กลายเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์กร่นด่าเจ้าหน้าที่ทันทีที่ออกมาบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดว่า ห้ามการโดยสารกระบะท้าย หากนั่นไม่เจ็บปวดเท่าการที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาเปิดเผยว่าทางเจ้าหน้าที่จะทำการกวดขันการนั่งโดยสารในแคป หรือกระบะตอนครึ่ง เนื่องจากเป็นการใช้รถยนต์ผิดประเภท ตามที่สำแดงต่อนายทะเบียน มีระวางโทษปรับถึง 2,000 บาท เลยทีเดียว

การโดยสารในกระบะตอนครึ่ง หรือที่คนทั่วไปอาจจะเรียกว่ากระบะแป มีมายาวนานในประเทศไทย เป็นพฤติกรรมที่เห็ได้บ่อยทั้งในต่างจังหวัด และกรุงเทพปริมณฑล เนื่องจากกระบะแคปเป็นกระบที่ต่อพื้นที่เพิ่มเติมมาให้ใช้งาน มากกว่าแค่การมีเบาะคู่หน้า แต่ยังมีพื้นที่ด้านหลังเพื่อใช้งานอรรถประโยชน์ แต่สำหรับคนไทยแล้ว นี่คือพื้นที่โดยสาร และถูกใช้งานมายาวนาน จนอาจจะต้องใช้เวลาแก้ไข

 

เข้าใจผิด หรือต้องการใช้

จุดเริ่มต้นของกระบะแคปเกิดขึ้นในช่วงก่อนยุค 90 เมื่อค่ายเจ้าตลาดในเวลานั้น  Isuzu  เป็นบริษัทรถยนต์กระบะรายแรกๆ ที่เปิดตัวรถระบะแบบมีแคปออกมา Isuzu KB (ตัว  KBZ) ทำให้ภาพลักษณ์ของกระบะจากเดิมที่เป็นรถหัวเดี่ยวใช้เพื่อการบรรทุกของในเชิงพาณิชย์ กลายมาเป็นรถที่พอจะถูกไถ ทูซี้ใช้นั่งได้บ้าง  แต่มาได้รับความนิยมจริงๆ ใน   Isuzu TFR 

ความจริงแล้วการเพิ่มพื้นที่ตอนหลังเข้ามาจากการนำวิธีการออกแบบของรถบรรทุกขนาดใหญ่มาใช้ โดยพื้นที่ตอนหลังเบาะผู้ขับขี่และผู้โดยสาร จะถูกทำเป็นโถงยาว เพื่อใช้สำหรับการนอน ในกรณีที่ต้องขับรถเดินทางไกลต่อเนื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมง ทำให้พนักงานขับรถมีโอกาสได้พักผ่อน ระหว่างการเดินทาง และใช้ในการเก็บสิ่งของที่จำเป็น

สำหรับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์พวกเขาไม่ได้มีจุดประสงค์สร้างกระบะขึ้นมาเพื่อการโดยสาร นั่นไม่ใช่สิ่งที่วิศวกรคิดมาก่อน แต่เมื่อคนซื้อเห็นว่ามีพื้นที่ตอนหลัง จึงคิดจะทำมาเป็นพื้นที่โดยสาร เนื่องจากรถกระบะมีราคาไม่แพงถูกกว่ารถเก๋ง สามารถใช้งานเต็มความสามารถได้ทั้งทำมาหากินและใช้ในการโดยสาร คุ้มค่าที่จะออกรถหรือผ่อนชำระต่อเดือน

นี่จึงเป็นจุดเริมต้นที่ทำให้เบาะนั่งชั่วคราวเกิดขึ้นในตอนหลังของพื้นที่แคป มันไม่ได้ติดตั้งมาจากโรงงาน แต่อุปกรณ์เสริมจากบรรดาผู้จำหน่าย ที่ทำขึ้นมาเพื่อสนองการใช้งานของลูกค้า และเป็นจุดเริ่มต้นของการนั่งตอนหลังที่แคป

 

 

 

 

 

 

ไม่ปรับไปสู่สี่ประตู

ในช่วงแรกกระบะแคปเป็นรถกระบะประเภทเดียวจากบริษัทผู้ผลิตที่สามารถใช้ในการโดยสารได้ และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วจนสร้างรายได้ให้บริษัทผู้ผลิตรายแรก และทำให้ในท้ายที่สุด บริษัทรถกระบะชั้นนำรายอื่น ทั้ง   Toyota , Nissan   และ   Mitsubishi   ต้องทำตามมา เพื่อช่วงชิงลูกค้าที่กำลังมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป

ในช่วงเวลาเดียวกันมีความพยายามในการผลิตกระบะ 4 ประตู แต่ทางบริษัทผู้ผลิตยังไม่เห็นความต้องการของผู้บริโภค งานนี้จึงตกไปเป็นของเจ้าแห่งการดัดแปลงบริษัทไทยรุ่ง เริ่มต้นพัฒนากระบะ 4 ประตูดัดแปลงวางจำหน่าย แต่มีราคาค่อนข้างแพงมาก เมื่อเทียบกับราคากระบะแคปในยุคนั้น จึงยังไม่ค่อยได้รับความนิยม

Ford Ranger (Thailand). (3/7/2006)

จนกระทั่งใกล้เข้ายุคปี 2000 ทางบริษัทผู้ผลิตหลายรายจึงเริ่มหันมาทำกระบะแบบ 4 ประตู วางจำหน่ายจริงจัง แต่ก็ประสบปัญหาราคาแพง และการมีประตูอีก 2 บาน ทำให้ทางบริษัท ต้องย่นระยะกระบะท้าย จากกระบะยาวใช้ขนของได้ดี เหลือเพียงกระบะสั้นๆ กลายเป็นรถเพื่อการโดยสารจริงจังตอบสนองในการใช้งานไม่ได้

Ford  ในเวลานั้นจึงเปิดเกมใหม่ด้วยการทำกระบะแคปแบบเปิดได้ออกมา หรือ  Open Cab   สนองความต้องการลูกค้าที่ต้องการให้ผู้โดยสารตอนหลังขึ้นหรือลง สะดวกเข้าไปอีก กลายเป็นกระบะแคปยังตอบโจทย์ครบครัน ราคาก็พอคบหาได้ คนไทยจึงยังไม่สนใจในการไปหาสี่ประตูมากมายนัก โดยเฉพาะคนต่างจังหวัดที่ต้องการรถยนต์ใช้ได้ครอบคลุม ทั้งการทำงาน และ ชีวิตส่วนตัว

กฎหมายไม่ได้ห้าม แต่ไม่ครอบคลุม

 เมื่อกระบะ 4 ประตู มีราคาแพงแต่กระบะแคปเปิดได้มีราคาแพงขึ้นไม่มาก กระบะแคป จึงยังได้รับความนิยมเสียเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากตอบสนองได้ครอบคลุมการใช้งาน

การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ นำโดย พลตำรวจโท วิทยา ประยงค์พันธ์ ผู้ช่วยผู้บังคับการตำรวจแห่งชาติ  ออกมาประกาศว่า สั่งกวดขันไม่ให้ผู้ขับขี่ใช้รถกระบะแคปในการโดยสาร โดยเฉพาะการโดยสารในแคปตอนครึ่ง ถือว่ามีความผิดตามข้อหาในการใช้รถยนต์ผิดประเภท ตามมาตรา 21 ประมวลกฎหมาย พรบ. รถยนต์  พ.ศ. 2522  โดยอ้างเรื่องการจดทะเบียนขึ้นมา

โดยในการจดทะเบียนรถยนต์ของกรมการขนส่งทางบกในรถยนต์กระบะ 2 ประตู ประเภทแคป สามารถจดได้ 2 แบบ คือการจดเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง หรือ รย.1 จะสามารถจดได้ ถ้ารถคันนั้นมีการดัดแปลงต่อหลังคา ติดตั้งที่นั่งโดยถาวร กับตัวรถ ทำให้โดยสารได้

และอีกกรณีจดทะเบียนเป็นรถบรรทุกส่วนบุคคล หรือ รถป้ายขาวอักษรเขียว ใช้เพื่อการบรรทุกส่วนบุคคล โดยอาจจะมีการต่อโครงเหล็กกระบะก็ได้ หรือจะทะเบียนทั้งที่เป็นกระบะเปิดโล่งก็ได้

แต่ก็มีคนไทยหลายคนหัวใส บอกว่า คำว่าบรรทุกก็สามารถตีเหมารวมถึงถึงการบรรทุกคนได้ด้วย  ซึ่งก็ไม่ได้มีการระบุไว้ในกฎหมายจริงๆ ว่า ห้ามบรรทุกคน มีเพียงแต่บอกว่า ใช้เพื่อการบรรทุกส่วนบุคคลเท่านั้น

 

ประกันครอบคลุม ก็เท่ากับใช้งานได้ จริงหรือ

เมื่อมีความต้องการมีการสนองตอบ ก็เลยกลายเป็นความเคยชิน หนึ่งในสิ่งที่บอกได้ว่า แคปนั่งได้หรือไม่ คือประกันภัยรถยนต์ ที่ครอบคลุมการใช้งานในพื้นที่แคปมาตั้งนานแล้ว

ถ้าใครขับกระบะแคปอยู่ แล้วทำประกันภัยชั้น 1 ในกรณีที่เป็นรถกระบะแคปแล้วจะทะเบียนเป็นรถบรรทุกส่วนบุคคล ประกันจะครอบคลุมความคุ้มครองสูงสุด 3 ที่นั่งในรถ (แต่ถ้าจดเป็นรถยนต์นั่งจะครอบคลุมสูงสุดถึง 5 ที่นั่ง ไม่ใช่ 7 ที่นั่ง)

นั่นหมายถึงประกันภัยก็มองเอาไว้เช่นกันว่าพื้นที่แคปด้านหลังสามารถใช้ในการโดยสารได้  แต่อาจจะใช้โดยสารไปเพิ่มจากคนขับและผู้โดยสารตอนหน้าอีกแค่คนเดียวเท่านั้น เป็นการยืนยันอย่างดีว่า การโดยสารแคปตอนนั้นสามารถทำได้ และประกันภัยก็ครอบคลุม หักล้างกับการออกมาห้ามปรามของเจ้าหน้าที่ ที่มาทำมาเข้มงวดกวดขันในการใช้งานรถกระบะแคปตอน

 

ไม่ปลอดภัย….ข้ออ้างที่เป็นไปได้

ตั้งแต่มีการเปิดเผยว่าประเทศไทยติดอันดับที่ 2 ประเทศที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุดในโลก กฎระเบียบต่างๆ ก็ถูกขุดขึ้นมาเพื่อหวังจะทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ก็ควรจะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปหรือไม่

เรื่องกระบะแคปตอนก็เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมา โดยอ้างเหตุผลทางด้านความปลอดภัยในการใช้งาน แต่ความจริงแล้วการโดยสารในห้องโดยสารของกระบะ โดยเฉพาะพื้นที่แคปอาจจะมีความปลอดภัยสูงสุด เนื่องจากอยู่ตรงกลางรถหากเกิดการชนทางด้านหน้าอย่างรุนแรง

ข้อพิสูจน์เรื่องดังกล่าวสามารถชมได้จากทางวีดีโอด้านล่าง เมื่อทางสถาบันประกันภัยของอเมริกา ทดสอบรถกระบะหลายรุ่นที่วางจำหน่ายทีป่ระเทศอเมริกา โดยหนึ่งในนั้นมี   Nissan  Frontier  หรือ  Nissan  Navara   รุ่น แคป ที่ชี้ให้เห็นว่า การชนอย่างรุนแรงทางด้านหน้ายังรักษาโครงสร้างของห้องโดยสารไว้อย่างดีเยี่ยม และไม่มีปัญหาใดๆ ในการปกป้องผู้โดยสารจากการขับขี่

แต่มันเป็นเพียงการจำลองสถานการณ์ในห้องแลป การทดสอบโดยมากจะทำที่ความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ในชีวิตจริงเราใช้ความเร็วในการเดินทางมากกว่านั้น และหากเกิดการชนอย่างรุนแรงผู้โดยสารในกระบะแคป ที่ไม่มีแข็มขัดนิรภัยใดๆ อาจจะถูกแรงกระแทกพุ่งออกไปนอกตัวรถหรือไม่ .. ยังเป็นความที่ต้องการคำตอบ เพื่อคลายสงสัยว่าตกลงกระบะแคปใช้นั่งไม่ได้จริงหรือเปล่า

 

ทางออกที่ต้องมี ไม่ใช่สรรพแต่สั่ง

มาถึงตรงนี้ เราต้องยอมรับว่า บางที การใช้รถยนต์กระบะแคป เพื่อการโดยสาร อาจจะเป็นเรื่องความเข้าใจผิดจากพฤติกรรมของเราที่ใช้รถยนต์กระบะมายาวนาน แต่มันถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐบาลจะต้องให้ความกระจ่างกับคนใช้รถ โดยเฉพาะนาทีนี้ มีหลายคนกำลังจะซื้อรถบ้างสั่งจองไปแล้ว แค่รอวันรับมอบสินค้า

กลายเป็นคำถามสำคัญว่า  สรุปอนาคตกระบะแคปจะเป็นอย่างไร ??

การออกมาสั่งของ เจ้าหน้าที่อาจจะเล็งเห็นประโยชน์เพื่อความปลอดภัยของประชาชน แต่ก็ต้องการมีเวลาให้ประชาชนปรับตัวปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า  

รัฐบาลสมควรจะรณรงค์พฤติกรรมนั่งแคป ไม่ใช่ออกบทเผด็จการ อย่างเช่นที่ทำอยู่ในวันนี้  และทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากคนในสังคม อาจจะจริงที่การนั่งแคปโดยสารเป็นการใช้งานผิดประเภทจากความเข้าใจผิด มันอาจจะไม่ปลอดภัย

หากพฤติกรรมการใช้รถแบบนี้มีมานานนับสิบปี บางคนใช้มาตั้งแต่รุ่นพ่อจนตัวเองซื้อรถก็ทำต่อเนื่องกับลูกของตัวเอง  มันไม่ใช่จะปรับได้ภายในวันเดียว มันต้องใช้เวลา รัฐต้องมีทางออกให้ประชาชน ว่า จะมีการจริงจังเรื่องนี้เมื่อไร

รวมถึงทางฝั่งผู้ผลิตรถยนต์เองก็คงจะต้องการคำตอบเช่นกัน เพื่อสรุปว่ากระบะแคปในวันหน้าจะยังได้รับความสนใจจากลูกค้าไหม เพราะไม่เช่นนั้น พวกเขาจะได้ไม่ต้องเสียเงินลงทุนผลิตออกมาขาย ทำแค่ กระบะหัวเดี่ยวกับ กระบะสี่ประตูขาย จะได้ไม่ส่งเสริมให้คนทำผิดกฎหมาย ..ดีไหม

 

หมายเหตุ มีการปรับแก้ไขเนื้อหาบางส่วน ตามที่มีการท้วงติง ตามความคิดเห็นจากบางท่าน โดยเฉพาะข้อกฏหมายที่ผู้เขียนได้เข้าใจผิดในตัว พรบใ ที่นำมาใช้ (ข้อกฎหมายในการใช้รถยนต์ผิดประเภท คือ พรบ . รถยนต์ 2522)  ขอบคุณ สำหรับทุกท่านที่อ่าน บทความครับ 

ชอบกดไลค์ใช่กดแชร์ ขอบคุณทุกกำลังใจสำหรับพวกเรา   ridebuster.com 

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่