BMW คือหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ระดับพรีเมียม ที่ชาวไทยหลายคนไฝ่ฝัน แต่การจะไปถึงฝันนั้น หลายคนก็ต้องมีทางเข้าที่พวกเขาสามารถจับต้องได้ง่ายก่อน และสำหรับแบรนด์นี้ นั่นย่อมหนีไม่พ้น “BMW 220i Gran Coupé M Sport”

BMW 220i Gran Coupé ถือเป็นรถยนต์รุ่นน้องเล็กสุดเท่าที่ทาง BMW นำมาทำตลาดในบ้านเรา จากก่อนหน้านี้ ที่ทางค่ายเคยทำตลาด BMW 218i Gran Coupé ในฐานะรถนำเข้า แต่ด้วยเครื่องยนต์ที่เล็กและมีพละกำลังน้อยเกินไป ทว่าในขณะเดียวกัน มันกลับเป็นตลาดที่สามารถเติบโตขึ้นได้

จึงทำให้ทางค่ายตัดสินใจนำตัวรถ Series-2 มาผลิตและประกอบในบ้านเรา เพื่อทำให้ราคาของมันถูกลงอีกนิดจนชาวไทยสามารถจับต้องได้ง่ายขึ้น และแน่นอนว่ามาพร้อมกับขุมกำลังที่สมน้ำสมเนื้อกว่าเดิม และกลายเป็นเจ้า 220i ในที่สุด

โดยหากถามกันต่อว่า แล้วหน้าตาของ 220i ตัวผลิตไทย กับ 218i ตัวนำเข้า มีหน้าตาที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง ?

งานนี้ก็คงต้องบอกว่า ถ้ามองจากภายนอกเพียงอย่างเดียว คุณแทบจะไม่สังเกตความเปลี่ยนแปลงได้เลย นอกไปเสียจากการมองเลขประจำรุ่นตัวรถ ที่อยู่บนฝากระโปรงท้าย

เพราะนอกนั้นมันก็ยังคงมาพร้อมกับงานดีไซน์เดิมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงตัวถังในภาพรวม ที่แม้จะมาพร้อมกับชื่อ Grand Coupe แต่แทนที่มันจะเป็นตัวรถซึ่งดูแบนและกว้าง ทว่าเส้นสาย งานออกแบบตั้งแต่ กระจังหน้า เส้นฝากระโปรง ลากยาวผ่านเสา A และแนวหลังคาที่ลาดลงไปถึงฝากระโปรงท้ายแบบเกือบจะเป็นรถทรงฟาสท์แบ็คตามสมัยนิยม กลับทำให้มันดูเป็นรถซีดาน ที่ให้ความรู้สึกกระทัดรัด อวบๆน่ารักๆ มากกว่าแทน

จะมีก็แค่เพียงการออกแบบช่วงท้ายรถ ทั้งไฟท้าย, ฝากระโปรงท้ายแบบมีทรงตูดเป็ดนิดๆ กับกันชนท้ายที่มีแถบดิฟฟิวเซอร์หน่อยๆ และปลายท่อแบบออกคู่เท่านั้น ที่ทำให้มันดูดุดัน เมื่อมองจากทางด้านหลัง รวมถึงกรอบหน้าต่างประตูแบบ Frameless Door ที่ยังให้อารมณ์สปอร์ตอยู่บ้าง

และเนื่องจาก ตัวรถ 220i ที่ขายในปัจจุบัน มีแต่รุ่นที่มาพร้อมกับแพ็คเกจของแต่งพิเศษ “M Sport” ดังนั้น มันจึงได้รับการติดตั้งของแต่งเสริมจากตัวรถเดิมๆอีกหลายรายการ ซึ่งบางอย่าง เราก็ได้เกริ่นถึงไปบ้างแล้วก่อนหน้านี้ ทั้ง

  • ล้ออัลลอยด์น้ำหนักเบา ลาย “819 M” แบบก้านคู่ ผิวปัดเงา-ทูโทน ขนาด 18 นิ้ว รัดด้วยยางขนาด 225/40 R18
  • กันชนหน้า – หลัง M Aerodynamics
  • สเกิร์ตข้าง M Aerodynamics
  • กระจังหน้าแบบซี่ตั้ง สีทูโทน เงิน-ดำ
  • หลังคากระจก Panoramic Sunroof เปิด-ปิดด้วยระบบไฟฟ้า

และในส่วนงานตกแต่งภายในห้องโดยสารเอง ก็ยังมีลูกเล่นที่ติดมากับแพ็คเกจด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น

  • พวงมาลัยหุ้มหนัง M Sport
  • กระจกมองหลัง แบบปรับลดแสงอัตโนมัติ
  • เพดานหลังคาภายในห้องโดยสาร สีดำ Anthracite
  • ระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติ Dual Zone แยกอิสระ ซ้าย-ขวา
  • ช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง
  • ระบบชุดมาตรวัด BMW Live Cockpit Professional
  • ที่ชาร์จโทรศัพท์แบบไร้สาย Wireless Charging
  • ระบบไฟแวดล้อมปรับแต่งโทนสีได้
  • ชุดตกแต่ง M Sport

ภายในห้องโดยสารความโอ่อ่ากำลังพอดีสำหรับวัยรุ่น แต่ชิ้นส่วนหลายๆอย่างยังมีความเข้ามือกับผู้ขับชาวยุโรปมากกว่าเอเชีย

แน่นอน ด้วยความเป็นรถเก๋งขนาดเล็ก ซึ่งหากเทียบขนาดกับรถญี่ปุ่นแล้ว ก็จะใหญ่กว่าเหล่า Eco Sedan (C-Segment Sedan) เล็กน้อย แต่ไม่ถึงกับไซส์ B-Segment Sedan ด้วยมิติตัวเลข ด้านยาว 4,526 มิลลิเมตร x ด้านกว้าง 1,800 มิลลิเมตร x ด้านสูง 1,420 มิลลิเมตร

จึงทำให้เมื่อคุณได้ลองเข้าไปนั่งภายในห้องโดยสารของเจ้ารถ 220i คันนี้แล้ว มันก็อาจจะให้ความรู้สึกที่ไม่ได้ใหญ่โต หรือดูโอ่โถงเท่าไหร่นัก ทว่ายังดีที่ตัวบานกระจกหน้าต่างรถรอบคัน และหลังคากระจกพาโนรามิคซันรูฟขนาดใหญ่ ช่วยปรับบรรยากาศภายในรถให้ดูโปร่งโล่งสบายอยู่

และในทางกลับกัน ด้วยการให้ความรู้สึกที่กระทัดรัด ตั้งแต่ภายนอกซึ่งทำให้การใช้งานในเมืองเป็นเรื่องง่าย และภายในก็ให้ความใกล้ชิดกับผู้โดยสารทางด้านข้าง ไม่เว้นแม้แต่การเอื้อมมือไปกดสั่งการระบบต่างๆภายในตัวรถเอง ก็ยังสามารถทำได้ง่าย ทั้งในส่วนของสัมผัสที่หน้าจออินโฟเทนเมนท์โดยตรง หรือการใช้ลูกบิดหมุน และปุ่มปรับโหมดต่างๆ หรือแม้กระทั่งคันเกียร์ที่คอนโซลกลาง จึงทำให้ผู้สดทอบรู้สึกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวรถได้มากกว่า

จุดที่รู้สึกไม่กระชับสำหรับการนั่งขับเจ้ารถคันนี้ คงมีเพียงเรื่องเดียวคือขนาดขอบวงพวงมาลัยที่ค่อนข้างใหญ่ จนรู้สึกจับไม่ค่อยกระชับมือเท่าไหร่นักในจังหวะแรกๆเพียงแค่นั้น

ขณะที่ตัวเบาะนั่งแม้จะไม่ได้ใหญ่โตอะไรตามขนาดตัวรถ แต่เช่นเดียวกัน มันกลับให้ความรู้สึกที่โอบกระชับกำลังดี สามารถประคองตัวผู้นั่งในเวลาสาดโค้งได้พอประมาณ ทั้งจากผิวสัมผัสของตัวเบาะเอง และจากรูปทรงของตัวเบาะเอง พร้อมกันนี้เรายังสามารถปรับปีกเบาะทางด้านข้างให้บีบเอวผู้ขับได้ตามความชอบของแต่ละบุคคลอีกด้วย

ส่วนฟังก์ชันการปรับไฟฟ้า จะมีให้ทั้งผู้ขับและผู้โดยสารทางด้านข้าง ที่แตกต่างกันคือการปรับปีกเบาะที่เราเกริ่นไว้ในข้างต้น และระบบจำตำแหน่ง 2 แบบ เท่านั้น ที่จะมีให้เฉพาะฝั่งผู้ขับ

ในฝั่งการโดยสารตอนหลัง แน่นอนว่าก็ยังคงให้ความรู้สึกกระทัดรัดเช่นกัน โดยแม้มั่นจะให้ความรู้สึกอึดอัดไปบ้าง โดยเฉพาะความสูงของกรอบกระจกด้านล่าง ที่คล้ายๆกับ Mazda 2 แต่โดยรวมก็ไม่ได้ทำให้มันบดบังทัศนวิสัยไปมากขนาดนั้น และผู้โดยสารวัยรุ่นส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้ติดใจอะไรในมุมนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องขอบคุณการต่อแนวกระจกออกไปในฝั่งเสา C ที่ทำให้มันมีทัศนะวิสัยในด้านกว้างที่มากขึ้นด้วย

ขณะที่ตัวเบาะนั่งอาจจะรู้สึกเป็นหลุมนิดๆ แต่นั่นก็เพื่อความกระชับ รับกับตัวผู้นั่งตอนหลัง ทว่าผิวสัมผัสของตัวเบาะและความนุ่ม ก็ให้ความรู้สึกแน่นหนึบตามฉบับรถยนต์ BMW จะมีก็แค่เพียงตัวเบาะรองก้นด้านล่างกับช่วงวางขา และความสูงหลังคาด้านบนเท่านั้น ที่อาจจะยังไม่เหมาะกับผู้โดยสารที่สูงมากกว่า 175 เซนติเมตรขึ้นไปเท่าไหร่นัก เพราะจะเริ่มรู้สึกอึดอัดนิดๆแล้ว

และที่เห็นอยู่ตรงกลาง ไม่ใช่การพับเบาะช่วงกลางออกมาเพื่อเป็นพนักแขนเท่านั้น เพราะตัวที่วางแขนตรงกลางจริงๆ จะสามารถดึงออกมาได้เลย โดยไม่ต้องพับเบาะตรงกลางออกมา แต่นั่นคือการทำเพื่อเปิดช่องว่างตรงกลางเบาะ ไว้เผื่อในกรณีที่ผู้ใช้อาจมีสัมภาระยาวๆที่ไม่สามารถใส่ตามแนวขวางของช่องฝากระโปรงท้ายได้ จึงต้องเสียบเข้ามาตรงๆในห้องโดยสารแทน อย่างเช่นถุงไม้กอล์ฟเป็นต้น

ระบบกันสะเทือนของ BMW 220i จัดเต็มกว่ารถยนต์นั่งในขนาดตัวถังเท่าๆกัน แต่ก็เป็นไปตามราคาที่ควรจะได้ นั่นคือระบบกันสะเทือนแบบอิสระ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และเนื่องจากมันเป็นรถที่มาพร้อมกับแพ็คเกจ M Sport ดังนั้น ช่วงล่างของมันจึงถูกปรับจูนใหม่ ให้มีบุคคลิกตามฉบับรถ “M” มากขึ้น

กล่าวก็คือ หากเรียนกันตามตรง ระบบช่วงล่างของเจ้ารถรุ่นนี้ อาจไม่ถูกใจผู้ใช้รุ่นใหญ่ส่วนมาก แต่ถูกใจวัยรุ่นส่วนใหญ่แทน เพราะด้วยล้อขนาด 18 นิ้ว บวกกับความแข็งอ่อนของตัวสปริง และความหนืดของตัวโช้ก ที่อยู่ในระดับกลางๆค่อนไปทางแข็งเล็กน้อย ทำให้มันอาจไม่ได้เน้นการซับแรงแบบเก็บการสั่นสะเทือนทุกสิ่งอย่างจนเรียบเชียบ แต่เซ็ทมาให้บอกผู้ขับได้รู้สึกถึงสภาพถนนที่วิ่งผ่านไปมากกว่า

ทว่าทั้งนี้ก็ไม่ได้ถึงกับตึงตัง เพราะช่วงยุบโช้กค่อนข้างเยอะพอสมควร หากขับไปตามถนนปกติ แม้จะเป็นจังหวะเผลอรูดฝาท่อ รอยต่อถนน หรือ รางรถไฟบนถนน แม้กระทั่งเหินผ่านเนินเล็กๆช่วงคอสะพานโดยไม่ได้ตั้งใจ ช่วงล่างก็ยังคงสามารถเก็บและอมอาการเหล่านั้นไว้ได้ดีพอสมควร ไม่เจออาการโช้กยันเลยแม้แต่ครั้งเดียว ตลอดระเวลาที่เรานำรถมาทดสอบ

เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้ผู้ใช้รุ่นใหญ่ หรือวัยรุ่นติดหรูอาจจะไม่ถูกใจ แต่หากเป็นคนที่ชอบขับรถเร็วๆหน่อย อาจจะชอบใจการปรับเซ็ทช่วงล่างในลักษณะนี้มากกว่า เพราะด้วยความที่มันถูกออกแบบให้มีความกระชับ สามารถซอกแซกได้อย่างคล่องตัว ไม่มีความอุ้ยอ้าย ไม่หน้าบาน

ดังนั้น การจะหักเลี้ยวรถในจังหวะต่างๆจึงสามารถทำได้อย่างมั่นใจ คล่องแคล่วเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงย่านความเร็วต่ำ-กลาง โดยที่ช่วงท้ายรถอาจจะรู้สึกถึงแรงเหวี่ยงนิดๆ เหมือนพยายามจะกวาดออกนิดๆ ผิดวิสัยรถซีดานขับหน้าทั่วๆไปที่มักมีอาการหน้าดื้อมากกว่า เมื่อสาดโค้งกระทันหันจริงๆบ้าง

ซึ่งเป็นสิ่งที่ทาง BMW ตั้งใจเอาไว้อยู่แล้วตั้งแต่การออกแบบเซ็ทอัพตัวรถ และการใส่ระบบ ARB (Near-actuator wheel slip limitation) เข้ามา เพื่อลดอาการหน้าดื้อลง แต่มองในอีกมุมหนึ่งก็เป็นอาการที่สนุกใช้ได้ สำหรับคนที่ชอบขับรถเร็วๆ (แต่ก็ต้องมีทักษะด้วยนะจ้ะ)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปรับไปขับรถด้วยโหมด Sport ที่พวงมาลัยจะมีความแข็งขึ้นมาเล็กน้อย และไวขึ้นกว่าเดิม ช่วยเพิ่มให้เราสามารถควบคุมรถได้อย่างตรงไปตรงมามากขึ้น ส่วนในโหมด Comfort กับ Eco Pro เอง พวงมาลัยมีการเซ็ทติ้งเหมือนกัน โดยอาจจะยังติดไวอยู่บ้างเมื่อเทียบกับรถซีดานทั่วๆไป แต่ก็ใช้น้ำหนักในการหักเลี้ยวน้อยลง และช่วยให้การใช้งานในเมืองมีความสะดวกสบาย เบามือมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงความเร็วต่ำๆกับการเข้าออกที่แคบ

แต่การเซ็ทติ้งทุกอย่างที่ไล่เรียงมา ส่วนตัวผู้ทดสอบพบว่า มันยังเหมาะสำหรับการวิ่งในช่วงความเร็วไม่เกิน 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง เท่านั้น ซึ่งเป็นความเร็วที่มากเกินพอแล้วสำหรับการใช้งานทั่วๆไป

ทว่าหากวิ่งเร็วจนแตะหลัก 180-200 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น (ซึ่งไม่แนะนำให้ทำบ่อยสักเท่าไหร่ เว้นแต่บางจังหวะ เราก็เข้าใจได้ว่าคนมันมีธุระต้องรีบจริงๆ) ส่วนตัวผู้ทดสอบมองว่ารถจะเริ่มหวิวนิดๆ จนต้องประคองพวงมาลัยให้มั่น และมองถนนให้ดี เผื่อเจอสภาพถนนที่ไม่คาดคิด ซึ่งส่วนหนึ่งก็คาดว่าเป็นเพราะน้ำหนักตัวรถที่ค่อนข้างเบา และฐานล้อที่จัดว่าค่อนข้างสั้น บวกกับขนาดยาง

และแน่นอนว่าโหมดการขับขี่ที่เหมาะที่สุดสำหรับการขับด้วยความเร็วสูงคือโหมด Sport โดยเฉพาะหากเกิดสิ่งผิดปกติ เช่นอาจเจอร่องหลุมที่ต้องหักหลบขึ้นมา พวงมาลัยโหมดนี้จะทำให้เราสามารถควบคุมรถได้อย่างมั่นใจ และตรงไปตรงมากว่าอย่างเห็นได้ชัด

ทั้งนี้ ในส่วนการทำงานของช่วงล่างยังคงเดิม เพราะตัวรถ BMW 220i ที่วางจำหน่ายในประเทศไทย ยังไม่ได้มีออพชันโช้กปรับ หรือแปรผันไฟฟ้ามาให้แต่อย่างใด

เบรก ติดรถที่ให้มา ด้วยราคาและชื่อชั้นความเป็น BMW แน่นอนว่าจะต้องเป็นระบบเบรกแบบดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้ออยู่แล้ว ซึ่งการเซ็ทอัพระบบเบรกของเจ้า 220i คันนี้ หากว่ากันที่น้ำหนัก ส่วนตัวผู้ทดสอบจะรู้สึกว่ามันค่อนข้างหนักนิดๆ แต่ก็แลกมาซึ่งความรู้สึกแน่น และมั่นใจที่มากกว่าแทน

ด้านความไวในเรื่องของระยะการกดเบรกเอง ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล เพราะอาจจะตื้นกว่ารถญี่ปุ่นขนาดตัวถังไล่เลี่ยกันเพียงเล็กน้อย แต่อย่างที่ระบุไว้ในข้างต้นว่า แป้นเบรกของมันมีความแน่นที่มากกว่า จึงทำให้เราไม่ได้รู้สึกว่ามันจะทำงานไวจนน่ากลัวขนาดนั้น

และหากเป็นกรณีที่ต้องเบรกหนักๆจริงๆ ผู้ทดสอบก็พบว่าไม่ใช่แค่ระยะเบรกเท่านั้น ที่สามารถหยุดรถได้อย่างเหมาะสม แต่ตัวรถเองก็ยังมีความนิ่งในระดับหนึ่ง

เครื่องยนต์ของ 220i ถือเป็นจุดที่น่าสนใจมากที่สุดในตัวรถรุ่นนี้ เพราะแม้จะเป็นน้องเล็กสุดของแบรนด์ แต่เพื่อให้คุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ลูกค้าจ่ายไป มันจึงได้เครื่องยนต์เบนซิน 1,998cc เทอร์โบคู่ ที่อาจจะไม่ได้ใหญ่โตมากนัก และให้แรงม้าสูงสุดเพียง 192 PS ที่ 5,000 – 5,500 รอบ/นาที กับแรงบิดสูงสุด 280 นิวตันเมตร ที่ 1,350 – 4,600 รอบ/นาที

แต่ถ้าเทียบกับขนาดตัวรถที่ค่อนข้างเล็ก และน้ำหนักตัวรถเพียง 1,430 กิโลกรัม แถมยังทำงานร่วมกับชุดเกียร์อัตโนมัติ 7 สปีด แบบ Steptronic ที่ค่อนข้างฉลาด จึงทำให้มันเป็นรถที่ตรงนิยามกับคำว่า “เล็กพริกขี้หนู” เป็นอย่างมาก

เพราะจากการทดสอบและอยู่กับตัวรถเป็นระยะเวลาเกือบสัปดาห์ ผู้ทดสอบพบว่าหากเป็นการใช้งานแบบปกติในเมือง รถติดๆ ขุมกำลังและระบบส่งกำลังของตัวรถรุ่นนี้ ก็ถือว่าใช้และทำความเข้าใจได้ง่ายมากๆ เช่นในจังหวะที่ต้องออกตัวจากหยุดนิ่ง เพียงกดคันเร่งนิดเดียว ตัวรถก็พร้อมจะไหลออกตัวไปข้างหน้าแล้ว โดยที่แทบไม่ต้องกดคันเร่ง

หรือหากใจร้อน เติมคันเร่งเพิ่มไปอีกหน่อย ความพุ่งในจังหวะแรกของมันก็ไม่ได้น่ากลัวจนต้องประคองพวงมาลัย ไม่ให้มันพุ่งไปโดนคนอื่นเข้า จัดว่าอยู่ในระดับสบายๆกำลังดี ผู้หญิงก็ใช้ได้ไร้กังวล สำหรับการใช้งานในเมือง เว้นเพียงการขับรถด้วยโหมด Sport ที่อาจจะพุ่งไปนิดๆ

อย่างไรก็ดี เมื่อมองมุมกลับ สำหรับคนที่ชอบกดคันเร่งจม ในจุดนี้ผู้ทดสอบพบว่ารถจะมีอาการอมคันเร่งนิดๆในจังหวะกระแทกเสี้ยวแรก คล้ายๆกับว่าสมองกลถูกสั่งให้ถนอมชุดเกียร์ และดร็อปบูสท์จากเทอร์โบเอาไว้ก่อนเพื่อถนอมเครื่องยนต์ ไม่ว่าจะในการขับด้วยโหมดใดก็ตาม

แต่หลังใช้เวลาไปเพียง 1-2 วินาที เมื่อรอบเครื่องยนต์พาดไปที่รอบเครื่องยนต์ราวๆ 2,000-3,000 รอบ/นาที หลังจากนั้นรถจึงจะดึงตัวเองให้พร้อมพุ่งไปข้างหน้า ด้วยอัตราเร่งที่”กระฉับกระเฉง”มากขึ้น ซึ่งต้องบอกก่อนว่านี่เป็นอาการที่เกิดขึ้นเฉพาะตอนขย้ำคันเร่งสุดจากตอนที่รถหยุดนิ่งเท่านั้น (ุถ้าไม่ได้ย่ำจนสุดแต่แรก อาจจะมีอาการอมคันเร่งน้อยกว่า แต่ก็จับจังหวะยากพอสมควร)

และหากเป็นการเติมคันเร่งในตอนที่รถมีความเร็ว (ไม่ได้หยุดนิ่ง) ในจุดนี้อาจต้องแยกกันไปตามแต่ละโหมดการขับขี่ที่ BMW มีให้เลือก นั่นคือ

  • Comfort : เครื่องยนต์ตอบสนองต่อคันเร่งปานกลาง มีความกระฉับกระเฉงนิดๆ แต่ไม่ถึงกับมากจนน่ากลัวสำหรับคนที่ยังไม่เคยขับรถแรงม้าเกือบๆ 200 ตัว และเกียร์เน้นการทำงานที่นุ่มนวล เปลี่ยนไวนิดๆ เพื่อชดเชยรอบให้ต่ำ เน้นความประหยัดหน่อยๆ
  • ECO Pro : เครื่องยนต์ตอบสนองต่อคันเร่งช้าลงอย่างเห็นได้ชัด ต้องกดเยอะพอประมาณถึงจะเรียกอัตราเร่งได้พอๆกับโหมดแรก แต่ในทางกลับกัน มันคือโหมดที่เหมาะสำหรับใช้งานในเมืองมากที่สุด เนื่องจากเครื่องยนต์มีการเรียกอัตราเร่งแบบเอื่อยๆ ค่อยๆไหล เพื่อเน้นความประหยัด เช่นเดียวกับชุดเกียร์ที่มีทั้งความนุ่มนวล และเปลี่ยนไวขึ้นกว่าโหมดแรกนิดๆ ซึ่งทั้งหมดจะสัมพันธ์กับอัตราการกดคันเร่ง

    รวมถึงความหน่วงในการชะลอความเร็วเองก็น้อยมาก ชนิดที่ว่าถึงปล่อยคันเร่งแล้ว ก็ยังรู้สึกว่ารถจะยังคงมีความเร็วไหลต่อไปอีกพักใหญ่
  • Sport : เครื่องยนต์ตอบบสนองต่อคันเร่งค่อนข้างไว เกียร์อาจจะทดรอบไว้สูงนิดๆ แต่ก็เพื่อให้ความสนุกสนานในทุกจังหวะที่ต้องการเร่งแซง และการเรียกอัตราเร่งรวมถึงไต่ความเร็วเองก็สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง โดยการแตะความเร็วสูงสุดอาจใช้ระยะทางที่น้อยกว่าโหมดแรกสุดเหลือเพียง 2 ใน 3 เลยทีเดียว

    และกลับกันกับโหมดก่อนหน้า ในคราวนี้เมื่อผ่อนคันเร่ง ความหน่วงของเครื่องยนต์ที่ส่งผลถึงการลดความเร็วของรถก็จะหนักหน่วงขึ้นแทน แต่ก็ไม่ถึงกับขั้นดึงจนหน้าทิ่ม แค่เพียงพอสำหรับสายซิ่งที่ต้องการระยะเบรกกระชับๆเท่านั้น

หรือหากคุณรู้สึกว่าการใช้งาน Mode Sport ยังให้ความสนุกสนานไม่มากพอ จะเล่นเกียร์ในโหมดแมนวล แบบปรับขึ้นลงเองด้วยแป้นแพดเดิลชิฟท์หลังพวงมาลัยก็ได้ ซึ่งในส่วนของการทำงาน อาจจะมีช้าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับรถสปอร์ตจ๋าๆ แต่ไม่ถึงกับน่าหงุดหงิด และเข้าใจได้ว่ามันยังต้องเผื่อไว้สำหรับความนุ่มนวล และความเป็นรถบ้านเอาไว้อยู่

ด้านตัวเลขอัตราสิ้นเปลือง จากที่เราได้ลองใช้งานรถคันนี้ในแบบวิ่งในเมืองเป็นหลักที่มีรถติดจอแจ ปล่อยรถไหลได้เพียงสักพักก็ต้องเบรก หรือเหยียบไปได้นิดเดียว แทบไม่ถึง 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในระยะทางเพียงไม่ถึงร้อยเมตรก็ต้องผ่อน ด้วยความเป็นเครื่องยนต์ 2.0 เทอร์โบคู่ ไม่มีระบบไฮบริด จึงต้องบอกว่า มันแอบให้ความรู้สึกว่ากินนิดๆ นั่นคือที่ราวๆ 13-15 กิโลเมตร/ลิตร แล้วแต่โหมดการใช้งาน และความเนียนของคันเร่งที่เลือกใช้ ซึ่งแน่นอนว่าในโหมด ECO Pro นั้นค่อนข้างเห็นผลว่ามันช่วยให้รถมีความประหยัดสูงสุดจริงๆ

และหากเป็นการขับแบบมีความเร็วเดินทาง แต่ไม่สูงมากนัก ที่ราวๆ 100-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้วไหลไปเรื่อยๆ ในจุดนี้เรากลับพบว่ามันให้ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองที่ค่อนข้างน่าพอใจ นั่นคือขยับขึ้นมาอยู่ที่ราวๆ 17-18 กิโลเมตร/ลิตร ซึ่งเป็นเลขที่สามารถทำได้ไม่ยาก หากคุณใช้โหมด ECO Pro แล้วใช้คันเร่งแบบเนียนๆปล่อยไหลๆไป

ทั้งนี้ ในส่วนความเร็วสูงสุดของตัวรถ ซึ่งถูกล็อคไว้ที่ 238 กิโลเมตร/ชั่วโมง นั้น ส่วนตัวผู้ทดสอบ และทีมงาน Ridebuster ที่ทดสอบร่วมกัน มองว่ามันออกจะ’เยอะไป’สักนิด เมื่อเทียบกับจุดประสงค์ในการใช้งานของรถ ที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานในเมืองเป็นหลัก

และด้วยตัวรถที่ค่อนข้างเบา จนทำให้จากเดิมที่เราต้องประคองพวงมาลัยให้กระชับเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว คราวนี้ก็ยิ่งต้องประคองพวงมาลัยให้อยู่มือมากยิ่งขึ้นไปอีก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นการลากความเร็วสูงสุดในโหมดการขับขี่พื้นฐาน นั่นคือโหมด Comfort ที่กว่าจะลากความเร็วจากช่วง 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไปนั้นใช้เวลานานพอสมควร ถึงนานมากๆ ซึ่งในระหว่างนั้นเราอาจจะรู้สึกใจหวิวกับความเบาของรถไปเสียก่อน

หรือหากเป็นการใช้โหมด Sport แม้ระยะเวลาในการการไต่ความเร็วสูงสุดจะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป ดังที่เราระบุไว้ก่อนหน้านี้ แถมพวงมาลัยก็ยังหนักขึ้นอีกพอประมาณ เพื่อให้การควบคุมตัวรถมีความมั่นคงมากขึ้น แต่ส่วนตัวผู้ทดสอบก็ยังรู้สึกว่ารถมันเบาไปอยู่ดี

ดังนั้นหากคุณไม่มีประสบการณ์ หรือทักษะในการขับขี่มากนัก เราจึงขอแนะนำว่าอย่าเล่นมันบ่อยดีๆกว่า (จริงๆก็ไม่ควรเล่นบนถนนสาธารณะอยู่แล้วล่ะครับ เพราะมันผิดกฏหมาย)

จุดสุดท้าย ที่เราจะกล่าวถึง ก็คือ เรื่อง ระบบความปลอดภัยและระบบบช่วยเหลือผู้ขับของตัวรถ นั่นคือ

  • ถุงลมนิรภัยด้านหน้าและข้างสำหรับคนขับผู้โดยสารตอนหน้า
  • ถุงลมนิรภัยศีรษะสำหรับผู้โดยสารทั้งตอนหน้าและหลัง
  • ระบบ Teleservices
  • ระบบควบคุมเสถียรภาพการขับขี่ DSC
  • ระบบควบคุมการยึดเกาะถนน DTC
  • ระบบควบคุมการกระจายแรงเบรกขณะเข้าโค้ง CBC
  • ระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรก ABS
  • ระบบช่วยเสริมแรงเบรกอัตโนมัติ (Brake Assist)
  • ระบบบควบคุมแรงดันเบรกแบบแปรผัน (DBC)
  • เซ็นเซอร์ควบคุมระบบบความปลอดภัยเมื่อเกิดการชน (Crash Sensor)
  • ระบบป้องกันการกระแทกจากด้านข้าง (Side Impact Protection)
  • ระบบควบคุมความเร็วคงที่
  • ระบบช่วยนำรถเข้าจอดอัตโนมัติ Parking Assistant

จะเห็นได้ว่าแต่ละอย่างที่ให้มา ล้วนอยู่ในระดับเพียง เท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละระบบล้วนทำงานได้ดี ตามแต่หน้าที่ของมัน ทว่ามันก็ยังคงไม่มีระบบความปลอดภัยขั้นสูงหรือ ADAS ติดมาให้อยู่ดี

สรุป รีวิว จุดเด่น จุดขายสำคัญ ที่เราอยากให้คุณนึกถึงมากที่สุด ใน BMW 220i Gran Coupé M Sport คันนี้ คือเรื่องของสมรรถนะและบุคลิกการขับขี่ ที่เปรียบเสมือนกับประตู หรือจุดเริ่มต้นให้คุณได้รู้จักกับความเป็นรถยนต์จาก BMW ที่แท้จริง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบุคลิกในการขับขี่ ที่ต่างก็ไม่ได้เน้นการเอาใจผู้ใหญ่มากนัก แต่เน้นตอบโจทย์สายเท้าหนัก มือไว ใช้รถอย่างสนุกสนานบนทางดำ ทางโค้งมากกว่า ตามแบบบฉบับของรถ BMW โดยดั้งเดิม

และด้วยความเบากับความกระทัดรัดของตัวรถ จึงทำให้มันกลายเป็นรถ BMW ที่สามารถใช้งานในเมืองได้อย่างคล่องตัวจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการจอดในที่แคบ หรือการมุดไปตามช่องจราจรต่างๆ ที่ไม่ต้องพะวงในเรื่องเหลี่ยมสันของตัวรถเท่าไหร่นักว่ามันจะไปเกี่ยวใครเข้า

จุดที่น่าสังเกตอาจจะมีเรื่องนิสัยเครื่องยนต์ตอนกดคันเร่งจม ที่ให้ความรู้สึกว่ามันอมไปบ้าง แต่ด้วยความเร็วปลายระดับบนี้ ย่อมหมายความว่าคุณสามารถใช้มันแกล้งกระบะซิ่งควันดำ ที่จ้องจะเล่นคุณเพียงเพราะเห็นว่าคุณเป็น BMW คันเล็กเท่านั้นได้แน่นอน (แต่ก็ย้ำอีกครั้งว่ามันเป็นสิ่งผิดกฏหมาย และอันตรายต่อเพื่อนร่วมถนนคนอื่นๆ)

และอีกสิ่งที่แอบเสียดาย คือระบบความปลอดภัย หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆภายในตัวรถ ที่น้อยไปนิดเมื่อเทียบกับราคาค่าตัว ชนิดที่ว่า ถ้าใครให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นหลัก เราขอแนะนำให้คุณไปเล่นรถญี่ปุ่น ที่อาจจะดูไม่หรูเท่าในเรื่องแบรนด์ แต่ก็ยังดูจะคุ้มค่ากว่าเมื่อมาว่ากันด้วยลูกเล่นจุดนี้

ทว่าสุดท้ายนี้เราก็คงต้องขอย้ำกันอีกที ว่าหากจะมองกันที่ความเป็น BMW จริงๆ แม้ 220i จะมีหน้าตาไม่ดุดันเท่ากับพี่ๆ ไม่ได้มีออพชันลูกเล่นทันสมัย เมื่อเทียบกับค่าตัว เริ่มต้น 2,209,000 บาท เพราะมันคือค่าออกแบบ ค่าเซ็ทติ้ง เพื่อให้มันรถที่มีสมรรถนะแบบ BMW ในราคาซึ่งจับต้องได้ง่ายที่สุด

โดยหากคุณอยากจะขยับไปหารถรุ่นใหญ่อื่นๆในอนาคต การจะเรียนรู้จากเจ้าน้องเล็กคันนี้ก่อน ไม่ได้ถือเป็นสิ่งที่ผิดอะไรเลย แถมดีด้วยซ้ำ เพราะในขณะเดียวกันมันก็เป็นรถ BMW ที่ใช้ง่ายใช้คล่องจริงๆ

ขอขอบคุณ BMW (Thailand) Co., Ltd. ที่ให้การสนับสนุน รถทดสอบ BMW 220i Gran Coupé M Sport สำหรับการทำรีวิว โดยทีมงาน Ridebuster ในครั้งนี้

ทดสอบ : รณกฤต ลิมปิชาติ
เรียบเรียง : รณกฤต ลิมปิชาติ
รูปภาพ : รณกฤต ลิมปิชาติ

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่
Tags: