มากขึ้น จากเดิม 150 แรงม้า รุ่นใหม่ ให้กำลัง 154 แรงม้า ขณะที่แรงบิดเท่าเดิม 196 นิวตันเมตร จะแตกต่างก็ตรงมาไวกว่าเดิมเล็กน้อยที่ 4,000 รอบต่อนาที

ตัวเครื่องยนต์เบาลง  12 กิโลกรัม ตลอดจนยังติดตังระบบหยุดการทำงานของเครื่องยนต์อัตโนมัติ Subaru  Auto Start-Stop  มาให้

ไม่เพียงเท่านี้ระบบส่งกำลังชุดเกียร์   CVT   ใหม่ ยังปรับการทดเกียร์ใหม่หมด รวมถึง เพิ่มอัตราทดจากเดิมเป็นเกียร์ 6 สปีด เป็น 7 สปีด  รวมถึงชุดเกียร์ยังเบากว่าเดิม 7.8 กิโลกรัม

ตารางแสดงอัตราทดเกียร์  New Subaru XV  เปรียบเทียบกับรุ่นเดิม

อัตราทดเกียร์ 2014 Subaru XV 2017 Subaru XV
อัตราทดเกียร์ โดยรวม 3.581-0.570 3.600-0.512
Overall Ratio 6.28:1 7.03:1
เกียร์ 1 (M Mode) 3.581 3.600
เกียร์ 2 (M Mode) 2.262 2.155
เกียร์ 3 (M Mode) 1.658 1.516
เกียร์ 4 (M Mode) 1.208 1.092
เกียร์ 5 (M Mode) 0.885 0.843
เกียร์ 6 (M Mode) 0.618 0.667
เกียร์ 7(M Mode) 0.557
อัตราทดเฟืองท้าย 3.700 3.900

 

จำนวนอัตราทดเกียร์ที่มากขึ้น คงทำให้หลายคนสนใจเจ้า   Subaru  XV   ใหม่ อย่างไม่ต้องสงสัย อัตราทดเกียร์ต่ำลงหมายความว่า รถจะมีอัตราเร่งดีขึ้น และประหยัดน้ำมันมากขึ้นกว่ารุ่นปัจจุบัน แต่วันนี้เราจะได้ลองสั้นๆ ว่ามันดีกว่ามากน้อยเพียงใดกัน

 

การทดสอบ… !!!

ในการทดสอบ   Subaru XV   ทางซูบารุใช้วิธีการเหมือนเดิมคล้ายกับที่สิงคโปรให้เราได้ขับลองเจ้าอเนกประสงค์ของพวกเขา โดยในครั้งนี้จัดแบ่งออกเป็น 3 สถานี ทดสอบ ได้แก่  On-Road , Gravel  และ   Off Road  โดยรถที่เราขับขี่ทุกสถานีเป็น   Subaru XV 2.0i-S  อย่างที่ผมบอกไปแล้ว รถ Subaru 2.0i-S ใช้ล้ออัลลอยขอบ 18 นิ้ว มาพร้อมยาง   Bridgestone H/P Sport  ขนาด 225/60/R18  ในแต่ละการทดสอบกลุ่มที่ผมอยู่เป็นกลุ่ม 3 คน เท่ากับเมื่อรวมครูฝึกที่กำกับทางด้านความปลอดภัยในรถจะมี 4 คนพอดี

ด่าน  On Road  

จริงๆแล้ว การทดสอบเราผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามแต่ละกลุ่ม แต่เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจผมจะเล่าเริ่มจากด่าน On-Road   ซึ่งเน้นในการแสดงถึงการตอบสนองของรถ การโคลงตัว และการควบคุมในสถานการณ์ฉุกเฉิน

เจอหน้าครูฝึกชาวต่างชาติยิ้มมาแต่ไกล เพราะครั้งที่แล้ว ผมก็เจอเขาที่สิงคโปร ตอนเปิดรถยนต์   Subaru Impreza  เขาบอก ด่านนี้เหมือนเดิม เพิ่มเติมคืออัพเกรดความมันส์ด้วยแทนที่จะเทน้ำ บนถาดเหล็กให้มันลื่น แบบคราวก่อนที่สิงค์โปร งวดนี้เฮียแกอุดหนุนน้ำมันพืช จากซุปเปอร์มาร์เก็ท มายกลัง ราดลงบนถาดเหล็กให้เราเห็นการลื่นไถลได้ชัดมากขึ้น

2017 Subaru XV 2.0i-S
2017 Subaru XV 2.0i-S

อย่างที่ บอนน์ บอกไปครับ งวดนี้เป็นรถพวงมาลัยซ้าย มันก็ดูจะแปลกๆ เมื่อวิ่งขึ้นรถทางด้านซ้าย แล้วทุกอย่างเปลี่ยนจริตจากที่เคยอยู่ทางซ้ายไปอยู่ทางขวา  เสียสิ้น ด้วยความไม่คุ้นลักษณะการขับแบบนี้ รอบแรกจึงขับด้วยความเร็วโคตรช้า เพื่อจับความรู้สึกเบื้องต้นของรถ

สิ่งแรกที่ออกปากชมเลย คงไม่พ้นพวงมาลัยที่มีน้ำหนักเบามากกว่ารุ่นเดิม ไม่ต้องไปเล่นเวทเพื่อจะขับ   Subaru  XV   อีกต่อไป คุณผู้หญิงสามารถขับได้สบายมาก พวงมาลัยไฟฟ้าตัวนี้อาจจะไม่ใหม่สุดเสียทีเดียว สื่อบางท่านบอกว่าเป็นชุดแร็คเดียวกับที่ใช้ใน   Subaru BRZ/ WRX Sti  ผมเองไม่แน่ใจในเรื่องนี้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ เพราะตามข้อมูล   Subaru   จัดการลดการตอบสนองอัตราทดพวงมาลัยลงจาก  15.0:1 เหลือ   13.0:1

เมื่อขับบนเส้นในสนามที่มีโค้งหักหลบ หักศอก สลาลอมให้เล่น ก็เห็นได้ทันทีว่า รถควบคุมได้ง่าย มันเชื่องมากขึ้นกว่าเดิมชัดเจนมาก การโคลงตัวของรถน้อยกว่าเดิมพอจะรู้สึกได้ เมื่อเทียบกับเจ้าส้ม ที่นอนแอ้งแม้งที่บ้าน ผมจบรอบแรกปรับตัวเองให้ชินพวงมาลัยซ้าย ด้วยการเดินทางในความเร็ว 30-40 ก.ม./ช.ม.

เริ่มต้นรอบที่ 2 ได้เวลาที่จะจัดหนักเต็มที กดคันเร่งเต็มตีน เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร ตอบสนองในความรู้สึกว่องไวกว่าเดิมเล็กน้อย แต่ก็ยังไม่ได้อารมณ์สปอร์ตหลังติดเบาะ อาจด้วยความต้องการให้รถขับง่ายนั่งสบาย ผู้ใหญ่ไม่บ่นว่านี่รถอะไรกัน

2017 Subaru XV 2.0i-S
2017 Subaru XV 2.0i-S

 ออกมาได้ในระยะประมาณ 100 ฟุต เป็นโค้งซ้ายพร้อมถาดเหล็กราดน้ำมันพืช ดีไม่ติดไฟทอดไข่ดาวไปด้วย ผมขึ้นเพลทด้วยตำแหน่งคันเร่งแบบจัดเต็ม เวลานั้นรถยังอยู่ในอาณัติควบคุมได้ สุดเพลทเป็นโค้งขวา ผมหักพวงมาลัยเร็วเป็นปกติ ปรากฏ กลายเป็นรถลื่นไถล ดริฟท์ 4 ล้อทั้งคัน แต่ควบคุมได้ระบบควบคุมการทรงตัวไม่ต้องเข้ามาจัดการ

อาการนี้เกิดขึ้นมาจากความลื่นของน้ำมันและโครงสร้างที่มีความแข็งแรงมากขึ้น ทำให้เมื่อระบบกันสะเทือนถึงจุดวิกฤติข การตอบสนองรถจะเกิดอาการเทสไลด์ตอบสนองแทนการใช้การควบคุม ส่วนหนึ่งด้วยการปั่นสี่ล้อตะกุย ทำให้อาการเทสไลด์ทั้งคัน หรือดริฟท์ 4 ล้อ เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น ..ถามผมก็เป็นไปได้ เพราะวิธีสไลด์เหมาะสำหรับแก้อาการรถขับเคลื่อน 4 ล้อมากกว่า  และง่ายกว่าหน้าดื้อหรือ  Understeer

ผมวอนครูฝึกขอลองอีกรอบ คราวนี้ลองใช้ความเร็วเท่าเดิม แต่ลดการกระชาพวงมาลัยลงจากเดิม ผลคืออาการดริฟท์ 4 ล้อ ไม่เกิดขึ้น นั่นหมายความว่า   Subaru  แอบใส่ความสปอร์ตในรถคันนี้ ให้ตอบสนองได้เมื่อผู้ขับขี่ต้องการ  .. จริงๆ สำหรับเซียนขับรถ ขับเคลื่อนสี่ล้อเชื่อว่าน่าจะชอบ  อาการที่ออกไปทาง   Over Steer  เมื่อรถเกิดอาการลื่นไถล เพราะควบคุมง่ายกว่า ยิ่งรถขับ 4 ไม่ต้องแก้พวงมาลัยในบางจังหวะยังได้ ถ้าการลื่นไถลไม่มากมายนัก

ด่าน Gravel   

ด่าน Gravel   หรือทางฝุ่น ด่านนี้มีความประหลาดสักหน่อย ครูฝึกที่คุมด่านบอกว่า เดิมทีจัดสนามทดสอบให้มันเป็นทราย จะได้สไลด์กันมันส์ ออกอาการให้เห็นไปเลย แต่พอทดลองสนามเท่านั้นแหละ คอนโดตรงข้าม รีบมาบอกผู้จัดงานว่า ฝุ่นตลบแบบนี้รบกวนเขา (ก็น่าเห้นใจ) ทีมงานก็เลยรดน้ำบนทราย จากเส้นทางที่สมควรจะเป็น   Gravel   ทรายหรือกรวด งานนี้ก็เลยเปลี่ยนเป็นโคลนกลายๆ

เมื่อขึ้นขับเจ้า   XV   ในทางฝุ่นบอกเลยว่ามันคุมง่ายกว่าเดิมเยอะมาก ผมยังจำได้เมื่อครั้น ทาง   Subaru  จัดงานทดสอบ   Subaru Forester   ในบ้านเรา แล้วก็เอาเจ้า   Subaru  XV   มาลองทางกรวดในเมืองทองธานีด้วย

2017 Subaru XV 2.0i-S
2017 Subaru XV 2.0i-S

ตอนนั้น ผมยังไม่ซื้อเจ้าน้องส้มคันที่บ้าน แต่เมื่อขับมันลองดูในสนามความรู้สึกบอกเลยว่า   Subaru XV   ไม่ได้เป็นรถที่ให้ความสามารถในการลุยมาก การควบคุมหักหลบสิ่งกีดขวาง ในเส้นทางสมบุกสมบัน ต้องใช้ทักษะในการขับขี่เข้าช่วยเยอะ

แต่วันนี้เมื่อผมลอง   Subaru XV   ใหม่ มันควบคุมง่ายขึ้นอย่างชัดเจน การหันไปใช้พวงมาลัยไฟฟ้าค่อนข้างค้างทำให้มันคุมง่ายขึ้นในทางลุยแบบนี้อย่างต้องสงสัย โดยเฉพาะในจังหวะที่พลิกกลับไปมา ต้องตีพวงมาลัยหันทางตรงข้ามอย่างรวดเร็ว เช่นในการสลาลอม หรือการเข้าโค้ง   S  เล็ก  จังหวะพวงมาลัยทำได้ดีมากอย่างยอดเยี่ยม  ดีกว่ารุ่นเดิมแน่นอน

เมื่อใส่คันเร่งลงไปมากขึ้น รถก็ออกลายชัด ท้ายรถออกได้ง่ายอย่างชัดเจนในทางฝุ่นแบบนี้ มีเพียงบางจังหวะเท่านั้น ที่รถจะมีอาการหน้าดื้อ เช่นมาเร็วแล้วหักพวงมาลัยเร็ว แต่ถ้าแล้วค่อยๆกวาดพวงมาลัยเติมคันเร่ง มันจะเป็นอาการท้ายปัดแล้วสไลด์ทั้งคันอย่างต้องสงสัย

และที่เป็นแบบนี้บอกได้เลยว่า เพราะช่วงล่างถูกทำให้แข็งขึ้นโดยโครงสร้าง   Subaru Global  Platform ช่วยให้การตอบสนองระบบโช๊คอัพดีขึ้น

2017 Subaru XV 2.0i-S
2017 Subaru XV 2.0i-S

ด่าน   Off Road

ในที่สุดก็มาถึงด่านสุดท้าย ออฟโรดเส้นทางสายลุยของชาวลูกไก่ น้อยคนนักอาจจะเอารถ   Subaru XV   ไปหาทางลุย มันส์ แต่เรื่องการลุยระดับพื้นฐานรถรุ่นนี้ก็ได้รับการขนานนามพอสมควร เรียกว่าเที่ยวป่าเที่ยวเขา ถ้าไม่ทางโหดมากจริง เช่นตามป่าเขาอุทยาน  Subaru XV  ไปได้หมด

ในรุ่นใหม่ไฮไลท์เด็ดคือการใส่   X-Mode  เข้ามาเพิ่มจากรุ่นเดิม ซึ่งใช้ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อทำงานร่วมกับระบบควบคุมการทรงตัว 

ใน  X-Mode   ระบบจะทำการผสมผสานการทำงานของเครื่องยนต์,ชุดเกียร์และระบบควบคุมการทรงตัว เข้ามาไว้ด้วยกัน การควบรวมระบบผสมผสานระหว่างกันทำให้รถสามารถลุยได้มากขึ้น โดยเครื่องยนต์จะสามารถทำงานได้สูงขึ้น ขณะที่ชุดเกียร์จะหน่วงในอัตราทดต่ำเอาไว้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสั่งการควบคุมระบบเบรก  ABS   ช่วยในการกระจายกำลังแรงบิดด้วยในบางจังหวะ เช่นล้อบางล้อไม่อยู่ติดพื้น

เดิมที   X-Mode   มีให้ใน   Subaru Forester   แต่ใน   Subaru XV  ใหม่ มันเข้ามาประจำการด้วย เพิ่มความสามารถในการขับขี่ยามลุยดีขึ้น

 เมื่อกดโหมดนี้ลงไป ระบบจะเริ่มตอบสนองทันที หน้าจอกลางจะเปลี่ยนไปเป็นการบอกค่ามุมต่างๆ แทน เพื่อให้คุณรู้ ลักษณะเส้นทางในการขับขี่

อุปสรรคแรกคือทางลาดชัน  ด้วยความเป็นรถที่มีพร้อมเครื่องยนต์เบนซิน เวลาจะขึ้นทางลาดชันก็เลยต้องเร่งกำลังเครื่องยนต์ ให้ได้รอบมันเสียหน่อย เพื่อผ่านอุปสรรคไปได้  เมื่อติดบนทางลาดชันก็จะมีระบบ   Hill Brake  Assisted   เข้ามาช่วยในการรักษาตำแหน่งไม่ให้ไหลถอยหลัง เมื่อลงเนินในระบบ X-Mode   ก็จะมีระบบ   Hill  Decent Control   เข้ามาช่วยเหลือ

อุปสรรคต่อไปผมเจอสถานีล้อลอย งานนี้เรียกว่าผ่านฉลุยสบายๆ ด้วย   X Mode   โหมดใหม่จะจัดการเรื่องแรงบิดให้เสร็จสรรพ ตรงนี้ดีกว่ารุ่นเดิมแน่นอน ผมจำได้ รุ่นที่แล้วต้องดิ้นกันพักหนึงถึงจะออก แต่ก็ออกได้เช่นกัน แต่ถ้าขับด้วย   X Mode   นี่ไปแบบชิวๆ สบายๆ คลายความกังวลเรื่องกินข้าวลิง

ด่านท้ายสุดคือการขับบนทางขรุขระ งานนี้  Subaru  XV   โชว์ความแข็งของโครงสร้างตัวถังให้เห็นชัดเจนมากขึ้น  ก่อนขับผมนั่งเบาะตอนหลัง ในขณะที่เพื่อนร่วมกรุ๊ปขับรูดผ่านเส้นทางนี้ ความแข็งของตัวถังสะท้านเข้ามาในรถทุกอณูเรียกว่าเก็บหมดเก็บหมดทุกรายละเอียดของถนน โดยเฉพาะการผ่านกรวดหินเล็กๆ ก็ยังรู้สึก จนบางทีก็นึก ทางลุยทำให้นั่งสบายกว่านี้อีกก็ได้มั้ง … 

อ่านรีวิวต่อไป >>>

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่