ถ้าพูดถึงธุรกรรมที่เราทำเกี่ยวกับรถ ผ่านทางกรมการขนส่งทางบก นอกจากการต่อภาษีเป็นประจำแล้ว ก็คงจะมีการ “โอนรถยนต์” นี่แหละที่เราต้องทำธุรกรรมเกี่ยวกับรถยนต์ของเรา  และวันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังว่าการโอนรถยนต์ เขาทำกันอบ่างไร มีขั้นตอนอย่างไร จนคุณเองก็สามารถไปทำได้เช่นกัน

เรื่องการโอนรถด้วยตัวเอง เริ่มจากผมและเดือนไปซื้อรถยนต์  Subaru  XV Sti   ใหม่ จากทาง  Subaru   ประเทศไทย โดยรถคันนี้เดิมทีเป็นรถทดสอบแบบที่ผมนำมาขับรีวิวบ่อยๆ นี้แหละ แต่ว่าเจ้านี้สภาพดีมากไมลืน้อยมาก ประกอบกับเดือนทำงานต่างจังหวัด และสมควรจะต้องใช้รถยนต์ที่มีขนาดใหญ่ เราจึงตัดสินใจร่วมกันในการซื้อรถคันนี้ ซ฿งจะอำนวยความสะดวกในการเดินทาง

เราใช้เวลาเกือบเดือนในการทำธุรกรรมกับ   Subaru   โดยตอนแรกบริษัทจะให้เราเสียค่าใช้จ่ายไปโอนให้เนื่องจากเกรงว่าลูกค้าจะโอนช้า หรือไม่ไป (ซึ่งจริงๆ เราก็โอนช้าไป1 วัน เพราะนับวันเทศกาลสงกรานต์ผิด) แต่ในที่สุดก็ตกลงกันได้ว่า ลูกค้าสามารถโอนเองได้ เราจึงเริ่มไปดำเนิน

เรื่องต้องรู้ก่อนโอน

ก่อนจะโอนรถ จากประสบการณ์ของเราบอกว่า คุณมีเรื่องที่จะต้องทราบก่อนการโอน และจำเป็นจะต้องเข้าใจ

1.ทราบสถานที่โอน …

เรื่องสถานที่โอนรถเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากสถานที่โอนรถจะแตกต่างกันออกไปตามที่อยู่ของเจ้าของรถ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาทั่วไป หรือ นิติบุคคล ทางสำนักงานขนส่งทางบก จะยึดเอาที่อยู่เจ้าของเป็นสถานที่สำคัญในการทำธุรกรรมรถยนต์

โดยในกรุงเทพมหานคร มีสำนักงานกรมขนส่งทั้งสิ้น 5 สาขา หรือ 5 พื้นที่รับผิดชอบ โดยแบ่งตามเขตรับผิดชอบดังนี้

สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 (บางขุนเทียน) รับผิดชอบพื้นที่  บางขุนเทียน เขตจอมทอง เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตราษฎร์บูรณะ เขตยานนาวา เขตสาทร เขตบางคอแหลม เขตทุ่งครุ และเขตบางบอน

สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่  2  (สวนผัก-ตลิ่งชัน) รับผิดชอบพื้นที่  ตลิ่งชัน บางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ ภาษีเจริญ หนองแขม พระนคร บางแค และทวีวัฒนา

สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่  3 (พระโขนง) รับผิดชอบพื้นที่  เขตพระโขนง  คลองเตย บางนา ประเวศ สวนหลวง และ เขตวัฒนา

สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่  4 (หนองจอก-สุวินทวงศ์) รับผิดชอบพื้นที่   เขตมีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง บึงกุ่ม สะพานสูง คันนายาว และคลองสามวา

 

สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่  5 (หนองจอก-สุวินทวงศ์) รับผิดชอบพื้นที่   ป้อมปราบศัตรูพ่าย ปทุมวัน ดุสิต บางซื่อ บางเขน ดินแดง จตุจักร ลาดพร้าว สายไหม สัมพันธวงศ์ บางรัก พญาไท ห้วยขวาง บางกะปิ ดอนเมือง ราชเทวี หลักสี่ และวังทองหลวง

อย่างกรณีของผมเอง ทีแรกน้องพนักงานขายบอกว่าไปโอนที่จตุจักร แต่เมื่อไปถึงแล้ว ทางเจ้าหน้าที่บอกว่า ต้องไปโอนที่หนองจอก .. ถ้ารู้สถานที่โอนก่อนก็คงจะไม่เสียเวลา เสียน้ำมัน … เรื่องนี้คุณต้องตรวจสอบกับเจ้าของรถเดิม หรือ คนที่คุณจะรับโอนว่าอยู่ในพื้นที่ใด

ส่วนกรณีต่างจังหวัด คุณต้องไปโอนที่สำนักงานขนส่งจังหวัด หรือ สำนักงานในเขตหรืออำเภอ ซึ่งอาจจะมีสำนักงานขนส่งตั้งอยู่

2.แนวทางการโอน เมื่อรู้ว่าจะต้องไปโอนที่ไหนแล้ว ก็ได้มาสำรวจธุรกรรมของตัวเองว่าเป็นแบบไหนกัน “การโอนรถ” อาจจะฟังดูกลางๆ แต่แนวทางการโอนรถมีหลายแบบ ทั้งโอนเพื่อซื้อหรือขาย โอนในกรณีได้รับมรดก โอนกรรมสิทธิ์ทั่วไป และโอนกรรมสิทธิ์จากสัญญาเช่าซื้อ

โดยในการโอนกรณีได้รับมรดก ยังแบ่งเป็น การโอนในกรณีไม่มีพินัยกรรม ไม่มีคำสั่งศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดก และ การโอนโดยมีผู้จัดการมรดก ซึ่งมีแนวทางแตกต่างกันเล็กน้อย

3.เตรียมเอกสารให้ถูกต้อง   ทราบความประสงค์ตัวเองในการโอนรถแล้ว ก็ถึงเรื่องสำคัญคือการเตรียมเอกสารให้ครบตามที่ทางกรมการขนส่งต้องการ จะได้ไม่ไปเสียเวลาเสียอารมณ์ครับ

การโอนกรรมสิทธิ์รถ เตรียมเอกสารดังนี้

                1.สมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ (เล่มฟ้า)

                2.สำเนาบัตรประชาชนของผู้รับโอน (ของคุณเอง) และผู้โอน (ของคนที่คุณทำธุรกรรมด้วย)

2.1 กรณีนิติบุคคล ใช้ สำเนาการจดทะเบียนจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล และ สำเนาบัตรประชาชนของกรรมการบริษัทผู้มสีอำนาจลงนามทั้งหมด

                3.สัญญา ซื้อขาย ใบเสร็จรับเงิน และใบกำกับภาษี

                4.ใบคำขอโอน และใบรับโอน โดยทางผู้รับโอนและผู้โอน ลงนามในคำขอเรียบร้อย พร้อมพยานรับทราบการทำธุรกรรมดังกล่าว 2 คน (พยานไม่ต้องแนบสำเนาบัตรประชาชน)

ในกรณีเป็นการโอนรถ โดยการรับมรดก ให้เพิ่มเอกสาร ดังนี้เข้าไปจากข้างต้น

                1.สำเนาหรือภาพถ่ายใบมรณะบัตรของเจ้าของมรดก (เจ้าของรถเดิม-ผู้วายชน)

                2.สำเนาคำสั่งศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดก (กรณีมีผู้จัดการมรดก ตามคำสั่งศาล)

                3.สำเนาบัตรประชาชนของผู้จัดการมรดก (กรณีมีผู้จัดการมรดก ตามคำสั่งศาล)

ขั้นตอนการโอนรถ …

เมื่อเตรียมตัวเรียบร้อยก็ได้เวลาไปโอนรถเป็นของคุณแล้วครับ โดยวันไปโอนหากคุณหรือผู้โอนคนใดคนหนึ่งไม่สามารถไปได้ จำเป็นต้องเตรียมหลักฐานเพิ่มเติม คือ หนังสือมอบอำนาจ (ต้องแนบพร้อมสำเนาบัตรประชาชน) ให้ผู้รับมอบอำนาจไปดำเนินการ

อย่างที่ผมบอกตั้งแต่แรกแล้วว่าการโอนจะไปสำนักงานขนส่งพื้นที่ไหน ให้ดูจากตัวผู้ที่ทำธุรกรรมด้วยเป็นหลัก ดูตามเขตรับผิดชอบของสำนักงานพื้นที่ขนส่ง แล้วไปยังสำนักงานนั้น 

 

เมื่อไปถึงให้คุณขึ้นไปติดต่อส่วนงานตรวจสภาพรถยนต์ โดยแจ้งเจ้าหน้าที่ว่า มาตรวจสภาพเพื่อโอนรถ จากนั้นผ่านขั้นตอนการตรวจสภาพตามปกติ จากนั้นรอเอกสารจากเจ้าหน้าที่ เพื่อไปดำเนินการต่อไป (กรณีโอนเนื่องจากผ่อนชำระหมด ไม่ต้องตรวจสภาพรถ)

ตรวจสภาพรถ เพื่อทำเรื่องโอน (บางแห่งอาจจะต้องยื่นเอกสารก่อน)

หลังรับเอกสารเรียบร้อย ให้ไปติดต่อส่วนงานทะเบียนรถยนต์ เพื่อทำเรื่องทางด้านเอกสารโอน เมื่อขึ้นไป โดยมากทางสำนักงานขนส่งจะมีเจ้าหน้าที่กลั่นกรองตรวจสอบเอกสารอยู่แล้ว  หากเอกสารผ่าน เจ้าหน้าที่จะส่งคุณไปรอคิว ทำเรื่อง ในบางสำนักงานขนส่งอาจจะใช้เวลาในการรอนานถึงนานมาก เนื่องจากกคนเยอะ แต่อย่างที่ผมไปสำนักงานจนส่งพื้นที่ 4 หนองจอก ถือว่าไม่นานนัก  

ขั้นตอนการตรวจเอกสารการโอน

รอคิวทำเรื่องโอน

เมื่อได้คิวเจ้าหน้าที่จะเรียกคุณเข้าตรวจสอบเอกสาร และหลักฐานการโอนอีกครั้ง หากเรียบร้อยเจ้าหน้าที่จะทำการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้  เป็นอันจบเรียบร้อยการดำเนินการ กลับบ้านได้

 

ข้อควรรู้หลังลองไปโอนรถ

ผมกับเดือนออกมาพร้อมความเป็นเจ้าของน้องส้ม   Subaru  XV Sti  สมาชิกใหม่ในบ้านอย่างเต็มภาคภูมิ โดยในระหว่างขั้นตอนการโอน เราพบว่า มีบางอย่างที่เราไม่รู้ และคุณจะได้เตรียมตัวไปก่อน

การโอนรถอาจจะไม่ใช่ธุรกรรมที่เราทำกันบ่อย บางคนไม่เคยไปทำเองกับกรมการขนส่ง แต่ถ้าไปทำ คุณจะมีค่าธรรมเนียมดังนี้

ค่าคำขอ 5 บาท
ค่าอากรแสตมป์ 10 บาท
ค่าโอนรถ 100 บาท

 

โดยนอกจากค่าใช้จ่าย 2 รายการที่โดนแน่นอนแล้ว กรณีโอนรถจากการซื้อขาย หากมีใบกำกับภาษีหรือใบเสร็จรับเงินครบถ้วน จากผู้ขายครบถ้วนถูกต้อง จะไม่ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อน จากการประเมินของกรมการขนส่ง โดยเสียร้อยละ 0.5 ของราคาประเมิน หรือที่บางคนเรียกว่าแสนละ 500 บาท 
ยกตัวอย่างเช่น รถคุณ ทางเจ้าหน้าที่ประเมินว่า มีราคา 4 แสนบาท คุณจะเสียค่าภาษีส่วนนี้เป็นจำนวนเงิน 2,000 บาท

และในกรณีที่คุณไม่โอนรถภายใน 15 วันนับตั้งแต่การดำเนินการเตรียมเอกสารโอน คุณจะต้องเสียค่าปรับเพิ่มเติม อย่างผมเกินมา 1 วัน เนื่องจากต้องให้เดือนมาเป็นคนดำเนินการ โดนค่าปรับไป 200 บาท แต่ตามข้อมูลจากเว็บไซต์กรมการขนส่งทางบกระบุว่า ค่าปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท

การโอนรถ จะว่าไปก็ไม่ยากอย่างที่คิดและหลายคนกลัว แต่มันอาจจะเป็นเรื่องน่าเบื่อเมื่อเทียบว่าคุณต้องเสียเวลาทั้งวันไปทำธุรกรรม และอาจจะน่าหงุดหงิด เมื่อเจอคนเยอะแยะมากมาย จนเสียอารมณ์ …บางทีมอบอำนาจคนที่คุณไว้ใจไปทำธุรกรรมแทนก็ได้ครับ

 

ชอบกดไลค์ใช่กดแชร์ ขอบคุณทุกกำลังใจสำหรับพวกเรา   ridebuster.com 



แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่