เจ ดีพาวเวอร์ เผยผลการศึกษาทางด้านคุณภาพรถใหม่ ชี้ชัดรถกระบะมีปัญหามากขึ้นกว่าเดิม

ผลการศึกษาคุณภาพรถใหม่ในประเทศไทย ประจำปี 2559 โดย เจ.ดี. พาวเวอร์              (J.D. Power 2016 Thailand Initial Quality StudySM (IQS)) เปิดเผยในวันนี้ว่า คุณภาพของรถยนต์ใหม่โดยรวมในประเทศไทยได้รับการปรับปรุงขึ้น อย่างไรก็ตาม เจ้าของในกลุ่มรถกระบะและกลุ่มรถยนต์ขนาดกลางระดับพรีเมี่ยมกลับรายงานปัญหาเพิ่มมากขึ้น

โดย ค่าเฉลี่ยคุณภาพรถใหม่โดยรวมอยู่ที่ 87 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน (PP100) ในปี 2559 ลดลง 4 คะแนน จากปี 2558 ที่ 91 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน คุณภาพรถยนต์ได้รับการปรับปรุงในทุกกลุ่มประเภทรถยนต์ ยกเว้นกลุ่มรถกระบะ ซึ่งค่าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 100 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน ในปี 2559 เพิ่มขึ้น 10 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน เมื่อเทียบกับปี 2558

และกลุ่มรถยนต์ขนาดกลางระดับพรีเมี่ยม ที่ปัญหาเพิ่มขึ้นเป็น 66 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน จาก 59 ปัญหาในปี 2558

img_8274

การศึกษายังพบอีกว่าเจ้าของรถรุ่น ใหม่ ซึ่งเป็นรถรุ่นใหม่ในตลาด หรือเป็นรถรุ่นที่ได้รับการปรับโฉมใหม่ทั้งคันสำหรับรุ่นรถปีนั้นๆ รายงานปัญหา 81 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน น้อยกว่ารถรุ่นเดิมที่มีอยู่ ซึ่งไม่ได้รับการปรับโฉม หรือปรับแต่งเพียงเล็กน้อยสำหรับรุ่นรถปีนั้นๆ ซึ่งรายงานปัญหา 88 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน

 

ศิรส สาตราภัย ผู้จัดการ เจ.ดี. พาวเวอร์ ประจำประเทศไทย กล่าว  “รถยนต์รุ่นใหม่ที่พึ่งออกสู่ตลาดเมื่อไม่นานมานี้ มีคุณภาพการผลิตที่ดีกว่า (มีปัญหาคุณภาพน้อยกว่า) รถยนต์รุ่นที่อยู่ในตลาดมานานกว่าและส่งผลในเชิงบวกต่อภาพรวมความพึงพอใจในคุณภาพของรถยนต์ใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ลูกค้าผู้ใช้งานรถกระบะได้รายงานปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นจากปีก่อนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะปัญหาภายนอกตัวรถยนต์และระบบแอร์ (HVAC) ดังนั้นผู้ผลิตรถกระบะจึงควรรับฟังเสียงสะท้อนของลูกค้า และดำเนินการลดปัญหาคุณภาพ และปรับปรุงรถยนต์รุ่นถัดๆ ไปให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น

การศึกษานี้พบว่าปัญหาภายนอกตัวรถยนต์คิดเป็น 30% จากปัญหาทั้งหมดในปี 2559 เพิ่มขึ้น 5% จาก 25% ในปี 2558 นอกจากนี้ ปัญหาจากระบบฮีทเตอร์, ระบบระบายอากาศ และระบบแอร์ (HVAC) เพิ่มขึ้นเป็น 8% จาก 7% ปัญหาภายนอกตัวรถยนต์ที่มีการพูดถึงบ่อยที่สุดเป็นปัญหาเกี่ยวกับเสียงลมที่ดังเกินไป และปัญหาประตูเปิด-ปิดยาก

ส่วนปัญหาหลักของระบบฮีทเตอร์, ระบบระบายอากาศ และระบบแอร์ (HVAC) จะเกี่ยวกับกระจกมีฝ้ามากเกินไป และระบบความเย็นของแอร์ที่ไม่เพียงพอ

 

ครึ่งหนึ่งของ 20 ปัญหาแรกที่มีการพูดถึงบ่อยที่สุดเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับการออกแบบ เจ้าของรถยนต์ยังรายงานจำนวนปัญหาเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับปัญหาภายในรถยนต์, ปัญหาประสบการณ์การขับขี่ และปัญหาเครื่องยนต์/ ระบบเกียร์ เช่น ปัญหาวัสดุเป็นรอยขีดข่วนง่าย/ เปื้อนง่าย, ปัญหาระบบช่วงล่าง หรือปัญหาเครื่องยนต์ไม่มีกำลัง เวลาสตาร์ทรถครั้งแรกของวัน

 

ผู้ผลิตรถยนต์ควรตระหนักถึงการเพิ่มขึ้นของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบของรถยนต์ทุกๆ กลุ่ม ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรู้สึกไม่สะดวกในการใช้งาน หรือก่อให้เกิดความรำคาญในการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านั้น ศิรส กล่าว

 

ข้อมูลสำคัญเพิ่มเติมที่ได้จากการสำรวจ:

  • ความหรูหราเป็นตัวชี้นำ: เจ้าของรถยนต์ประเภทหรูหรามีรายงานปัญหาที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ของตนน้อยที่สุด (50 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน ) และรถกระบะ 4 ประตู และรถกระบะตอนขยายรายงานจำนวนปัญหาเข้ามามากที่สุด (103 ปัญหา และ 104 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน ตามลำดับ)
  • เสียงลมยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่อง: เสียงลมดังเกินไป (13.1 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน) ยังคงเป็นปัญหาที่มีรายงานเข้ามาบ่อยที่สุดและเป็นปัญหาที่มีมาตลอดนับตั้งแต่ปี 2551 และ 2 ปัญหาใหม่เพิ่มเติมจาก 5 ปัญหาเดิมที่มีการรายงานเข้ามามากที่สุด ได้แก่ กระจกมีฝ้ามากเกินไป/ ไม่สามารถกำจัดฝ้าได้ตามต้องการ (2.6 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน) และการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากเกินไป (2.4 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน)
  • คุณภาพมีผลต่อความภักดี: ความภักดีและความตั้งใจในการกลับมาซื้อมีความสัมพันธ์โดยตรงกับความพึงพอใจของลูกค้าที่มีต่อคุณภาพโดยรวมของรถยนต์ โดย 86% ของลูกค้าในกลุ่มที่พอใจเป็นอย่างมากกล่าวว่าพวกเขาจะแนะนำรุ่นรถที่ใช้อยู่ อย่างแน่นอนและ 73% กล่าวว่าพวกเขาจะกลับมาซื้อรถยนต์แบรนด์เดิมอีก อย่างแน่นอนส่วนกลุ่มเจ้าของรถยนต์ที่ผิดหวังหรือรู้สึกเฉยๆ กับคุณภาพรถยนต์ของตัวเอง มีเพียง 44% ที่กล่าวถึงความตั้งใจที่จะแนะนำรุ่นรถยนต์ที่ใช้อยู่แก่ผู้อื่นและ 30% ที่มีความตั้งใจจะกลับมาซื้อรถยนต์แบรนด์เดิมอีก

 

ทั้งนี้ การศึกครั้งนี้เป็นการศึกษาปัญหาคุณภาพรถยนต์ใหม่ที่เจ้าของรถยนต์ประสบในช่วง 2 ถึง 6 เดือนแรกของการเป็นเจ้าของ  โดยการศึกษานี้ได้สอบถามถึงปัญหาหรือความผิดปกติมากกว่า 200 รายการ  และสามารถจัดกลุ่มปัญหาหรือความผิดปกติที่พบออกเป็น 8 หมวดหมู่ (โดยเรียงลำดับตามความถี่ของปัญหาที่มีการรายงานเข้ามา) ได้แก่ ปัญหาภายนอกรถยนต์, ปัญหาเครื่องยนต์/ ระบบเกียร์, ปัญหาประสบการณ์การขับขี่, ปัญหาจากภายในรถยนต์, ปัญหาจากระบบฮีทเตอร์, ระบบระบายอากาศ และระบบแอร์ (HVAC), ปัญหาด้านเครื่องเสียง, ความบันเทิงและระบบนำทาง (ACEN) ปัญหาจากอุปกรณ์, ปุ่มควบคุมและแผงหน้าปัด และปัญหาจากที่นั่ง ปัญหาทั้งหมดได้ถูกนำมาสรุปผลเป็นจำนวนปัญหาหรือความผิดปกติที่พบต่อรถยนต์ใหม่ 100  คัน (ในที่นี้ เรียกว่า PP100)   โดยรถยนต์รุ่นใดที่ได้คะแนน PP100 น้อยกว่า แสดงว่ารถยนต์รุ่นนั้นเกิดปัญหาน้อยกว่าหรืออีกนัยหนึ่งคือ รถรุ่นนั้นมีคุณภาพที่สูงกว่า

ผลการศึกษาคุณภาพรถใหม่ในประเทศไทย (IQS) ประจำปี 2559 ได้จากการประเมินคำตอบของเจ้าของรถยนต์คันใหม่ 4,813 ราย ที่ซื้อรถยนต์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2558 ถึงเดือนกรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล, รถกระบะ และรถยนต์อเนกประสงค์จำนวนทั้งสิ้น 82 รุ่น จากทั้งหมด 13 ยี่ห้อ โดยมีการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกันยายน 2559

 

โดยจากการจัดอันดับคุณภาพตัวรถ จากการศึกษาวิจัย

โตโยต้า คว้ารางวัลใน 4 รุ่นรถ ได้แก่ ยาริส (70 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน) ได้รับการจัดอันดับสูงสุดประเภทกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็ก;

วีออส (62 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน) ได้รับการจัดอันดับสูงสุดประเภทกลุ่มรถยนต์ขนาดกลางระดับต้น; โคโรล่า อัลติส (67 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน) ได้รับการจัดอันดับสูงสุดประเภทกลุ่มรถยนต์ขนาดกลาง และไฮลักซ์ รีโว่ พรีรันเนอร์ สมาร์ท แค๊ป (83 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน) ได้รับการจัดอันดับสูงสุดประเภทกลุ่มรถกระบะตอนขยาย

 

img_8256

รถยนต์   Toyota Yaris   เป็นรถยนต์ที่มีคุณภาพที่สุดในรถยนต์นั่งขนาดเล็ก

ปัจจุบันรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ รถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงขนาดเล็ก, ขนาดกลาง และขนาดใหญ่

ฮอนด้า เอชอาร์-วี ได้รับการจัดอันดับสูงสุดประเภทกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงขนาดเล็ก (84 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน) ขณะที่ อีซูซุ มิว-เอ็กซ์ (67 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน) ได้รับการจัดอันดับสูงสุดประเภทกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงขนาดใหญ่ ในปีนี้ไม่มีการจัดอันดับสำหรับกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงขนาดกลาง เนื่องจากจำนวนรุ่นรถที่สามารถจัดอันดับได้ไม่เพียงพอ

 

ฟอร์ด เรนเจอร์ ดี-แค๊ป (81 ปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน) ได้รับการจัดอันดับสูงสุดประเภทกลุ่มรถกระบะ 4 ประตู

 

ชอบกดไลค์ ใช่กดแชร์ …. เนื้อหาดีๆ ต้องแบ่งปันต่อ แล้วอย่าลืมถูกใจ เพื่อรับข่าวสารยานยนต์ดีๆ จากทีมงานคุณภาพ Ridebuster – ส่องรถ ….

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่