ด้วยความนิยมของคนไทยต่อ รถกระบะ ทำให้เรามีโอกาสเห็นการใช้งานรถกระบะที่หลากหลายตั้งแต่ทั่วไป จนปัจจุบัน นิยมนำไปแต่งซิ่ง

กระบะซิ่งมีมากมายเกลื่อนถนน แต่ก็น้อยคนจะรู้ว่า เราไม่ควร ขับรถกระบะ เร็วเกินไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อคุณเอง และคนรอบข้าง

1.ช่วงล่างหลัง ไม่เหมาะสม

ถ้าไม่นับ Ford Ranger Raptor    ที่ใช้ ช่วงล่าง Watt Link กระบะเกือบทุกรุ่นในเมืองไทย จะใช้ระบบช่วงหลังแบบแหนบหลายแผ่นซ้อน ช่วงล่างแบบนี้ มีข้อดีสำหรับการบรรทุก มีประโยชน์ในเชิงการใช้งานเพื่อการพาณิชย์

แต่เมื่อ นำมาขับด้วยความเร็วมันจะไม่เกาะถนนเท่า ช่วงล่างแบบอิสระอื่น ๆ ซึ่งจะพยายามทำให้ล้อทั้ง 4 ติดพื้นให้มากที่สุด ไม่ว่าจะในทางตรงทางโค้ง จะเจอพื้นต่างระดับมากแค่ไหนก็ตาม มีการให้ตัวมาก

แต่ช่วงล่างแบบตายตัว อย่างแหนบ จะจำกัดการเคลื่อนไหว ไม่ให้อิสระภาพการเคลื่อนไหวของชุดดุมล้อมาก จำกัดเพียงการขึ้น- ลงเท่านั้น และช่วงล่างมีความแข็งกระด้าง ซับแรงกระแทกน้อยกว่า การใช้โช๊คอัพ และสปริง ทำให้เมื่อขับเร็วๆ การกระแทกในบางโอกาส อาจทำให้รถดิ้นสะบัด และ เกิดอุบัติเหตุได้ รถกระบะ

2.ความสูงเจ้าปัญหา

กระบะทุกวันนี้ทั้งมีขนาดใหญ่และมีความสูงมากกว่าเมื่อก่อน มันออกแบบมาเพื่อการใช้งานสมบุกสมบัน ในการเดินทาง

รถจึงมีจุดศูนย์ถ่วงสูงกว่ารถเก๋ง เมื่อขับด้วยความเร็วสูงแล้ว มักจะพบว่า ค่อนข้างมีการโคลงตัว โดยเฉพาะเมื่อคุณขับแล้วหักพวงมาลัยเร็ว เช่น เปลี่ยนเลน หรือ กระทั่งการเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง อันมาจากศูนย์ถ่วงที่สูงกว่า รถเก๋ง อาจทำให้ลื่นไถล หรือเกิดการพลิกคว่ำได้ง่ายกว่ารถเก๋ง โดยเฉพาะในสภาพถนนลื่น ต้องระมัดระวังให้ดี

ยิ่งกับรถรุ่นเก่าๆ หรือ รุ่นล่างๆ บางรุ่นที่ไม่มีระบบควบคุมการทรงตัวมาให้ เมื่อรวมการทำงานของช่วงล่างแหนบ อาจเอาไม่อยู่

3.ขับหลัง หอกข้างแคร่คุมได้ยาก

 รถกระบะทุกรุ่นตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบัน เป็นรถที่มาพร้อมระบบขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยจุดประสงค์เพื่อให้ออกตัวง่าย เมื่อมีการบรรทุก รถขับเคลื่อนล้อหลัง มีข้อดีหลายประการ แต่เมื่อขับด้วยความเร็วสูงมาก ต้องอาศัยความชำนาญ และทักษะการขับขี่ โดยเฉพาะ เมื่อเกิดอาการท้ายปัด หรือ ที่เรียกว่า   Over Steer   

อาการท้ายปัด สามารถควบคุมได้ด้วยทักษะการขับขี่ รวมถึงอาจต้องมีอุปกรณ์เฟืองท้าย   Limited Slip Differential (LSD)  ก็สามารถจะแก้ไขสถานการณ์ได้อยู่บ้าง ทว่าข้อเท็จจริงคือ เจ้า LSD  ไม่ได้ติดตั้งมาในกระบะทุกคัน ส่วนใหญ่จะมีในรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่ซื้อรถรุ่นนี้ และเจ้าของรถกระบะก็ไม่ได้มีทักษะในการขับขี่เท่ากันทุกคน

ยิ่งเมื่อประกอบกับอาการดีดเด้งของช่วงล่างหลังแหนบ ช่วงล่างแข็งโดยเฉพาะยิ่งถ้าโหลดเตี้ย และใช้ล้อแม็กพร้อมยางแก้มเตี้ยอ่อนประสิทธิภาพ กว่าปกติ ยิ่งทำให้ควบคุมยาก เนื่องจสก ค่าช่วงล่างที่ผิดเพี้ยนไป ทำให้ ยางสัมผัสไม่เต็มที่

4.เครื่องแรงเกินไป..หรือไม่

ทุกวันนี้เครื่องยนต์ดีเซลสมัยใหม่ มีความสามารถในการขับขี่เพิ่มขึ้นมาก การพัฒนาทางวิศวกรรม เพื่อให้ผู้ขับขี่ใช้แรงบิดในการบรรทุก และหรือ ผ่านอุปสรรคทางลุยได้ง่าย

แรงบิดสูง เป็นเรื่องดี แต่บางครั้ง เมื่อแรงบิดปั่นล้อจนเอาชนะแรงยึดเกาะถนนของยางรถมันจะทำให้เกิดการลื่นไถลได้ง่ายมาก (โดยเฉพาะรุ่นที่ไม่มีระบบควบคุมการทรงตัว)

ปัญหาสำคัญเรื่องนี้ บริษัทรถยนต์ เพิ่งจะเริ่มใส่ใจ ให้ ระบบควบคุมการทรงตัวและป้องกันการลื่นไถล ในกระบะบางรุ่นเท่านั้น และมักอยู่ในรุ่นราคาแพง

นั่นทำให้เมื่อคุณขับรถกระบะด้วยความเร็ว ประกอบกับปัจจัยรถขับหลัง โดยเฉพาะบนถนนลื่น เช่น ฝนตก อาจเกิดการลื่นไถล และเสียการควบคุมได้ง่าย สมควรระวังให้มาก ยิ่งเจอการเหิรน้ำ จะควบคุมยากกว่ารถเก๋งทั่วไป

5.ท้ายเบา

รถกระบะ ทุกยี่ห้อ ออกแบบ ให้มีถาดบรรทุก หรือกระบะท้ายมาด้วย จะใหญ่หรือเล็ก ขึ้นอยู่กับ รูปแบบรถที่นำเสนอ หรือ เราเลือกซื้อ แต่ประเด็นสำคัญ​อยู่ที่ เมื่อกระบะท้ายไม่มีน้ำหนักบรรทุก มันจะเบา ทำให้น้ำหนักถ่วง ช่วยกดล้อและยางในระหว่างที่เบรกหลังทำงานน้อย ไม่เหมือนรถที่มีทั้งโครงสร้าง ช่วยกดลงไป

แม้จะช่วงเพียงเสี้ยววินาที ก่อนที่ระบบเบรกหน้าจะทำงาน แต่ก็หมายความถึง อำนาจการหยุดน้อยกว่า ด้วย

6. รถกระบะ ส่วนใหญ่ใช้ ดรัมเบรกหลัง

มีรถกระบะ Ford บางรุ่นเท่านั้น ที่ให้ระบบเบรกหลัง แบบ ดิสก์เบรก แต่ส่วนใหญ่ชุดเบรกหลัง กระบะ เกือบทุกรุ่น จะเป็น ระบบดรัมเบรกเท่านั้น

ระบบดิสก์เบรก ดีกว่า ดรัมเบรก 2 ประการ คือ 1. ตอบสนองเร็วกว่า เวลากดเบรกลงไป และ 2 การระบายความร้อน โดยเฉพาะในเส้นทางบางรูปแบบ

ระบบเบรกหน้าดิสก์หลังดรัม ยังไงเสียก็ตอบสนอง ช้ากว่า ระบบเบรก ดิสก์ 4 ล้อ ที่มีระยะทางเบรกสั้นกว่า แน่นอน และเมื่อมาดู คุณจะพบว่า ชุดปั้มเบรก รถกระบะ มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก หากหน้าสิ่วหน้าขวาน ก็คงยากจะเอาอยู่ โดยเฉพาะ ยิ่งถ้าคุณใช้ความเร็ว

รถกระบะ  Isuzu  D-max 2023

7.พังง่ายในระยะยาว

รถกระบะดีเซลในวันนี้ขับสนุกสนานมากกว่ารถเก๋ง แต่การขับด้วยความเร็วอาจเป็นหอกข้างแคร่ที่ทำให้คุณต้องควักเงินจ่ายค่าความบันเทิงในภายหลัง

ระบบเครื่องยนต์เทอร์โบ มีเสน่ห์ในเรื่องสมรรถนะที่ปั้นแต่งออกมาจากเครื่องยนต์ได้มากกว่า เครื่องธรรมดา แต่ถ้าคุณขับวิ่งสู้ฟัดตลอดเวลา ก็ไม่มีอะไรทนมือทนเท้าไปตลอดหรอกครับ

ปัญหาหนึ่งที่มีรายงานมากในหมู่ช่างซ่อมเครื่องยนต์ดีเซล คือ อาการที่เรียกว่า “เทอร์โบพัง” จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ขับขี่ใช้ความเร็วรอบเครื่องยนต์สูงบ่อยครั้ง ทำให้ความร้อนจากเครื่องยนต์ดีเซล อาจทำร้ายชุดแกน หรือ ใบเทอร์โบ เมื่อใช้งานไปนาน ๆ

เครื่องยนต์ดีเซลสมัยใหม่มีเทอร์โบชาร์จ ซึ่งต้องยอมรับว่า ถ้าคุณใช้งานหนักบ่อบครั้ง อาจลาโลกได้ง่าย

ผลคือคุณต้องเปลี่ยนเทอร์โบลูกใหม่ หรือถ้าโชคดี ก็พอจะหาชุดซ่อม ทำให้เทอร์โบชราภาพกลับมาฟิตปั๋ง

ตลอดจนด้วยแรงบิดมหาศาลการรับแรงจากเครื่องยนต์ของชิ้นส่วนอื่น ๆ ยังอาจทำให้สึกหรอกมากกว่าที่ควรเป็น และทำให้ต้องซ่อมบำรุงเร็วขึ้น

โดยเฉพาะการทำให้รถควันดำท่วมๆ ซึ่งมาจากการฉีดน้ำมันมากกว่าปกตินั้น ในทางวิศวกรรมไม่ได้ช่วยให้เกิดผลดีเลย มันทำให้ความร้อนสะสมที่ลูกสูบมากเกินความจำเป็น เกิดคราบเขม่าในเครื่องยนต์ ส่งผลนระยะยาว อาจทำให้ลูกสูบอาจจะได้รับความเสียหาย รวมถึงชุดแหวนลูกสูบอาจสึกหรอเร็วกว่าปกติ 

แถมควันดำยังทำให้ระบบหมุนเวียนไอเสีย และระบบกรองไอเสีย อุดตันได้เร็วกว่าปกติด้วย

คงจะเห็นแล้วใช่ไหมว่า รถกระบะได้ออกแบบมาให้ซิ่งทำความเร็ว พวกมันถูกออกแบบมาเพื่อการบรรทุก หรือขับใช้งานทั่วไป ไปลุยสมบุกสมบัน บ้าง

ดังนั้น ใครชอบความเร็ว จะหากระบะมาแต่งซิ่ง อาจไม่เหมาะครับ

เรื่องโดย ณัฐพิพัฒน์ วรโชติโกศล นักทดสอบรถยนต์ และ คอลัมนิสต์ เว็บไซต์   Ridebuster.com  ติดตามผลงานการเขียน และข้อมูลที่น่าสนใจได้ทาง  Facebook 


แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่