ด้วยยอดจอง(อย่างไม่เป็นทางการ)ที่พุ่งทะลุ 4,000 คัน ภายในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง ทำให้มันเป็นพิสูจน์ชั้นดีว่า นี่คือแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า อันดับต้นๆที่ชาวไทยหลายคนต้องการ แต่เพราะอะไรกันล่ะ ?

หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่สุด ที่ทำให้ใครหลายๆคนให้ความสนใจ และรอคอยการมาของรถยนต์ไฟฟ้าจากแบรนด์ Tesla ก็เพราะ นี่คือผู้ผลิตที่ทำให้ภาพลักษณ์ของรถยนต์ไฟฟ้าดูน่าเชื่อถือ น่าใช้ และใช้งานได้จริง เป็นแบรนด์แรกๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่พวกเขาได้เปิดตัว Tesla Model S เมื่อปี 2012 ซึ่งมันถือเป็นรถยนต์ระดับ Mass Production Car หรือรถยนต์ไฟฟ้าที่สร้างมาเพื่อขายในตลาดวงกว้างคันแรกของแบรนด์ แล้วมันก็ได้กระแสตอบรับที่ดีเยี่ยมจากทั้งผู้ใช้และสื่อฯ นักทดสอบ ในประเทศสหรัฐอเมริกาในเรื่องสมรรถนะตัวรถอย่างท่วมท้น ในช่วงเวลานั้น

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ทางค่ายได้มีการขายรถ Tesla Roadster ซึ่งเป็นรถสปอร์ตคาร์เปิดประทุนที่ถูกดัดแปลงมาจาก Lotus Elise สำหรับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ซึ่งมันก็มีกระแสตอบรับที่ค่อนข้างดีจากลูกค้าเช่นกัน แม้ว่ามันจะต้องถูกยุติสายการผลิตไป เพื่อหลีกทางให้กับ Model S ก็ตาม

แน่นอนว่า ในปีถัดๆมา ทาง Tesla ก็ยังคงรักษามาตรฐานรถของตนเองเอาไว้ได้ดี เพราะแม้จะมีชื่อเสียงด้านลบในเรื่องคุณภาพของงานประกอบแทรกมาเป็นพักๆอยู่บ้าง แต่ในภาพรวมก็ยังเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อย และค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่แบรนด์อื่นๆก็ยังไม่สามารถพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันวันที่มีสมรรถนะทัดเทียมกันมาสู้ได้ทัน จึงทำให้ผู้ผลิตที่เกิดมาพร้อมกับการขายรถยนต์ไฟฟ้าโดยกำเนิดแต่แรกรายนี้ สามารถกวาดยอดขายส่วนใหญ่ของรถในตลาดนี้ไปได้สบายๆ

และอันที่จริง ทาง Tesla ยังเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์ในด้านระบบมอเตอร์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ ให้กับรถยนต์ไฟฟ้าของผู้ผลิตแบรนด์ใหญ่ๆอีกหลายราย ไม่เว้นแม้กระทั่ง Toyota (ทำแบตฯให้ Toyota RAV4 EV ในประเทศสหรัฐอเมริกา) มาแล้วด้วย

ดังนั้นจึงเรียกได้ว่าผู้ใช้สามารถมั่นใจในเรื่องคุณภาพแบตฯ หรือระบบขับเคลื่อนของตัวรถจากแบรนด์นี้ได้แน่นอน

สอง คือการที่รถยนต์แต่ละรุ่นของ Tesla ที่ถูกเปิดตัวออกมานั้น ล้วนมีสมรรถนะที่โดดเด่นกว่าใครในคลาสเดียวกัน ในหลายๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของตัวเลขระยะทางการวิ่งต่อชาร์จที่ดีกว่า ซึ่งเป็นปัจจัยในการเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าสักคันที่สำคัญเป็นอย่างมากมาตั้งแต่อดีต รวมถึงปัจจุบัน เพราะยังไงการมีแบตเตอรี่ที่สามารถจุไฟแล้ววิ่งได้ไกล ย่อมอุ่นใจกว่าใช้รถที่มาพร้อมกับแบตเตอรี่ที่สามารถจุไฟได้น้อย วิ่งไปไม่เท่าไหร่ก็แบตฯหมด เสี่ยงกินข้าวลิงข้างทาง

นอกจาก ขีดความสามารถในการใช้งานเรื่องแบตเตอรี่ที่สามารถวิ่งได้ไกลจนโดดเด่นกว่าใครเป็นอันดับต้นๆแล้ว ตัวมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นขุมกำลังหลักเพียงหนึ่งเดียวของตัวรถเอง ยังมีสมรรถนะที่ดีทั้งในส่วนของแรงม้า รวมถึงแรงบิดอันมหาศาล

และที่สำคัญคือ ความเร็วสูงสุดเอง ยังถูกจำกัดเอาไว้ในหลักที่ไม่ได้ดูน้อยเกินไป เหมือนรถไฟฟ้าจากยุโรป หรือญี่ปุ่นอีกด้วย ทำให้มันยังคงสามารถให้ความสนุกสนานในเรื่องการทำความเร็วได้ดีไม่ต่างจากรถยนต์สันดาปภายใน หรืออาจจะมากกว่าในบางจุดด้วยซ้ำ อย่างเช่นการเรียกอัตราเร่งที่ฉับไวตามฉบับรถยนต์พลังมอเตอร์ไฟฟ้าแรงบิดสูง

สาม เทคโนโลยีแปลกใหม่และใช้งานได้จริง ทำให้ใครหลายๆคนอยากลองสัมผัสถึงความล้ำสมัยของรถยนต์จาก Tesla เช่น ระบบอัพเดทซอฟท์แวร์ของตัวรถผ่านสัญญาณดาวเทียม (ระบบ OTA) ที่ช่วยแก้ไขข้อบกพร่องของซอฟท์แวร์เดิมๆ หรือไม่ก็อัพเกรดเสริมเพื่อให้ซอฟท์แวร์ต่างๆของรถสามารถทำงานร่วมกับตัวรถได้อย่างชาญฉลาดยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องเข้าศูนย์บริการ, โหมดสำหรับสัตว์เลี้ยง, โหมดเรียกรถมารับ (โดยไม่ต้องมีคนขับอยู่ในรถ เดี๋ยวรถขับมาหาคุณเอง)

หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการนำเอา “ระบบรถขับขี่อัตโนมัติ” มาใส่ในรถยนต์ของตนเองเป็นรายแรกๆของโลก ซึ่งแม้เทคโนโลยีที่ว่า จะยังไม่สามารถทำงานได้เต็มระบบ จนถึงขนาดที่ผู้ขับ และผู้โดยสาร สามารถนั่งในรถสบายใจเฉิบ ปล่อยให้รถเดินทางด้วยเองตั้งแต่จุดเริ่มต้น ไปจนถึงจุดหมายปลายทางได้ขนาดนั้น

แต่เอาจริงๆสิ่งที่คุณต้องทำก็มีแค่เพียงการคอยจับพวงมาลัย หรือมองทางข้างหน้า เพื่อบอกรถว่าคุณพร้อมที่จะแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือคับขัน ซึ่งรถอาจจะแก้ปัญหาให้ไม่ทันก็เท่านั้น นอกเหนือจากนั้น หากเป็นสถานการณ์ปกติ ไม่ว่าจะเป็นการเร่งแซงรถบนถนนโล่งๆ การเลี้ยวโค้งไปตามช่องทาง หรือแม้แต่การจอด แล้วออกตัว เมื่อต้องใช้งานรถในพื้นที่ชุมชน หรือตัวเมือง รถก็ฉลาดพอที่จะขับเคลื่อนด้วยตนเองได้

ทว่าการที่ตัวรถจะฉลาดได้ขนาดนี้ คุณก็ต้องบวกเงินซื้อเพิ่มอีกหลัก แสน ถึง สองแสนบาท ด้วย เพราะมันไม่ได้เป็นออพชันติดมาให้รถครบๆตั้งแต่ราคาแรกเลย และที่สำคัญคือก็ยังมีรายงานการทำงานผิดพลาดของระบบดังกล่าวในต่างประเทศอยู่บ้าง แต่ก็พอเข้าใจได้ เพราะยังไงเงื่อนไขการใช้งานระบบนี้ ก็ยังคงต้องอาศัยการ “ตื่นรู้” ของผู้ใช้งาน ตามข้อกำหนดของ Tesla และข้อกฏหมายอยู่ดี

ทั้งนี้ ใช่ว่าทุกอย่างจะมีเพียงแต่ข้อดีเสมอไป ข้อเสีย หรือ ข้อควรระวัง ของรถ Tesla ก็ยังพอมีบ้างเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับในช่วงเวลานี้ ที่ยังเป็นช่วงเริ่มต้นสำหรับการทำตลาดอย่างเป็นทางการโดยบริษัทแม่ ที่เงื่อนไขในเรื่องต่างๆ

เช่น ข้อมูลเบี้ยประกันภัย ยังไม่แน่ชัด (แต่คาดการณ์กันเอาไว้ว่าจะอยู่ในช่วง 4-5 หมื่นบาท/ปี), ศูนย์บริการ ที่ยังไม่มีการเปิดเผยว่าจะตั้งอยู่ในส่วนใดของประเทศบ้าง, หรือหากรถเกิดเสียหาย การดูแลในเรื่องอะไหล่ และค่าใช้จ่าย(กรณีลูกค้าไม่ได้ทำประกันเอาไว้ หรือหมดระยะการรับประกันตัวรถแล้ว) จะสูงแค่ไหน ?

ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ผู้ที่สนใจ ก็ต้องคอยศึกษากันต่อไป อย่างน้อยๆก็จนกว่าจะถึงช่วงต้นปีหน้า ตามการให้ข้อมูลของทาง Tesla ที่ได้เคยกับเราไว้ในวันเปิดตัว

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่
Tags: