นอกจากการปรับโฉม BMW M1000RR ในปลายปี 2022 นี้ ทางค่ายเมืองเบียร์ก็ยังได้ทำการเสริมทัพรถมอเตอร์ไซค์ตระกูล “M” เพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งรุ่นด้วย นั่นคือ BMW M1000R ซึ่งถือเป็นร่างเนคเก็ทไบค์ของฉลามเหล็กที่เรากำลังจะได้เห็นกันต่อจากนี้

เช่นเดียวกับการสร้าง BMW M1000RR ที่ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของ BMW S1000RR ฝั่ง BMW M1000R เอง ก็ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของ BMW S1000R ตัวเนคเก็ท แล้วได้รับการปรับปรุงแทบทุกชิ้นส่วน เพื่อให้มันมีทั้งความรวดเร็ว และความปราดเปรียวที่มากขึ้น

แต่เนื่องจากดั้งเดิม ตัวรถก็ไม่ได้มีแฟริ่งที่มากมายอยู่แล้ว ดังนั้นในส่วนของชิ้นงานหน้าตาเปลือกนอก มันจึงไม่ได้ถูกปรับเปลี่ยนไปจากเดิม แต่ถูกเพิ่มเติมให้ดูดุดันมากขึ้นแทน ด้วยชุดวิงเล็ทขนาดใหญ่ที่ติดตั้งเสริมเข้ามาบนชิ้นแฟริ่งกาบข้าง ที่ช่วยสร้างแรงกดได้มากถึง 11 กิโลกรัม ขณะรถกำลังวิ่งด้วยความเร็ว 220 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตัวชิ้นแฟริ่งอกล่างเอง ก็ออกแบบใหม่ ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อการรีดลมที่ดีกว่า แล้วจึงเก็บงานอีกนิด ด้วยการติดตั้งกระจกปลายแฮนด์ บนแฮนด์บาร์ที่กว้างกว่าเดิมเข้าไป และเปลี่ยนลายสติ๊กเกอร์รอบคันใหม่เพื่อความสะดุดตา

และในขณะที่ M1000RR รุ่นล่าสุด แทบไม่ได้มีการปรับจูนเครื่องยนต์ใหม่ใดๆเลย เมื่อเทียบกับ M1000RR รุ่นก่อน ฝั่ง M1000R ที่ทุกท่านเห็นกันอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากมันถือเป็นรุ่นแรกของเนคเก็ทไบค์ตระกูล M จึงทำให้เมื่อเทียบกับร่างต้นอย่าง S1000R แล้ว มันจะถือว่าได้รับการปรับจูนและปรับแต่งในส่วนเครื่องยนต์ให้แตกต่างไปจากเดิมค่อนข้างมาก

เพราะแม้ขุมกำลังของมัน จะยังคงเป็นบล็อค 4 สูบเรียง 999cc ระบายความร้อนด้วยน้ำ แต่ในตัวรถ M1000R นี้ ทาง BMW ไม่ได้เอาเครื่องยนต์ของ S1000R มาปรับปรุง แต่เอาเครื่องยนต์ของ S1000RR มาใส่แทน ซึ่งความแตกต่างก็คือในคราวนี้ มันมีระบบวาล์วแปรผัน ShiftCam ใส่มาให้ด้วย นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงทางเดินอากาศขาเข้า และเปลี่ยนท่อไอเสียไทเทเนียมใบใหม่เข้าไป จนทำให้พละกำลังสูงสุดของมันเพิ่มขึ้นอีกถึง 45 ตัวด้วยกัน

นั่นจึงเท่ากับว่า เครื่องยนต์ที่อยู่ใน M1000R นั้น สามารถทำแรงม้าได้มากขึ้นเป็น 210 PS ที่ 13,750 รอบ/นาที จากเดิม 165 PS ที่ 11,000 รอบ/นาที ขณะที่แรงบิดสูงสุดเอง กลับลดลงเล็กน้อย เหลือ 113 นิวตันเมตร ที่ 11,000 รอบ/นาที จากเดิม 114 นิวตันเมตร ที่ 9,250 รอบ/นาที ส่วนการจำกัดรอบเครื่องยนต์สูงสุดเอง ก็มีการเปลี่ยนแปลง จาก 12,000 รอบ/นาที เป็น 14,600 รอบ/นาที

และเพื่อให้การทำงานของระบบส่งกำลัง สัมพันธ์กับรอบเครื่องยนต์ และนิสัยเครื่องยนต์ที่เปลี่ยนไป ทาง BMW จึงปรับอัตราทดเฟืองเกียร์ 4, 5, 6 ใหม่ ให้มีความจัดจ้านมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับตัวสเตอร์หลังเอง ก็ปรับเพิ่มจากแบบ 45 ฟัน เป็น 47 ฟัน ซึ่งถือว่าจี๊ดจ๊าดเป็นอย่างมาก กับน้ำหนักตัวเพียง 199 กิโลกรัม

และถึงแม้ตัวรถ จะยังคงใช้ชุดเฟรมแบบอลูมิเนียมหล่อขึ้นรูปจุดศูนย์ถ่วงต่ำ Bridge Frame เช่นเดิม องศาแผงคอ, ระยะเทรล, ระยะฐานล้อ ทุกอย่างก็ยังคงเดิม แต่ตัวโช้กหน้าตะเกียบคู่หัวกลับ ขนาดแกน 45 มิลลิเมตร และโช้กหลังแก๊สต้นเดี่ยวพร้อมกระปุกซับแทงค์แยก ทำงานร่วมกับสวิงอาร์มอลูมิเนียมแขนคู่แบบมีดามล่างของมัน ก็ถูกปรับเซ็ทใหม่ แล้วยังถูกเสริมความฉลาดด้วยระบบปรับและแปรผันความหนืดในการยืดยุบอัตโนมัติ BMW Dynamic Damping Control เข้าไป

ส่วนระบบเบรกหน้า ก็มีการอัพเกรดไปใช้คาลิปเปอร์เบรกเรเดียลเมาท์ 4 พอท จาก “M” แบบเดียวกับ M1000RR โดยที่ขนาดจานเบรกคู่หน้า ก็ยังคงมีขนาดเท่าเดิมคือ 320 มิลลิเมตร และฝั่งชุดล้อก็มีการเปลี่ยนจากงานอลูมิเนียมหล่อขึ้นรูปธรรมดาๆ เป็นงานอลูมินัมฟอร์จน้ำหนักเบา แถมยางหลังยังมีขนาดใหญ่ขึ้น จากเบอร์ 190/55-17 เป็น 200/55-17 อีกด้วย

ด้านระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆก็มีให้จัดเต็ม ทั้ง Riding modes “Rain”, “Road”, “Dynamic”, “Race” และ “Race Pro1-3”, Dynamic Traction Control DTC, DTC wheelie พร้อมเซนเซอร์ IMU 6 ทิศทาง, Three adjustable throttle characteristics (คันเร่งไฟฟ้าปรับความไวได้ 3 ระดับ), “Engine Brake” หรือโหมดปรับความหน่วงเครื่องยนต์ตอนปิดคันเร่ง ซึ่งสามารถปรับได้ในโหมดการขับขี่ “Race Pro”, Brake Slide Assist, Shift Assistant Pro, Launch Control, Pit Lane Limiter, Hill Start Control Pro, และ BMW Motorrad ABS Pro เป็นต้น โดยทั้งหมดจะถูกนำไปแสดงผลบนชุดหน้าจอมาตรวัดแบบ Full-Digital TFT ขนาด 6.5 นิ้ว เป็นหลัก

ด้านราคาวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ณ ขณะนี้มีการเปิดตัวเลขเอาไว้ที่ 19,480 ปอนด์สเตอร์ลิง หรือราวๆ 819,000 บาท สำหรับการวางจำหน่ายในประเทศอังกฤษ ส่วนการวางจำหน่ายในประเทศไทย ยังคงต้องรอการอัพเดทข้อมูลกันต่อไป

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่